ศูนย์วัฒนธรรม อบต.ไล่โว่ เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ของชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง


ศูนย์วัฒนธรรม อบต.ไล่โว่ เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ของคนไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง เป็นศูนย์ที่รวบรวมและนำเสนอข้อมูลวิถีชีวิต ความเชื่อ การดำรงชีวิตอยู่คู่ธรรมชาติในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร รวมทั้งการอนุรักษ์สืบสานวัฒนธรรมประเพณีของชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงในตำบลไล่โว่ อำเภอสังขละบุรี ผ่านนิทรรศการ 7 เรื่อง คือ (1) ในความจริงแห่งประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ (2) ตำนานแห่งการอพยพอันยาวไกล (3) สัมพันธภาพแห่งผืนไพร สายนที และชีวิต (4) ความเชื่อ ความสมดุลย์ สู่...ความรักษ์ (5) สัมพันธภาพแห่งวัฒนธรรมข้าว...แม่โพสพแห่งชีวิต (6) อัตลักษณ์ในความงาม ของความเป็นชนเผ่า และ (7) กว่าจะมาเป็น “สังขละบุรี”

ที่อยู่:
สำนักงาน อบต.ไล่โว่ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี
โทรศัพท์:
034-599591,034-595496
วันและเวลาทำการ:
เปิดในวันและเวลาราชการ
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
ปีที่ก่อตั้ง:
2552
เนื้อหา:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

จากชาวสังขละบุรีถึง ‘คนบุกรุกป่า’ ชะตากรรมของกะเหรี่ยงโปแห่งผืนป่าตะวันตก

ชื่อผู้แต่ง: รัชตวดี จิตดี | ปีที่พิมพ์: 9/02/2552

ที่มา: ASTVผู้จัดการรายวัน

แหล่งค้นคว้า: ศมส.

โดย: ศมส.

วันที่: 13 มีนาคม 2555

เปิด “ศูนย์วัฒนธรรม อบต.ไล่โว่ เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ของคนไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง”

ชื่อผู้แต่ง: อาทิตย์ คงมั่น | ปีที่พิมพ์: 11/3/2552

ที่มา: สำนักข่าวประชาไท

แหล่งค้นคว้า: ศมส.

โดย: ศมส.

วันที่: 13 มีนาคม 2555


ไม่มีข้อมูล

รีวิวของศูนย์วัฒนธรรม อบต.ไล่โว่ เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ของชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง

ตำบลไล่โว่ ตั้งอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรฝั่งตะวันตกมีเนื้อที่ประมาณ 1,789.23 ตารางกิโลเมตร เป็นพื้นที่ป่าไม้นานาพันธุ์ มีภูเขาสูงสลับกับพื้นที่ราบ แบ่งการปกครองออกเป็น 6 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านสะเน่พ่อง บ้านกองม่องทะ บ้านเกาะสะเดิ่ง บ้านไล่โว่-ซาละวะ บ้านทิไล่ป้าและบ้านจะแก โดยชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง 

องค์การบริหารส่วนตำบลไล่โว่ตระหนักถึงความสำคัญคุณค่าทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชาวบ้าน จึงจัดตั้ง "อาคารศูนย์วัฒนธรรมอบต.ไล่โว่ เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา (ชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง)" เพื่อผดุงรักษาวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่าของชาวไทยกะเหรี่ยงสืบต่อไป โดยเนื้อหาในการจัดแสดงแบ่งออกเป็น 12 ส่วนได้แก่

ห้องที่ 1 ทุ่งใหญ่นเรศวร ผืนป่าตะวันตกของไทย มรดกโลก บอกเล่าเรื่องราวความงดงามทางธรรมชาติอันมีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นของทุ่งใหญ่นเรศวรจนได้รับการยกย่องให้เป็นมรดกโลกสัมพันธภาพแห่งผืนไพร สายนทีและชีวิตของชาวกะเหรี่ยง

ห้องที่ 2 ความเป็นมา การอพยพและการกระจายตัวของชนกะเหรี่ยงแห่งผืนป่าทุ่งใหญ่นเรศวร

ห้องที่ 3 ห้องวิดีทัศน์ นำเสนอภาพรวมของชนเผ่าผ่านสื่อวิดีทัศน์ รวบรวมเอกสาร หนังสือที่เกี่ยวกับชนเผ่าเพื่อเป็นการศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมต่อไป 

ห้องที่ 4 ประวัติศาสตร์แห่งสังขละบุรี พระแก้วขาว และพระศรีสุวรรณ จัดแสดงการก่อร่างสร้างเมืองสังขละบุรี บทบาทในฐานะหน้าด่านด้านตะวันตกของไทย พระแก้วขาวพระคู่บ้านคู่เมือง และประวัติพระศรีสุวรรณ เจ้าเมืองที่ปกครองเมืองสังขละบุรีในอดีต 

ห้องที่ 5 วัฒนธรรมภาษา จัดแสดงพัฒนาการด้านภาษาของชาวกะเหรี่ยงทั้งภาษาพูดและภาษาเขียนตั้งแต่เริ่มแรกจนถึงปัจจุบัน

ห้องที่ 6 ศาสนา ความเชื่อ ประเพณี บอกเล่าเรื่องราวของศาสนาพุทธความเชื่อเรื่องฤาษี ความเชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในธรรมชาติ ที่มีผลต่อโลกทัศน์และวิถีชีวิต ตลอดจนพิธีกรรมและประเพณีต่างๆที่ชาวกะเหรี่ยงนับถือปฏิบัติสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน 

ห้องที่ 7 วัฒนธรรมแห่งข้าว นำเสนอถึงความผูกพันของชาวกะเหรี่ยงกับข้าว ผ่านการนำเสนอวิถีการทำไร่ข้าวที่ในทุกขั้นตอนจะมีการประกอบพิธีกรรมที่แสดงออกซึ่งความนอบน้อมต่อธรรมชาติ อาทิ พระแม่ธรณี พระแม่โพสพ และเจ้าป่าเจ้าเขา เป็นต้น สะท้อนให้เห็นถึงการทำไร่ข้าวของชาวกะเหรี่ยงนั้นมิได้เป็นการทำลายธรรมชาติ แต่กลับเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสำคัญในการรักษาอนุรักษ์ธรรมชาติให้คงอยู่ต่อไปอย่างยั่งยืนอีกด้วย

ห้องที่ 8 กฎกติกาแห่งชนเผ่า ซึ่งก็คือข้อห้ามของบรรพบุรุษที่สอนลูกหลานจนเป็นหลักปฏิบัติในวิถีชีวิตด้านต่างๆ ได้แก่ ข้อห้ามที่เกี่ยวเนื่องกับทำเลที่ตั้ง ข้อห้ามที่เกี่ยวเนื่องกับสัตว์ ข้อห้ามที่เกี่ยวเนื่องกับพืช ความเชื่อที่เกี่ยวเนื่องกับเจ้า ความเชื่อในการตัดต้นไม้ ความเชื่อในการล่าสัตว์ และความเชื่อเกี่ยวกับภัยพิบัติ เป็นต้น ซึ่งที่บริเวณด้านหน้าของแต่ละหมู่บ้านก็จะมีการเขียนกฎหรือข้อปฏิบัติไว้ด้านหน้าของทุกๆหมู่บ้าน เป็นการเตือนชาวบ้านของพวกเขาเอง หรือเตือนผู้ที่จะเข้าไปเยี่ยมเยือนพวกเขาด้วยเช่นกัน

ห้องที่ 9 วัฒนธรรมดนตรีและการแสดง กล่าวถึงดนตรีของชาวไล่โว่ ทั้งเครื่องดนตรีและเนื้อเรื่องที่มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร ตลอดจนความเป็นมาและรูปแบบของ "รำตง" ที่เป็นการแสดงประจำกลุ่ม

ห้องที่ 10 วัฒนธรรมการแต่งกาย จัดแสดงลักษณะการแต่งกายที่มีรูปแบบและการใช้สีที่แตกต่างกันไปตามเพศและวัย โดยจัดแสดงให้เห็นการแต่งกายในแต่ละช่วงวัย และเปรียบเทียบกับกะเหรี่ยงกลุ่มอื่นๆ เพื่อให้เห็นความแตกต่างได้อย่างชัดเจน 

ห้องที่ 11 องค์กร บุคคล ผู้สนับสนุน เพื่อเป็นการขอบคุณทุกๆองค์กร บุคคล และผู้สนับสนุนในการดำเนินงานโครงการจัดตั้งศูนย์วัฒนธรรม อบต.ไล่โว่ เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา จนสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี 

ห้องที่ 12 จำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์ชุมชน เป็นศูนย์กลางรวบรวมสินค้าและผลิตภัณฑ์ของชาวไล่โว่และชาวกะเหรี่ยงทุ่งใหญ่นเรศวรทุกหมู่บ้านเพื่อจำหน่ายเป็นของที่ระลึกแก่ผู้มาเยี่ยมชมศูนย์วัฒนธรรมฯ และยังเป็นการสร้างรายได้ให้กับชุมชน แทนการออกนอกพื้นที่ไปหางานทำในตัวเมืองหรือจังหวัดอื่นๆต่อไป 

ด้วยความตระหนักในความสำคัญและความผูกพัน อันสืบเนื่องยาวนานของเผ่าชนกะเหรี่ยงในทุ่งใหญ่นเรศวรที่ดำรงคงอยู่ในผืนแผ่นดินไทย ศูนย์วัฒนธรรมอบต.ไล่โว่ เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา จึงเปรียบเสมือนพิพิธภัณฑสถานด้านชาติพันธุ์ที่หมายแสดงอัตลักษณ์แห่งวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของพี่น้องชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง เพื่อมุ่งเน้นให้เห็นความสำคัญและนำไปสู่การช่วยสืบสานอนุรักษ์อย่างเป็นรูปธรรมท่ามกลางยุคโลกาภิวัตน์

ข้อมูลจาก: สูจิบัตรพิธีเปิดศูนย์วัฒนธรรม อบต.ไล่โว่ เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ของชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง โดย องค์การบริหารส่วนตำบลไล่โว่ มีนาคม 2552
ชื่อผู้แต่ง:
-