พิพิธภัณฑ์หินขรุขระ วัดลาดขาม


ในช่วงเวลาที่ท่านพระครูปลัดเพลิน เตชธมฺโม มาปรับปรุงพื้นที่บริเวณนี้ เพื่อสร้างวัดก็ได้พบกับหินรูปร่างแปลกๆ บ้างก็พบพวกอาวุธโบราณ ทั้งที่เป็นหิน และโลหะ หลายประเภท ท่านจึงได้เก็บรวบรวมสะสมมาเรื่อยๆ พร้อมกับการค่อยๆปฎิสังขรณ์ วัดร้างแห่งนี้ให้กลับฟื้นคืนชีวิตขึ้นมาใหม่ เมื่อเริ่มสะสมของได้มากเข้า และสร้างศาลาหลังหนึ่งเสร็จจึงได้จัดหาตู้จัดแสดงหินรูปร่างประหลาด และอาวุธโบราณ กลองกบ โดยหลวงพ่อท่านได้ส่งวัตถุโบราณหลายชิ้นไปให้กรมศิลปากรตรวจสอบ และมีการขึ้นทะเบียนเอาไว้ด้วยว่า เป็นของเก่าจริง ภายในห้องจัดแสดงซึ่งก็คือ ศาลาวัด จัดแสดงหินขรุขระไว้ในตู้กระจก ตู้ที่สองจัดแสดง กำไลโลหะ ต่างหูและ กระดิ่งโลหะสันนิษฐานว่าจากสมัยทวารวดี ตู้ที่สามจัดแสดงเงินตราประเภทต่างๆ ทั้งเงินทอก เงินแถบ เงินพดด้วง และเหรียญสตางค์รู ตู้ที่สี่จัดแสดงพระพิมพ์สมัยก่อนที่เป็นแผ่นดินเผาขนาดใหญ่ หลายแบบด้วยกัน

ที่อยู่:
วัดลาดขาม ต.พนมทวน อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี 71140
โทรศัพท์:
08-1309-9537,08-5290-8693
วันและเวลาทำการ:
เปิดทุกวัน 8.00 -18.00 น.
ค่าเข้าชม:
ไม่เสียค่าเข้าชม
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

รีวิวของพิพิธภัณฑ์หินขรุขระ วัดลาดขาม

กลางทุ่งนากว้างไกลสุดลูกหูลูกตานั้น ยังมีกลุ่มต้นไม้หนาทึบปรากฏเป็นเกาะกลางนาและมีป้ายด้านหน้าทางเข้าว่า "วัดลาดขาม" วันนี้มีภาระกิจสำรวจพิพิธภัณฑ์ ณ ที่วัดลาดขามนี้ ชื่อว่าพิพิธภัณฑ์หินขรุขระวัดลาดขาม

นัดกับเจ้าอาวาสวัดซึ่งก็คือ พระครูปลัดเพลิน เตชธมฺโม ประมาณ 14.00 น. เมื่อเดินทางไปถึงนั้น ท่านเจ้าอาวาสก็นั่งรออยู่แล้วที่ศาลาของวัด หลวงพ่อเพลินได้บอกเล่าให้เราฟังว่า ที่วัดแห่งนี้นั้นก่อนตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2542 แล้ว โดยที่ท่านเองนั่นแหละที่เป้นผู้มาปักกลดธุดงค์ ณ บริเวณใต้ร่มไม้ใกล้กับซากปรักหักพังของเจดีย์เก่า

พระครูปลัดเพลินเล่าว่าแต่เดิมบริเวณนี้เป็นเส้นทางเดินทัพของทั้งไทยและพม่า เวลาที่จะกรีฑาทัพเข้าทำสงครามกัน เรียกว่าเส้นทางด่านเจดีย์สามองค์ โดยจะผ่านเมืองทองผาภูมิ เข้าสู่เมืองท่ากระดาน กาญจนบุรีเก่า โดยพื้นที่บริเวณ พังตรุ ทุ่งสมอ หนองขาว หนองสาหร่าย ลาดขามและบ้านทวน ก็จะเป็นเส้นทางผ่านของกองทัพ และในบางบริเวณก็กลายเป็นสนามรบ มีผู้คนจำนวนมากมายต้องตายเพื่อปกป้องแผ่นดินของตนเอง และนี่เองก็เป็นเรื่องเล่าขานกันต่อมาว่า พื้นที่บริเวณที่เป็นวัดลาดขามในปัจจุบันนั้นค่อนข้างจะแรง ชาวบ้านเล่าขานกันอีกทอดหนึ่งว่า บริเวณนี้เมื่อก่อนเคยมีพระภิกษุหลายรูปเข้ามาธุดงค์ปักกลด เพื่อเจริญศีลภาวะ แต่ก็ไม่สามารถอยู่ได้เกิน 1 วันเนื่องจากพอเข้าช่วงกลางคืน ก็จะเหมือนมีคนหรือเจ้าที่ออกมาทำให้อยู่ไม่ได้ นอกจากพระภิกษุจะพบเจอกับเหตุการณ์นี้แล้ว พวกมิจฉาชีพที่เข้ามาลักลอบขุดหาสมบัติของมีค่าในซากปรักหักพังของเจดีย์และโบสถ์ร้างนั้นก็ต้องพบเจอกับเหตุการณ์ลึกลับนี้เข้าทำให้ไม่สามารถทำการใดๆได้ด้วยเช่นกัน

แต่เมื่อท่านพระครูปลัดเพลินเข้ามาตั้งกลดพำนักที่นี่ได้หลายวันเข้า ชาวบ้านเองต่างก็เลื่อมใสศรัทธาว่าท่านคงจะมีอะไรดีที่ทำให้สามารถจำพรรษาอยู่ที่บริเวณนี้ได้ข้ามวัน จึงได้พากันมากราบนมัสการ พระครูปลัดเพลินท่านจึงได้มีความตั้งใจที่จะจำพรรษาอยู่ณ ที่แห่งนี้ไปเรื่อยๆ จึงกลายเป็นสำนักสงฆ์ และจัดตั้งเป็นวัดในปี พ.ศ.2549 

ในช่วงเวลาที่ท่านพระครูปลัดเพลินมาปรับปรุงพื้นที่บริเวณนี้เพื่อสร้างวัดนั้นก็ได้พบกับ หินรูปร่างแปลกๆ บ้างก็พบพวกอาวุธโบราณ ทั้งที่เป็นหินและโลหะ หลายประเภทในพื้นที่บริเวณนี้ ท่านก็ได้เก็บรวบรวมสะสมมาเรื่อยๆ พร้อมกับการค่อยๆปฎิสังขรณ์ วัดร้างแห่งนี้ให้กลับฟื้นคืนชีวิตขึ้นมาใหม่ เมื่อเริ่มสะสมของได้มากเข้าและสร้างศาลาหลังหนึ่งเสร็จจึงได้จัดหาตู้จัดแสดงหินรูปร่างประหลาดและอาวุธโบราณ กลองกบ โดยหลวงพ่อท่านได้ส่งวัตถุโบราณหลายชิ้นด้วยกันไปให้กรมศิลปากรได้ตรวจสอบและมีการขึ้นทะเบียนเอาไว้ด้วยว่าเป็นของเก่าจริง 

ภายในห้องจัดแสดงซึ่งก็คือศาลาวัดนั้น จัดแสดงหินขรุขระไว้ในตู้กระจก ประมาณ 5-6 ตู้ นอกจากนั้นก็ยังมีวางไว้บนตั้งไม้ และสามารถจับต้องได้

วัตถุจัดแสดงที่อยู่ในตู้แบ่งออกเป็นตู้แรก จัดแสดงอาวุธโบรารจำพวกขวานหินกระเทาะ รูปร่างต่างๆ และ หินรูปร่างต่างๆ บ้างก็เรียกว่าพระเจ้าห้าพระองค์พบจากบริเวณวัดนี่เอง บางชิ้นก็มีผู้นำมาให้หลวงพ่อ

ตู้ที่สองจัดแสดง กำไลโลหะ ต่างหูและ กระดิ่งโลหะสันนิษฐานว่าจากสมัยทวารวดี วางปนอยู่กับหินรูปร่างประหลาดที่หลวงพ่อเรียกว่า พระธาตุลูกอมฤษี

ตู้ที่สามจัดแสดงเงินตราประเภทต่างๆ ทั้งเงินทอก เงินแถบ เงินพดด้วง และเหรียญสตางค์รู้ จำนวนมากอยู่ที่ผุพังสลายจนเป็นผงอยู่ในตู้ พระครูปลัดเพลินท่านก็บอกว่า เก็บไว้อย่างนั้นแหละคนที่มาดูเขาก็จะได้เห็นว่าของเดิมมันเป็นอย่างไร และเมื่อมันสบายแล้วเป็นอย่างไรและในตู้เดียวกันจัดแสดงสำเนาหนังสือการตรวจรับรองวัตถุโบราณจากกรมศิลปากร ที่ทางวัดได้ส่งวัตถุไปตรวจในนั้นด้วย

ตู้ที่สี่จัดแสดงพระพิมพ์สมัยก่อนที่เป็นแผ่นดินเผาขนาดใหญ่ หลายแบบด้วยกัน นอกจากนั้นในตู้เดียวกันก็ยังจัดแสดงเศษเครื่องปั้นดินเผาที่พบในบริเวณวัดและใกล้เคียง ที่ทางวัดพบเองและชาวบ้านใกล้เคียงค้นพบและนำมามอบไว้ที่วัด ในตู้นี้มีปนเปอยู่หลายอย่างทั้งหินแร่เหล็กน้ำพี้ 

หินพระเจ้าสิบพระองค์และ ก้อนครั่ง พระครูปลัดท่านบอกว่าอยากให้คนได้เห็นได้รู้จักหลายๆอย่างและท่านเองก็ยังไม่มีกำลังพอที่จะจัดให้เป็นหมวดหมู่ เพราะบริเวณจัดแสดงก็มีอยู่ไม่มากเท่าใดนัก คนดูแลก็คือพระในวัดและทายกทายิกาที่มาช่วยที่วัดเท่านั้น

นอกเหนือจากนี้ท่านยังได้จัดแสดงก้อนหินขนาดใหญ่ สองแท่งที่ได้อธิบายว่า หินก้อนใหญ่อันแรก เป็นหินลับมีดเพราะมีลักษณะเป็นร่องตรงกลางเอาไว้ลับขวานหิน ส่วนหินอีก 1 แท่งนั้นมีลักษณะเหมือนหินบดยา แต่พระครูปลัดท่านก็ยังไม่แน่ใจว่ามันคือ หินสำหรับลับมีดหรือว่าหินสำหรับบดยากันแน่ ตู้ข้างๆกันจัดแสดงกลองกบหรือกลองมโหรทึก ที่อยู่ในสภาพเนื้อโลหะขาดออกจากกัน บางส่วนก็มีสนิมขึ้น โดยแจ้งว่าทายกที่วัดเป็นคนพบและนำมาถวายให้ที่วัดไว้จัดแสดง และยังมีเครื่องฉายหนังสมัยก่อน วางไว้ให้ชมด้วย พวกของเก่า 50-60 ปีก็ยังมีอยู่บ้างบางชิ้น จำพวกหนังสือนิตยสารเก่าๆ หนังสือเก่า 

การนำชมส่วนใหญ่นั้นพระครูปลัดท่านจะปล่อยให้ชมกันเองเพราะบางส่วนมีป้ายคำบอกเอาไว้แล้ว แต่ว่าถ้ามีโยมคนใดสนใจมากและมาถามรายละเอียดที่ท่านๆ ก็จะอธิบายให้จนครบถ้วนทุกสิ่งในนี้เลย

นอกจากความน่าสนใจภายในตู้จัดแสดงแล้ว ยังมีพระเจ้าเก้าแสนเหรียญพระพุทธรูปใหญ่ที่หล่อปูนขึ้นมาแล้วให้โยมที่มีศรัทธานำเหรียญมาติดที่องค์พระได้ เพื่อเป็นสติเตือนใจว่า เงินเหรียญแค่เหรียญสองเหรียญอาจจะไม่มีความหมาย แต่ว่าถ้ามารวมๆกันมากๆ ก็มีคุณค่า ให้รู้จักอดออมและนึกถึงคุณค่าของเงินเข้าไว้ 

ภายในบริเวณวัดเองกำลังมีการก่อสร้างกระจายอยู่ทั่วไป ทั้งพระอุโบสถหลังใหม่ที่สร้างทับอยู่บนกองอิฐที่แจ้งว่าที่ตรงนี้เคยเป็นโบสถ์เก่ามาก่อน

พระครูท่านบอกว่าถ้าใครมาที่วัดนี้ นอกจากมาดูพิพิธภัณฑ์แล้ว ก็ยังมานมัสการพระเจ้าเก้าแสนเหรียญ และที่ขาดไม่ได้เลยคือไปไว้ศาลเจ้าเงาะซึ่งท่านพระครูท่านเล่างว่าสร้างขึ้นเพื่อปกป้องฝูงปลาที่อาศัยอยู่บริเวณหน้าวัดที่ท่านเลี้ยงไว้ คนที่ไม่หวังดีจะมาจับปลาวัดไปทางก็จะได้เกรงใจไม่กล้า เหมือนมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ คุ้มครองเจ้าปลาพวกนั้นอยู่ ท่านได้ให้ผู้สำรวจทดลองให้อาหารปลาด้วยวิธีการแบบเดียวกับการทำสปาเท้าที่กำลังนิยมกันในช่วงนี้ด้วย การเอาแป้งเปียกผสมสมุนไพรมาทาที่เท้าทั้งสองข้างและยื่นเท้าลงไปในน้ำไม่ต้องลึกมาก ทันใดนั้นเจ้าปลาตะเพียนตัวน้อยใหญ่ต่างก็โผเข้ามากัดกินแป้งเปียกที่หุ้มเท้าเราอยู่อย่างเมามัน ส่วนเจ้าของฝ่าเท้าก็จะรู้สึกจักจี้ เจ็บๆคันๆ ตามแรงตอดของฝูงปลาจนกว่าอาหารของพวกมันจะหมด ฝูงปลาตะเพียนเหล่านี้ท่านพระครูท่านเล่าว่าพวกมันไม่ว่ายไปไหนเลย อาศัยอยู่หน้าวัดตลอดเวลาเหมือนมันจะรู้ว่าถ้าเลยจากหน้าวัดไปแล้วชีวิตของพวกมันอาจจะไม่ปลอดภัยก็ได้

มัณฑนา ชอุ่มผล ผู้เขียน/ถ่ายภาพ

ข้อมูลจาก: การสำรวจเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2554
ชื่อผู้แต่ง:
-
คำสำคัญ: