หอประวัติอุทกศาสตร์ไทย


ก่อตั้งโดยกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ เพื่อเป็นศูนย์รวมองค์ความรู้และแหล่งข้อมูลด้านอุทกศาสตร์ วิศวกรรมชายฝั่ง และงานด้านสมุทรศาสตร์ และอื่นๆที่เกี่ยวข้องของประเทศไทย จัดแสดงผลงานทางอุทกศาสตร์ ตลอดจนวิวัฒนาการของการพัฒนางานของกรมอุทกศาสตร์ตั้งแต่อดีตต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งเอกสารประวัติศาสตร์ อุปกรณ์ เครื่องมือที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์้ วัตถุชิ้นสำคัญอาทิ โต๊ะเขียนแผนที่เดินเรือด้วยการเขียนด้วยมือ เครื่องเขียนแผนที่ซึ่งเป็นสมบัติส่วนตัวของน.อ.ฟริตซ์ ทอมเซ็น เจ้ากรมอุทกศาสตร์คนแรก เครื่องวิเคราะห์คลื่น เครื่องตรวจกระแสน้ำ เครื่องวัดแดดวัดดาว เครื่องวัดอุณหภูมิของน้ำทะเล เครื่องแสงสว่างระบบก๊าซอะเซติลีน อุปกรณ์ส่องสว่างแบบต่างๆ เครื่องจักรทำนายน้ำ

ที่อยู่:
ชั้น 3 ของอาคารกองบังคับการ กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ 222 ถนนริมทางรถไฟเก่า แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพฯ 10260
โทรศัพท์:
02-4752249,0-2361-2915
วันและเวลาทำการ:
เปิดในวันและเวลาราชการ
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
เว็บไซต์:
อีเมล:
hydrodept@navy.mi.th
ปีที่ก่อตั้ง:
2550
จัดการโดย:

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

หอประวัติคุณค่าแห่งใหม่เล่าขาน งานอุทกศาสตร์ไทย

ชื่อผู้แต่ง: ศิริรัตน์ สาโพธิ์สิงห์ | ปีที่พิมพ์: 29-01-2550 หน้า 4

ที่มา: เดลินิวส์

แหล่งค้นคว้า: ศมส.

โดย: ศมส.

วันที่: 13 มีนาคม 2555


ไม่มีข้อมูล

งานอุทกศาสตร์เป็นงานวิศวกรรมและวิทยาศาสตร์ประยุกต์  เพื่อใช้ในการสำรวจตรวจสอบและการศึกษาสภาพของทะเล  และบริเวณชายฝั่งติดต่อกับทะเล  ผลที่ได้นำมาใช้ในการผลิตแผนที่ทะเลสำหรับใช้ในการเดินเรือ  การทหาร  การประมง  และเศรษฐกิจอื่นๆ

จากภารกิจที่มีความสำคัญต่อประเทศ  ในโอกาสกรมอุทกศาสตร์ครบรอบ 86 ปี ในวันที่ 16 มกราคม 2550  เป็นวันคล้ายวันสถาปนากรมอุทกศาสตร์ ได้มีพิธีเปิดหอประวัติอุทกศาสตร์ไทยขึ้นบริเวณชั้น 3 ของอาคารกองบังคับการกรมอุทกศาสตร์ เพื่อให้เป็นศูนย์รวมของความรู้  นอกจากส่วนจัดแสดงดังกล่าว  ในปี  2552  ได้จัดแสดงเพิ่มเติมที่อาคาร 6 (อาคารกีฬาและนันทนาการ) ซึ่งมีพื้นที่กว้างขวาง 

ผู้นำชมพิพิธภัณฑ์มีสองท่านคือ น.ท.หญิง สายวรีย์  ธนัชชาพิพัฒ และน.ต.ประยงค์ วงษ์เพชร  ส่วนของหอประวัติมีการจัดแสดงอยู่  9 ส่วน  ได้แก่ ราชวงศ์จักรีทรงมีพระเมตตาต่อกรมอุทกศาสตร์  ความเป็นมาของงานอุทกศาสตร์  งานอุทกศาสตร์  เรือใช้งานทางอุทกศาสตร์  โครงการเฉลิมพระเกียรติ  วิสัยทัศน์กรมอุทกศาสตร์  แสดงของที่ระลึกจากต่างประเทศ  งาน Window Display แสดงภาพผลงานสรุป  ได้แก่ ภาพสรุป
งานอุทกศาสตร์  และภาพสรุปงานสมุทรศาสตร์

ในการได้เข้ามาพิพิธภัณฑ์นี้สิ่งที่สะดุดตาเป็นอันดับแรกคือ  ภาพของแผนที่โบราณ  โต๊ะเขียนแผนที่เดินเรือด้วยการเขียนด้วยมือ  ซึ่งผลงานทุกชิ้นมีคุณค่าและหาไม่ได้ในทุกวันนี้เพราะว่าได้เปลี่ยนการสร้างแผนที่เดินเรือเป็นแบบอิเลคทรอนิกส์ทั้งหมดแล้ว  รวมระยะเวลาที่กองสร้างแผนที่ได้สร้างแผนที่ด้วยมือเป็นเวลา 79 ปี

ในที่นี้มีเครื่องเขียนแผนที่ซึ่งเป็นสมบัติส่วนตัวของน.อ.ฟริตซ์ ทอมเซ็น  เจ้ากรมอุทกศาสตร์คนแรก  ใช้สำหรับเขียนต้นฉบับแผนที่เดินเรือเมื่อพ.ศ.2464  ภาพของแผนที่ภาพหนึ่งในนั้นคือ แผนที่อ่าวสยาม  เกาะกูด-แหลมเทียน  สำรวจเมื่อปี พ.ศ.2399 - 2400 โดยเรือหลวงซาราเซน ของประเทศอังกฤษ มีกัปตันคือ มาสเตอร์ จอห์น ริชาร์ดส์ ได้รับพระบรมราชานุญาตสำรวจจาก พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งต่อมา แผนที่ฉบับนี้จึงได้เป็นต้นแบบของแผนที่เดินเรือหมายเลข 001 ในปัจจุบัน

น.ต.ประยงค์บอกว่ากรมอุทกศาสตร์ได้ผลิตแผนที่ให้กับกองทัพเรือเพราะเป็นหน่วยงานที่ขึ้นตรง  ส่วนแผนที่ที่มีการจำหน่ายให้กับเอกชนเป็นแผนที่เดินเรือทั่วไป  สำหรับหน่วยงานอุทกศาสตร์ตามต่างจังหวัดมีอยู่มากมาย  ส่วนใหญ่อยู่ริมทะเล  ตามเกาะจะเห็นเป็นประภาคาร  ทั้งในชุมพร สุราษฎร์ธานี  สงขลา ชลบุรี พังงา  น.ท.หญิง  สายวรี กล่าวถึงประกาศชาวเรือว่าเริ่มมีมาตั้งแต่ปีพ.ศ.2464  ทั้งนี้ประกาศชาวเรือจะมีเกือบทุกวัน  อย่างเช่น  ประกาศเกี่ยวกับการฝึกยิงอาวุธของทหารเรือ

จากงานอุทกศาสตร์  ในแต่ละเรื่องเราจะเห็นว่าต้องมีการใช้อุปกรณ์อย่างมากมายตามสายงาน  ได้แก่  งานสำรวจแผนที่  งานสร้างแผนที่  งานสมุทรศาสตร์  งานเครื่องหมายทางเรือ  งานอุตุนิยมวิทยา  งานเวลามาตรฐาน  ภายในหอประวัติได้จัดแสดงอุปกรณ์ชิ้นเล็กจำนวนหนึ่ง   ประกอบกับบอร์ดอธิบาย  ซึ่งช่วยทำให้ผู้เข้าชมได้นึกภาพงาน

อุทกศาสตร์ได้  อย่างเช่น  เครื่องวิเคราะห์คลื่น  เครื่องตรวจกระแสน้ำ  เครื่องวัดแดดวัดดาว  เครื่องวัดอุณหภูมิของน้ำทะเล  เครื่องแสงสว่างระบบก๊าซอะเซติลีน  อุปกรณ์ส่องสว่างแบบต่างๆ  ส่วนที่เป็นอุปกรณ์ขนาดใหญ่ดูสวยงามแปลกตาคือ เครื่องจักรทำนายน้ำ  เครื่องนี้ผลิตจากประเทศอังกฤษ  เริ่มใช้ในราชการเมื่อ 20 มีนาคม พ.ศ. 2495  เป็นเครื่องทำนายน้ำล่วงหน้า  เพื่อจัดทำข้อมูลระดับน้ำสำหรับทำหนังสือมาตราน้ำ

ในการปฏิบัติงานอุทกศาสตร์  ต้องมีเรือที่ใช้ในการปฏิบัติงาน  ในการจัดแสดงได้มีบอร์ดทำให้เห็นว่ามีเรือในการสำรวจแผนที่  เรือสำรวจวิทยาสตร์ทางทะเลและงานสมุทรศาสตร์  เรือใช้งานซ่อมบำรุงรักษาเครื่องหมายช่วยในการเดินเรือ ฯลฯ ซึ่งจะมีตั้งแต่ยุคเรือกลไฟในอดีตจนถึงเรือที่ใช้งานสมัยปัจจุบัน  ในการแบ่งประเภทของเรือในสังกัดหมวดเรืออุทกศาสตร์มี 2 หมู่เรือ  ได้แก่  หมู่เรือสำรวจ  ประกอบด้วยเรือ 4 ลำ  ได้แก่ เรือหลวงจันทร  เรือหลวงศุกร์  เรือหลวงพฤหัสบดี  และเรือสำรวจใกล้ฝั่งขนาดเล็กอีก 1 ลำคือ เรือ อศ.3  ส่วนหมู่เรือใช้งานเครื่องหมายทางเรือมี 1 ลำ คือ เรือหลวงสุริยะ   เรือหลวงที่เป็นลำล่าสุดและมีจัดแสดงเป็นเรือจำลองคือ เรือหลวงพฤหัสบดี จัดเป็นเรือเอนกประสงค์สำหรับงานอุทกศาสตร์  และงานต่อต้านทุ่นระเบิด/ฝึก  ขึ้นระวางประจำการเมื่อปีพ.ศ.2551

จากนั้นได้ผู้นำชมทั้งสองท่านพาเดินไปยังอาคาร 6  อาคารพิพิธภัณฑ์อุทกศาสตร์  เนื่องจากมีพื้นที่จัดแสดงกว้างขวาง  จึงสามารถนำอุปกรณ์และเครื่องจักรขนาดใหญ่มาจัดแสดงได้  ซึ่งจะแยกออกตามกลุ่มงาน  ได้แก่  กลุ่มงานสำรวจและสร้างแผนที่เดินเรือ  กลุ่มงานสมุทรศาสตร์และอุตุนิยมทางทะเล  กลุ่มงานบริการการเดินเรือ

ตามความคิดเห็นของท่านผู้อำนวยการ น.อ.ศิริชัย  เนยทอง  ผอ.กวก.อศ.  กองวิทยาการกรมอุทกศาสตร์  การทำพิพิธภัณฑ์ของที่นี่ถือว่าช้าไป   ถ้าทำเร็วกว่านี้สัก 10-20 ปี  อุปกรณ์และเอกสารโบราณต่างๆจะยังอยู่ครบสมบูรณ์  โดยเฉพาะพวกเอกสารเก่าที่ใช้ปากกาจุ้มหมึกเขียน  ปัจจุบันได้หายไปเป็นจำนวนมาก  การดูแลพิพิธภัณฑ์ที่มีอยู่ตอนนี้ยังไม่มีเจ้าหน้าที่มานั่งประจำโดยเฉพาะ  ได้แต่มอบหมายให้โรงเรียนอุทกศาสตร์ช่วยดูแล  ในการเป็นวิทยากรในกรณีมีผู้เข้าชมเป็นหมู่คณะแต่ละกองจะส่งเจ้าหน้าที่มาเป็นคราวไป

ถ้าจะมีโอกาสปรับปรุงการจัดแสดง  ท่านผอ.มีความคิดว่าอยากให้มีส่วนจัดแสดงวิวัฒนาการของแผนที่การเดินเรือโลก  แล้วต่อมาเป็นภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  แผนที่เข้ามาในสมัยอยุธยาตอนปลาย  แผนที่เดินเรือสมัยพระนารายณ์  แล้วไล่มาจนถึงปัจจุบัน

จากการเข้าชมหอประวัติและพิพิธภัณฑ์  ถือเป็นการเปิดโลกทัศน์  ทำให้มองเห็นภารกิจการทำงานของทหารเรือในอีกด้านหนึ่ง  อีกทั้งอุปกรณ์ที่เคยใช้ในอดีตยังสร้างความเพลิดเพลิน ด้วยที่แปลกตาและมีความสวยงาม
 
-----------------------------------------------------
สาวิตรี  ตลับแป้น /ผู้เขียน /ถ่ายภาพ
ข้อมูลจาก  :  สำรวจภาคสนามเมื่อวันที่ 2   เดือนมิถุนายน  พ.ศ. 2554
----------------------------------------------------
การเดินทาง :หอประวัติอุทกศาสตร์ไทย  อยู่ในบริเวณกรมอุทกศาสตร์ ถนนริมทางรถไฟเก่า เขตบางนา  แต่เดิมพื้นที่นี้เป็นกรมสรรพาวุธ  การเดินทางควรใช้แท็กซี่หรือรถส่วนตัว  เพราะกรมอุทกศาสตร์มีพื้นที่กว้างขวางมาก
-----------------------------------------
อ้างอิง  : กองทัพเรือทำพิธีเปิดหอประวัติอุทกศาสตร์ไทย เนื่องในวันคล้ายวันสถาปนากรมอุทก  ศาสตร์.http://www.newswit.com/gen/2007-01-16/61ef5e978064ca49da41b1903ecd0097/ [Accessed  14/09/2011]
หอประวัติอุทกศาสตร์ไทย เปิดให้เยี่ยมชม ฟรี.http://www.newswit.com/gen/2008-02-    06/0416-6b6ad9a98f11c3864ee7edbfef5/ [Accessed  14/09/2011]
ชื่อผู้แต่ง:
-

เป็นอีกหนึ่งแหล่งรวมความรู้เฉพาะด้าน ก่อให้เกิดความภาคภูมิใจในสิ่งดีๆที่ทหารเรือไทยและบรรพบุรุษได้สร้างสรรค์ไว้แก่ชาติบ้านเมืองอย่างแท้จริง สำหรับ "หอประวัติอุทกศาสตร์ไทย" ศูนย์รวมเรื่องราวและของมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของหน่วยงานอุทกศาสตร์ ซึ่งเปิดดำเนินการเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ.2550 ที่ผ่านมา

ด้วยเล็งเห็นถึงความสำคัญในการอนุรักษ์ และการเก็บรักษาเรื่องราวความรู้ทางประวัติศาสตร์ของงานอุทกศาสตร์ไทยไว้เป็นการถาวร และเพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณที่องค์พระมหากษัตริย์ไทยได้พระราชทานความเจริญนี้มาสู่กิจการอุทกศาสตร์ กรมอุทกศาสตร์ในฐานะหน่วยงานสำคัญในการทำหน้าที่สำรวจตรวจสอบและศึกษาสภาพของทะเล การรักษาเวลามาตรฐาน และทำนายน้ำขึ้น-น้ำลง จึงมีแนวคิดจัดตั้ง "หอประวัติอุทกศาสตร์ไทย" ขึ้น เพื่อใช้เป็นศูนย์รวมองค์ความรู้ และใช้เป็นที่เก็บรวบรวมสิ่งของมีค่าในงานอุทกศาสตร์ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา "สถานที่ตั้งหอประวัติอุทกศาสตร์ เราใช้บริเวณชั้น 3 ของอาคารกองบังคับการ กรมอุทกศาสตร์เป็นสถานที่จัดแสดง โดยมีลักษณะเป็นห้องโถงยาว ชั้นเดียว ภายในบรรจุทั้งเรื่องราวประวัติศาสตร์น่ารู้ รวมถึงอุปกรณ์ และเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ ของงานด้านอุทกศาสตร์ ทั้งที่เคยใช้ในอดีตซึ่งปัจจุบันใช้การไม่ได้แล้ว และเครื่องมือเก่าที่ปัจจุบันยังคงใช้งานอยู่ไว้มากมาย โดยมุ่งหวังเพื่อให้เป็นประโยชน์ด้านการศึกษา สำหรับเด็กๆ รุ่นลูกรุ่นหลานของเรานั่นเอง"

พลเรือโท เสน่ห์ สุนทรมงคล เจ้ากรมอุทกศาสตร์ บอกเล่าถึงที่ตั้ง และความพิเศษของหอประวัติอุทกศาสตร์ไทย พร้อมกล่าวถึงแนวนโยบายในการพัฒนาสถานที่อันทรงคุณค่าแห่งนี้ให้เติบโตและเจริญก้าวหน้ามากยิ่งขึ้นว่า

"ขึ้นชื่อว่าพิพิธภัณฑ์หรือสถานที่เก็บรวบรวมของเก่าอันทรงคุณค่าแล้วย่อมไม่มีวันที่จะเสร็จสมบูรณ์ เราสามารถเพิ่มเติมทุกสิ่งเข้าไปได้ตลอดเวลา ตอนนี้ที่ตรงนี้ เราเริ่มจากสิ่งที่มีอยู่ในมือก่อนโดยนำมารวบรวมไว้ให้ได้มากที่สุด ต่อไปภายภาคหน้าแน่นอนว่า อาจจะต้องเพิ่มเติม ขยับขยายพื้นที่ออกไปอีก"

สำหรับองค์ประกอบภายในหอประวัติอุทกศาสตร์ไทยนั้น สามารถแบ่งออกได้เป็น 9 ส่วน ได้แก่ 

ส่วนที่ 1 ราชวงศ์จักรีทรงมีพระเมตตาต่อกรมอุทกศาสตร์ ส่วนนี้จะจัดแสดงกิจการอุทกศาสตร์ที่เกี่ยวข้องซึ่งกรมอุทกศาสตร์ได้มีโอกาสรับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาท ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน อาทิ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯประทับบนเรือหลวงจันทร ในการเสด็จฯเยี่ยมประชาชนในจังหวัดชายทะเล ฯลฯ 

ส่วนที่ 2 บอกเล่าความเป็นมาของงานอุทกศาสตร์ ก่อนปี 2464 จนถึงวันสถาปนากรมอุทกศาสตร์ 16 มกราคม 2464 รวมทั้งคำกล่าวของพลเรือตรีหลวงชลธารพฤฒิไกร อดีตเจ้ากรมอุทกศาสตร์ ที่ได้กล่าวรายงานต่อ พลเรือโท สินธุ์ กมลนาวิน อดีตผู้บัญชาการทหารเรือ ในโอกาสพิธีทำบุญฉลองที่ทำการกรมอุทกศาสตร์ เมื่อวันเสาร์ที่ 18 สิงหาคม 2488 

ส่วนที่ 3 งานอุทกศาสตร์ ส่วนนี้จะแสดงความก้าวหน้า การเปลี่ยนแปลงในการดำเนินการด้านอุทกศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นวิธีการ ระบบ และการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยจะแบ่งตามสายงานได้แก่ งานสำรวจแผนที่ งานสร้างแผนที่ งานสมุทรศาสตร์ งานเครื่องหมายทางเรือ งานอุตุนิยมวิทยาและงานเวลามาตรฐาน

ส่วนที่ 4 เป็นส่วนแสดงเรือใช้งานทางอุทกศาสตร์ ส่วนนี้จะแสดงเรือที่ใช้งานทางอุทกศาสตร์ ได้แก่ เรือสำรวจแผนที่ สำรวจสมุทรศาสตร์ เรือใช้งานซ่อมบำรุงรักษาเครื่องหมายช่วยในการเดินเรือ ฯลฯ ตั้งแต่ยุคเรือกลไฟในอดีตจนถึงเรือที่ใช้งานในปัจจุบัน 

ส่วนที่ 5 กรมอุทกศาสตร์กับงานต่างประเทศ ส่วนนี้จะแสดงให้เห็นความสัมพันธ์กับหน่วยงานอุทกศาสตร์ต่างประเทศที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนความร่วมมือในงานอุทกศาสตร์ กับหน่วยงานในภูมิภาคต่างๆ เช่น คณะกรรมาธิการอุทกศาสตร์ภูมิภาคเอเชียตะวันออก (East Asia Hydro graphic Commission, EAHC) คณะกรรมาธิการอุทกศาสตร์ภูมิภาค มหาสมุทรอินเดียตอนเหนือ (North Indian Ocean Hydro graphic Commission, NIOHC) เป็นต้น

ส่วนที่ 6 ส่วนของโครงการร่วมเฉลิมพระเกียรติ เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550

ส่วนที่ 7 ส่วนของวิสัยทัศน์กรมอุทกศาสตร์ ที่ว่า "กรมอุทกศาสตร์" จะเป็นผู้นำประเทศในการบริการข้อมูลข่าวสารงานอุทกศาสตร์ ด้านวิศวกรรมแผนที่ทะเล สมุทรศาสตร์ อุตุนิยมวิทยาทางทะเล วิศวกรรมชายฝั่ง การเดินเรือ และเวลามาตรฐานของประเทศไทยตามมาตรฐานสากล โดยมุ่งเน้นสนับสนุนการปฏิบัติการทางเรือของกองทัพเรือ ความปลอดภัยในการเดินเรือ การพัฒนาประเทศ และการรักษาผลประโยชน์แห่งชาติ ด้วยระบบสารสนเทศที่มีประสิทธิภาพ ตลอดจนแสดงผลงานต่างๆ ของกรมอุทกศาสตร์ในการพัฒนาประเทศไทยที่ผ่านมา

ส่วนที่ 8 แสดงของที่ระลึกจากต่างประเทศ ได้แก่ ถ้วย โล่ รางวัลต่างๆ ที่กรมอุทกศาสตร์ได้รับจากความร่วมมือในผลงานที่ผ่านมาของกรมอุทกศาสตร์

ส่วนที่ 9 งาน Window Display ส่วนนี้เป็นส่วนด้านนอกหอประวัติอุทกศาสตร์ไทย แสดงภาพงานสรุปโดยรวม แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ภาพสรุปงานอุทกศาสตร์และภาพสรุปงานสมุทรศาสตร์ นอกจากนั้นยังได้ จัดแสดงภาพรวมของกรมอุทกศาสตร์ โดยแสดงภารกิจพันธกิจ การจัดหน่วยการดำเนินงานด้านต่างๆ ของกรมอุทกศาสตร์ ฯลฯ ในรูปของคอมพิวเตอร์แบบสัมผัส (Touch Screen) แสดงบนจอภาพแอลซีดี

หอประวัติศาสตร์อุทกศาสตร์ไทยแห่งนี้เปิดให้นักเรียน นักศึกษา และบุคคลที่สนใจเข้าเยี่ยมชมได้ฟรีทุกวันจันทร์-วันศุกร์ ในเวลาราชการ ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์ ผู้สนใจเข้าเยี่ยมชมกรุณาแจ้งความจำนงล่วงหน้าได้ที่ โทร.0-2361-2915 เพื่อความสะดวกในการจัดเจ้าหน้าที่ให้ข้อมูล และอำนวยความสะดวกในการเยี่ยมชม 

ข้อมูลจาก: ศิริรัตน์ สาโพธิ์สิงห์. หอประวัติคุณค่าแห่งใหม่เล่าขาน งานอุทกศาสตร์ไทย. เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 29-01-2550, หน้า 4

ชื่อผู้แต่ง:
-