พิพิธภัณฑ์เตาเผาแม่น้ำน้อย วัดพระปรางค์


ที่อยู่:
วัดพระปรางค์ ต.เชิงกลัด อ.บางระจัน จ.สิงห์บุรี 16130
โทรศัพท์:
036-544557
วันและเวลาทำการ:
เปิดทุกวัน กรุณาติดต่อล่วงหน้า
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
ปีที่ก่อตั้ง:
2530
ไม่มีข้อมูล

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

ไม่มีข้อมูล

แหล่งเตาแม่น้ำน้อย

ชื่อผู้แต่ง: สุนิสา มั่นคง | ปีที่พิมพ์: ปีที่ 27 ฉบับที่ 3 (ก.ค. - ก.ย. 2544); 86-91.

ที่มา: วารสารเมืองโบราณ

แหล่งค้นคว้า: ศมส.

โดย: ศมส.

วันที่: 13 มีนาคม 2555


ไม่มีข้อมูล

รีวิวของพิพิธภัณฑ์เตาเผาแม่น้ำน้อย วัดพระปรางค์

พระครูวิริยโสภิต เจ้าอวาสวัดพระปรางค์ ผู้ริเริ่มก่อตั้งพิพิธภัณฑ์วัดพระปรางค์พร้อมกับการค้นพบแหล่งโบราณคดีเตาเผาแม่น้ำน้อย หลวงพ่อเล่าว่า ท่านมาจำวัดอยู่ที่วัดพระปรางค์ตั้งแต่สมัยหลวงพ่อศรี ยังเป็นเจ้าอาวาสอยู่ เมื่อสิ้นท่านก็ขึ้นมาเป็นเจ้าอาวาสแทน พื้นที่บริเวณแถบนี้ เดินไปตรงไหน หรือไปทำนาที่ไหนก็จะเจอพวกหม้อ ชามดินเผา เป็นประจำ เมื่อท่านมาเป็นพระลูกวัดที่นี่ ท่านก็สังเกตุว่ามีเนินดินสูงๆ แล้วก็มีอิฐดินเผาโผล่ขึ้นมา เมื่อลองเอาจอบเอาเสียมไปแระแทกดุก็พบว่า ยังมีก้อนอิฐวางเรียงกันอยูด้านล่างอีกเยอะ ก็สันนิษฐานว่าต้องมีสิ่งก่อสร้างอยู่ด้านล่างขนาดพอสมควร จนพบวัตถุชิ้นแรกที่ยิ่งทำให้สนใจคือ หัวสิงห์ ยิ่งเพิ่มความสนใจให้กับหลวงพ่อมากขึ้น

จนเมื่อกรมศิลปากรเข้ามาสำรวจขุดค้นทางโบราณคดีเริ่มขึ้นในปี 2531 บริเวณวัดพระปรางค์ ซึ่งมีลักษณะเป็นเนินดินขนาดใหญ่ 3 เนินเชื่อมต่อกัน โดยค้นพบเตาเผาภาชนะดินเผาทับกัน 5 เตาเป็นเตาประทุนก่ออิฐสอดิน แบบกระจายความร้อนในแนวระนาบ โดยโครงสร้างของเตาแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนหน้าใช้เป็นที่ใส่เชื้อเพลิงกว้าง 2.50 เมตร มีกำแพงกั้นไฟกว้าง 5 เมตร ต่อด้วยส่วนที่ใช้วางภาชนะในห้องเผากว้าง 5.60 เมตร แล้วจึงเป็นส่วนคอดเข้าคอเตาสู่ปล่องไฟกว้าง 2.15 เมตร มีความยาว โดยตลอดตัวเตาทั้งสิ้น 16 เมตร1 เครื่องปั้นดินเผาที่ขุดพบในเตาเผาแม่น้ำน้อยนั้น ส่วนใหญ่ประกอบด้วย เครื่องปั้นดินเผาที่เป็นไหสี่หู ครก โอ่งอ่าง กระปุกปูน ขวดปากแตร เครื่องปั้นดินเผาที่ใช้ในงานสถาปัตยกรรมเช่น กระเบื้อง งานประติมากรรมลอยตัว กระสุนดินเผาขนาดต่าง ๆ

เมื่อได้มีการขุดค้นแหล่งโบราณคดีแห่งนี้เสร็จแล้วสันนิษฐานว่าเตาเผานี้น่าจะใช้กันตั้งแต่ช่วง สมเด็จพระนครินทราธิราช หรือ สมเด็จพระอินทร์ราชา(เจ้านครอินทร์) ประมาณปี พ.ศ. ๑๙๕๒ ทรงเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๖ ของกรุงศรีอยุธยา ซึ่งทรงเคยเสด้จไปเยือนเมืองจีน และในสมัยนั้นมีช่างฝีมือทำเครื่องปั้นดินเผาของจีนเข้ามาทำมาหากินและทำเครื่องปั้นดินเผาถวายราชสำนักของอยุธยาด้วย

หลังจากนั้นจึงได้มีการเข้ามาจัดการให้เตาเผาแม่น้ำน้อยเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางโบราณคดี และมีการจัดสร้างอาคารโรงเรือนขนาดใหญ่ครอบเตาเผาเอาไว้จำนวน 2 เตา และมีอาคารจัดแสดงเครื่องปั้นดินเผาบางส่วนที่ขุดพบในบริเวณเตาเผานี้ รวมถึงอาคารขายสินค้าที่เป็นของที่ระลึกของแหล่งโบราณคดีแห่งนี้ด้วย

ท่านพระครูก็ได้เล่าว่าท่านก็ได้นำเครื่องปั้นดินเผาที่ท่านเก็บได้จากการขุดดิน หรือการปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์มาร่วมจัดแสดงด้วย แต่ปรากฏว่าในช่วงก่อนหน้านี้ไม่นาน ทางองค์การปกครองท้องถิ่นจะเข้ามาจัดการอาคารพิพิธภัณฑ์และอาคารขายสินค้า ด้วยความน่ารำคาญใจท่านเลยให้พระลูกวัดและลูกศิษย์ของท่านช่วยกันย้ายเครื่องปั้นดินเผาที่จัดแสดงภายในอาคารของกรมศิลปากร ออกมา และจัดพื้นที่ส่วนหนึ่งของอาคารโรงเรือน โรงรถ ปรับปรุงให้เป็นอาคารพิพิธภัณฑ์และนำข้าวของต่างๆ เข้ามาจัดแสดง และแบ่งทำเป็นห้องคลังส่วนหนึ่ง ซึ่งส่วนใหญ่ก็เก็บเครื่องปั้นประเภทไหสี่หู เครื่องประกอบสถาปัตยกรรม ลูกกระสุนปืนใหญ่ขนาดต่างๆ โดยรวมแล้วตัวอาคารที่ย้ายมาจัดแสดงแบ่งออกได้เป็น 3 ส่วน

ส่วนที่ 1 คือ พื้นที่สำหรับชาวบ้านเข้ามาทำกิจกรรมเช่น กศน.ก็เข้ามาจัดการเรียนการสอนคอมพิวเตอร์บ้าง จัดกิจกรรมผลิตตอนไม้จันทน์บ้าง

ส่วนที่ 2 จัดแสดงบรรดาเรือประเภทต่างๆ เครื่องมือเครื่องไม้ทางการประมง เพราะบริเวณพื้นที่ของตำบลเชิงกลัดนี้ อยู่ใกล้กับแม่น้ำน้อยชาวบ้านจะมีอาชีพทำนาแล้วก็ยังมีอาชีพเกี่ยวกับการประมง จับปลาในแม่น้ำอีกด้วย นอกจากนี้ก็จัดแสดงเครื่องมือการทำนา รหัสวิดน้ำแบบมือ เรียกว่า "รหัสชกมวย" ล้อเกวียน เครื่องสีข้าวแบบคนหมุน ครกตำข้าว เครื่องทำอีดน้ำตาลแบบที่ต้องใช้แรงงานสัตว์ นอกจากนี้ยังมีการจำลองรูปแบบห้องหับในเรือนไทยสมัยก่อนจัดแสดงไว้ด้วย มีอยู่ 2 ห้องด้วยกัน คือห้องนอน และห้องครัว ส่วนของห้องนอนก็จะแสดงการจัดวางข้างของ ประกอบด้วยโต๊ะเครื่องแป้งกระจกส่องหน้า หีบเก็บเสื้อผ้า ส่วนในห้องครัวนั้นก็ก็เป็นครัวเตาฟืน มีเตาเชิงกราน เตาสามเส้า หม้อแกงหม้อข้าว ทัพพี กระจ่า กระบวย เอาไว้ใช้ในการตักอาหาร

ในส่วนที่ 3 จัดเอาไว้เป็นห้องคลัง มีชั้นวางประดิษฐ์เองอยู่ 5 แถว แต่ละแถวอัดแน่นไปด้วยเครื่องปั้นดินเผาที่พบเจอจากสถานที่ต่างๆทั้งในและนอกวัด มีไหสีหูอยู่หลายใบ ถ้วยชามขนาดต่างๆ หีบเก็บของทำจากเหล็กหลายขนาด กระปุกปากแตรมีทั้งแบบที่เคลือบแล้วและยังไม่ได้เคลือบ สภาพโดยรวมของพิพิธภัณฑ์นั้น ค่อนข้างรกรุ่งรังเพราะขาดการดูแลเรื่องความสะอาดเรียบร้อย และค่อนข้างแคบ แต่หลวงพ่อท่านก็บอกว่า ไม่มีแรงทำแล้วเพราะร่างกายไม่แข็งแรงได้แต่ดูแลให้อยู่ในสภาพที่ไม่แย่ไปกว่านี้

นอกจากนี้ยังมีอีกส่วนที่จัดเก็บของเอาไว้ก็ได้พาผู้สำรวจไปชมด้วย อยู่บริเวณชั้น 2 ของอาคารหอประชุม ด้านบนเป็นห้องโถงใหญ่ ข้าวของที่เคยจัดแสดงในอาคารของกรมศิลปากรอยู่หวงพ่อท่านเก็บเอามาไว้ที่นี่เกือบหมดทั้งตู้โต๊ะและเครื่องปั้นดินเผาชิ้นงามๆ หลายชิ้น ยังวางไว้ระเกะระกะตามพื้นของหอประชุม แต่เมื่อสังเกตุในห้องนี้มีการติดตั้งกล้องวงจรปิด และลูกกรงสำหรับป้องกันความปลอดภัยเอาไว้ด้วย นอกจากสิ่งของจัดแสดงแล้วยังมีป้ายนิทรรศการที่เคยใช้ในการจัดแสดงในอาคารรวมอยู่ด้วย ป้ายนิทรรศการเหล่านี้เล่าเรื่องเกี่ยวกับการขุดค้นในแหล่งโบราณคดีแห่งนี้และพบอะไรบ้าง และวัตถุชิ้นไหนเป็นวัตถุสำคัญที่เป็นชิ้นเด่นของพิพิธภัณฑ์หรือเตาเผาแห่งนี้
ก่อนหน้าที่ผู้เข้าชมส่วนใหญ่มาเพื่อมาเยี่ยมชมแหล่งโบราณคดี และสักการะพระปรางค์ที่ประดิษฐานภายในเขตวัด แต่ในปัจจุบันผู้เข้าชมเมื่อมาถึงพบกับความว่างเปล่าของอาคารจัดแสดงก็ไม่อยากกลับมาชมซ้ำ และบริเวณที่ร่มรื่นก็กลายเป็นสถานที่นัดพบกันของคู่รักหนุ่มสาว ซึ่งเป็นภาพที่หลวพ่อท่านไม่อยากให้มาเกิดขึ้นที่วัด แต่ก็ไม่สามารถห้ามปรามได้ ความสนใจของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนั้นนอกจากกรมศิลปากรเข้ามาดูแลในการก่อสร้างอาคารแล้ว องค์กรปกครองท้องถิ่น เช่น อบต.หรืออบจ.ก็ให้งบประมาณสนับสนุนมาบ้างแต่ก็ไม่เยอะมากนัก การดูแลส่วนใหญ่ยังเป็นหน้าที่ของวัดอยู่

มัณฑนา ชอุ่มผล /เขียน
ข้อมูลจาก: สำรวจภาคสนาม วันที่ 24 กรกฎาคม 2554
1อ้างอิงจากเว็ปไซท์ http://www.oknation.net/blog/NENA/2010/07/19/entry-2 วันที่ 29 กันยายน 2554
 
ชื่อผู้แต่ง:
-

รีวิวของพิพิธภัณฑ์เตาเผาแม่น้ำน้อย วัดพระปรางค์

เตาแม่น้ำน้อย ตั้งอยู่ในบริเวณวัดพระปรางค์ ซึ่งเป็นศาสนสถานเก่าแก่มาแต่โบราณ แหล่งเตาเผาแม่น้ำน้อยนี้กระจายตัวตามแนวลำแม่น้ำน้อยตลอดระยะ 2 กิโลเมตร และจำนวนมากกว่า 200 เตา แต่ก็ชำรุดทรุดโทรมไปตามเวลา และถูกทำลายโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์อันเนื่องมาจากการขุดคลองชลประทานและการก่อสร้างถนน จากเอกสารทางประวัติศาสตร์ทราบว่าในรัชสมัยของพระนครินทราชาได้มีการเจริญสัมพันธไมตรีอย่างใกล้ชิดกับจีน และสันนิษฐานว่ามีชาวจีนรวมถึงช่างปั้นอพยพมาตั้งรกรากอยู่ในบริเวณนี้ หรืออาจเป็นการนำช่างจากสุโขทัยลงมา

นอกจากนี้ยังมีรายงานถึงการค้นพบภาชนะดินเผาที่เชื่อมาว่ามาจากแหล่งเตาแม่น้ำน้อยในแหล่งโบราณคดีต่าง ๆ และตามแหล่งเรือจมทั่วโลก สันนิษฐานได้ว่าเตาแม่น้ำน้อยน่าจะเป็นแหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคนี้ ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น การสำรวจขุดค้นทางโบราณคดีเริ่มขึ้นในปี 2531 บริเวณหน้าวิหารเก่าของวัดพระปรางค์ ซึ่งมีลักษณะเป็นเนินดินขนาดใหญ่ 3 เนินเชื่อมต่อกัน โดยค้นพบเตาเผาภาชนะดินเผาซ้อนทับกัน 5 เตาเป็นเตาประทุนก่ออิฐสอดิน แบบกระจายความร้อนในแนวระนาบ โดยโครงสร้างของเตาแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนหน้าใช้เป็นที่ใส่เชื้อเพลิงกว้าง 2.50 เมตร มีกำแพงกั้นไฟกว้าง 5 เมตร ต่อด้วยส่วนที่ใช้วางภาชนะในห้องเผากว้าง 5.60 เมตร แล้วจึงเป็นส่วนคอดเข้าคอเตาสู่ปล่องไฟกว้าง 2.15 เมตร มีความยาว โดยตลอดตัวเตาทั้งสิ้น 16 เมตร

ผลิตภัณฑ์จากเตาเผาแม่น้ำน้อยได้แก่ เครื่องปั้นดินเผาที่เป็นไหสี่หู ครก โอ่งอ่าง กระปุกใส่ปูน ขวดปากแตรทรงสูง หวด ฝา เครื่องประกอบสถาปัตยกรรมจำพวก กระเบื้องปูพื้น ประติมากรรมลอยตัว กระสุนดินเผาขนาดต่าง ๆ ที่เป็นการผลิตแบบสั่งทำเพื่อใช้ในเขตพระราชฐาน หรือสถานที่สำคัญที่พบได้แก่ พระราชวังโบราณพระนครศรีอยุธยา และนารายราชนิเวศน์ เป็นต้น สันนิษฐานว่าเตาเผาแม่น้ำน้อยหยุดใช้งาน น่าจะเป็นผลมาจากการที่ประชาชนในพื้นที่รวมตัวกันต่อต้านกองทัพข้าศึกที่หมู่บ้านบางระจัน แล้วถูกกวาดต้อนไปเมื่อเสียทีแก่ข้าศึกในเวลาต่อมาเป็นเหตุให้เตาถูกทิ้งร้างไปภายหลังการเสียกรุงครั้งที่สอง นอกเหนือจากเตาเผาที่ทางวัดพระปรางค์ได้พยายามอนุรักษ์โดยสร้างอาคารมุงสังกะสีคลุมไว้

ปัจจุบันกรมศิลปากรได้จัดสร้างเป็นพิพิธภัณฑ์เตาแม่น้ำน้อยขึ้น เป็นอาคารขนาดใหญ่เชื่อมต่อกันสองหลัก หลังแรกเป็นอาคารโปร่งโล่งคลุมเตาเผาไว้ 2 เตา โดยยกพื้นโดยรอบตัวเตาเผาเพื่อที่ผู้ชมสามารถเดินชมตัวเตาเผาได้โดยรอบ บริเวณทางเดินมีนิทรรศการที่ให้ข้อมูลโดยสังเขปของแหล่งเตาเผาแม่น้ำน้อยทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ส่วนอาคารหลังที่สองจัดแสดงแบบจำลองเตาเผาแม่น้ำน้อย และตัวอย่างเครื่องปั้นดินเผาจำนวนหนึ่งที่พบในแหล่งนี้ อย่างไรก็ดีถ้าผู้ใดสนใจชมเครื่องปั้นดินเผาจากแหล่งนี้เพิ่มเติม สามารถขอชมของที่เก็บไว้ในกุฏิของท่านเจ้าอาวาสวัดพระปรางค์ได้เช่นกัน

ข้อมูลจาก: การสำรวจภาคสนามโดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร เมื่อ วันที่ 7 มีนาคม 2548
ชื่อผู้แต่ง:
-