พิพิธภัณฑ์อาคารที่ประทับประชาธิปกศักดิเดชน์


อาคารที่ประทับประชาธิปกศักดิเดชน์ เป็นอาคารที่พำนักของรัชกาลที่ 7 ในสมัยที่พระองค์ทรงรับราชการเป็นนายทหารเหล่าทหารปืนใหญ่ (พ.ศ.2458 -2464) สร้างเพื่อทรงใช้เป็นที่เปลี่ยนฉลองพระองค์ ทรงพักผ่อนอิริยาบถ ทรงงาน หรือประทับแรมในบางคราว จนปี พ.ศ. 2541 อาคารที่ประทับมีสภาพทรุดโทรมลง กองพล ปตอ. จึงได้ทำการบูรณะซ่อมแซมพร้อมตกแต่งภายใน และจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์เพื่อเผยแพร่พระเกียรติคุณและน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ภายในจัดแสดงห้องบรรทม ห้องทรงงาน ห้องทรงพระกระยาหาร พร้อมจัดแสดงพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจและของใช้ส่วนพระองค์

ที่อยู่:
กองพลทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน ถ.ทหาร เขตดุสิต กรุงเทพฯ 10300
โทรศัพท์:
0-2243-0220-19 ต่อ 92463
วันและเวลาทำการ:
วันจันทร์-ศุกร์ 9.30-16.00 น. (โปรดแต่งกายสุภาพ)
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
ปีที่ก่อตั้ง:
2542
จัดการโดย:

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

เปิดพิพิธภัณฑ์อาคารที่ประทับประชาธิปกศักดิเดชน์

ชื่อผู้แต่ง: | ปีที่พิมพ์: ปีที่21 ฉบับที่ 2 ธ.ค. 2542

ที่มา: ศิลปวัฒนธรรม

แหล่งค้นคว้า: ศมส.

โดย: ศมส.

วันที่: 13 มีนาคม 2555


ไม่มีข้อมูล

รีวิวของพิพิธภัณฑ์อาคารที่ประทับประชาธิปกศักดิเดชน์

พิพิธภัณฑ์อาคารที่ประทับประชาธิปกศักดิเดชน์ ตั้งอยู่ในกองพลทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน หรือ กองพล ปตอ.ในปัจจุบัน ซึ่งอาคารที่ประทับประชาธิปกศักดิเดชน์เป็นอาคารที่พำนักของรัชกาลที่ 7 ในสมัยที่พระองค์ทรงรับราชการเป็นนายทหารเหล่าทหารปืนใหญ่ ในระหว่างปี พ.ศ.2458-2464

ร้อยเอกมงคล วรรณเครือ ตำแหน่งผู้ช่วยทหารฝ่ายกำลังพล ได้นำชมและบรรยายให้เราฟังว่า “อาคารที่ประทับประชาธิปกศักดิเดชน์” ได้ก่อสร้างเมื่อปีพ.ศ. 2463 เป็นบ้านไม้ชั้นเดียว ใต้ถุนสูง หลังคามุงด้วยกระเบื้องลูกว่าว แบ่งออกเป็น 2 ส่วนด้วยกัน ในส่วนแรก หรือด้านหน้าจะมี 3 ห้อง คือ ห้องทรงงาน ห้องบรรทม และห้องพระกระยาหาร ส่วนด้านหลังเป็นห้องเตรียมพระกระยาหาร และยังมีชานโล่งสำหรับพักผ่อนภายนอก โดยอาคารที่ประทับนี้สร้างเพื่อทรงใช้เป็นที่เปลี่ยนฉลองพระองค์ ทรงพักผ่อนอิริยาบถทรงงาน หรือประทับแรมในบางคราว

จนปีพ.ศ. 2541 อาคารที่ประทับมีสภาพทรุดโทรมลง พล.ท.เถกิง มุ่งธัญญา ผบ.นปอ. ได้มีนโยบายที่จะปรับปรุงอาคารที่ประทับของรัชกาลที่ 7 ในกอง พล ปตอ. ให้คงไว้ซึ่งลักษณะรูปแบบเอกลักษณ์ของบ้านเดิมมากที่สุด ถึงแม้ในบางส่วนอาจหาไม่ได้แล้ว อย่างกระเบื้องลูกว่าวแบบดั้งเดิม โดยสำนักโบราณคดี และพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ได้ทำการการปรับปรุงพร้อมตกแต่งภายใน เพื่อจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์ เผยแพร่พระเกียรติคุณ และน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ของพระองค์

การจัดแสดงของอาคารที่ประทับประชาธิปกศักดิเดชน์ แบ่งออกเป็น 4 ห้อง คือ ห้องแรก จัดแสดงพระบรมสาธิสลักษณ์ พระราชประวัติของพระองค์ และยังจัดแสดงเครื่องประทับตราแผ่นดินในสมัยพระองค์อีกด้วย ส่วนของฝาผนังจัดแสดงรูปภาพที่ทรงฉายพระรูปร่วมกับข้าราชการทหาร หมวด 3 กองร้อยที่ 2 กรมทหารปืนใหญ่ที่ 1 รักษาพระองค์ ซึ่งแต่เดิมห้องนี้เป็นห้องทรงงานของพระองค์

ภายในห้องจัดแสดงห้องที่ 2 จัดแสดงพระบรมสาทิสลักษณ์ ขณะทรงอภิเษกสมรส ฉลองพระองค์เครื่องแบบทหาร และฉลองพระองค์ขณะทรงศึกษาโรงเรียนนายร้อย เมือง Wool Wich ประเทศอังกฤษ ฉลองพระบาท ยังมีภาพของพระองค์ขณะทรงเครื่องแบบนักเรียนนายร้อยชุดนี้ให้เราได้ชม, เครื่องหมายประดับฉลองพระองค์ อย่างเช่น อินธนู กระเป๋ากระสุน กระเป๋าเครื่องสนาม และแต่เดิมห้องนี้คือห้องบรรทม

ห้องที่ 3 จัดแสดงพระบรมฉายาลักษณ์ พระราชประวัติ พระราชกรณียกิจของพระองค์ และสิ่งของเครื่องบางส่วนที่ได้รับพระราชทานมาจากวังสุโขทัย ห้องนี้เดิมเคยเป็นห้องพระกระยาหาร และห้องพักผ่อน

ห้องสุดท้ายจัดแสดงเครื่องออกกำลังกาย ชิ้นเล็กๆ 1 ชิ้นซึ่งผู้กองมงคลบอกว่าไม่อาจคาดเดาว่าทรงอย่างไร ตู้ไฟแสดงห้องที่ประทับ ซึ่งจะเป็นตู้ไม้เล็กๆ คล้ายๆ ตู้รับไปรษณีย์หน้าบ้านทั่วๆ ไป แต่จะมีช่องกระช่องเป็นกลมๆ 4 ช่อง และเขียนอักษรสีเหลืองไว้ที่แต่ละช่อง ซึ่งบางช่องสีได้เลือนไปบ้างแล้ว ช่องไฟที่ยังพออ่านได้ชัดเจนอยู่คือ ช่องไฟ ห้องทรงพระอักษรชั้นล่าง ถ้าไฟช่องนี้ติดขึ้น นั่นหมายถึงพระองค์อยู่ห้องนี้เพื่อทรงงาน นอกจากนี้ยังจัดแสดงโชว์สิ่งของร่วมสมัย เช่น หมวกโลหะ เหรียญโบราณ และไหโบราณ อีกมุมหนึ่งของห้องจัดแสดงเครื่องทอผ้าส่วนพระองค์อีก 1 เครื่อง ซึ่งผู้กองมงคลบอกว่าเป็นของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ท่านเคยถักเสื้อกันหนาวเป็นการส่วนพระองค์สมัยที่ประทับอยู่ต่างประเทศ และเมื่อก่อนห้องนี้เคยเป็นห้องเตรียมพระกระยาหาร

ผู้กองมงคลได้พาเรานำชมบริเวณโดยรอบของอาคารที่ประทับ พบว่ามีปืนใหญ่สำริด ตั้งอยู่ด้านข้างของอาคารที่ประทับ มีชื่อว่า “ปืนใหญ่อสุระผัดผ่าพล” ซึ่งผู้กองมลคลบอกกับเราว่า ประวัติของปืนใหญ่อสุระผัดผ่าพลนี้ไม่ชัดเจน ได้แต่เพียงสันนิษฐานว่า อาจจะเป็นการนำเข้ามาเพื่อถวายแด่พระเจ้าแผ่นดินในสมัยกรุงศรีอยุธยา หรืออาจจะเป็นทางราชสำนักของกรุงศรีอยุธยาสั่งซื้อเข้ามา ซึ่งปืนใหญ่อสุระผัดผ่าพลนี้มีลวดลายที่งดงามมาก

พิพิธภัณฑ์อาคารที่ประทับประชาธิปกศักดิเดชน์แห่งนี้ ผู้กองมงคลบอกว่าเปิดให้ผู้ที่สนใจสามารถเข้าชมได้ เพียงแต่ขอให้แต่งกายสุภาพ ก่อนออกจากกองพลทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานควรไปเคารพสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ซึ่งตั้งอยู่ด้านหน้าของอาคารกองบัญชาการกองพลทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานเพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์

เรื่อง/ภาพ : ณัฐพัชร์ ทองคำ

สำรวจภาคสนาม : 8 สิงหาคม 2551

คลิกอ่านรายละเอียดเพิมเติมในเว็บไซต์ "ท่องเที่ยวกองทัพบก"

ชื่อผู้แต่ง:
-