พิพิธภัณฑ์พระพุทธรูป 80 ปาง วัดกระทุ่มเสือปลา


ที่อยู่:
วัดกระทุ่มเสือปลา หมู่ 3 ซอยอ่อนนุช 67 แขวงประเวศ เขตประเวศ กรุงเทพฯ 10250
วันและเวลาทำการ:
เปิดทุกวัน
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

รีวิวของพิพิธภัณฑ์พระพุทธรูป 80 ปาง วัดกระทุ่มเสือปลา

ณ สถานที่แห่งนี้ สำหรับผู้มาเยือน บางคนอาจไม่ได้ตั้งใจศึกษาอย่างจริงจัง แต่เชื่อแน่ว่าเพียงแค่คุณก้าวเดินเข้าไปในโถงห้อง ภายใต้แสงไฟจากโคมระย้า สูงขึ้นไปบนเพดาน เดินเข้าไปราวกับถูกมนต์สะกดจากความงดงามของพระพุทธรูปสีทองที่เป็นองค์ประธาน แสงของห้องสะท้อนกับผนังปรากฏเห็นเป็นเงา แล้วคุณจะพบว่าตัวคุณอยู่ท่ามกลางพระพุทธรูปทองเหลือง 80 องค์ อันเป็นที่มาของชื่อของพิพิธภัณฑ์พระพุทธรูป 80 ปาง

วัดกระทุ่มเสือปลา เป็นวัดในชุมชนอยู่คู่กรุงเทพมากว่า 200 ปี สร้างเมื่อ พ.ศ. 2315 ไม่ทราบชื่อผู้สร้าง ขุนประเวศธนารักษ์และนางซ้อน กิติโกวิท เป็นผู้บูรณะวัดขึ้นมาใหม่ นอกจากเป็นศาสนสถานสำหรับพุทธศาสนิกชนได้มาทำบุญปฏิบัติธรรม ในสมัยพระครูอมรธรรมนิวิฏฐ์ เจ้าอาวาสองค์ก่อนที่ได้มรณภาพไปแล้ว ได้มีพิพิธภัณฑ์เกิดขึ้นถึง 2 แห่ง นั่นคือพิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้ง จัดแสดงรูปปั้นพระเกจิอาจารย์ ภายในเรือนไทยไม้สัก และชั้นบนของศาลาการเปรียญแห่งนี้คือพิพิธภัณฑ์พระพุทธรูป 80 ปาง ด้านหน้าพิพิธภัณฑ์เราจะเห็นระฆังโบราณแขวนเรียงกัน มองออกไปคือทิวทัศน์ของวัด โรงเรียนและชุมชนที่ล้อมรอบ

พระพุทธรูปมีถึง 80 ปางเชียวหรือ? ไม่เพียงแต่ตอบคำถามด้วยพระพุทธรูปทองเหลืองที่ตั้งอยู่บนฐานจัดวางเรียงรายกันในโถงห้อง เรื่องราวอันเป็นที่มาของปางต่างๆยังช่วยขยายโลกทัศน์ในความเข้าใจต่อพระพุทธศาสนาและพระพุทธเจ้าให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น

พระพุทธรูปองค์หนึ่งอยู่ในอิริยาบถประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิ พระหัตถ์ทั้งสองวางหงายซ้อนกันบนพระเพลา (ตัก) พระหัตถ์ขวาซ้อนทับพระหัตถ์ซ้าย เหมือนปางสมาธิ แต่มีพญานาคขดร่างเป็นวงกลมเป็นพุทธบัลลังก์และแผ่พังพานปกคลุมอยู่เหนือพระเศียร นั่นคือพระพุทธรูปปางนาคปรก ความเป็นมามีอยู่ว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จออกจากใต้ร่มไทร เสด็จประทับที่ใต้ต้นมุจลินท์(ต้นจิก) ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของต้นพระศรีมหาโพธิ์ ฝนเจือลมหนาวตกพรำอยู่ตลอดเวลา 7 วันไม่ขาดสาย พญานาคราชชื่อมุจลินท์ ราชาแห่งนาคภิภพได้ขึ้นมาจากบาดาล ขนดกายเป็นพุทธบัลลังก์ แล้วแผ่พังพานเหมือนกั้นเศวตฉัตรถวายพระพุทธองค์ ปกป้องมิให้ลมฝน ยุง เหลือบ ริ้น ไร และสัตว์เลื้อยคลานมาต้องพระวรกาย เมื่อฝนหยุด พญานาคราชจึงจำแลงกายเป็นชายหนุ่มมาถวายนมัสการต่อพระพุทธองค์

พระพุทธรูปอีกองค์หนึ่งอยู่ในอิริยาบถประทับ(นั่ง) ขัดสมาธิราบ พระหัตถ์ซ้ายวางหงายอยู่บนพระเพลา(ตัก) พระหัตถ์ขวายกขึ้นป้องเสมอพระอุระ(อก) แสดงอาการห้าม นั่นคือพระพุทธรูปปางห้ามมาร ความเป็นมามีอยู่ว่าหลังจากทรงพิจารณาธรรมในเรือนแก้ว พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จไปประทับใต้ต้นไทร ธิดาทั้ง 3 ของพญามารคือ นางราคา นางตัณหา นางอรดี ได้อาสาผู้เป็นบิดาไปทำลายตบะเดชะของพระพุทธองค์ ด้วยการเนรมิตร่างเป็นสตรีที่สวยงามในวัยต่างๆ ตลอดจนแสดงการฟ้อนรำขับร้อง แต่พระพุทธองค์ไม่ทรงเอาพระทัยใส่ กลับขับไล่ธิดาทั้ง 3 ของพญามารให้หลีกไป

เรื่องราวที่เราไม่รู้เหล่านี้มีคำอธิบายไว้โดยย่อที่ฐานของพระพุทธรูปทุกองค์ เพียงได้อ่านได้รู้ความเป็นมาของพระพุทธรูปแม้จะเริ่มต้นเพียง 2-3 องค์ นับจากนี้ไปตัวเราได้เปลี่ยนไปแล้ว ยิ่งจดจำได้มากขึ้น ครั้งต่อไปเมื่อเราได้เห็นพระพุทธรูปที่ไหน สายธารของความทรงจำจะบอกได้ว่าพระพุทธรูปที่เราเห็นอยู่ในอิริยาบถใด ความสนใจจะขยายเป็นความใคร่รู้ถึงความเป็นมา ความเก่าแก่ ยุคสมัยที่สร้าง อีกทั้งปริศนาธรรมที่สั่งสอนผ่านพระจริยวัตรของพระพุทธองค์เริ่มตั้งแต่ประสูติ ตรัสรู้ ไปจนถึงปรินิพพาน อีกทั้งยังได้รู้จักพระพุทธรูปหลายปางที่เราไม่คุ้นเคยอย่างเช่น ปางโปรดพญาชมพูบดี ปางทรงรับผลมะม่วง ปางโปรดพระพุทธมารดา ปางโปรดพกพรหม ปางป่าเลไลย์ ปางพยาบาลภิกษุอาพาธ เป็นต้น

ปัจจุบันวัดกระทุ่มเสือปลามีเจ้าอาวาสคือ พระครูปลัดสุรศักดิ์ วิริยทโร ในการเยี่ยมชม พระรัตนตรัย ขติกโร ได้ให้ความกรุณาอธิบายว่า การหล่อพระพุทธรูปทองเหลืองแต่ละองค์ใช้เวลานานมาก เมื่อหล่อแล้วก็จะทุบแบบทิ้งเพื่อไม่ให้มีแบบที่ซ้ำกัน บางทีได้รับมาไม่สมส่วนก็ต้องเปลี่ยนใหม่ อย่างการนอนของพระพุทธเจ้า นอนไสยาสน์ธรรมดากับนอนไสยาสน์เพื่อบำเพ็ญสมาธิก็อีกอย่าง อย่างพระพุทธเจ้าทรงยืนก็มีหลายปาง ปางแก่นจันทร์ก็อีกแบบ ปางโปรดพกพรหมก็อีกอย่าง จุดประสงค์ของการสร้างพิพิธภัณฑ์นี้เพื่อการเรียนรู้ วัดเป็นสถานที่ศึกษามาแต่โบราณ องค์ความรู้เมื่อก่อนเกิดมาจากวัดทั้งหมด การมีสถานที่แห่งนี้จะทำให้รู้ว่าพระพุทธเจ้าไม่ได้มีเพียงแค่ยืน เดิน นั่ง นอน ปางประจำวัน จริงๆ แล้วมีมากกว่านั้น

ในอนาคตวัดกระทุ่มเสือปลาจะมีมัคคุเทศก์น้อยมาเป็นไกด์พานักท่องเที่ยวเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ มัคคุเทศก์น้อยจะมาจากนักเรียนชั้นป.1 – ป.6 ในโรงเรียนวัดกระทุ่มเสือปลา เด็กที่มาช่วยงาน ท่านเจ้าอาวาสจะให้เป็นทุนการศึกษา ทุกวันนี้คนที่มาช่วยดูแลพิพิธภัณฑ์ก็เป็นชาวบ้านในชุมชนนี่เอง

พิพิธภัณฑ์นี้ไม่เพียงแต่เป็นสถานที่เรียนรู้สำหรับผู้ที่สนใจในพุทธศาสนาเท่านั้น นักท่องเที่ยวต่างชาติก็ได้ให้ความสนใจเป็นอย่างมาก ในวันนั้นได้มีนักท่องเที่ยวชาวออสเตรเลียพาภรรยาและลูกเล็กๆ วัยกำลังซน 2 คนเข้ามาเที่ยว พวกเขาใช้เวลานานนับชั่วโมงในการเดินชม ถ่ายรูปและอ่านตัวอักษรที่เขียนบอกถึงปางต่างๆ เป็นภาษาอังกฤษ 

ในการมาเที่ยววัดกระทุ่มเสือปลานอกจากการเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์แล้ว ไม่ควรพลาดการสักการะหลวงพ่อเพชร พระพุทธรูปประดับเพชรที่จำลองมาจากพระพุทธชินราชสมัยสุโขทัย จีวรประดับเพชรรัสเซียนับพันเม็ด สักการะหลวงพ่อโสธรองค์จำลอง สักการะพระศรีอาริยเมตไตรทรงชุดเทวดา สักการะเจดีย์แก้วบรรจุพระธาตุท่านปู่ชีวกโกมารภัตร ท่านเจ้าพ่อเสือ ท่านปู่ฤาษี ครูบาศรีวิชัย และยังมีรูปปั้นกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์หรือเสด็จเตี่ย ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของชาวเรือ กลับจากการเที่ยววัดครั้งนี้ นอกจากได้ทำบุญแล้ว ยังได้ความรู้และสัมผัสกับความงดงามของสถานที่ อันจะติดอยู่ในความทรงจำไปอีกนาน

สาวิตรี ตลับแป้น / ผู้เขียน, กฤษกร ตราชู / ถ่ายภาพ 

ข้อมูลจาก : สำรวจภาคสนามวันที่ 23 พฤษภาคม 2551
ชื่อผู้แต่ง:
-