พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมการเกษตร


มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีความคิดที่จะจัดตั้งพิพิธภัณฑ์การเกษตรตั้งแต่ปี พ.ศ. 2530 โดยแต่งตั้งคณะทำงานโครงการพิพิธภัณฑ์การเกษตร จนเกิดเป็นสำนักพิพิธภัณฑ์และวัฒนธรรมการเกษตรในที่สุด พื้นที่บริเวณด้านนอกของสำนักพิพิธภัณฑ์ฯส่วนหนึ่งจัดเป็นอุทยานข้าวไทย ซึ่งมีแปลงนาสาธิต ภายในกระท่อมมีนิทรรศการขั้นตอนการทำนาในประเทศไทย วิถีชีวิตของชาวนาและพิธีกรรมที่เกี่ยวข้อง ภายในอาคารมีนิทรรศการเนื้อหาเกี่ยวกับข้าว ชื่อว่า "ข้าวของพ่อ รวมพลังข้าวของแผ่นดิน” บอกเล่าเรื่องราวตั้งแต่ตำนานเกี่ยวกับข้าว เครื่องมือทำนายุคเก่า การดูแลข้าว พันธุ์ข้าวไทยชนิดต่างๆ ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากข้าว นอกจากนี้ยังมีนิทรรศการอีกหลายหัวข้อ จัดแสดงทั้งภายนอกและภายในอาคาร ภายในอาคารมีพิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมผ้าเผ่าไทยเทิดไท้ 72 พรรษามหาราชินี และนิทรรศการของใช้พื้นบ้านไทย ส่วนภายนอกอาคารทำเป็นอุทยานพรรณไม้ในเพลงพระราชนิพนธ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสวนวัฒนธรรมไทยธีระ สูตะบุตร ซึ่งปลูกต้นไม้ที่มีความเป็นมาเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมไทย อาทิ พรรณไม้ในพุทธประวัติ พรรณไม้ในโบราณคดี พรรณไม้ในจารึก

ชื่อเรียกอื่น:
สำนักพิพิธภัณฑ์และวัฒนธรรมการเกษตร
ที่อยู่:
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900
โทรศัพท์:
0-2942-8711-2, 02-593-1340
วันและเวลาทำการ:
เปิดจันทร์ - ศุกร์ 08.30-16.00 น.เข้าชมเป็นหมู่คณะกรุณาแจ้งล่วงหน้า
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
เว็บไซต์:
ปีที่ก่อตั้ง:
2536
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

วันพิพิธภัณฑ์และวัฒนธรรมการเกษตร

ชื่อผู้แต่ง: วรรณา นาวิกมูล(บรรณาธิการ) | ปีที่พิมพ์: 2540

ที่มา: กรุงเทพฯ:สำนักพิพิธภัณฑ์และวัฒนธรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

แหล่งค้นคว้า: ศมส.

โดย: ศมส.

วันที่: 13 มีนาคม 2555

"สำนักพิพิธภัณฑ์ฯ" ม.เกษตร แหล่งภูมิปัญญาที่ไม่น่ามองข้าม

ชื่อผู้แต่ง: หนุ่มลูกทุ่ง | ปีที่พิมพ์: 9 ธันวาคม 2551

ที่มา: ASTVผู้จัดการออนไลน์

แหล่งค้นคว้า: ศมส.

โดย: ศมส.

วันที่: 13 มีนาคม 2555

เลี้ยงไหมทอผ้า.. ภูมิปัญญาไทไม่ใช่ของจีน ข้อมูลใหม่ "อรไท ผลดี"

ชื่อผู้แต่ง: ขนิษฐา แดงพัด และจิรพงศ์ เกิดเรณู | ปีที่พิมพ์: 20/02/2552

ที่มา: มติชนรายวัน

แหล่งค้นคว้า: ศมส.

โดย: ศมส.

วันที่: 13 มีนาคม 2555


ไม่มีข้อมูล

รีวิวของสำนักพิพิธภัณฑ์และวัฒนธรรมการเกษตร

ข้าวเป็นอาหารหลักของคนไทย ประโยคนี้ผ่านหูผ่านตาคนไทยมาตั้งแต่เด็กจนโต ความชาชินและความใกล้ตัวทำให้มองข้ามความสำคัญและคุณค่าของข้าวไปได้ง่ายๆ โดยเฉพาะคนที่อาศัยอยู่ในเมือง มีธรรมเนียมหนึ่งที่ผู้ใหญ่บางครอบครัวสอนลูกหลานให้ยกมือไหว้แม่โพสพ ซึ่งเป็นเทพีหรือตัวแทนของข้าวเมื่อรับประทานเสร็จ บางคนอาจมองว่าเป็นสิ่งล้าสมัย แต่ความจริงแล้วเป็นวิธีสอนเยาวชนให้รู้คุณค่าของข้าวและชาวนา

ในฐานะที่เป็นสถาบันหลักในการให้ความรู้ด้านการเกษตรมายาวนาน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ภายใต้การทำงานของสำนักพิพิธภัณฑ์และวัฒนธรรมการเกษตร จึงเป็นสถานที่เหมาะสมอย่างยิ่งในการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับข้าวไทย พื้นที่บริเวณด้านนอกของสำนักพิพิธภัณฑ์ฯส่วนหนึ่งจัดเป็นอุทยานข้าวไทย ซึ่งมีแปลงนาสาธิต ผู้มาชมจะได้เห็นการเติบโตของข้าวตั้งแต่ยังเป็นต้นกล้า จนออกรวงสีทอง ภายในกระท่อมมีบอร์ดกล่าวถึงขั้นตอนการทำนาในประเทศไทย วิถีชีวิตของชาวนาและพิธีกรรมที่เกี่ยวข้อง ในบริเวณเดียวกันปลูกพืชให้สีย้อมผ้า เช่น มะเกลือ คราม

ในขณะนี้มีนิทรรศการซึ่งผ่านออกแบบได้อย่างอลังการและมีเนื้อหาเกี่ยวกับข้าวจัดแสดงอยู่บนชั้นสองของอาคารสำนักงาน ชื่อว่า "ข้าวของพ่อ รวมพลังข้าวของแผ่นดิน” บอกเล่าเรื่องราวตั้งแต่ตำนานเกี่ยวกับข้าว เครื่องมือทำนายุคเก่า การดูแลข้าว พันธุ์ข้าวไทยชนิดต่างๆ ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากข้าว ข้าวหอมมะลิ และที่เป็นจุดเด่นคือพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเน้นความสำคัญของข้าวที่มีต่อชาวไทย

นอกจากส่วนจัดแสดงที่กล่าวแล้ว สำนักพิพิธภัณฑ์ฯยังมีนิทรรศการอีกหลายหัวข้อ จัดแสดงทั้งภายนอกและภายในอาคาร ภายในอาคารมีพิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมผ้าเผ่าไทยเทิดไท้ 72 พรรษามหาราชินี และนิทรรศการของใช้พื้นบ้านไทย ส่วนภายนอกอาคารเป็นอุทยานพรรณไม้ในเพลงพระราชนิพนธ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสวนวัฒนธรรมไทยธีระ สูตะบุตร ผู้มาชมสามารถพาครอบครัวมาออกกำลังกายพร้อมกับได้ความรู้ไปด้วย

งามปวงไม้ไพรหลายพันธุ์คละ ขึ้นริมสระกิ่งใบแผ่ไพศาล

จันทน์กระพ้อกร่างไกรในอุทยาน กระถินพิมานคูนคางยางนนทรี

ตะขบข่อยตะลิงปลิงขึ้นเคียงกัน ตะเคียนคั่นมะค่าพฤกษาศรี

กันเกราโศกใหญ่ใกล้วารี ร่มเงาดียามเย็นเย็นพระพาย

บทกวีข้างต้นมาจากบทชมไม้ในเพลงพระราชนิพนธ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ลองนับดูจะพบว่ามีชื่อพันธุ์ไม้กว่าสิบชนิด บางชนิดไม่เป็นที่รู้จักและอาจหาดูได้ยากก็สามารถมาเดินชมได้ที่นี่

สวนวัฒนธรรมไทยธีระ สูตะบุตร ปลูกต้นไม้ที่มีความเป็นมาเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมไทย ได้แก่ พรรณไม้ในพุทธประวัติ พรรณไม้ในโบราณคดี พรรณไม้ในจารึก พรรณไม้ในวรรณคดี พรรณไม้ในตำนานเมืองและพงศาวดาร พรรณไม้ในเพลงไทย พรรณไม้ในศิลปะไทย พรรณไม้ทำเครื่องดนตรีไทย และพรรณไม้ในพิธีกรรมและความเชื่อ ซึ่งมีที่มาจากงานวิจัยของอาจารย์อรไท ผลดี ผู้อำนวยการสำนักพิพิธภัณฑ์

ต้นไม้ในพุทธประวัติมีอะไรบ้าง ชื่อแรกๆที่นึกได้คงจะเป็นต้นสาละในตอนประสูติและปรินิพพาน ต้นโพธิ์ตอนตรัสรู้ ถ้าจะว่ากันตามตำราแล้วพระพุทธเจ้าไม่ได้มีเพียงพระองค์เดียว แต่มีถึง 28 พระองค์ แต่ละพระองค์มีต้นไม้ตรัสรู้ประจำอยู่ เช่น พระพุทธทีปังกรคือต้นเลียบ พระพุทธวิปัสสีคือต้นแคฝอย พระพุทธโกนาคมคือต้นมะเดื่อ เป็นต้น

แม้แต่ในจารึกสมัยสุโขทัยก็กล่าวถึงต้นไม้หลายชนิด เช่น จารึกวัดศรีชุม(พ.ศ. 1900) กล่าวถึง ต้นโพธิ์ กระทิง อินทนิล ซึก และดอกพุด จารึกวัดอโศการาม(พ.ศ. 1942) กล่าวถึง พิกุล บุนนาคและ สารภี เป็นต้น สะท้อนถึงความผูกพันใกล้ชิดกับธรรมชาติของคนอดีต

บทกวีที่งดงามกล่าวถึงพรรณไม้สมัยอยุธยา เช่น ลิลิตพระลอ และพระนิพนธ์ของเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ ปรากฎอยู่บนป้ายในอุทยานพร้อมกับต้นไม้ที่กล่าวถึงอยู่ใกล้ๆ ทำให้ได้สุนทรียรสในการชมสวนไปอีกแบบหนึ่ง

สำหรับการจัดแสดงภายในอาคารชั้นล่างประกอบด้วย พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมผ้าเผ่าไทเทิดไท้ 72 พรรษามหาราชินี นิทรรศการของใช้พื้นบ้านไทย นิทรรศการเกี่ยวกับประเพณีบายศรีสู่ขวัญข้าว และประเพณีการขอฝนของชนเผ่าไทซึ่งเกี่ยวโยงกับประเพณีบั้งไฟ และกลองมโหระทึกสมัยก่อนประวัติศาสตร์

บริเวณทางเข้าจัดแสดงสิ่งของเครื่องใช้ที่เกี่ยวกับประเพณีบายศรีสู่ขวัญข้าวบูชาแม่โพสพ เช่น บายศรีแบบไทลื้อ ไทครั่ง และไทยยวน และมีหาบเงินหาบทองที่ใช้จริงในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญด้วย

ต่อมาเป็นของใช้พื้นบ้านไทยที่ใช้ในครัวเรือนและอุปกรณ์ทอผ้า ทำจากวัสดุธรรมชาติ เช่น เชี่ยนหมาก หมอนไม้ ตะกร้า กระต่ายขูดมะพร้าว กะโปะสำหรับทำขนมปลากริม ฯลฯ นอกจากนั้นก็มีเครื่องมือทำน้ำตาล ส่วนด้านตรงข้ามจัดแสดงเครื่องมือจับสัตว์ เช่น กรงต่อนก หน้าไม้ ด้วงดักแย้ ตุ้มกบ ข้องใช้ขังสัตว์น้ำ ครุใช้ล้างปลาทำด้วยไม้ไผ่สานรูปทรงป้อมคล้ายตะกร้าทาชันที่ผิวกันน้ำออก ฯลฯ ยกตัวอย่างการใช้ตุ้มกบคือใช้เหยื่อล่อเช่นปลาเน่าวางภายใน เมื่อกบเข้ามากินเหยื่อจะออกไม่ได้เพราะมีงาขวางอยู่ ใช้วางบริเวณริมน้ำ สิ่งที่น่าสนใจเป็นพิเศษคือ เรือขุดลำทำจากโคนต้นตาลผ่าครึ่งแล้วเผาไส้ใน เพื่อให้คนเข้าไปนั่งได้ ใช้พายในน้ำตื้น

ด้านซ้ายของทางเข้าแสดงชุดไทยแบบต่างๆ ที่มาเรียกว่าชุดไทยตามพระราชนิยมของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ เช่นแบบไทยจักรพรรดิ แบบไทยดุสิต แบบไทยจักรี แบบไทยจิตรลดา แบบไทยอมรินทร์ แบบไทยเรือนต้น ฯลฯ ด้านข้างมีหุ่นแสดงการนุ่งผ้าไทยกับเสื้อสีเหลืองและเสื้อสีฟ้าไว้หลายแบบ สำหรับพื้นที่ส่วนใหญ่ของห้องจัดแสดงการแต่งกายของชนเผ่าไทโดยเฉพาะการนุ่งผ้าซิ่น เช่น ชุดของชาวไทลื้อ อาณาจักรสิบสองปันนา ชาวไทดำ ไทแดง อาณาจักรสิบสองจุไท ไทลาว ไทพวน ไทอีสาน อาณาจักรล้านช้าง ไทเขิน เมืองเชียงตุง ไทยวน อาณาจักรล้านนา ด้วยสีสันและลวดลายที่มีเอกลักษณ์ แสดงถึงภูมิปัญญาและการออกแบบลายผ้าที่หลากหลาย ทำให้ชุดเหล่านี้เป็นจุดเด่นของพิพิธภัณฑ์

นอกจากนั้นสำนักพิพิธภัณฑ์ยังรับผิดชอบดูแลโรงละครขนาด 500 ที่นั่ง และเวทีการแสดงกลางแจ้ง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรม และนำรายได้เข้าหน่วยงาน ส่วนกิจกรรมอื่นๆ ทางสำนักพิพิธภัณฑ์มีการจัดสัมมนาวิชาการอย่างสม่ำเสมอ 

สำนักพิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีผู้เข้าชมส่วนใหญ่เป็น นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนบริเวณใกล้เคียง ถ้าต้องการผู้นำชมควรนัดหมายล่วงหน้า มาเป็นหมู่คณะ และควรสอบถามหัวข้อที่กำลังจัดนิทรรศการ เพราะบางเรื่องเป็นนิทรรศการชั่วคราว 

เรื่อง/ภาพ เกสรา จาติกวนิช

สำรวจ : 14 กุมภาพันธ์ 2551

ชื่อผู้แต่ง:
-