บ้านเก่าเล่าเรื่อง ชุมชนเมืองเจริญไชย


พิพิธภัณฑ์บ้านเก่าเล่าเรื่อง ชุมชนเจริญไชย  อยู่ในย่านเยาวราช พิพิธภัณฑ์ก่อตั้งขึ้นในห้วงเวลาที่มีการเวนคืนที่ดินและเกิดข้อพิพาทเพื่อก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดิน โดยคนในชุมชนต้องการบอกเล่าคุณค่าวิถีวัฒนธรรมและประวัติความเป็นมาอันยาวนานของชุมชนที่มีมากว่าร้อยปี ที่ควรแก่แก่การอนุรักษ์ ห้องจัดแสดงเป็นห้องแถวไม้สองชั้นในชุมชน ในอดีตเคยเป็นที่พักของคณะงิ้วจีน ปัจจุบันชั้น 2 ของบ้าน เปิดเป็นสถานที่จัดแสดงนิทรรศการแสดงประวัติความเป็นมาของชุมชนเจริญไชย และส่วนจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ของคณะงิ้วจีน บนผนังมีภาพของชุมชนเจริญไชยในอดีต  โดยเฉพาะภาพวิถีชีวิตผู้คน เนื้อหาส่วนต่อมาเป็นเรื่องประเพณีจีน  ได้มีการจำลองฉากการแต่งงานแบบจีน  มีหุ่นหญิงชายสวมชุดแดงตามแบบประเพณีดั้งเดิม  พร้อมเครื่องประกอบพิธีสวยงาม  ส่วนของประเพณีจีนอื่น ๆ มีภาพโปสเตอร์ประกอบคำอธิบาย

ที่อยู่:
ห้องเลขที่ 32 ซอยเจริญกรุง 23 (ตรอกเจริญไชย) ถนนเจริญกรุง-พลับพลาไชย เขตป้อมปราบฯ กรุงเทพมหานคร
โทรศัพท์:
08-1567-1142 , 08-3187-8633 , 08-1567-1142 , 08-1308-0784
วันและเวลาทำการ:
เปิดทุกวัน 9.00-16.00 น. เข้าชมเป็นหมู่คณะแจ้งล่วงหน้า
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
ปีที่ก่อตั้ง:
2553
ของเด่น:
จำลองงานแต่งงานแบบจีน บ้านจำลองของคณะงิ้ว
จัดการโดย:

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

บ้านเก่าเล่าเรื่อง ชุมชนเมืองเจริญไชย

ชุมชนเมืองเจริญไชย  มีมานานกว่า 100 ปี  ร้านค้าสืบทอดกิจการมาหลายรุ่น  พอถึงเทศกาลงานประเพณีสำคัญของชาวจีนในประเทศไทย  ผู้คนต่างมุ่งมาที่นี่  ศูนย์รวมของใช้ประกอบพิธีกรรมของชาวจีน  ร้านยาสมุนไพร ร้านอาหารเลิศรสสูตรโบราณ  ร้านค้าอุปกรณ์ถ่ายภาพพลับพลาไชย  บ้านเก่าเล่าเรื่อง  ชุมชนเมืองเจริญไชยคือพิพิธภัณฑ์ในตึกเก่าย่านเยาวราช  ห้องที่ 32 ตรอกเจริญกรุง 23 ใกล้กับวัดมังกรกมลาวาส(วัดเล่งเน่ยยี่) เดิมผู้อาศัยในห้องนี้เป็นคณะงิ้วจีนที่เคยรุ่งเรืองในอดีต
               
กล่าวได้ว่าการก่อตั้งที่นี่  เกิดมาจากความรู้สึกไม่มั่นคงของคนในชุมชน  เนื่องจากโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินที่กำหนดให้สร้างสถานีรถไฟฟ้าตรงบริเวณนี้  ส่วนที่ต้องรื้ออย่างแน่นอนคือตึกแถวบางส่วนของปากซอยเจริญกรุง 23 และฝั่งตรงข้ามอีกเป็นแนวยาว  ความกังวลของคนในชุมชนเกิดมาจากมีแนวโน้มที่เจ้าของที่ดินคือ  มูลนิธิจุมภฏ-พันธุ์ทิพย์   ซึ่งเป็นเจ้าของตึกหมายเลข 32 ที่ทำเป็นพิพิธภัณฑ์ด้วย  จะนำที่ดินไปใช้ประโยชน์ให้มีผลตอบแทนมากกว่าการเก็บค่าเช่าแบบเดิม  คณะกรรมการทำงานอนุรักษ์และฟื้นฟูชุมชนเจริญไชยจึงได้เกิดขึ้นมา  เพื่อให้ที่นี่เป็นศูนย์ข้อมูล  แหล่งเรียนรู้วิถีชีวิตชุมชนจีนในเยาวราช  และเพิ่มความตระหนักต่อคุณค่ามรดกทางวัฒนธรรมของคนในชุมชนเอง
               
พิพิธภัณฑ์นี้เปิดตัวเป็นอย่างเป็นทางการ  ในวันไหว้พระจันทร์เดือนกันยายน 2554  มีการจัดงานไหว้พระจันทร์ตามแบบประเพณีโบราณ  คณะทำงานนี้มี 6 คน  คนที่มาร่วมพูดคุยในวันนี้มีคุณศิริณี  อุรุณานนท์  ดร.เทียมสูรย์ สิริศรีศักดิ์  คุณฉัตรชัย เติมธีรพจน์  คุณภูมิสิษฐ์ ภูริทองรัตน์  คุณศิริณีได้เริ่มกล่าวถึงความสำคัญของชุมชนโบราณแห่งนี้ “วัฒนธรรมประเพณีตรงนี้เป็นย่านเก่าของไชน่าทาวน์ก่อนเยาวราชอีก  เพราะเจริญกรุงนี้มีมาก่อนเยาวราช”  ในความคิดของคณะทำงานอยากให้มีการอนุรักษ์อาชีพของคนในชุมชนนี้  ได้แก่ งานตัดกระดาษที่ใช้ในประเพณีจีน  ร้านอาหารสูตรโบราณรสเลิศ  ร้านขายยาสมุนไพรจีน   อนุรักษ์ตึกแถวร้อยปี   ความกังวลมีอยู่ว่า  ถ้ามีการรื้อไล่ที่แล้วกลายเป็นห้างร้านค้าแบบสมัยใหม่  นั่นเท่ากับว่าเป็นการทำลายอัตลักษณ์ของไชน่าทาวน์เยาวราชที่คนทั่วโลกรู้จัก
               
สำหรับผู้ที่มาเยาวราชหรือตั้งใจว่าจะมาที่บ้านเก่าเล่าเรื่องฯ ก้าวแรกที่เข้ามาในชุมชนแห่งนี้  จะรู้สึกว่าบรรยากาศที่นี่มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร  อันเกิดมาจากวิถีชีวิตแท้จริง  กลิ่นหอมเครื่องสมุนไพรยาจีน การจัดแต่งวางของในร้าน   รถเข็นของวิ่งผ่านไปมาตามตรอกซอยเล็กๆ ร้านค้าแผงลอยที่มีสินค้าหลากหลายชวนมองชวนซื้อ   ถ้าอยากเห็นภูมิทัศน์ของตึกเก่าโบราณร้อยปีอย่างชัดๆ ขอแนะนำให้ไปยืนมองตรงระเบียงของบ้านเก่าเล่าเรื่อง
               
ด้านข้อมูลความรู้เนื้อหาในการจัดแสดง  ผู้ที่มีบทบาทสำคัญคือ ดร.เทียมสูรย์  สิริศรีศักดิ์  นักวิชาการสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล  อาจารย์กับทีมงานได้เข้าไปเก็บรวบรวมข้อมูลร้านค้าที่ประกอบกิจการมาหลายชั่วอายุคนในแต่ละบ้าน  ได้พบว่าการเข้าไปขอสัมภาษณ์พูดคุยไม่ใช่เรื่องง่ายนัก  แม้ว่าจะไปกับคณะทำงานที่เป็นคนในชุมชนเอง  ผู้สูงอายุบางคนยังระแวงหวาดกลัวเจ้าหน้าที่ราชการ  เวลาถามประวัติบ้านยังไม่ค่อยอยากให้เขียน  ไม่อยากให้ถ่ายรูป  เพราะยังจำฝังใจกับช่วงที่ทางการมีการควบคุมชุมชนชาวจีนเมื่อหลายสิบปีก่อน  ข้อมูลที่ได้มาอาจารย์เทียมสูรย์ตั้งใจที่จะจัดพิมพ์รวมเล่ม  ซึ่งมีทั้งรูปภาพเนื้อหาสวยงาม  การผลิตผลงานคืบหน้าไปเยอะมากแล้ว  ผู้ที่มาที่นี่สามารถเปิดแฟ้มดูผลงานที่ปริ้นท์ออกมาเป็นหน้าขยายได้ 
               
ในการจัดห้องพิพิธภัณฑ์  ทางคณะทำงานได้ลงความเห็นว่า  อยากให้เรื่องราวของคณะงิ้วจีนที่เคยอาศัยอยู่ในห้องนี้ยังคงอยู่  จึงมีการจำลองบ้านสองชั้นพร้อมข้าวของเครื่องใช้ของพวกเขาไว้  ชั้นบนเป็นพวกเสื้อผ้า  ชั้นล่างมีเครื่องใช้สมัยก่อนที่ชาวบ้านให้มาเป็นทีวี  เครื่องเล่นแผ่นเสียง  บนผนังมีภาพของชุมชนเจริญไชยในอดีต  โดยเฉพาะภาพวิถีชีวิตผู้คนดูน่าสนใจมาก  มีภาพการทำเส้นบะหมี่  มีภาพของหญิงชาวจีนแต่งกายแบบจีนสมัยก่อน  แบบแปลนของตึกโบราณบริเวณนี้ก็แสดงไว้ด้านหนึ่ง
               
เนื้อหาส่วนต่อมาเป็นเรื่องประเพณีจีน  ได้มีการจำลองฉากการแต่งงานแบบจีน  มีหุ่นหญิงชายสวมชุดแดงตามแบบประเพณีดั้งเดิม  พร้อมเครื่องประกอบพิธีสวยงาม  ส่วนของประเพณีจีนอื่นๆ มีภาพโปสเตอร์ประกอบคำอธิบายที่ดร.เทียมสูรย์จัดทำติดไว้บนผนังห้อง    แล้วถ้ามองเก็บรายละเอียดในห้องนี้จะเห็นตู้กระจกเล็กๆอันหนึ่ง ในนั้นมีกล่องไม้ขีดไฟหลากหลายลวดลาย  หรือแม้แต่มุมด้านหนึ่งใกล้กับบันได  จะเห็นว่าเป็นทางเข้าเล็กๆไปยังอีกห้อง  ส่วนนี้ในสมัยก่อนเป็นส่วนต่อเติม  เนื่องจากมีคนอาศัยอยู่ในห้องนี้หลายครอบครัว  ปัจจุบันส่วนนี้ปิดไว้เป็นห้องเก็บของ 
               
แม้ว่าที่นี่จะเปิดให้คนเข้าชมได้ไม่นาน  แต่ก็มีหนังสือพิมพ์และนิตยสารมาทำข่าวขอสัมภาษณ์  มาถ่ายแบบแฟชั่นก็มี  ในการต้อนรับแขก  ที่นี่จะไม่มีคนอยู่ประจำ  จะอาศัยเพื่อนบ้านที่เป็นร้านค้า  โทรศัพท์ไปตามคณะทำงานที่อาศัยอยู่ในร้านของตนเองไม่ไกลนัก
               
การสนับสนุนการทำกิจกรรมต่างๆ คณะทำงานได้รับความร่วมมือด้านงบประมาณมาจากคนในชุมชนเป็นอย่างดี  ทางพิพิธภัณฑ์ได้จัดทำเสื้อยืดเป็นลายอักษรจีนตระกูลแซ่ต่างๆ และของที่ระลึกจำหน่าย   ที่เป็นองค์กรก็มีจากมูลนิธิศูนย์ศึกษาที่อยู่อาศัยแห่งเอเชีย  ในการทาสีปรับปรุงภูมิทัศน์ของตึก  ได้รับการสนับสนุนเพิ่มมาจากสีเบเยอร์  ตึกที่ไปช่วยกันทาสีจะอยู่ถัดไปตรงถนนแปลงนาม  ส่วนการดำเนินงานเรื่องการอนุรักษ์  ได้มีความพยายามที่จะให้หน่วยงานอย่างกรมศิลปากร  หรือสมาคมสถาปนิกมาช่วยประเมินดูแล  แต่ยังไม่มีความคืบหน้า  ปัญหาอีกประการหนึ่งที่คณะทำงานพบเจอก็คือ  การไม่ได้รับการสนับสนุนเท่าที่ควรจากหน่วยงานท้องถิ่น  อย่างช่วงการจัดกิจกรรมใหญ่ของชุมชน  งานไหว้พระจันทร์ในช่วงที่ผ่านมา  ทางชุมชนอยากจะทำป้ายผ้าติดประชาสัมพันธ์บ้านเก่าเล่าเรื่อง  โดยจะติดระหว่างถนนสองฝั่งให้รถที่สัญจรไปมาเห็นได้ชัดเจน  แต่มาติดอยู่ว่าฝั่งเจริญกรุงเป็นเขตรับผิดชอบของสำนักงานป้อมปราบฯ ส่วนอีกฝั่งเป็นของสำนักงานเขตสัมพันธวงศ์   การขออนุญาตจึงเป็นเรื่องยุ่งยากมาก
               
แม้ว่าจะมีปัญหาอุปสรรคในการทำงาน  แต่ที่นี่คือบ้านและชุมชนของตนเอง  คณะทำงานจึงยังมุ่งมั่นต่อไป  พร้อมกับคาดหวังให้ผู้คนได้เห็นคุณค่าของการเป็นชุมชนโบราณที่ยังเปี่ยมไปด้วยสีสันและมีชีวิตชีวา  ควรค่าแก่การช่วยกันอนุรักษ์ไว้
 
----------------------------------------------------
สาวิตรี  ตลับแป้น /ผู้เขียน
ข้อมูลจาก  :  สำรวจภาคสนามเมื่อวันที่  6  เดือนมีนาคม  พ.ศ. 2555
----------------------------------------------------
การเดินทาง : บ้านเก่าเล่าเรื่อง  ชุมชนเมืองเจริญไชย  อยู่ใกล้กับมังกรกมลาวาส (วัดเล่งเน่ยยี่)ในซอยเจริญชัย 23(ตรอกเจริญไชย)  ห้องเลขที่ 32
-----------------------------------------------
อ้างอิง  :  ข้อมูลการสัมภาษณ์เมื่อวันที่  6  เดือนมีนาคม  พ.ศ.2555
                ขวางไล่รื้อพิพิธภัณฑ์ในเยาวราช. ไทยโพสต์. (23 มีนาคม 2555). www.thailand.net/x-cite/230312/54416 [Accessed 26/03/2012]
                แผ่นพับประชาสัมพันธ์บ้านเก่าเลาเรื่อง  ชุมชนเมืองเจริญไชย
ชื่อผู้แต่ง:
-

"เจริญไชย" โมเดล

สำรวจเส้นทางคู่ขนานระหว่าง "การพัฒนา" และ "การปกป้อง" ย่านเก่าแก่ มรดกจากรุ่นปู่ย่า ใน "โมเดลชุมชน" แผนรอมชอมของลูกหลานมังกรย่านเจริญไชย ...เยาวราชวันนี้ดูเหมือนจะปฏิเสธความเปลี่ยนแปลงที่นับวันจะยิ่งชัดเจนต่อไปไม่ได้
ชื่อผู้แต่ง:
-

โอลด์ทาวน์ โอลด์ไทม์

ใครบางคนเคยบอกว่า อดีตเป็นภาพสะท้อนปัจจุบัน คงไม่ต่างกับ เยาวราช กับความคึกคัก ดูจะกลายเป็นของคู่กันมานานแล้ว ภาพความเคลื่อนไหวของผู้คน และเครื่องยนต์บนถนนหนทางไม่ต่างจากเส้นเลือดที่คอยหล่อเลี้ยงมังกรตัวนี้ ให้ลอดลายผ่านวันเวลา และขึ้นชื่อในแผนที่การท่องเที่ยวอยู่เสมอ
ชื่อผู้แต่ง:
-

มังกร...ลอกลาย ?

นับเวลาถอยหลังสำหรับโครงการสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินแห่งใหม่ใจกลางไชน่าทาวน์ ที่มาพร้อมกับความท้าทายครั้งใหม่ของลูกหลานมังกร อารัมภบทแรกระหว่าง ชุมชน และการพัฒนา ปักหลักอยู่ร่วม หรือจะหลีกทางหายไปตามกาลเวลา
ชื่อผู้แต่ง:
-

"ชุมชนเจริญไชย" สัมผัสมรดกวัฒนธรรมบนถนนเจริญกรุง

ชุมชนคนจีนที่เข้ามาตั้งรกรากทำการค้าขายในสยามมีประวัติศาสตร์ย้อนไปได้กว่า 200 ปีตั้งแต่เริ่มก่อตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ ก่อร่างสร้างตัวจนกลายเป็นชุมชนใหญ่ที่มีความสำคัญในด้านการค้าขาย ประกอบไปด้วยย่านการค้าต่างๆที่คุ้นเคย เช่น เยาวราช สำเพ็ง เวิ้งนครเกษม พลับพลาไชย เป็นแหล่งที่สามารถเลือกซื้อสินค้าได้จนพอใจจากร้านค้าที่อยู่รวมกันเป็นกลุ่มจำนวนมาก ในแต่ละแห่งจะเป็นที่รู้จักกันว่าหากต้องการสินค้าชนิดไหนต้องไปที่ใด เช่น ร้านทองเยาวราช เครื่องดนตรีเวิ้ง อุปกรณ์ถ่ายภาพพลับพลาไชย
ชื่อผู้แต่ง:
-