พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ


พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ริเริ่มโดยคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2529 สืบเนื่องจากการได้รับโบราณวัตถุจากการขุดค้นภาคสนาม ในโครงการขุดค้นวัฒนธรรมบ้านเชียงที่บ้านอ้อมแก้วและบ้านธาตุ จ.อุดรธานี คณะขุดค้นนำโดย รศ.สุมิตร ปิติพัตร และได้รับบริจาคโบราณวัตถุและวัตถุทางวัฒนธรรมจำนวนมากจาก ดร.วินิจ วินิจนัยภาค รองเลขาธิการ สำนักพระราชวัง แต่เดิมพิพิธภัณฑ์จัดแสดง ณ บริเวณชั้น 2 อาคารวิจัย จนเมื่อปี พ.ศ.2544 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ส่งมอบโบราณวัตถุและวัตถุทางวัฒนธรรมทั้งหมดให้ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาเป็นผู้ดูแล คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาจึงได้ดำเนินการรวบรวมและขนย้ายวัตถุทั้งหมด มาจัดแสดง ณ อาคารพิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ พิพิธภัณฑ์ฯ มีพันธกิจในการจัดแสดงวัตถุเพื่อการศึกษาค้นคว้า เอื้อให้เกิดความเข้าใจมนุษย์ในมิติต่าง ๆ ผ่านการชมวัตถุทางวัฒนธรรมและมุ่งไปสู่การความเข้าใจมนุษยชาติและกลุ่มบุคคล ท่ามกลางความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรมและปฏิสัมพันธ์ของพวกเขาที่มีต่อโลก พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรตินอกจากจะเป็นพิพิธภัณฑ์เพื่อการเรียนการสอนและการศึกษาในทางมานุษยวิทยาและสังคมวิทยาพิพิธภัณฑ์แล้วยังทำหน้าที่เป็นสถาบันความรู้ที่เปิดให้เป็นทางเลือกของการเรียนรู้เพื่อการศึกษาต่อเนื่องนับจากวัยเด็กถึงหลังเกษียณอายุและเป็นพื้นที่ทางวัฒนธรรมแห่งใหม่ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ชุมชนรอบข้างและสังคมไทย

ที่อยู่:
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ถ.พหลโยธิน ต.คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี 12120
โทรศัพท์:
02–564-4440-49 ต่อ 1752
วันและเวลาทำการ:
วันจันทร์-ศุกร์ 09.00 น.–16.00 น.(พักกลางวัน) (เพื่อความสะดวกในการเข้าชม กรุณานัดหมายล่วงหน้า)
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
เว็บไซต์:
ปีที่ก่อตั้ง:
2531
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

หนังสือที่ระลึกในพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารพิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ วันพุธที่ 19 กันยายน พุทธศักราช 2533

ชื่อผู้แต่ง: | ปีที่พิมพ์: 2533

ที่มา: กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

แหล่งค้นคว้า: หอสมุดปรีดี พนมยงค์

โดย: ศมส.

วันที่: 13 มีนาคม 2555


ไม่มีข้อมูล

พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ

พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติเป็นโครงการซึ่งริเริ่มโดย คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2529 สืบเนื่องจากการที่คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาได้รับโบราณวัตถุจากการขุดค้นภาคสนาม ในโครงการขุดค้นวัฒนธรรมบ้านเชียงที่บ้านอ้อมแก้วและบ้านธาตุ จ.อุดรธานี คณะขุดค้นนำโดย รศ.สุมิตร ปิติพัตร ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2515 -2517 และมีโบราณวัตถุเพิ่มเติมขึ้นจากการขุดค้นแหล่งโบราณคดีอื่นๆ ในช่วงระยะเวลาต่อมา 
 

ในปี พ.ศ.2530 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้รับบริจาคโบราณวัตถุและวัตถุทางวัฒนธรรมจำนวนมากจาก ดร.วินิจ วินิจนัยภาค รองเลขาธิการ สำนักพระราชวัง คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงได้ดำเนินการขอตั้งงบประมาณแผ่นดินเพื่อก่อสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติจากรัฐบาล ในวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ.2531 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีได้เสด็จมาทรงเป็นองค์ประธานเปิดพิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติอย่างเป็นทางการ 
 

เนื้อหาการแสดงมีเป้าหมายเน้นการเผยแพร่ในด้านโบราณคดี มานุษยวิทยากายภาพ มานุษยวิทยาวัฒนธรรม เทคโนโลยีพื้นบ้านและสังคม มุ่งเน้นในการเป็นหน่วยสนับสนุนการวิจัยด้านวัฒนธรรมโดยจัดให้มีศูนย์ข้อมูลอันทันสมัย สถานที่จัดเก็บวัตถุเพื่อการวิจัย ห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์
 

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ร่วมกับคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ได้เปิดจัดแสดงโบราณวัตถุและวัตถุทางวัฒนธรรมต่างๆ ณ บริเวณชั้น 2 อาคารวิจัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ในช่วงปี พ.ศ. 2531 ถึง ปี พ.ศ. 2539 จนถึงเมื่อปี พ.ศ.2544 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ส่งมอบโบราณวัตถุและวัตถุทางวัฒนธรรมทั้งหมดให้ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาเป็นผู้ดูแล คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาจึงได้ดำเนินการรวบรวมและขนย้ายโบราณวัตถุและ วัตถุทางวัฒนธรรม ทั้งในส่วนซึ่งคณะฯสะสมอยู่ และในส่วนซึ่งได้รับบริจาคเพิ่มเติมภายหลัง มาจัดแสดง ณ อาคารพิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ 
 

อย่างไรก็ดี โดยที่วัตถุประสงค์ของพิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ และนโยบายของคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มุ่งที่จะให้พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ทำหน้าที่เป็นศูนย์บริการองค์ความรู้ทางโบราณคดีและวัฒนธรรมพื้นบ้าน ใช้สำหรับการเรียนการสอน ฝึกปฏิบัติ และการค้นคว้าวิจัย ในรายวิชาต่างๆของคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ จึงมิได้เปิดจัดแสดงแก่สาธารณชนในวงกว้าง เว้นแต่เปิดนำชมให้แก่คณะที่นัดหมายเป็นกรณีๆ 
 

ในปี พ.ศ. 2550  คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ได้ตระหนักถึงบทบาทที่เพิ่มมากขึ้นของภาระในการอนุรักษ์และทำนุบำรุงศิลปะ และวัฒนธรรม ซึ่งเป็นหนึ่งในภารกิจหลักของมหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์  จึงได้จัดทำโครงการบูรณาการหลักสูตรสาระการเรียนรู้กลุ่มสังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม กับโรงเรียนธรรมศาสตร์คลองหลวงวิทยาคม ผลจากการประชุมปรึกษาร่วมกัน คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา โดย อาจารย์ปฐมฤกษ์ เกตุทัต ประธานคณะกรรมการบริหารพิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ จึงได้จัดทำโครงการนำร่องนิทรรศการ “เครื่องปั้นดินเผาในประเทศไทย : จากบ้านเชียงสู่กรุงรัตนโกสินทร์”  เพื่อ ให้บริการแก่นักเรียนในระดับชั้นมัธยมต้นและมัธยมปลาย เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเป็นแหล่งเรียนรู้และเป็นกิจกรรมเสริม ทักษะในสาระการเรียนรู้กลุ่มสังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรมให้กับนักเรียนชั้นมัธยมของโรงเรียนธรรมศาสตร์คลองหลวงวิทยาคม และโรงเรียนมัธยมอื่นๆในเขตพื้นที่ภาคกลางตอนบนโดยนิทรรศการนำร่องนี้ มุ่งเน้นที่จะถ่ายทอดเรื่องราวของชนชาติไทยผ่านการจัดแสดงเครื่องปั้นดินเผา ในยุคสมัยต่างๆ เริ่มตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่บ้านเชียงจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งสะท้อนการดำเนินชีวิต ความเชื่อ และการติดต่อแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมได้เป็นอย่างดี และเปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2551 จนถึงประมาณเดือนมิถุนายน 2551 โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายในการเข้าชม

ปี พ.ศ.2554 หลังเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ พิพิธภัณฑ์ฯ จึงได้ปิดปรับปรุงและปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางกายภาพใหม่ มุ่งหมายให้บุคคลทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงพิพิธภัณฑ์ได้มากขึ้น โดยสร้างทางลาดยาวตัดข้ามพื้นที่โล่งเพื่อเชื่อมโยงการใช้งานภายในอาคารให้ต่อเนื่องถึงกัน และเป็นพื้นที่ในการจัดแสดงวัตถุของพิพิธภัณฑ์ฯ ไปพร้อม ๆ กับการเรียนรู้ชีวิตของวัตถุที่เชื่อมโยงไปสู่โลกนอกพิพิธภัณฑ์

พิพิธภัณฑ์ฯ มีพันธกิจในการจัดแสดงวัตถุเพื่อการศึกษาค้นคว้า เอื้อให้เกิดความเข้าใจมนุษย์ในมิติต่าง ๆ ผ่านการชมวัตถุทางวัฒนธรรมและมุ่งไปสู่การความเข้าใจมนุษยชาติและกลุ่มบุคคล ท่ามกลางความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรมและปฏิสัมพันธ์ของพวกเขาที่มีต่อโลก

พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ นอกจากจะเป็นพิพิธภัณฑ์เพื่อการเรียนการสอนและการศึกษาในทางมานุษยวิทยาและสังคมวิทยาพิพิธภัณฑ์แล้ว ยังทำหน้าที่เป็นสถาบันความรู้ที่เปิดให้เป็นทางเลือกของการเรียนรู้เพื่อการศึกษาต่อเนื่อง นับจากวัยเด็กถึงหลังเกษียณอายุ และเป็นพื้นที่ทางวัฒนธรรมแห่งใหม่ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชุมชนรอบข้างและสังคมไทย

 

ข้อมูลจาก: 

http://museum.socio.tu.ac.th/museum/ [accessed 20081110]

หนังสือที่ระลึกในพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารพิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ วันพุธที่ 19 กันยายน พุทธศักราช 2533 .มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ : กรุงเทพฯ, 2533. หน้า 15-18

 

ชื่อผู้แต่ง:
-