พิพิธภัณฑ์บ้านดุริยางคศิลปิน มนตรี ตราโมท


ครูมนตรี เป็นผู้ที่มีชีวิต 5 แผ่นดิน ตั้งแต่รัชกาลที่ 6 จนถึงรัชกาลที่ 9 ตลอดชีวิตอุทิศให้กับงานดนตรี เสียชีวิตในปี พ.ศ. 2538 สิริอายุ 95 ปี ญาณี ตราโมท บุตรชายคนเล็กที่ใกล้ชิดกับพ่อ มีแนวคิดที่ต้องการให้บ้านพ่อเป็นพื้นที่ที่เป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้ในแบบอย่างวิถีชีวิตที่ดีงามของพ่อ และการดนตรีไทย ในวาระครบ 100 ปี ครูมนตรี ตราโมท ในปี พ.ศ. 2543 จึงใช้ทุนทรัพย์ส่วนตัวปรับปรุงและเปิดบ้านให้สาธารณชนเข้าชมในนาม “พิพิธภัณฑ์บ้านดุริยางศิลปิน มนตรี ตราโมท” หรือที่รู้จักกันในนาม "บ้านโสมส่องแสง" ซึ่งเป็นบ้านของครูมนตรีที่สงบงามและเรียบง่าย แวดล้อมด้วยไม้ผลและไม้ดอกสวยงามสารพัน ภายในยังคงไว้ซึ่งห้องต่างๆ ที่ครูมนตรีใช้ชีวิต และมีส่วนต่อเติมเพื่อนำเสนอนิทรรศการเกี่ยวกับผลงานด้านดนตรีของครูมนตรี บ้านโสมส่องแสงได้รับพระราชทานรางวัลอนุรักษ์ศิลปะสถาปัตยกรรมดีเด่น ประเภทอาคาร โดยสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ปี พ.ศ. 2548

ชื่อเรียกอื่น:
บ้านโสมส่องแสง
ที่อยู่:
บ้านโสมส่องแสง เลขที่ 81 หมู่ 11 ซ.พิชยนันท์ 2 ถ.ติวานนท์ 3 ต.ตลาดขวัญ อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์:
081-645-5445, 02-968-9498
วันและเวลาทำการ:
เปิดทุกวัน 09.00-17.00 น.(กรุณาโทรนัดล่วงหน้า)
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
เว็บไซต์:
อีเมล:
k.tramod@gmail.com
ปีที่ก่อตั้ง:
2543
ของเด่น:
ภาพเก่าและเครื่องใช้ของครูมนตรี ตราโมท
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล

ผังจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์บ้านดุริยางคศิลปิน มนตรี ตร...

โดย:

วันที่: 22 มิถุนายน 2555

ไม่มีข้อมูล

บ้านครูมนตรี ตราโมท พิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต

ชื่อผู้แต่ง: | ปีที่พิมพ์: 11-02-2550(หน้า5,6)

ที่มา: ข่าวสด

แหล่งค้นคว้า: ศมส.

โดย: ศมส.

วันที่: 13 มีนาคม 2555

บ้านครูมนตรี ตราโมท

ชื่อผู้แต่ง: กชภรณ์ ตราโมท | ปีที่พิมพ์: 2546

ที่มา: สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม

แหล่งค้นคว้า:

โดย: ศมส.

วันที่: 31 กรกฎาคม 2555


รีวิวของพิพิธภัณฑ์บ้านดุริยางคศิลปิน มนตรี ตราโมท

เพลงของครูมนตรี ตราโมท  ยังคงขับกล่อมผู้คน  แม้ว่าตัวท่านจะจากไปแล้ว  บ้านดุริยาคศิลปินหรือบ้านโสมส่องแสงคือบ้านของที่เป็นของท่านเอง  หลังแรกและหลังเดียว วันนี้บ้านได้เก็บเรื่องราวของท่าน  บอกเล่าถึงความเป็นอัจฉริยะทางดนตรีของศิลปินแห่งชาติ  สาขาศิลปะการแสดง(ดนตรีไทย) พุทธศักราช 2528
               
คุณกษภรณ์  ตราโมท  ภรรยาคุณญาณี  ตราโมท  คือผู้มีบทบาทสำคัญในการเก็บรวบรวมผลงานความรู้ของครูมนตรีที่มีอยู่มากมาย  เป็นการสืบทอดองค์ความรู้ทางดนตรีไทย  อีกทั้งยังต้องการสืบสานวัฒนธรรม  ให้เด็กเยาวชนได้สัมผัสและเรียนรู้วิถีชีวิตแบบไทย 
              
เรือนไม้สองชั้นท่ามกลางความร่มรื่นของแมกไม้  มีซุ้มประตูที่มีไม้เลื้อยขึ้นไปทำให้ทางเข้าบ้านโสมส่องแสงดูสง่างาม  ทางเดินเข้าไปลัดเลาะสระน้ำบนไม้กระดานมีซุ้มไม้ให้ร่มเงา  บ้านครูมนตรีมีการต่อเติมขึ้นจากเดิมให้เป็นเรือนพระเรือนครู  มีห้องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในพิธีไหว้ครู ครอบครู และพระพุทธรูปแบบมอญทรงเครื่องแบบพระมหามัยมุนี  ติดกันเป็นลานจัดกิจกรรม  ที่กำลังต่อเติมเพิ่มไปอีกสองชั้นจะเป็นห้องเก็บรวบรวมเอกสารผลงานสำคัญของครูมนตรี  ผลงานการออกแบบต่อเติมเป็นฝีมือของคุณญาณี ตราโมท
               
ก่อนนำชมห้องต่างๆในบ้านครูมนตรี  คุณกษภรณ์ได้เล่าย้อนประวัติครูมนตรีตั้งแต่ครั้งยังเป็นเด็ก  ครูมนตรีเกิดที่เรือนแพหน้าวัดสุวรรณภูมิ จังหวัดสุพรรณบุรี  บิดามารดาหย่าร้างกัน  มารดาเป็นผู้เลี้ยงดู  โดยมีหลวงตาลี่ท่านเจ้าอาวาสช่วยอุปการะ  ครูมนตรีเป็นเด็กที่มีปัญหาสุขภาพปอดมาตั้งแต่เด็ก  ตอนเด็กอายุสัก 7 ขวบ ได้เริ่มตีกรับ ตีฉาบ  ในวงปี่พาทย์สุวรรณภูมิของหลวงตาลี่  จากนั้นมาเมื่อมีเวลาจากเรียนหนังสือครูมนตรีได้ร่วมวงบรรเลง  โดยเริ่มเรียนดนตรีไทยตามขนบประเพณีกับครูสมบุญ  ครูมนตรีเป็นคนเรียนหนังสือเก่ง  หลวงตาลี่จึงสนับสนุนส่งไปเรียนที่กรุงเทพฯ  แต่มามีปัญหาสุขภาพ  จึงว่างไม่ได้เข้าเรียนหนึ่งปี  ครูสมบุญจึงชวนมาร่วมวงดนตรี  พออายุ 13 ปี ได้ไปเรียนเพิ่มเติมด้านดนตรี ที่บ้านของครูสมบุญที่จังหวัดสมุทรสงคราม เรียนระนาดเอก ฆ้องวง  เรียนการแต่งเพลงและหัดดนตรีสากล(คลาริเนต)   พออายุ 17 ปี  ได้เริ่มเข้ารับราชการที่กรมพิณพาทย์หลวง  โดยมีพระยาประสนดุริยศัพท์(แปลก  ประสานศัพท์) เป็นเจ้ากรม  ต่อมาอายุ 18 ปี  ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพนักงานประจำวงตามเสด็จฯพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
               
บ้านครูมนตรีหรือบ้านโสมส่องแสงหลังนี้  สร้างขึ้นเมื่อครูมนตรีอายุ 60 ปี ก่อนหน้านี้ท่านได้รับความอนุเคราะห์จากเจ้านายและขุนนางให้อาศัยในบ้านของท่านเหล่านั้น  ด้วยอุปนิสัยและความสามารถของครูมนตรีทำให้มีคนรักอย่างมากมาย  ตลอดช่วงอายุ 95 ปี(พ.ศ.2443-2538) ครูมนตรีได้อาศัยในบ้านถึง 10 หลัง  ได้แก่  บ้านเกิดคือแพริมฝั่งแม่น้ำสุพรรณ  บ้านครูสมบุญ  สมสุวรรณ  บ้านพักข้าราชการในกรมมหรสพ  บ้านบรรทมสินธุ์  บ้านมนังคศิลา  ตำหนักสวนสุพรรณของเจ้าคุณพระประยูรวงศ์(แพ บุญนาค)   บ้านซอยวัดใหม่อมตรส  บ้านเลขที่ 28 ริมคลองสามเสน  บ้านสวนสุพรรณของพระยาอุดมราชภักดี(โถ สุจริตกุล)  บ้านโสมส่องแสง
               
ในงานเทิดทูนครูดนตรีและนาฏศิลป์ของแผ่นดินไทย  และขอเฉลิมฉลองอายุ 84 ปีบริบูรณ์ครูมนตรี ตราโมท (16 มิถุนายน 2527) ณ โรงละครแห่งชาติ พลตรี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นผู้บรรยายท่านหนึ่ง  ท่านได้กล่าวถึงครูมนตรี ตราโมทไว้
               
“ลักษณะของครูมนตรีที่เคารพนับถือตลอดมาก็คือความมักใหญ่ใฝ่สูง  ทะเยอทะยาน และความที่ไม่มีความโอหังหรืออหังการใดๆ ต่อบุคคลที่มาติดต่อ...ครูมนตรีไม่เคยไปอวดอ้างกับใครๆว่าผมเก่งในเรื่องดนตรีทั้งๆที่ครูมนตรีมีความรู้เรื่องหลักดนตรีมากกว่าใครทั้งหมดและจะเล่นดนตรีไหนก็ได้  จะทำเครื่องไหนก็ได้ ทำได้ทุกเครื่อง  แต่ไม่เคยอวดอ้างมีอะไรดีๆ บรรเลงได้ทั้งหมด ทำได้ทั้งหมด สอนได้ทั้งหมด โดยที่ไม่เคยเป็นนักโซโล่อะไรขึ้นมาให้มันหรูหราอย่างที่ชอบๆ เป็นกัน  พูดง่ายๆ ว่าครูมนตรีไม่เคยอยากดัง  นอกจากนั้นครูมนตรีเป็นคนที่มีขันติและโสรัจจะอย่างยิ่ง ...กระผมรู้จักท่านมากี่สิบปี  เป็นคนไหนก็เป็นคนนั้นตลอดมา  พบกันทีไร  ก็มีแต่ความปลึ้มใจ  มีแต่ความปิติ  มีแต่ความพูดจาให้ความรู้ต่อกระผมมากมายหลายอย่างจนไม่สามารถจะพรรณนาได้ ...ขันติและโสรัจจะนี่  พระท่านว่า  เป็นธรรมที่ทำให้คนงาม  เพราะเหตุนี้  ครูมนตรีจึงเป็นคนงามมาจนถึงอายุ 84 ปี  มีคนเลื่อมใสมาก  มีผู้คนลูกศิษย์ลูกหาเคารพนับถือมากจนเกือบจะเรียกได้ว่า  ในโลกปัจจุบันที่เต็มไปด้วยความสับสนวุ่นวายนี้  ครูมนตรี เป็นคนที่หาศตรูไม่ได้  มีแต่คนรักนับถือทั้งนั้น  ถ้าไม่รู้จักก็แล้วไป  แต่ถ้ารู้จักแล้วต้องรักและนับถือทั้งนั้น”
               
คุณขวัญจิต ศรีประจันต์  ศิลปินพื้นบ้านจังหวัดสุพรรณบุรี  ศิลปินแห่งชาติ...กล่าวถึงครูมนตรีไว้เป็นบทกลอนกล่าวว่า...
                     

“ท่านเคยพาฉันไปปล่อยไก่ในวัง                       
ของเสด็จองค์ชายกลางหลายครั้งพาไป
คุณพ่อไม่รังเกียจฉันเป็นลูกหลานบ้านนอก    
ท่านคอยสอนคอยบอกให้รู้นอกรู้ใน
ท่านสอนลำนำสอนคำร้อยกรอง                      
สอนทำนิทำนองสอนให้ร้องเพลงไทย
ใครได้รู้จักท่านนับกันว่าโชคดี                         
เพราะคุณพ่อมนตรีท่านมีแต่ให้”
               
ครูมนตรี ตราโมท  มีบทบาทกับดนตรีไทยเป็นอย่างมาก  ท่านสามารถให้ความรู้ทั้งทางทฤษฎีและปฏิบัติ  ตำราดนตรีไทยต่างๆล้วนต้องพึ่งท่าน  หนึ่งในนั้นคือสารานุกรมศัพท์ดนตรีไทย  ผลงานของท่านมีอยู่มากมายในทุกสื่อที่มีดนตรีไทย  แบ่งออกเป็นแต่ละประเภทดังนี้  ประเภทงานประพันธ์เพลงไทย  ได้แก่ เพลง 3 ชั้น  เพลงเถา  เพลงสอดร้องหรือเพลงดนตรีประวัติศาสตร์  เพลงระบำ  เพลงเบ็ดเตล็ด  เพลงเดี่ยว  งานประพันธ์เพลงรำวงมาตรฐาน  งานประพันธ์เพลงไทยสากล  งานประพันธ์เพลงลูกทุ่ง  ประเภทงานเขียนและบรรจุเพลง  ได้แก่  งานเขียนและบรรจุเพลงบทละคร งานบรรจุเพลงในภาพยนตร์  งานบรรจุเพลงบทร้องทั่วไป  ประเภทงานด้านคำประพันธ์  ได้แก่ บทร้องเพลงไทย เป็นบทร้องเพลงเกร็ด  บทร้องเพลงระบำ  บทร้องเพลงแทรกในเรื่องต่างๆ  บทร้องเพลงในแบบเรียน  บทร้องที่ประพันธ์สำหรับใช้ร้องและบรรเลงในโอกาสพิเศษต่างๆ เพื่อขับร้องบรรเลงทางวิทยุกระจายเสียง  งานกวีนิพนธ์  บทร้อยแก้ว  ประเภทงานบัญญัติโคลงบทใหม่  ประเภทงานประพันธ์บทเสภา  ประเภทงานวิทยุกระจายเสียง  ได้แก่  รายการบรรเลงเพลงไทย  รายการละครวิทยุ  รายการสาระความรู้ด้านนาฏศิลป์และดนตรีไทยทางวิทยุ  ประเภทงานเผยแพร่ทางสื่อโทรทัศน์  ประเภทงานหลักสูตรวิชานาฏดุริยางคศาสตร์  ประเภทงานประกอบพิธีไหว้ครูดนตรีไทย  ประเภทงานถวายครอบประสิทธิ์ประสาทวิชาดนตรีไทยและถวายคำแนะนำด้านวิชาการดนตรีไทยแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
               
จากผลงานอันมากมายของครูมนตรี ตราโมท ได้บอกในตัวเองว่าชีวิตและจิตใจของท่านได้อุทิศให้กับงานดนตรีทั้งหมด  การมาเยี่ยมบ้านของท่านจึงเสมือนการได้ทำความรู้จักอีกแง่มุมหนึ่งของศิลปินผู้เปี่ยมด้วยคุณงามความดีท่านนี้   คุณกษภรณ์พาเดินขึ้นบ้านฝั่งที่ต่อเติมใหม่  ระเบียงด้านบนยังมีป้ายการจัดกิจกรรม “โครงการเรียนรู้ความเป็นไทยในบ้านครูมนตรี  ตราโมท”ผู้เข้าร่วมกิจกรรมมาจากสภาเด็กและเยาวชนอำเภอเมืองนนทบุรี โดยการสนับสนุนด้านงบประมาณจากเทศบาลเมืองนนทบุรี  หลังจากจัดงานนี้คุณกษภรณ์รู้สึกปลาบปลึ้มใจมาก  ทั้งเด็กและผู้ปกครองมีความสุขกับกิจกรรมนี้  ลานจัดกิจกรรมส่วนนี้  เราได้เห็นความรักต่อต้นไม้  ต้นลิ้นจี่ที่มีอยู่เดิมไม่ถูกตัด  มีการเจาะช่องไว้ให้แผ่ก้านใบเป็นส่วนหนึ่งของบ้าน
               
ในรอบปีหนึ่งบ้านนี้มีงานหลัก 2 งานคือ งานไหว้ครูประจำปีกับงานครูมนตรี ตราโมท  กิจกรรมอื่นๆเป็นไปตามความเหมาะสม  การจัดกิจกรรมและการรวบรวมผลงานของคุณพ่อ  คำที่คุณกษภรณ์เรียกครูมนตรี  คืองานของครอบครัวเรา  เมื่อเดินผ่านทางเชื่อมอาคารจะเข้าไปยังชั้นสองของบ้านครูมนตรี  ห้องเล็กห้องแรกมีเก้าอี้ไม้รับแขก  มีตู้เก็บของที่ใช้ในการดนตรี มีภาพสำคัญในชีวิตของครูมนตรี ในห้องนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องการเป็นครูของท่าน ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 7  โดยก่อนหน้านี้ดนตรีไทยไม่มีหลักสูตรที่เป็นทฤษฎี  มีแต่การปฏิบัติในลักษณะที่เรียกว่าต่อเพลงกันไป   ครูมนตรีจึงสร้างตำราขึ้นมาประกอบหลักสูตรให้กับโรงเรียนศิลปากรในปี 2481 ชื่อว่า

“ดุริยางคศาสตร์ไทย ภาควิชาการ”ซึ่งถือว่าเป็นคนแรกที่ทำได้สำเร็จ  และสิ่งที่ท่านได้รับเกียรติสูงสุดอีกประการคือ  ครูมนตรีได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้รับพระราชทานครอบเป็นประธานไหว้ครูโขน-ละคร  โดยเป็นผู้นำอ่านโองการบวงสรวงในการพระราชพิธี  ต่อจากนั้นท่านได้รับพระราชทานครอบประสิทธิ์ประสาทให้เป็นประธานประกอบพิธีไหว้ครูโขน-ละครจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  โดยพิธีไหว้ครูนี้จะไหว้กันที่วังปลายเนิน
               
ห้องต่อมามีภาพเรื่องราวในแต่ละช่วงชีวิตของครูมนตรีในบ้านหลายหลัง  ครูมนตรีได้พบรักกับภรรยาคนแรกคือ คุณแม่ลิ้นจี่  ซึ่งเล่าขานกันมาว่าท่านเป็นแม่ม่ายที่สวยเหลือเกิน  มีบุตรด้วยกัน 2 คน  ต่อมาคุณแม่ลิ้นจี่เสียชีวิตจากการคลอดบุตรคนที่ 3  คุณแม่ลิ้นจี่นี้เป็นคุณน้าของคุณแม่ทรัพย์  คุณแม่ของคุณญาณี ตราโมท  คุณกษภรณ์ได้เล่าในสิ่งที่ตนเองได้รับรู้และประทับใจกับชีวิตคู่ของครูมนตรีกับคุณแม่ทรัพย์  คุณพ่อเป็นคนประหยัดสมถะ  พืชสมุนไพรที่ปลูกไว้จะนำมาใช้ อย่างเช่น ในเวลาไม่ถ่ายหรือปัสสาวะไม่ออก  คุณแม่จะเด็ดยอดเอาดอกมาต้มจิ้มน้ำพริก  หรือดอกมะลิ  พอออกดอกคุณแม่ก็จะเอาไปแช่น้ำให้คุณพ่อล้างหน้า  หรืออย่างต้นมะม่วง  พอมีลูกโตๆ ก็จะเลือกเก็บใส่กระเช้าไปฝากกับผู้มีพระคุณ
               
ภาพสเก็ตที่แขวนไว้ในห้องนี้คือภาพที่คุณญาณีเขียนขึ้นจากความทรงจำ  บ้านสวนสุพรรณ  ของพระยาอุดมราชภักดี  คุณญาณีเกิดที่นี่  และที่เห็นเป็นชิ้นส่วนของเชิงชายติดไว้กับผนังห้องก็คือ  ชิ้นส่วนของบ้านที่รื้อไปแล้ว  คุณญาณีได้ขอนำมาเก็บไว้เป็นความทรงจำ
               
ห้องต่อมาเป็นห้องโถงของบ้าน  ห้องนี้มีแท่นวางโกศบรรจุอัฐิของครูมนตรี  ใกล้กันมีภาพเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่ครูมนตรีได้รับ  ท่านได้รับไปจนถึงทุติยจุลจอมเกล้าและมหาวชิรมงกุฎ  ซึ่งสูงที่สุดของข้าราชการ บนผนังอีกด้านมีภาพของร.6 ภาพนี้ครูมนตรีจะนำติดตัวไปกับบ้านทุกหลัง ส่วนที่สะดุดตาอีกอันหนึ่งคือโต๊ะเอนกประสงค์ของครูมนตรี  เป็นได้ทั้งโต๊ะทำงาน กินข้าว รับแขก  ซึ่งเก้าอี้เข้าชุดกันเมื่อวางขยับให้พอดีจะล้อมโต๊ะได้สนิท  เวลาที่ครูมนตรีทำงานก็จะใช้โต๊ะนี้  มีแก้วน้ำ ดินสอ  คุณกษภรณ์บอกว่างานที่คุณพ่อเขียนด้วยดินสอจะอยู่ครบถ้วนสมบูรณ์  ถ้าเขียนด้วยปากกาจะค่อยลบเลือนไป
               
ถัดมาคุณกษภรณ์ได้พาไปที่ห้องนอนของครูมนตรี  ถือเป็นห้องของความรัก  ครูมนตรีกับคุณแม่ทรัพย์รักกันจนแก่เฒ่า  ที่หัวเตียงของครูมนตรีจะมีรอยเคาะ คุณแม่ทรัพย์ได้บอกว่านี่เป็นที่แต่งเพลงอีกแห่งของคุณพ่อ  คุณพ่อจะเคาะๆๆ พอจำเพลงได้ก็จะลุกขึ้นมาเขียน  ติดกับห้องนอนคือห้องพระ  ครูมนตรีท่านจะไหว้พระทุกเช้าเย็น
               
แล้วก็มาถึงบทสุดท้ายของชีวิตศิลปินของครูมนตรี  ตราโมช  ท่านได้จากโลกนี้ไปอย่างมีสติ  ครูมนตรีท่านมักใช้ข้อเขียนคำคมเตือนสติตนเอง ให้ดำเนินชีวิตอย่างเข้มแข็งทำแต่สิ่งที่ถูกต้อง ซึ่งมีหลายข้อความที่ได้นำมาติดไว้บนผนังของบ้าน แม้กระทั่งวาระสุดท้าย  มีบางประโยค  บางคำที่ยังคงทิ้งไว้ให้ตีความ   ให้คนที่มาหยุดยืนตรงนี้นำไปคิดต่อ 
               
จากการที่ต้องการให้ชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วม  อีกทั้งยังเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมไทย  ได้มีแผนงานว่าจะจัดทำชื่อซอยต่างๆ ทั้ง 25 ซอยให้เป็นชื่อเพลงของครูมนตรี   ถ้าเพลงไหนมีชื่อเชื้อชาติอย่างลาวดวงเดือนจะตัดเป็น ดวงเดือน เขมรลออองค์  ก็เป็นลออองค์  สำหรับผู้ที่คิดถึงเพลงของครูมนตรี  ทางพิพิธภัณฑ์ได้จัดทำซีดีไว้สำหรับจำหน่ายอยู่จำนวนหนึ่ง
 
----------------------------------------------------
สาวิตรี  ตลับแป้น /ผู้เขียน /ถ่ายภาพ
ข้อมูลจาก  :  สำรวจภาคสนามเมื่อวันที่  30  เดือนมีนาคม  พ.ศ. 2555
----------------------------------------------------
การเดินทาง : บ้านดุริยางคศิลปิน  มนตรี  ตราโมท  อยู่จังหวัดนนทบุรี ถนนติวานนท์ 3 ซอยพิชยนันท์ 2(จากปากซอยเข้าไปอีกประมาณ 50 เมตร  หน้าบ้านเป็นซุ้มประตูมีไม้เลื้อยพันขึ้นไปสวยงาม)  รถประจำทางสายที่ผ่าน สาย 18,32,33,51,63,90,97,114,505,506,545
-----------------------------------------------
อ้างอิง  : ข้อมูลการสัมภาษณ์เมื่อวันที่  30  เดือนมีนาคม  พ.ศ.2555
               สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ  กระทรวงวัฒนธรรม. บ้านครูมนตรี  ตราโมท.  กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์องค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ (ร.ส.พ.),2546.
ชื่อผู้แต่ง:
-

รีวิวของพิพิธภัณฑ์บ้านดุริยางคศิลปิน มนตรี ตราโมท

อาจารย์มนตรี ตราโมท ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทย) ที่มีชีวิต 5 แผ่นดิน ท่านเกิดเมื่อ พ.ศ. 2443 ตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และเสียชีวิตเมื่อ พ.ศ. 2538 ท่านมีผลงานการประพันธ์ทำนองเพลงไทยที่มีมากกว่า 200 เพลง รวมทั้งบทร้องอีกจำนวนมาก ได้รับการยกย่องให้เป็น "ปราชญ์เมธีแห่งนาฏดุริยางคศิลป์" ท่านมีชีวิตที่ตั้งอยู่อย่างแน่วแน่ในวิถีความพอเพียงและการตั้งอุเบกขา ดังที่ลูกหลานมักได้ยินท่านสอนเสมอว่า จะไม่ให้ความรู้สึกอันหนึ่งอันใดไม่ว่าจะเป็นดีใจ เสียใจ รักหรือเกลียด เข้ามาครอบงำมากจนเกินไป บ้านโสมส่องแสงอันเป็นที่ซึ่งท่านใช้ชีวิตในบั้นปลายเป็นสถานที่ๆ แสดงให้ผู้มาชมได้รับรู้ถึงความเรียบง่ายในการดำเนินชีวิตของท่านได้ดีกว่าคำบอกเล่าใดๆ 

บ้านโสมส่องแสงเป็นบ้านไม้สองชั้น รายล้อมด้วยบ้านหลังอื่นๆ ซึ่งเป็นของลูกหลานด้วยเหตุผลที่ว่าครูมนตรีชอบให้ลูกหลานอยู่ด้วยกันเป็นครอบครัวใหญ่ บรรยากาศรอบบ้านเต็มไปด้วยต้นไม้ร่มรื่น คุณกชภรณ์ ซึ่งเป็นภรรยาของคุณญาณี ตราโมท ทายาทคนสุดท้องของอาจารย์มนตรีเล่าว่า เมื่อครั้งมีการตัดถนนผ่านหน้าบ้านเพื่ออำนวยความสะดวกให้อาจารย์มนตรีโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายนั้น อาจารย์มนตรีได้เอื้อเฟื้อให้ชาวบ้านซึ่งอยู่ด้านหลังเดินทะลุบริเวณสนามบ้านท่านเพื่อมาออกถนนที่ตัดใหม่ได้ ในสมัยก่อน บ้านหลังนี้จึงไม่มีรั้วกั้นอาณาบริเวณบ้านกับพื้นที่ข้างเคียง อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน ด้วยเหตุผลทางด้านความปลอดภัย จึงมีการสร้างรั้วปิดล้อมแล้ว 

ห้องต่างๆ ในบ้านได้รับการตกแต่งไว้เหมือนสมัยที่ครูมนตรียังมีชีวิตอยู่ เป็นที่น่าสังเกตว่าบ้านหลังนี้ไม่มีเก้าอี้รับแขก มีเพียงชุดโต๊ะกินข้าวสีขาวและเก้าอี้เข้าชุดกันที่บริเวณชั้น 2 โต๊ะตัวนี้เป็นทั้งโต๊ะทำงานและโต๊ะรับประทานอาหารของอาจารย์มนตรี ท่านไม่เคยมีชุดโซฟาไว้รับแขก ด้วยเห็นว่าไม่มีความจำเป็น ห้องแต่ละห้องมีกรอบรูปซึ่งเต็มไปด้วยรูปภาพบอกเล่าถึงชีวิตช่วงต่างๆ ของครูมนตรี รูปถ่ายครูดนตรีท่านต่างๆ ผู้ได้ประสิทธิประสาทวิชาให้ และโน้ตดนตรีของบทเพลงที่ท่านเคยประพันธ์ไว้เมื่อครั้งยังมีชีวิต ร่องรอยของความทุ่มเทและใจรักของท่านนั้น สังเกตได้จากร่องรอยการเคาะไม้เพื่อจับจังหวะแต่งเพลงที่หัวเตียงนอน 

ถึงแม้บ้านหลังนี้เป็นบ้านของปรมาจารย์ด้านดนตรีแต่ผู้ชมจะพบเพียงแค่ขิมและระนาดเท่านั้น คุณกชภรณ์บอกว่า สาเหตุที่ไม่มีเครื่องดนตรีในบ้านมากมายอย่างที่บุคคลภายนอกคาดเดาเป็นเพราะในชีวิตจริงอาจารย์มนตรีมีเพียงเครื่องดนตรีสองชิ้นนี้เท่านั้นที่ไว้ติดบ้าน ท่านไม่เคยต้องใช้เครื่องดนตรีใดๆ มาเทียบเสียงเพราะท่านสามารถจดจำเสียงโน้ตต่างๆ ได้อย่างแม่นยำและถูกต้อง 

เมื่อเริ่มที่คุณกชภรณ์และคุณญาณีคิดจะเปิดบ้านอาจารย์มนตรีเป็นพิพิธภัณฑ์นั้น ทั้งสองท่านค่อนข้างกังวลเนื่องจากมีเครื่องดนตรีเพียงสองชิ้น คือ ขิมและระนาด เกรงว่าผู้มาชมอาจคาดหวังจะได้เห็นเครื่องดนตรีไทยหลายชิ้น นอกจากนั้นก็เป็นเฟอร์นิเจอร์เก่าและกระดาษ เช่น ภาพถ่ายและหนังสือโน้ตเพลง แต่ทั้งสองท่านก็ไม่ย่อท้อและยังตั้งใจที่จะคงสภาพของบ้านไว้ให้เหมือนเดิมมากที่สุดจึงไม่ได้ทำการหาซื้อสิ่งใดมาเพื่อเติมแต่ง แต่ได้เชิญอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดมมาช่วยออกความเห็น หลังจากที่อาจารย์ศรีศักรได้ชม ก็ได้กล่าวยกย่องว่า บ้านหลังนี้สามารถถ่ายทอดจิตวิญาณและวิถีการใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายของปรมาจารย์ทางดนตรีไทยอย่างอาจารย์มนตรีได้ดีที่สุด

ปัจจุบันบ้านโสมส่องแสงดำเนินงานภายใต้การดูแลของมูลนิธิมนตรี ตราโมท โดยมีคุณกชภรณ์และคุณญาณีสลับกันเป็นวิทยากร คุณกชภรณ์ได้บอกเหตุผลอันน่าประทับใจในการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ไว้ว่า 

1. เพื่อตอบแทนบุญคุณบุพการี อันเป็นสิ่งซึ่งบุตรควรกระทำ

2. เพื่อตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน โดยสร้างแหล่งเรียนรู้ให้กับประชาชน

3. เพื่อดูแลพิพิธภัณฑ์นี้ในฐานะบุตร เนื่องจากทั้งคุณญาณีและคุณกชภรณ์ไม่มีทายาท 

เป้าหมายของบ้านโสมส่องแสงมิได้ให้ผู้มาชมประพฤติตัวแบบอาจารย์มนตรี แต่คาดหวังให้ผู้มาเยือนได้นำแนวทางไปปฏิบัติ เพื่อให้ “ได้ดีกว่า” อาจารย์มนตรี 

ข้อมูลจาก: 
พัฒน์ศรี ทิพยประไพ. สรุปการบรรยายพิพิธภัณฑ์เสวนา ปีที่ 3 ครั้งที่ 5 วันพุธที่ 20 มิถุนายน 2550 ที่สปาฟา โดยคุณกชกรณ์ ตราโมท.
แปลน รีดเดอร์ส. 100 พิพิธภัณฑ์กรุงเทพฯ-ปริมณฑล: โลกกว้างอยู่ไม่ไกล. กรุงเทพฯ : แปลนพริ้นติ้งแอนด์พับลิงชิ่ง, 2546. หน้า 100.

ชื่อผู้แต่ง:
-