ห้องแห่งแรงบันดาลใจ ปรีดี พนมยงค์


ที่อยู่:
สถาบันปรีดี พนมยงค์ 65/1 ซ.ทองหล่อ ถ.สุขุมวิท แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 10110
โทรศัพท์:
02-3813860-1
วันและเวลาทำการ:
อังคาร-อาทิตย์ 9.30-17.30 น.
ค่าเข้าชม:
ไม่เสียค่าเข้าชม
เว็บไซต์:
อีเมล:
banomyong_inst@yahoo.com
ปีที่ก่อตั้ง:
2553
เนื้อหา:

โดย: -

วันที่: 12 มีนาคม 2555

โดย: -

วันที่: 12 มีนาคม 2555

โดย: -

วันที่: 12 มีนาคม 2555

โดย: -

วันที่: 12 มีนาคม 2555

โดย: -

วันที่: 09 มกราคม 2556

ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

รีวิวของห้องแห่งแรงบันดาลใจ ปรีดี พนมยงค์

ก่อนที่จะกล่าวถึงห้องแห่งแรงบันดาลใจ คงจะต้องกล่าวถึงสถาบันปรีดี พนมยงค์ อันเป็นสถานที่ที่ได้รับการจัดตั้งโดยศิษย์ของนายปรีดี พนมยงค์ เพื่อให้เป็นสถานที่ในการเผยแพร่แนวคิดของอาจารย์ปรดี โดยอาศัยการแสดงร่วมสมัยในทุกรูปแบบ นิทรรศการ ภาพยนตร์ และการแสดง 

สถานที่ตั้งของสถาบันฯ มาจากการบริจาคของครูองุ่น มาลิก ในนามของมูลนิธิไชยวนา อาจารย์องุ่นเป็นอดีตอาจารย์ทางจิตวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ศรัทธาในอุดมการณ์ของ อ.ปรีดี พนมยงค์ ส่วนการก่อสร้างอาคารและบริเวณโดยรอย เริ่มต้นเมื่อ 10 ธันวาคม 2531 ในการวางศิลาฤกษ์ และเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการแก่สาธารณชนเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2538 กิจกรรมที่ดำเนินการโดยสถาบันฯ มีลักษณะสามสี่ด้านหลักๆ ได้แก่ ด้านวิชาการ ศิลปวัฒนธรรม ด้านส่งเสริมสุขภาพ นอกจากนี้ ยังมีการจัดกิจกรรมเนื่องในวันสำคัญต่างๆ เป็นประจำทุกปี เช่น วันสันติภาพไทย หรือ 16 สิงหาคม ที่เป็นการจัดงานร่วมกันระหว่างสวนเสรีไทยและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันปรีดี พนมยงค์ ซึ่งร่วมจัดงานกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อเป็นการรำลึกถึงคุณูปการของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ 

นอกการจัดกิจกรรมแล้ว สถาบันฯ ยังเปิดให้บุคคลภายนอกใช้สถานที่เพื่อใช้ประโยชน์ อันได้แก่ กองทุนเสรีไทย กองทุนศรีบูรพา หรือกลุ่มศิลปวัฒนธรรมที่ใช้งานวรรณกรรม ภาพยนตร์ (เช่น มูลนิธิหนังไทย หอภาพยนตร์) ภาพถ่าย การแสดงทัศนศิลป์ และกลุ่มละคร เช่น กลุ่มพระจันทร์เสี้ยว อนึ่ง ยังมีการจัดพิมพ์หนังสือที่ อ.ปรีดี เป็นผู้นิพนธ์ และงานที่คนอื่นๆ เขียน มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการเผยแพร่แนวคิด “สันติธรรม” เพื่อส่งเสริมให้ผู้คนอยู่ร่วมกันโดยสันติ

ความเป็นมาและเนื้อหาของห้องแห่งแรงบันดาลใจ

เมื่อ พ.ศ. 2543 นายปรีดี พนมยงค์ ได้รับการยกย่องจากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก (UNESCO) ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก อย่างไรก็ตาม คนไทยจำนวนไม่มากนักที่รับรู้เรื่องราวดังกล่าวนี้ ด้วยเหตุนี้ ห้องแห่งแรงบันดาลใจจึงเป็นเหมือนกับ “สื่อกลาง” ในการบอกเล่าถึงบุคคลคนหนึ่งที่ได้ทำประโยชน์ต่อประเทศชาติไว้ แต่การเล่านั้นแตกต่างจากห้องอนุสรณ์สถาน ปรีดี พนมยงค์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพราะเนื้อหาในนิทรรศการ ห้องอนุสรณ์สถาน จะบอกเล่าถึงปรัชญา และให้รายละเอียดเกี่ยวกับเหตุการณ์ต่างๆ ในช่วงชีวิตของ อ.ปรีดี พนมยงค์ 

ส่วนห้องแห่งแรงบันดาลใจ สถาบันปรีดี พนมยงค์ เน้นการสร้างภาพของบุคคลคนหนึ่งที่ตั้งเป้าหมายบางอย่างในชีวิต และเดินไปยังเป้าหมายนั้น แม้จะต้องผ่านอุปสรรคนานัปการ 

ห้องที่หนึ่ง บุคคลสำคัญของโลก เป็นส่วนที่สะท้อนให้เห็นว่า บุคคลทั่วไปรู้จัก “ปรีดี พนมยงค์” มากน้อยเพียงใด หรือในเรื่องที่กว้างกว่านั้น ผู้คนทั่วไปรู้จักองค์การยูเนสโกหรือไม่ เพื่อเป็นทั้งการตั้งคำถามให้กับผู้ที่เข้าชม และชวนให้หาคำตอบในห้องถัดๆ ไป ลักษณะของการนำเสนอ ใช้รูปแบบของจอวีดิโอขนาดเล็ก และเป็นการตัดต่อเสียงสัมภาษณ์ผู้คนที่พบเจอบนท้องถนน

ห้องที่สอง ชีวิตเมื่อร้อยปีก่อน ทางเดินแคบๆ ของห้องจัดแสดง จงใจให้ผู้ชมรู้สึกเหมือน “ถูกบีบอัด” ด้วยเงื่อนไขของชีวิตผู้คน ทั้งข้าวยากหมากแพง ความแร้นแค้น วัตถุประสงค์สำคัญของการนำเสนอ คือการฉายสภาพของสังคมที่เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างชนชั้น และการแสดงภาพของปัญหาที่ซ้ำด้วยการใช้กระจกสะท้อนภาพกราฟิก ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของวงจรของปัญหาอย่างไม่สิ้นสุด 

ห้องที่สาม เมื่อวัยเยาว์ เป็นเรื่องราวของ อ.ปรีดี ที่เติบโตจากครอบครัวชาวนา การหล่อหลอมจากพ่อและครูหัวก้าวหน้า และการดำเนินชีวิตอย่างชาวนา จึงทำให้ อ.ปรีดี เห็นภาพปัญหาสังคมที่จะสั่งสมมานาน การจัดแสดงในห้องนี้เลือกใช้ภาพแอนิเมชั่นที่เล่าให้เห็นสภาพแวดล้อมในสังคมชนบท จุดมั่งหมายที่เด็กคนหนึ่งตั่งมั่นที่จะเดินต่อไปในอนาคต

ห้องที่สี่ นักเรียนกฎหมาย กล่าวถึงชีวิตสองปีในโรงเรียนกฏหมาย ที่ตั้งใจแน่วแน่เพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศให้ก้าวหน้าขึ้น ท่านยังได้พิสูจน์ความสามารถและความกล้าหาญในฐานะทนายความหน้าใหม่ เพื่อว่าความ “คดีเรือโป๊ะชนพลับพลา” ท่านได้หยิบยกการตัดสินคดีความในสมัยอยุธยา มาคลีคลายเพื่อแสดงให้เห็นว่าจำเลยมิได้มี “เจตนา” ในการก่อคดี

ห้องที่ห้า นักเรียนทุนฝรั่งเศส การที่ อ.ปรีดี ได้ไปศึกษาต่อที่ประเทศฝรั่งเศส เป็นเวลา 7 ปี เป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่อาจารย์ได้บ่มเพาะและฝึกความคิดทางการเมือง และยังได้ปลุกจิตสำนึกประชาธิปไตยให้แก่นักเรียนไทยในฝรั่งเศส อังกฤษ และยุโรป จนนำมาสู่การก่อตั้ง “คณะราษฎร” เพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศไทยเป็นระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทางเป็นประมุข การจัดแสดงในส่วนนี้ มีการจำลองบานหน้าต่างของที่พำนักของ อ.ปรีดี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการตีความเนื้อหาหลักในส่วนการจัดแสดงนี้

ห้องที่หก ชีวิตในเมืองไทย เมื่อ อ.ปรีดี กลับถึงเมืองไทย ท่านเป็น “นักเรียนนอก” ที่ประสบความสำเร็จทั้งการงานและครอบครัว และยังเป็นแกนนำของคณะราษฎร ในการเตรียมการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน เรื่องราวเกี่ยวกับการเตรียมการปฏิวัติ จัดแสดงในสองลักษณะ คือ โต๊ะทำงานจำลองที่จะพบข้อความเกี่ยวกับการ “อภิวัฒน์” ที่ผู้ชมจะต้องใช้แว่นขยายในการอ่านข้อความ และข้อความของวัตถุประสงค์การอภิวัฒน์ ที่นำเสนอผ่านผ่านช่องแคบ “สิทธิ” “เสรีภาพ” “ความเสมอภาค” เหล่านี้เป็นเหมือนกับภารกิจที่ต้องซ่อนเร้น จนกว่าจะถึงการยึดอำนาจ

ห้องที่เจ็ด 5 วันแห่งการอภิวัฒน์สยาม ฉายภาพเหตุการณ์ยึดอำนาจที่เกิดขึ้นในช่วงเวลา 5 วัน (24-28 มิถุนายน 2475) ใช้การนำเสนอวีดิทัศน์ประมวลภาพเหตุการณ์ทั้งหมด พร้อมทั้งการจำลองภาพประวัติศาสตร์ในบรรยากาศโดยรวม ทางขวามือของผู้ชมจะเห็นหลักหกประการ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในใจความสำคัญของคณะราษฎร ฉบับที่ 1 

ห้องที่แปด สู่เป้าหมายที่แท้จริง ช่วง 15 ปีที่ดำรงตำแหน่งทางการเมืองปรากฏเป็นผลงานตามหลักหกประการในประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1 ได้ฉายภาพประมวลผลงานของ อ.ปรีดี พนมยงค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “เค้าโครงเศรษฐกิจฯ” ที่ถึงแม้จะได้ไม่ได้นำมาสู่การใช้งานจริง แต่ส่งผลต่อการพัฒนาแผนพัฒนาและเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในระยะต่อมา

สำหรับการจัดแสดงทั้งหมดนี้ นายสินธุ์สวัสดิ์ ยอดบางเตย ผู้จัดการ อธิบายไว้ว่าการดำเนินเรื่องเปรียบเสมือนการนำเสนอชีวิตของคนๆ หนึ่ง ที่มีจุดหมายปลายทางและพยายามเดินให้ไปถึงสิ่งนั้น “คุณเป็นคนๆ หนึ่ง นายปรีดี คนหนึ่ง ในแต่ละช่วงอายุไล่มาเรื่อยๆ จนถึงเป้าหมายในชีวิต เด็กชายปรีดี มีเป้าหมายในชีวิต แล้วเดินไปอย่างนี้” เมื่อผู้ชมนิทรรศการแล้ว “กลับมาถามว่า คนดู คุณ มีเป้าหมายในชีวิตหรือยัง ส่วนการให้รายละเอียด เป็นการเลือกว่าเอาเหตุการณ์ไหนมาใส่” 

นอกจากนี้ คุณสินธุ์สวัสดิ์ ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า การดำเนินเรื่องอาศัยการคำถามใกล้ตัวของผู้ชม รู้หรือไม่ว่าอาจารย์ปรีดีเป็นใคร “อย่างในห้องแรกเป็นการอุ่นเครื่อง มีวีดิทัศน์ ในเนื้อหาประกอบด้วยคนจำนวนมากตามท้องถนน มีสองคำถามคือ รู้จักนายปรีดีไหม รู้จักยูเนสโกไหม ร้อยคนก็ร้อยแบบในการตอบ เราเอาของจริงมาใส่ คือคนไทยไม่ชอบถาม แต่เมื่อผู้ชมมาในห้องแรกมีคนตอบให้คุณเสร็จ คนในวีดิทัศน์รู้เท่ากัน คือไม่รู้อะไรเลย ทั้งหมดก็จะไปได้คำตอบในห้องสุดท้าย แล้วได้คำตอบว่า ปรีดีคือใคร ยูเนสโกคือใคร 

ระหว่างนี้ เขาได้เรียนรู้เส้นทางในการเดินชีวิตของคนๆ หนึ่ง นี่คือจุดมุ่งหมาย นั่นเป็นหัวใจ 

ส่วนเนื้อหาไปค้นคว้าต่อในหนังสือ ในเว็บไซต์ หากเขาได้แรงบันดาลใจ เขาก็ไปค้นหาต่อเอง เอาแค่คิดว่ายี่สิบห้าถึงสามสิบนาที หรือหากดูละเอียดก็สี่สิบนาที เขาควรได้อะไรบ้าง นอกนั้น ก็ไปหาอ่าน ถ้าไม่พอก็เรามีวีดิทัศน์ทำเป็นหลายชุด ที่บอกเล่าเนื้อหาตั้งแต่เด็กไปจนถึงผู้ใหญ่ ถ้าสนใจก็ไปชมเป็นเรื่องๆ” เขาได้สรุปการจัดแสดงในห้องแห่งแรงบันดาลใจว่า “จุดมุ่งหมายคือการเล่าชีวิตคนๆ หนึ่ง”

ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ /เขียน

ข้อมูลจาก: การสำรวจภาคสนามวันที่ 3 พฤศจิกายน 2553
ชื่อผู้แต่ง:
-