ที่อยู่:
ชั้น1 อาคารวาจวิทยาวัฑฒน์ คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถนนอังรีดูนังต์ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330
วันและเวลาทำการ:
เปิดเฉพาะวันพุธ เวลา 13.00 - 16.00 น. กรุณาติดต่อล่วงหน้า (ห้ามถ่ายรูป)
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
ของเด่น:
ประวัติ รูปภาพอาจารย์และนิสิต รุ่นแรกๆ รวมทั้งเอกสาร เครื่องมือ เครื่องใช้ทางทันตกรรม
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยทีมงานและสมาชิก
รีวิวของพิพิธภัณฑ์วาจวิทยาวัฑฒน์
หลายคนคงเคยมีโอกาสได้เห็นภาพโฆษณาที่จัดทำขึ้นโดยกระทรวงแรงงาน เผยแพร่ทั้งทางโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ เนื้อหาของโฆษณาดังกล่าว เป็นภาพหลอดยาสีฟันสีขาวที่ถูกรีดจนแบน หลอดยาสีพระทนต์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ หลอดนี้เป็นตัวอย่างการใช้ของอย่างประหยัดคุ้มค่า ของจริงนั้นเก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานวาจวิทยาวัฑฒน์ คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยพิพิธภัณฑ์นี้เริ่มดำเนินการในปี พ.ศ. ๒๕๒๕ ชื่อของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ แม้จะจำยากอยู่สักหน่อย แต่มีความสำคัญมากต่อวงการทันตแพทย์ไทย เพราะมีที่มาจากชื่อของคณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ท่านแรก คือ ศาสตราจารย์ พ.อ. หลวงวาจวิทยาวัฑฒน์ บุคคลสำคัญที่ใช้ความพยายามกว่าสิบปีเพื่อผลักดันให้มีการเรียนการสอนในสาขาทันตกรรม โดยเริ่มเสนอความคิดนี้ตั้งแต่ปีพ.ศ. ๒๔๗๑ จนมาสำเร็จในปี พ.ศ.๒๔๘๓
การเปิดการศึกษาในสาขาวิชานี้ใช่ว่าจะราบรื่น ต้องเผชิญอุปสรรคอีกหลายด่าน เช่น ในระยะแรก แผนกทันตแพทยศาสตร์ ต้องไปอาศัยเรียนตามตึกของคณะอื่น เริ่มมีอาคารเรียนของแผนกเองครั้งแรกคือ อาคารวาจวิทยาวัฑฒน์ ที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ในปัจจุบัน ราวหกเดือนต่อมาเกิดสงครามเอเชียมหาบูรพา ตึกนี้ถูกทหารญี่ปุ่นยึด มีหลักฐานที่บอกเล่าเรื่องราวดังกล่าวคือ แจกันเขียนลายนักรบขนาดใหญ่สองใบ จัดแสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์นี้ด้วย
ความพยายามและความสำเร็จของบุคคลสำคัญที่ทำคุณประโยชน์ให้แก่คณะทันตแพทย์ศาสตร์ทั้งในอดีตและปัจจุบัน ไม่ได้เป็นคุณแก่นักเรียนทันตแพทย์เท่านั้น แต่ส่งผลดีต่อประชาชนด้วย เพราะ คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาฯรับรักษาฟันแก่ประชาชนทั่วไปในราคาย่อมเยาและ นอกจากนั้นยังมีหน่วยทันตกรรมพระราชทานออกรักษาคนไข้ตามชนบทที่ห่างไกลด้วย
วัตถุที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์สะท้อนให้เห็นถึงประวัติศาสตร์ ความเป็นมาของคณะทันตแพทยศาสตร์ได้เป็นอย่างดี เช่น รูปภาพเก่าของสถานที่เรียน อาจารย์และนิสิตรุ่นแรกๆ ตำราเรียน รูปคณบดีตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน และประวัติของคณะ
รวมทั้งยังแสดงออกถึงวิวัฒนาการวงการทันตกรรมของประเทศไทยได้อย่างดีด้วย โดยภายในห้องจัดแสดงห้องใหญ่ สิ่งที่น่าสนใจคือ ยูนิตทำฟัน THE SUN DENTAL ของญี่ปุ่น เป็นอุปกรณ์ที่นักศึกษาทันตแพทย์รุ่นแรกๆใช้ เลิกใช้เมื่อหลังสงครามโลกครั้งที่๒ เก้าอี้ทำฟัน STANDARD MODEL-L1928 เบาะและพนักพิงทำด้วยไม้ ส่วนที่อยู่ในตู้กระจกก็มีเครื่องรีดทอง หน้าตาคล้ายเครื่องรีดปลาหมึกที่พ่อค้ารถเข็นขายปลาหมึกใช้ เด็กรุ่นใหม่อาจไม่ทราบว่าสมัยก่อนฟันปลอมทำด้วยทองเพราะปัจจุบันเปลี่ยนเป็นอัลลอยด์ เครื่องรีดทองนี้ใช้มาตั้งแต่ก่อตั้งคณะฯจนถึงประมาณหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒
นอกจากนี้ ยังมีฟันรูปร่างแปลกๆ วิวัฒนาการของอุปกรณ์ทำความสะอาดฟันและภายในปาก สำหรับอุปกรณ์ที่มีขนาดเล็กจัดเรียงเป็นระเบียบไว้บนโต๊ะหลายตัวที่วางอยู่กลางห้อง อุปกรณ์ที่ขนาดใหญ่ขึ้นมาวางไว้ในตู้กระจกชิดผนัง ส่วนอุปกรณ์ที่ใหญ่ขึ้นมาอีก เช่น ยูนิตทำฟันตั้งอยู่บนยกพื้น มีป้ายระบุวัตถุ เป็นเครื่องมือเครื่องใช้ในการทำฟัน อุปกรณ์ที่ทันตแพทย์ใช้วางเรียงรายอยู่บนโต๊ะมีมากมายหลายประเภท ดูละลานตาน่าหวาดเสียว บ้างเลิกใช้ไปแล้ว บ้างก็ยังใช้อยู่ แต่ละชนิดมักมีหน้าที่เฉพาะตัว เช่น อุปกรณ์กรอฟันและขูดหินปูน อุปกรณ์ประกอบการรักษารากฟัน อุปกรณ์ขัดฟัน ถาดพิมพ์ปาก อุปกรณ์ตักฟันผุรูปร่างเหมือนช้อน เป็นต้น ดูแล้วนึกในใจว่าต่อไปนี้ต้องแปรงฟันให้สะอาด เพื่อไม่ให้คุณหมอต้องลำบากต้องเอาเครื่องมือเหล่านี้เข้าไปจัดการรักษาโรคในปากของเราโดยไม่จำเป็น
ดาวเด่นของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เก็บแยกไว้ในห้องขนาดเล็กอีกห้องหนึ่งที่อยู่ติดกัน ซึ่งต้องขอให้เจ้าหน้าที่ที่ดูแลเปิดให้เข้าชม ของที่จัดแสดงในห้องเล็กนี้คือ ยูนิตทำฟันที่ในหลวงทรงเคยใช้ทำพระทนต์ ซึ่งดูเหมือนเฟอร์นิเจอร์แบบโบราณที่เก๋ด้วยเบาะนั่งและพนักพิงบุกำมะหยี่สีแดงเข้ม ขาเป็นโลหะดัดสวยงาม ส่วนในตู้กระจกมีเครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆที่เกี่ยวข้อง เช่น เครื่องมือตรวจเบื้องต้น และสิ่งสำคัญที่สุดที่ได้กล่าวถึงตั้งแต่ตอนต้นก็คือ หลอดยาสีพระทนต์พระราชทานนั่นเอง นอกจากนั้นยังมีฟันช้างพระราชทานจัดแสดงด้วย
โดยปกติพิพิธภัณฑ์นี้ใช้ในการเรียนการสอน มีนิสิต นักศึกษาจากต่างคณะต่างสถาบันบ้าง ผู้เข้าชมบางส่วนเป็นประชาชนที่มารอทำฟัน สำหรับปัญหามีอยู่บ้างด้านความชื้นเพราะเป็นตึกเก่า ทำให้ผ้าที่ปูรองวัตถุจัดแสดงมีราขึ้นเป็นจุด ทางผู้ดูแลกำลังคิดจะปรับปรุงเพราะมีของจัดแสดงอีก เช่น อุปกรณ์ที่ทางอาจารย์ในคณะฯ คิดทำขึ้นเองเพื่อไม่ต้องไปซื้อของนอกที่มีราคาแพงกว่า
พิพิธภัณฑสถานวาจวิทยาวัฑฒน์ อยู่ในบริเวณคณะทันตแพทยศาสตร์ เข้าทางถนนอังรีดูนังต์ คณะฯนี้มีตึกแบบเก่าและใหม่ถูกสร้างขึ้นปะปนกัน ให้มองหาตึกแบบเก่าย้อนยุคที่ดูบึกบึนทนทานต่อกาลเวลาทางด้านขวา ตึกนี้คืออาคารวาจวิทยาวัฑฒน์ พิพิธภัณฑ์อยู่ที่ชั้น ๑ มีป้ายชื่อติดอยู่เหนือประตูชัดเจน
ผู้เขียน: เกสรา จาติกวณิช
ข้อมูลจาก: สำรวจภาคสนามวันที่ 19 พฤศจิกายน 2550
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสื่อออนไลน์
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยบล็อก
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสารานุกรมไทย
การแพทย์และสาธารณสุข งานทันตกรรม อุปกรณ์ทางการแพทย์ หลอดยาสีพระทนต์
พิพิธภัณฑ์การฝึกหัดครูไทย
จ. กรุงเทพมหานคร
พิพิธภัณฑ์นักศึกษาวิชาทหาร
จ. กรุงเทพมหานคร
พิพิธภัณฑ์และจดหมายเหตุรัฐสภา
จ. กรุงเทพมหานคร