พิพิธภัณฑ์สมเด็จย่า โรงเรียนสตรีวิทยา


ที่อยู่:
อาคารเก้าทศวรรษ โรงเรียนสตรีวิทยา อาคารเก้าทศวรรษ ชั้น 4 ถ.ดินสอ เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200
โทรศัพท์:
0-2282-8401
วันและเวลาทำการ:
กรุณาติดต่อล่วงหน้า
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
เว็บไซต์:
ปีที่ก่อตั้ง:
2539
จัดการโดย:
เนื้อหา:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

รีวิวของพิพิธภัณฑ์สมเด็จย่า โรงเรียนสตรีวิทยา

ตรงถนนราชดำเนินที่เก็บเรื่องราวประวัติศาสตร์ของประเทศไทยไว้อย่างมากมาย สิ่งคุ้นสายตาของการผ่านถนนสายนี้คืออนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ใกล้กันคือโรงเรียนสตรีวิทยา สถานศึกษาที่มีความโดดเด่นทั้งการสร้างเยาวชนด้วยคุณภาพการศึกษา มากไปกว่านั้นโรงเรียนนี้มีประวัติศาสตร์ที่แนบแน่นกับพระราชวงศ์ มีเรื่องราวและพิพิธภัณฑ์สมเด็จย่าอยู่ที่นี่

สิ่งที่เป็นความภาคภูมิใจและเป็นความประทับใจอย่างที่สุดของคณาจารย์และนักเรียนโรงเรียนสตรีวิทยา สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีหรือสมเด็จย่าของพวกเรา ขณะที่ยังทรงพระเยาว์ พระองค์ได้ศึกษาอยู่ที่โรงเรียนนี้ อาจารย์เฟื่องฟ้า ประดิษฐพจน์ ผู้อำนวยการโรงเรียนสตรีวิทยาและอาจารย์จันทร์แจ่ม ไพบูลย์ศิลป อาจารย์วิชาภาษาไทยและหัวหน้างานประชาสัมพันธ์ ทั้งสองท่านจะเป็นผู้ถ่ายทอดเรื่องราวเหล่านี้ให้ผู้มาเยือน

โรงเรียนสตรีวิทยามีพระราชานุสาวรีย์สมเด็จย่าที่เป็นหนึ่งเดียวไม่เหมือนใคร พระราชานุสาวรีย์นี้สร้างขึ้นเมื่อโรงเรียนครบรอบหนึ่งร้อยปีในปีพ.ศ.2543 สมเด็จย่าทรงฉลองพระองค์โจงกระเบน ซึ่งได้แบบมาจากภาพเก่าสมัยที่ท่านเรียนอยู่ที่สตรีวิทยา และได้ผ่านการวินิจฉัยจากสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์พระองค์ทรงเลือกปฏิมากร อีกทั้งยังได้เสด็จไปทอดพระเนตรที่โรงหล่อด้วยพระองค์เอง

สถานที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์อยู่ที่อาคารเก้าทศวรรษ การจัดให้มีพิพิธภัณฑ์สมเด็จย่าเริ่มมาจากการที่พระองค์ท่านเคยศึกษาที่โรงเรียนสตรีวิทยา หลังจากที่สมเด็จย่าสวรรคต ในวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ.2539 ทางโรงเรียนได้ไปร่วมงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ณ พระเมรุมาศท้องสนามหลวง ในช่วงเวลานั้นอาจารย์เอกจิตรา ชูสกุลชาติ ได้ปฏิบัติงานในตำแหน่งผู้อำนวยการ จึงได้มีการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ โดยพิพิธภัณฑ์นี้นำเสนอพระราชประวัติ พระบรมฉายาลักษณ์ และการเสด็จในฐานะองค์ราชูปถัมภ์ในโอกาสต่างๆ ของโรงเรียนอันได้แก่ การเป็นประธานในงานฉลองครบครึ่งศตวรรษของโรงเรียน การวางศิลาฤกษ์อาคารเรียน การมอบรางวัลนักเรียนเรียนดี เป็นต้น

สิ่งที่เป็นจุดเด่นของพิพิธภัณฑ์สมเด็จย่าคือ พระบรมฉายาลักษณ์ ที่มาของภาพเก่าอันทรงคุณค่าของสมเด็จย่า ส่วนหนึ่งมาจากศิษย์เก่าและครูเก่าเก็บไว้ และอีกส่วนหนึ่งได้ไปขอมาจากสำนักพระราชวัง หนึ่งในรูปภาพที่ทรงคุณค่าอย่างยิ่งคือภาพถ่ายหมู่ของนักเรียนชั้นมูลปีที่หนึ่ง(ปัจจุบันคือระดับอนุบาล) ถ่ายวันที่ 9 มีนาคม ร.ศ.127 (พ.ศ.2451) สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ครั้งยังทรงเป็น ด.ญ. สังวาลย์ โดยพระองค์ประทับในแถวกลาง เป็นลำดับที่ 3 จากซ้าย ซึ่งภาพต้นฉบับสีซีดจนอ่านตัวหนังสือบนแผ่นกระดานที่แขวนไว้ด้านหลังนักเรียนไม่ออก ต้องใช้คำบรรยายที่เจ้าของภาพเขียนติดไว้ด้านหลังภาพ ภาพนี้ได้รับความอนุเคราะห์จากทายาทนางสมบุญ ศรายุทธพิทักษ์ ในภาพมี ด.ญ.สมบุญอยู่แถวหน้า ลำดับที่ 6 จากซ้าย ส่วนด้านขวาสุดคือครูทิม

สำหรับผู้ที่อยากชมภาพนี้ มีภาพขยายใหญ่เกือบเท่าตัวจริงติดอยู่ในห้องเอลิซาเบธ ซึ่งเป็นห้องประชุมของโรงเรียน ห้องนี้มีขึ้นในช่วงที่ควีนเอลิซาเบธที่ 2 เสด็จมาที่โรงเรียนสตรีวิทยาในวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ.2539 เพื่อทอดพระเนตรกิจกรรมและนิทรรศการการป้องกันยาเสพติดในสถานศึกษา พระบรมฉายาลักษณ์สมเด็จพระราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ 2 พร้อมพระปรมาภิไธยที่ได้รับพระราชทาน ขณะนี้อยู่ที่พิพิธภัณฑ์สมเด็จย่า 

สมเด็จย่าทรงศึกษาที่โรงเรียนสตรีวิทยานานถึง 5 ปี ทรงเข้าศึกษาตั้งแต่พระชนมายุ 5 พรรษาพ.ศ.2451 จนกระทั่งจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 เมื่อพ.ศ.2456 พระชนมายุ 13 พรรษา แล้วจึงทรงลาออกไปศึกษาต่อในโรงเรียนแพทย์ผดุงครรภ์และหญิงพยาบาลแห่งศิริราช ดังความที่ปรากฏในหนังสือ “แม่เล่าให้ฟัง” พระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ว่า 

…คราวนี้แม่ถูกส่งเข้าโรงเรียนสตรีวิทยา เพื่อให้อยู่ใกล้โรงเรียน ผู้ใหญ่ทางสวนสี่ฤดูส่งแม่ไปอยู่บ้านคุณหวน หงสกุล ซึ่งแม่เรียกว่าอาหวน บ้านนี้อยู่ใกล้วัดมหรรณพ์ อาหวนนี้เคยเป็นพระพี่เลี้ยงรุ่นเล็กของทูลหม่อมฯ และเวลานั้นเป็นข้าหลวงของทูลหม่อมหญิงฯ อาหวนแต่งงานแล้วและระหว่างที่แม่อยู่ที่นั่นลูกคนแรกของอาหวนเกิดและได้รับชื่อว่ามหิดล อาหวนเป็นแม่ของหะรินด้วย (พล.อ.อ. หะริน หงสกุล อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร) ทุกวันแม่เดินไปโรงเรียนสตรีวิทยากับเพื่อนบ้านคนหนึ่งซึ่งอายุมากกว่าและเป็นญาติอาหวน ตอนกลางวันเพื่อนบ้านคนนี้จะแบ่งอาหารปิ่นโตให้กินด้วย แม่อยู่บ้านอาหวนปีกว่าๆ…. 

อาจารย์จันทร์แจ่มได้บอกว่าเมื่อก่อนโรงเรียนสตรีวิทยาเป็นโรงเรียนที่รับเด็กนักเรียนตั้งแต่ชั้นมูล (ระดับอนุบาล) และรับเด็กทั้งชายและหญิง ในเวลาต่อมาหลังจากนักเรียนรุ่นสมเด็จย่าหลายปี โรงเรียนจึงเปลี่ยนเป็นระดับมัธยม

สมเด็จย่าทรงเป็นศิษย์เก่าที่เป็นแบบอย่างอันดีเลิศ ท่านทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อโรงเรียนตลอดมา ท่านทรงรับโรงเรียนสตรีวิทยา สตรีวิทยาสมาคม สมาคมผู้ปกครองและครูสตรีวิทยา ตลอดจนมูลนิธิสตรีวิทยาเข้าอยู่ในพระราชูปถัมภ์ ดังนั้นไม่ว่าโรงเรียนหรือสมาคมจะมีกิจกรรมอย่างใด หากกราบบังคมทูลเชิญแล้ว จะเสด็จพระราชดำเนินทุกครั้ง หากไม่ติดพระราชภารกิจที่สำคัญอื่นๆ นอกจากนี้ในปี พ.ศ.2481 ท่านได้พระราชทานเงิน 5000 บาทให้กับกระทรวงศึกษาธิการนำไปฝากไว้กับธนาคาร แล้วนำดอกเบี้ยมาเป็นทุนการศึกษาแก่นักเรียนยากจน ทุนนี้เรียกว่า “ทุนสมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์” บางปีนักเรียนที่ได้รับทุนได้มีโอกาสได้เข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานจากท่าน ณ วังสระปทุม 

สิ่งที่น่าประทับใจเป็นอย่างมากสำหรับชาวสตรีวิทยา สมเด็จย่าท่านมักฉลองพระองค์สีแดง ท่านชอบสีแดง สีแดงนี้ถือเป็นสีประจำโรงเรียนด้วยเช่นกัน ในด้านงานอดิเรกที่ท่านโปรดปราน สมเด็จย่าท่านโปรดการปักครอสติส การกล่าวถึงงานอดิเรกของสมเด็จย่า เราจะเห็นได้ในตู้กระจกด้านหน้าของพิพิธภัณฑ์

เมื่อพิจารณาสายตาของผู้นำชมในขณะที่เอ่ยถึงสมเด็จย่า เราจะรู้ว่าทุกคนรักท่าน การได้มาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์สมเด็จย่า โรงเรียนสตรีวิทยา เสมือนเป็นการได้รำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ พร้อมกับได้ร่วมประทับใจในการรับรู้พระราชประวัติของพระองค์ในครั้งที่ยังทรงพระเยาว์

สาวิตรี ตลับแป้น / ผู้เขียน / ถ่ายภาพ

ข้อมูลจาก : สำรวจข้อมูลภาคสนาม 23 กรกฎาคม 2551
ชื่อผู้แต่ง:
-