เรือนไทยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


ที่อยู่:
ศูนย์ส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถ.พญาไท เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330
โทรศัพท์:
02-218-3635-6
โทรสาร:
02-218-3635-6
วันและเวลาทำการ:
วันจันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.00 – 16.00 น.
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

รีวิวของเรือนไทยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ปัญหาสภาวะเรือนกระจกทำให้ผู้คนหันมาให้ความสำคัญกับการประหยัดพลังงานเพื่อลดความร้อนให้โลก สิ่งที่กระทบตัวเราอย่างชัดเจนตั้งแต่ตื่นนอนตอนเช้าคืออุณหภูมิภายในบ้าน บ้านเย็นร่มรื่นเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เจ้าของและสมาชิกในครอบครัวอยู่สุขสบาย ช่างปลูกบ้านไทยสมัยโบราณเห็นความสำคัญในประเด็นนี้อย่างดี ดังจะเห็นได้จากการออกแบบบ้านโดยเฉพาะในภาคกลางที่มีอากาศร้อนให้มีหลังคาทรงสูง และส่วนล่างยกพื้นสูง ทำให้อากาศถ่ายเททั้งด้านบนและใต้พื้นเรือน นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่แสดงถึงภูมิปัญญาช่างไทยเท่านั้น เราสามารถได้เรียนรู้จากของจริงได้ที่เรือนไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งอยู่ที่ถนนพญาไท ใกล้กับมาบุญครอง ฝั่งเดียวกับหอศิลป์จามจุรี

เมื่อมองจากบริเวณด้านหน้าจะเห็นหมู่เรือนไทยตั้งเด่นเป็นสง่าท่ามกลางพรรณไม้น้อยใหญ่ ทำให้นึกถึงบรรยากาศบ้านของคหบดีในละครย้อนยุคอย่างเรื่องสี่แผ่นดิน ส่วนล่างของอาคารเป็นลานกว้างเดินลอดได้เพราะพื้นเรือนยกขึ้นสูง เชิงบันไดมีโอ่งน้ำ เมื่อก้าวจากบันไดไม้ค่อนข้างสูง ข้ามธรณีประตูเข้าสู่ชานเรือนกว้างรูปสี่เหลี่ยมตรงกลางจะเห็นเรือนไทยสามหลังตั้งอยู่แต่ละด้าน ยกเว้นฝั่งตรงข้ามมีเรือนนั่งเล่นหลังเล็กๆ และซุ้มประตูไม้แกะสลักต่อด้วยทางเดินสู่ศาลากลางน้ำหลังใหญ่ แว่วเสียงดนตรีไพเราะบรรเลงโดยระนาดจากเรือนประธานที่อยู่ด้านขวามือ ช่วยสร้างบรรยากาศแบบไทยๆ ทางด้านซ้ายเป็นเรือนสองหลัง ระหว่างเรือนทั้งสองมีเรือนครัวแอบอยู่ ด้านหน้าเรือนแต่ละหลังประดับด้วยอ่างบัวและไม้ดัดในกระถางเคลือบตามความนิยมในสมัยเก่า

เรือนประธานหรือเรือนเอก เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปที่ได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ศีรษะครูเทพเจ้าทางดนตรีไทย และเครื่องดนตรีปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ 2 ชุด มีระนาดทรงทำด้วยไม้มะริดประกอบงาของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯอยู่ด้วย เครื่องดนตรีไทยเหล่านี้ใช้งานจริงไม่ใช่เพื่อการจัดแสดงเท่านั้น จึงมีเจ้าหน้าที่มาฝึกซ้อมอยู่เสมอ

เรือนหลังที่สอง แสดงเครื่องใช้และวัตถุโบราณจัดอยู่ในตู้กระจกหลายใบ ตู้ด้านนอกแสดงวัตถุโบราณสมัยก่อนประวัติศาสตร์ เช่น เครื่องสำริด ด้านในเรือนจัดแสดงเครื่องเบญจรงค์ เครื่องลายคราม เครื่องแก้วเจียระไน เครื่องเงิน เครื่องราชอิสริยาภรณ์ พระพุทธรูปและพระพิมพ์ เป็นต้น เรือนหลังที่สามหรือเรือนแสงอรุณ จัดแสดงเครื่องจักสาน และเครื่องมือเครื่องใช้ที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ เช่น กระติบข้าวขนาดต่างๆ ตะกร้า หมวกสานหลายรูปแบบ นาฬิกาโบราณ หลายเรือน นอกจากนั้นยังมีเครื่องดนตรีพื้นเมืองอีสาน เช่น โปงลาง โหวตและจ้องหน่อง ส่วนเรือนหลังที่ห้า เป็นอาคารสำนักงานของศูนย์ส่งเสริมวัฒนธรรมฯ

จากกลุ่มเรือนหลัก มีทางเดินสู่ศาลากลางน้ำ ด้านในเป็นห้องโถงโปร่ง มีราวระเบียงล้อมรอบ ลมพัดเย็นสบาย เรือนหลังนี้เป็นอาคารทรงเครื่องลำยอง หน้าบันมีตราพระเกี้ยวสัญลักษณ์ของจุฬาฯ คันทวยไม้แกะสลักเป็นรูปเทพนมล้อมรอบอาคาร

หมู่เรือนไทยแห่งนี้สร้างในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และโอกาสที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีอายุครบ 70 ปี มีวัตถุประสงค์เพื่อ เสริมสร้างบรรยากาศทางวัฒนธรรมไทยและที่สำคัญคือเพื่อเป็นตัวอย่างแก่ผู้สนใจศึกษาการสร้างเรือนไทย

วัสดุที่ใช้สร้างกลุ่มเรือนหลังนี้เป็นไม้เนื้อแข็งเกือบทั้งหมด เรียกว่าเรือนเครื่องสับ ถ้าเป็นที่อยู่อาศัยก็ถือว่าเป็นเรือนของผู้มีฐานะ(ต่างจากเรือนเครื่องผูกที่โครงและส่วนประกอบอื่นทำจากไม้ไผ่และหวาย) ไม้ที่ใช้ส่วนใหญ่เป็นไม้เต็งรัง ซึ่งมีความแข็งแรง ที่ไม่ใช้ไม้สักเพราะไม้สักที่ได้อายุหายากและราคาสูง ชานเรือนยกสูงเพื่อความงามและให้พื้นที่ด้านล่างใช้จัดประโยชน์ได้ หลังคาเป็นหลังคาทรงสูงเรียกว่าทรงกลอนหรือทรงกรวด มุงด้วยกระเบื้องดินเผา จั่วของเรือนแต่ละหลังไม่หมือนกัน แบบที่ใช้คือ แบบลูกฟักหน้าพรหม แบบใบปรือ และแบบรัศมีพระอาทิตย์ซึ่งมีช่องระบายความร้อนออกจากพื้นที่ใต้หลังคาได้ ที่ทำไว้แตกต่างกันก็เพื่อเป็นตัวอย่างให้ศึกษา ฝาเรือนส่วนใหญ่เป็นแบบที่เรียกว่าฝาปะกน 

จากบทสัมภาษณ์สถาปนิกผู้ออกแบบรศ. ภิญโญ สุวรรณคีรี และอาจารย์เผ่า สุวรรณศักดิ์ศรี สถาปนิกผู้ช่วยที่ปรากฏในเว็บไซด์ของศูนย์ส่งเสริมวัฒนธรรมฯ ทำให้ทราบว่า ในการก่อสร้างมีปัจจัยหลายอย่างต้องคำนึงถึง เช่น งบประมาณ ความทนทาน ทำเลที่ตั้ง การระบายน้ำและประโยชน์ใช้สอย ส่วนใหญ่ได้รักษาวิธีสร้างเรือนแบบโบราณ โดยมีการดัดแปลงเพื่อความเหมาะสมบ้าง เช่น การยึดไม้ด้วยสลักและเดือยเป็นหลัก ใช้ตะปูน้อยมาก มีบางส่วนที่ใช้เหล็กและน็อตเพื่อความแข็งแรง ส่วนเสาเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงและปัญหาการทรุดตัวในอนาคต

สิ่งที่น่าจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อผู้สนใจและเยาวชนคือ แนวคิด วิธีแก้ปัญหาของสถาปนิกผู้ออกแบบ จะเห็นได้ว่ามีผสมผสานความรู้ด้านการสร้างกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ มีการดัดแปลงโดยไม่จำเป็นต้องยึดติดกับแบบโบราณเสียทั้งหมด และในแต่ละจุดที่มีการดัดแปลงมีเหตุผลรองรับ อธิบายได้

คุณกรรชิต จิตระทาน เลขานุการของศูนย์ฯ ให้ข้อมูลว่าบทบาทของที่นี่ไม่ได้เป็นพิพิธภัณฑ์อย่างชัดเจน โดยหลักแล้วใช้เป็นที่จัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมไทย เช่นการแสดงดนตรีไทย(เกือบทุกเดือน เว้นช่วงหน้าฝน เพราะแสดงกลางแจ้ง) หรือประกอบพิธีแบบไทยๆ เช่น การทำบุญเลี้ยงพระ พิธีมุทิตาจิตสำหรับหน่วยงานในจุฬาฯ จึงมีปัญหาอยู่บ้างด้านความเข้าใจของผู้เยี่ยมชมที่เป็นประชาชนทั่วไปเพราะไม่มีเจ้าหน้าที่นำชม สิ่งของที่จัดแสดงเป็นของบริจาค บางชิ้นไม่ทราบที่มาจึงไม่มีป้ายอธิบาย 

ผู้เขียน: เกสรา จาติกวณิช

ข้อมูลจาก: สำรวจภาคสนาม วันที่ 14 พฤศจิกายน 2550
ชื่อผู้แต่ง:
-