พิพิธภัณฑ์กุมารศัลยศาสตร์


ที่อยู่:
ชั้น 7 ตึก สก. ในบริเวณโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330
โทรศัพท์:
0-2251-8932
วันและเวลาทำการ:
เปิดจันทร์-ศุกร์ ตั้งแต่ 9.00 - 15.30 น.
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
เว็บไซต์:
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

รีวิวของพิพิธภัณฑ์กุมารศัลยศาสตร์

เมื่อต้นปี พ.ศ.๒๕๕๐ มีข่าวใหญ่สำหรับวงการแพทย์ที่คนไทยภาคภูมิใจ คือข่าวการผ่าตัดแยกร่างฝาแฝดติดกัน ได้เป็นผลสำเร็จ โดยคณะแพทย์โรงพยาบาลศิริราช ก่อนผ่าตัด ฝาแฝดปานตะวันและปานวาดมีลำตัวด้านหน้าติดกันตั้งแต่อกถึงท้อง อวัยวะภายในส่วนหัวใจและตับก็ติดกัน การผ่าตัดแยกฝาแฝดครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกในประเทศไทย คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเคยผ่าตัดแยกแฝดสยามมาก่อนแล้วและเป็นรายที่ ๓ ของโลก ครั้งล่าสุดเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๗ เป็นการผ่าตัดแยกแฝดสยามเพศชายชื่อ ณพวุฒิและณพวิทย์ ส่วนที่ติดกันอยู่บริเวณสะโพก ลำตัวและศีรษะอยู่ตรงข้ามกัน สะโพกข้างหนึ่งมีสองขาอีกข้างหนึ่งมีขาเดียว

กรณีที่กล่าวถึงข้างต้นเด็กรอดชีวิตทั้งหมด แต่การผ่าตัดแยกแฝดสยามไม่ได้ประสบความสำเร็จเสมอไป บางครั้งเด็กเสียชีวิตตั้งแต่อยู่ในท้องหรือหลังจากคลอดออกมาไม่นาน สถานที่ซึ่งเก็บรักษาตัวอย่างแฝดสยามไว้หลายรูปแบบเพื่อการศึกษาแห่งหนึ่งคือ พิพิธภัณฑ์กุมารศัลยศาสตร์ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ อยู่บนชั้น๗ ของตึก สก. ในบริเวณโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เยื้องไปทางด้านสวนลุมพินี เมื่อเดินออกจากลิฟท์ของตึกสก.จะเห็นข้อความและลูกศรบอกทิศทางที่กระจกฝั่งตรงข้ามว่าอยู่ทางซ้าย อย่าให้ข้อความว่า “Staff Only” ที่หน้าประตูเป็นอุปสรรคในการหาความรู้ บอกเจ้าหน้าที่ที่เดินไปเดินมาอยู่แถวนั้นว่าขอเข้าไปดูพิพิธภัณฑ์เท่านั้นก็เข้าข้างในได้ 

ห้องจัดแสดงของที่นี่มีขนาดค่อนข้างเล็ก ผนังด้านตรงข้ามประตูเป็นหน้าต่างกระจกให้แสงสว่างจากภายนอก ผนังด้านขวาเป็นบอร์ดแสดงพระราชประวัติพระบรมราชชนก พระบิดาแห่งการแพทย์ไทย ส่วนด้านซ้ายแสดงภาพและขั้นตอนการผ่าตัดแยกร่างแฝดสยาม ตรงกลางห้องเป็นชั้นโลหะตั้งเรียงกันคล้ายเข้าไปในห้องสมุด ต่างกันตรงสิ่งที่วางอยู่บนชั้นคือชิ้นเนื้อและอวัยวะต่างๆที่สร้างปัญหาให้เจ้าของจนคุณหมอต้องตัดออกมา เช่น ไส้ติ่ง ลำไส้ และตับ เพื่อเป็นตัวอย่างให้นิสิตแพทย์ศึกษา นอกจากนั้นก็มีเครื่องมือเครื่องใช้ในห้องผ่าตัดเด็กรุ่นโบราณ อายุราว ๓๐-๔๐ ปี ไม่ว่าจะเป็นเตียงผ่าตัดเด็ก เครื่องตรวจเลือด เครื่องรมยาสลบรุ่นใช้มือหมุน โคมไฟผ่าตัด เครื่องวัดความดัน เครื่องจี้ไฟฟ้าเพื่อให้เลือดหยุด

ที่โดดเด่นที่สุดคือกลุ่มตัวอย่างเด็กแฝดสยามที่แช่อยู่ในฟอร์มาลีน ภาชนะบรรจุเป็นกล่องสี่เหลี่ยมใสปิดผนึก จัดวางไว้บนแท่นที่อยู่เป็นกลุ่ม แท่นเหล่านี้มีความสูงต่างกันราวกับเป็นการแสดงผลงานศิลปะ ทำให้ไม่น่ากลัวเท่าที่จินตนาการไว้ มีแฝดสยามหลายแบบ เช่น ฝาแฝดที่ลิ้นปี่และท้องติดกัน แฝดสี่คน แฝดชนิดตัวอ่อนปาราสิตลักษณะเป็นทารกที่มีระยางพาดไขว้บริเวณช่องอกถึงท้องคล้ายมีปลาดาวมาเกาะ และที่สร้างความฉงนคือโต๊ะที่อยู่มุมห้องด้านข้างที่มีตุ๊กตาและของเล่นวางอยู่เต็ม รศ. นพ. ดร.ไพศาล เวชชพิพัฒน์ อธิบายว่าเป็นของแก้บนที่พนักงานแถวนั้นจัดมา นับว่าเป็นพิพิธภัณฑ์สายวิทยาศาสตร์ที่อนุโลมให้ไสยศาสตร์เข้ามาแทรกได้อย่างมีสีสัน

นอกจากชิ้นเนื้อและอวัยวะที่มีปัญหาแล้ว ก็มีกะโหลกมนุษย์ของจริง และกะโหลกปลอม หล่อขึ้นเพื่อเปรียบเทียบให้เห็นความแตกต่างของกะโหลกเด็กที่เป็นโรคงวงช้างและกะโหลกปกติ ชั้นวางชั้นหนึ่งมีหุ่นจำลองส่วนลำคอหลายชิ้นแสดงเส้นประสาท และเส้นเลือดที่มีทางเดินไขว้กันไปมาหลายแบบ เพื่อให้รู้ว่าเวลาจะผ่าตัดต้องระวัง

คุณหมอไพศาลบอกว่า โดยปกติพิพิธภัณฑ์นี้ใช้ประกอบการเรียนการสอนนิสิตแพทย์ในคณะฯ มีแขกของอาจารย์ในคณะฯเข้ามาเยี่ยมชมบ้าง การจัดแสดงบางจุดยังไม่เสร็จสมบูรณ์ เพราะใช้วิธีอาจารย์ท่านไหนว่างก็มาช่วยกันจัด ส่วนผู้สนใจที่ไม่มีความรู้ทางการแพทย์และต้องการจะดูให้ได้ความรู้ ควรแจ้งทางพิพิธภัณฑ์ล่วงหน้า เพราะป้ายอธิบายส่วนใหญ่เป็นภาษาอังกฤษหรือเป็นศัพท์ทางการแพทย์ สำหรับในบางโอกาสเช่นงานจุฬาวิชาการบางครั้งก็ขนชิ้นส่วนออกไปจัดแสดงในงาน หรือบางครั้งก็เชิญผู้สนใจเข้ามาดูที่ห้องพิพิธภัณฑ์ สำหรับปัญหามีอยู่บ้างคือไม่มีพนักงานดูแลประจำ 

ผู้เขียน: เกสรา จาติกวณิช

ข้อมูลจาก: สำรวจภาคสนามวันที่ 23 พฤศจิกายน 2550
ชื่อผู้แต่ง:
-