พิพิธภัณฑ์ส่วนบุคคล นายอรุณ แก้วสัตยา


นายอรุณ แก้วสัตยา เป็นปราชญ์ชาวบ้านที่มีความสามารถในเชิงช่าง ศิลปะ และการแสดงหลายแขนงของภาคใต้ เชี่ยวชาญด้านการแกะรูปหนังตะลุง งานแกะสลักแทงหยวก งานปรุกระดาษลายไทย การทำหีบศพโบราณ และด้วยความสนใจด้านการแสดงโนรา จึงศึกษาเรื่องเครื่องแต่งกายโนราแบบโบราณ มีความสามารถประดิษฐ์เครื่องแต่งกายโนรา พิพิธภัณฑ์ส่วนบุคคล นายอรุณ แก้วสัตยา นำเสนอของสะสมท่านเจ้าของ ทั้งเครื่องแต่งกายโนราที่ของสืบทอดจากบรรพบุรุษ ศาสตราวุธของภาคใต้ ที่นายอรุณได้รับมรดกตกทอดจากบรรพบุรุษ และจากการสะสมด้วยความชื่นชอบ เช่น กริช มีดบาดิก มีดอ้ายครก มีดชะน็อก มีดชายธง มีดอ้ายเชียง มีดอ้ายเด้ง มีดเดือยไก่ มีดแกะโผ้ มีดบาแดะ(ประแดะ) มีดอ้ายเคียง(มลายู) ฯลฯ

ชื่อเรียกอื่น:
พิพิธภัณฑ์อรุณ แก้วสัตยา
ที่อยู่:
14/1 หมู่ที่ 8 ตำบลท่าข้าม อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา 90110
โทรศัพท์:
081 969 2457
วันและเวลาทำการ:
อยู่ระหว่างดำเนินการ
ของเด่น:
เครื่องต้นโนรา , ศาสตาวุธโบราณ
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

พิพิธภัณฑ์ส่วนบุคคล นายอรุณ แก้วสัตยา

          นายอรุณ แก้วสัตยา เป็นปราชญ์ชาวบ้านที่มีความสามารถในเชิงช่าง ศิลปะ และการแสดงหลายแขนงของภาคใต้  เชี่ยวชาญด้านการแกะรูปหนังตะลุง งานแกะสลักแทงหยวก  งานปรุกระดาษลายไทย การทำหีบศพโบราณ และด้วยความสนใจด้านการแสดงโนรา จึงศึกษาเรื่องเครื่องแต่งกายโนราแบบโบราณ  มีความสามารถประดิษฐ์เครื่องแต่งกายโนรา เช่นป้ันเหน่ง ทับทรวง  ปีกนอกแอ่น จับปิ้งให้แก่โนราคณะต่างๆ รวมถึงการทำปลอกมีด กริช เครื่องเชี่ยนหมาก

          พิพิธภัณฑ์ส่วนบุคคล นายอรุณ แก้วสัตยา นำเสนอของสะสมท่านเจ้าของ ทั้งเครื่องแต่งกายโนราที่ของสืบทอดจากบรรพบุรุษ  ศาสตราวุธของภาคใต้ ที่นายอรุณได้รับมรดกตกทอดจากบรรพบุรุษ และจากการสะสมด้วยความชื่นชอบ โดยศาสตราวุธที่ใช้กันอยู่ในภาคใต้จะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว แต่ละเล่มจะมีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจ ศาสตราวุธที่ใช้ในภาคใต้  เช่น   กริช   มีดบาดิก    มีดอ้ายครก    มีดชะน็อก   มีดชายธง มีดอ้ายเชียง   มีดอ้ายเด้ง    มีดเดือยไก่    มีดแกะโผ้   มีดบาแดะ(ประแดะ)  มีดอ้ายเคียง(มลายู)   มีดรินจง  สุมาตรา    หอก  พระขรรค์โนรา   ดาบ  รวมไปถึงกรรไกรหนีบหมาก  และมีดที่ใช้กันอยู่ในชีวิตประจำวัน ฯลฯ   ศาสตราวุธเหล่านี้ล้วนมีศิลปะและความงดงามทั้งฝัก ด้าม และใบ ที่สร้างสรรค์โดยช่างพื้นบ้าน ผ่านการผสมผสานความเชื่อ การใช้งานจริง จากรุ่นสู่รุ่นสืบต่อยอดภูมิปัญญา จนเป็นมีดที่สมบูรณ์

            สำหรับเครื่องต้นโนรา ตามตำนานโนราจะมี 9 ชิ้น ทำด้วยเงิน หรือ โลหะ ได้แก่ ทับทรวง  หรือ ตาบ เป็นเครื่องประดับอก 1 ชิ้น  ปีกนกแอ่น 2 ชิ้น ที่ปลายสายพาดเป็นเส้นสังวาลด้านซ้ายและขวา  ประจำยาม 1 ชิ้น ติดไว้ด้านหลังสำหรับบังคับสายสังวาลให้ไขว้กันไว้สวยงาม  ปั้นเหน่ง 1 ชิ้น  ประดับไว้ที่สะเอว  ไหมร หรือ กำไลต้นแขน 2 ชิ้น      

กำไลปลายแขน 2 ชิ้น    เครื่องต้นโนราที่พิพิธภัณฑ์ส่วนบุคคลนายอรุณ แก้วสัตยา ทำจากเงินแท้สลักลวดลายสวยงาม อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์มาก   เป็นสมบัติของบรรพบุรุษ มีอายุประมาณ 80  ปี

            หน้าพรานโนรา หรือ หัวพราน คือหน้ากากที่ตัวพรานของโนราใช้ครอบหน้าเวลาออกแสดงในตอนที่จับบทออกพราน  หน้าพรานโนราทำด้วยไม้ที่เป็นมงคล โดยมากเลือกใช้ไม้ที่มีชื่อพอเอาเป็นเคล็ดได้ เช่น ไม้ยอ  ไม้พูด  โดยถือเอานามไม้ว่า  “พูดแล้วคนยอ”  รูปหน้ามีลักษณะแก้มโหนก จมูกยาว ฟันหัก  และมักเลี่ยมฟันทองหรือฟันเงิน    ส่วนหัวปิดด้วยแผ่นขนสัตว์สีขาวอย่างผมคนแก่  ส่วนใบหน้ามักจะทาด้วยสีแดง  หรือไม่ก็สีทอง หรือสีดำก็มี  หน้าพรานที่ดีเมื่อดูแล้วจะรู้สึกขบขัน   เมื่อแกะหน้าพรานเสร็จก็จะส่งให้หมอเบิกหู  เบิกตา  และเบิกปาก  จากนั้นก็นำหน้าพรานเข้าในพิธีโนราโรงครู เรียกว่า “เข้าครู” เป็นเสร็จพิธีใช้แสดงได้   หน้าพรานโนราที่พิพิธภัณฑ์นี้จะเป็นหน้าพรานที่เป็นมรดกตกทอดมาจากบรรพบุรุษของนายอรุณ แก้วสัตยา

            ส่วนศาสตราวุธที่ใช้ในพิธีกรรมในพิพิธภัณฑ์ส่วนบุคคลนายอรุณ แก้วสัตยา เป็นสมบัติของบรรพบุรุษที่ตกทอดสืบต่อ ๆ กันมา ส่วนใหญ่จะเป็นของที่ใช้ในพิธีกรรมโนราโรงครู มีอายุไม่ต่ำกว่า 80 – 100 ปี

            นอกจากนี้ยังมีกระบังหน้านางรำ  ที่ทำเป็นกรอบหน้า มีดอกไม้ไหวประดับ ที่จำลองมาจากเครื่องแต่งกายชฎาของตัวพระ ตัวนาง ในละคร  กระบังหน้านางรำในพิพิธภัณฑ์ส่วนบุคคลนายอรุณ แก้วสัตยา  เป็นงานฝีมือของช่างพื้นบ้าน    ทำจากโครงจากหนังสัตว์ มีการประดับตกแต่งอย่างสวยงาม  เป็นมรดกที่ตกทอดมาจากบรรพบุรุษ มีอายุประมาณ  70 ปี

            ของสะสมอื่นๆ อาทิ ไม้ไผ่ตัน หรือ ไม้ไผ่มหาอุด  ที่เชื่อกันว่ามีอานุภาพมากมาย ทั้งมหาอุด  เมตตามหานิยม คงกระพันชาตรี แคล้วคลาด ป้องกันไฟ เป็นของดีที่หายากไม่ค่อยมีคนรู้จักมากนัก   ไม้ไผ่ตัน ที่พิพิธภัณฑ์ส่วนบุคคลนายอรุณ  แก้วสัตยา  เป็นของที่นายอรุณ แก้วสัตยา ได้เก็บสะสมมาจากที่ต่างๆ  เพื่อนำมาใช้ทำไม้มงคลตามความเชื่อของคนโบราณ

            ขณะนี้พิพิธภัณฑ์ส่วนบุคคล นายอรุณ แก้วสัตยา อยู่ระหว่างการดำเนินการ  ยังไม่ได้เปิดให้เข้าชมโดยทั่วไป

ข้อมูลจาก:

รายงานฉบับสมบูรณ์โครงการจัดทำข้อมูลพิพิธภัณฑ์ภาคใต้ เครือข่ายพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นภาคใต้ สนับสนุนโดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร(องค์การมหาชน) 2564.

https://skruart.skru.ac.th/2017/files/docs/42.pdf

ชื่อผู้แต่ง:
ปณิตา สระวาสี