พิพิธภัณฑ์วัดนางเหล้า


วัดนางเหล้า เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ วัดนางเหล้าเป็นวัดเก่าแก่ของสงขลา ตามประวัติสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2225 โดยมีอุบาสิกาชื่อนางลาว บริจาคที่ดินและสร้างวัด เดิมชื่อวัดนางลาว ตามชื่อผู้บริจาคที่ดินและสร้างวัด ต่อมาเรียกชื่อเพี้ยนเป็นวัดนางเหล้า พิพิธภัณฑ์วัดนางเหล้าก่อตั้งขึ้นปี พ.ศ. 2553 ตามโครงการพัฒนาหอวัฒนธรรมนิทัศน์ แหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมเชิงสร้างสรรค์ ของสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมตำบลชุมพล ที่ครอบคลุมวิถีชีวิตของชุมชนอย่างครบวงจร ประกอบด้วย ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ แหล่งเรียนด้านศิลปะ การประกอบอาชีพทางวัฒนธรรม และโบราณคดี พิพิธภัณฑ์อยู่ใต้ฐานเจดีย์ขนาดใหญ่ของวัด ภายในพิพิธภัณฑ์แบ่งเป็นสองส่วน ส่วนแรกจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้พื้นบ้าน ที่ได้รับบริจาคจากคนในท้องถิ่น อาทิ รางบดยาโบราณอายุกว่า 100 ปี กระดานชนวน เสื่อคล้าเป็นภูมิปัญญาของคนในท้องถิ่นภาคใต้ที่ได้นำเอาเปลือกของต้นคล้าที่มีในชุมชนมาสานเป็นสาดคล้า กบเซาะร่องไม้ ม้าหั่นยาเส้น ส่วนที่สองเป็นนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติในหลวงรัชกาลที่ 9

ชื่อเรียกอื่น:
พิพิธภัณฑ์ชุมชนตำบลชุมพล
ที่อยู่:
90 บ้านนางเหล้า ถนนเขาแดง-ระโนด หมู่ที่ 3 ตำบลชุมพล อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา
โทรศัพท์:
081 788 2133
วันและเวลาทำการ:
กรุณานัดหมายล่วงหน้า
ค่าเข้าชม:
ไม่เสียค่าเข้าชม
ปีที่ก่อตั้ง:
2553
ของเด่น:
เครื่องใช้ครัวเรือน, เสื่อคล้า, รางบดยา
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

พิพิธภัณฑ์วัดนางเหล้า

วัดนางเหล้า เป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่งบนคาบสมุทรสทิงพระของสงขลา ตามประวัติสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2225 โดยมีอุบาสิกาชื่อนางลาว บริจาคที่ดินและสร้างวัด เดิมชื่อวัดนางลาว ตามชื่อผู้บริจาคที่ดินและสร้างวัด ต่อมาเรียกชื่อเพี้ยนเป็นวัดนางเหล้า   นอกจากนี้ยังมีวัดสำคัญที่ตั้งอยู่ใกล้เคียงในพื้นที่เช่น วัดพะโคะ วัดสีหยัง วัดเขาน้อย วัดดีหลวง เป็นต้น พื้นที่คาบสมุทรสทิงพระ ยังมีความสำคัญเนื่องจากเป็นที่ตั้งของเมืองโบราณที่เจริญเป็นบ้านเมืองตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 11 พบโบราณวัตถุ โบราณสถาน สถูปโบราณอยู่หลายแห่ง  ทำให้นักโบราณคดีสันนิษฐานกันว่าพื้นที่สทิงพระเป็นเมื่อท่าสำคัญในอดีต

เมืองโบราณสทิงพระเป็นเมืองโบราณที่มีคูน้ำล้อมรอบเป็นรูปสี่เหลี่ยมด้านไม่เท่า ตั้งอยู่บนสันทรายกลาง (ใหญ่ที่สุด) ของคาบสมุทรสทิงพระ จากการสำรวจและขุดค้นพบหลักฐานทางโบราณคดีที่น่าจะมีอายุตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 11-12 เป็นต้นมาจนถึงพุทธศตวรรษที่ 19 หรือลงมาจนถึงสมัยอยุธยา หลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญ อาทิ  คูน้ำล้อมรอบเมืองโบราณ  ภาชนะดินเผา  เครื่องถ้วยจีน สมัยราชวงศ์ถัง ซุ่ง หยวน และหมิง  เครื่องสังคโลก   เครื่องถ้วยมาโคโปโล   ตะคันดินเผา   หินดุ   ตุ้มถ่วงแห   แวดินเผา  ลูกปัดหิน ลูกปัดแก้ว  ชิ้นส่วนสำริด ตะเกียงแขวนสำริด  สถูปที่วัดจะทิ้งพระ  ประติมากรรมรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร 4 กร ทำจากสำริด เป็นต้น

พิพิธภัณฑ์วัดนางเหล้า ก่อตั้งขึ้นปี พ.ศ. 2553 ตามโครงการพัฒนาหอวัฒนธรรมนิทัศน์ แหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมเชิงสร้างสรรค์ ของสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมตำบลชุมพล ที่ครอบคลุมวิถีชีวิตของชุมชนอย่างครบวงจร ประกอบด้วย ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ แหล่งเรียนด้านศิลปะ การประกอบอาชีพทางวัฒนธรรม และโบราณคดี

พิพิธภัณฑ์อยู่ใต้ฐานเจดีย์ขนาดใหญ่ของวัด ภายในพิพิธภัณฑ์แบ่งเป็นสองส่วน ส่วนแรกจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้พื้นบ้าน ที่ได้รับบริจาคจากคนในท้องถิ่น อาทิ รางบดยาโบราณ เป็นเครื่องใช้สำหรับบดยาที่หมอยาพื้นบ้านใช้  มีลักษณะทำเป็นรางไม้คล้ายเรือ และลูกกลิ้งเหล็กกลม  สาเหตุของการทำรางในการบดยานั้น เพื่อไม่ให้เครื่องยาสมุนไพรหกเรี่ยราด  ก่อนที่จะนำมาบดต้องหั่นหรือขูดสมุนไพรออกเป็นชิ้น ๆ เพื่อให้บดง่าย  การบดยาผู้บดจะต้องโยกคลึงให้ลูกกลิ้งบดสมุนไพรจนเป็นผง          รางบดยาในพิพิธภัณฑ์วัดนางเหล้า เป็นรางบดยาที่มีสภาพเก่าแก่มาก สันนิษฐานว่ามีอายุประมาณ 100 ปี ขึ้นไป

          กระดานชนวน ที่พิพิธภัณฑ์วัดนางเหล้าได้รับบริจาคจากนายประเวศ นาบอน  ซึ่งเป็นชาวบ้านในชุมชน  กระดานชนวนเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ฝึกหัดเขียน คัด ฝึกหัดทำเลขคณิตของนักเรียนในอดีตเมื่อครั้งที่กระดาษหรือสมุดเป็นของแพงและหายาก  กระดานทำจากหินชนวน มีขอบที่ทำด้วยไม้ทั้งสี่ด้าน ใช้เขียนด้วยดินสอพอง

สาดคล้า  หรือ เสื่อคล้า เป็นภูมิปัญญาของคนในท้องถิ่นภาคใต้ที่ได้นำเอาเปลือกของต้นคล้าที่มีในชุมชนมาสานเป็นสาดคล้า เสื่อคล้ายังมีความผูกพันกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมท้องถิ่นอยู่อีกมาก เช่น การนำเสื่อคล้ามาปูในโรงโนรา   รวมทั้งการบูชาบรรพบุรุษ หรือการตั้งตายายของคนใต้ ก็ต้องนำเสื่อคล้ามาปู  คุณสมบัติเด่นที่สามารถเก็บความเย็นไว้ได้ดี ผู้คนจึงนิยมนำเสื่อคล้ามาปูนอน และบ้างก็เชื่อว่าจะทำให้บรรเทาอาการเจ็บป่วยได้

ข้อมูลจาก:

รายงานฉบับสมบูรณ์โครงการจัดทำข้อมูลพิพิธภัณฑ์ภาคใต้ เครือข่ายพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นภาคใต้ สนับสนุนโดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร(องค์การมหาชน) 2564.

https://db.sac.or.th/archaeology/archaeology/115

ชื่อผู้แต่ง:
ปณิตา สระวาสี