หอประวัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


ที่อยู่:
ตึกจักรพงษ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330
โทรศัพท์:
0-2218 7097-8, 0-2218 4594-5
วันและเวลาทำการ:
จันทร์-ศุกร์ เวลา 8.00-16.00 น.
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
เว็บไซต์:
ปีที่ก่อตั้ง:
2510
ของเด่น:
พระเกี้ยวจำลอง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้มหาวิทยาลัยจัดสร้างขึ้น
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

วันที่ระลึกวันทรงดนตรี

ชื่อผู้แต่ง: | ปีที่พิมพ์: 2550

ที่มา:

แหล่งค้นคว้า: ศมส.

โดย: ศมส.

วันที่: 13 มีนาคม 2555


ไม่มีข้อมูล

รีวิวของหอประวัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


“น้ำใจน้องพี่สีชมพู ทุกคนไม่รู้ลืมบูชา 

พระคุณของแหล่งเรียนมา จุฬาลงกรณ์...” 

บทเพลงนี้เป็นบทเพลงที่น้องใหม่ชาวจุฬาฯหัดร้องกันตั้งแต่เริ่มชีวิตการเป็นนิสิต ท่วงทำนองที่ไพเราะติดหูจนโตเป็นผู้ใหญ่วัยทำงานก็ยังร้องกันได้ เพลง”มหาจุฬาลงกรณ์” นี้ไม่ได้เป็นเพียงเพลงประจำมหาวิทยาลัยเท่านั้น บทเพลงดังกล่าวยังเป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเกี่ยวโยงระหว่างพระมหากษัตริย์ราชวงศ์จักรีกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ เรื่อยมาจนถึงรัชกาลปัจจุบัน

ตั้งแต่จุดเริ่มต้นของการจัดตั้งให้เป็นสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาสำหรับประชาชนทั่วไปตามพระราชประสงค์ของรัชกาลที่ ๕ จนในที่สุดได้รับการประดิษฐานเป็น ”จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ในรัชกาลต่อมา ทั้งชื่อ สัญลักษณ์ และสีประจำมหาวิทยาลัยล้วนมีที่มาจากพระนามและสีประจำพระองค์ของรัชกาลที่ ๕ ดังนั้นแล้ว อาจจะเปรียบได้ว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้นมีสถานะเป็นพระราชานุสาวรีย์ของรัชกาลที่ ๕ ก็ว่าได้

นอกจากนี้ยังมีพระบรมวงศานุวงศ์อีกหลายพระองค์ที่มีความเกี่ยวโยงกับสถาบันการศึกษาแห่งนี้ อาทิเช่นสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในฐานะทรงเป็นนายกสภากรรมการจัดการโรงเรียนราชการพลเรือน ตลอดจน สมเด็จพระบรมราชชนก ทรงเป็นกำลังสำคัญในการสนับสนุนในด้านต่างๆ เป็นต้น

จนมาถึงในรัชกาลที่ ๙ พระองค์ทรงมีน้ำพระราชหฤทัยต่อชาวจุฬาฯ อย่างหาที่เปรียบมิได้ ในปี พ.ศ.๒๕๐๕ พระองค์ทรงปลูกต้นจามจุรี หน้าหอประชุมจุฬาฯ ซึ่งทรงนำมาจากวังไกลกังวล หัวหิน นอกจากนั้นเหตุการณ์ที่ยังความปลาบปลื้มใจมาให้แก่ชาวจุฬาฯเมื่อสี่สิบกว่าปีมาแล้ว คือได้เสด็จมาทรงดนตรี ร่วมกับวง อ.ส.ที่จุฬาฯทุกปี จนเมื่อมีพระราชกรณียกิจมากจึงทรงหยุดไป นอกจากนี้แล้ว สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ พระเจ้าลูกเธอฯ ในพระองค์ ทรงเป็นพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์แรกที่สำเร็จการศึกษาเป็นบัณฑิตจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งยังทรงเคยสอนวิชาอารยธรรมไทยแก่นิสิตจุฬาฯด้วย

เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของความเกี่ยวโยงระหว่างพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ในราชวงศ์จักรีกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ยังความภาคภูมิใจมาให้แก่ชาวจุฬาฯ ตลอดจนข้อมูลทางประวัติศาสตร์ในด้านอื่นๆและเกร็ดน่ารู้นั้นยังมีอีกมากมาย สามารถค้นคว้าหาอ่านได้ที่หอประวัติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

หอประวัติฯ นี้จัดตั้งขึ้นเพื่อเก็บรักษาและจัดแสดงเอกสารและสิ่งของที่มีคุณค่าที่เกี่ยวข้องกับจุฬาฯ โดยมีที่ทำการแบ่งเป็น ๒ ส่วน คือส่วนสำนักงานและพิพิธภัณฑ์ ตั้งอยู่ที่ตึกจักรพงษ์ ใกล้กับคณะวิศวกรรมศาสตร์ ฝั่งเดียวกับหอประชุมใหญ่ และส่วนห้องจดหมายเหตุอยู่ที่อาคารบรมราชกุมารี ชั้น ๑๕

กิจกรรมในส่วนที่เป็นพิพิธภัณฑ์ คือการแสดงนิทรรศการหมุนเวียนเกือบตลอดทั้งปี ยกตัวอย่างปี ๒๕๕๐ ช่วงใกล้เปิดเทอมเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน มีนิทรรศการรับน้อง-ไหว้ครู ช่วงเดือนกันยายนถึงตุลาคมมีนิทรรศการวันทรงดนตรี และเดือนธันวาคมจัดแสดงนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เรื่องในหลวงกับจุฬาฯ เป็นต้น 

สำหรับการจัดแสดงนั้น ภายในพิพิธภัณฑ์จัดแสดงสิ่งของมีค่าน่าสนใจ ชิ้นเด่นย่อมหนีไม่พ้น “พระเกี้ยว” ซึ่งจำลองมาจากองค์จริงที่เก็บรักษาไว้ในพระคลังมหาสมบัติในพระบรมมหาราชวัง

สิ่งจัดแสดงที่น่าสนใจชิ้นต่อมาคือ “หนังสือพิมพ์มหาวิทยาลัย” ปีที่ ๓ ฉบับที่ ๗ ซึ่งเป็นฉบับเก่าที่สุดเท่าที่เก็บรักษาไว้ได้ หนังสือพิมพ์ฉบับนี้มีบทความของนักเขียนคนสำคัญในอดีตหลายท่าน นอกจากนี้ ยังมีของจัดแสดงชิ้นสำคัญอื่นๆ จำนวนมากมาย เช่น ของที่ระลึกจากบุคคลสำคัญที่มาเยี่ยมเยือนสถาบันการศึกษาแห่งนี้ ตลอดจนองค์กรที่มีความสัมพันธ์อันดีกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เช่น กล่องไม้จากอดีตประธานาธิบดี บิล คลินตัน แห่งสหรัฐอเมริกา รวมทั้งยังมีการจัดแสดงเพื่อระลึกถึงบุคคลสำคัญต่างๆ ที่สร้างคุณูปการแก่สถาบัน เช่น รูปปั้นอธิการบดีในอดีตที่มีบทบาทสำคัญทางด้านการศึกษาและการเมือง เช่น จอมพลป. พิบูลสงคราม, ศ. ดร.เกษมสุวรรณกุล รวมทั้งศิษย์เก่าที่มีผลงานเด่น สร้างชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับทั่วไป อาทิ เช่น คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา, รศ.ภิญโญ สุวรรณคีรี, รศ.สดใส พันธุโกมล 

ส่วนห้องจดหมายเหตุให้บริการทางวิชาการ มีทั้งเอกสาร หนังสือและสื่ออื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น ฟิล์มภาพ แผนที่ วีดิทัศน์ แก่ผู้สนใจ เอกสารที่ห้องจดหมายเหตุจัดเก็บดังกล่าวไม่อนุญาตให้มีการยืมออก แต่สามารถทำสำเนาได้โดยต้องแจ้งหัวหน้าฝ่ายจดหมายเหตุอนุญาต ทั้งสองส่วนเปิดให้บริการโดยไม่เก็บค่าเข้าชม

ผู้เขียน: เกสรา จาติกวณิช

ข้อมูลจาก: การเก็บข้อมูลภาคสนามวันที่ 15 พฤศจิกายน 2550
ชื่อผู้แต่ง:
-