พิพิธภัณฑ์การฝึกหัดครูไทย มหาวิทยาลัยราชภัฎพระนคร ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2544 เป็นสถานที่รวบรวมเรื่องราวของครูไทยในสมัยอดีตและประวัติการก่อตั้ง “มหาวิทยาลัยราชภัฏ” การแบ่งเนื้อหาได้จัดแสดงเป็นส่วนๆ คือ 100 ปี การฝึกหัดครูไทย สถาบันราชภัฏพระนคร สถาบันราชภัฏพระนครกับราชวงศ์ วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร ข้อมูลท้องถิ่น ความโดดเด่นอยู่ที่ความสวยงามของการจัดซุ้มต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการให้สี การให้ลวดลายบนผนัง รวมไปถึงการมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยอธิบาย
โดย: -
วันที่: 12 มีนาคม 2555
โดย: -
วันที่: 12 มีนาคม 2555
โดย: -
วันที่: 12 มีนาคม 2555
โดย: -
วันที่: 12 มีนาคม 2555
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยทีมงานและสมาชิก
รีวิวของพิพิธภัณฑ์การฝึกหัดครูไทย
ในสมัยก่อนวัดคือโรงเรียน พระเป็นครู จากภาพถ่ายในอดีตของพระรูปหนึ่งกับลูกศิษย์ตัวน้อยที่กำลังฟังการสั่งสอนจากครู คือปฐมบทของระบบการศึกษาของประเทศไทย และเป็นฉากแรกของพิพิธภัณฑ์การฝึกหัดครูไทย ภายในมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร จากภาพอดีตออกมาเป็นรูปปั้น สร้างบรรยากาศเสมือนย้อนเวลาให้ภาพอดีตกลับมามีตัวตนในปัจจุบันบรรยากาศของห้องพิพิธภัณฑ์ที่ชั้นสอง ตึก 100ปี สร้างความรู้สึกแรกคือความอบอุ่น วันนี้ ครู อาจารย์แม่ของลูกศิษย์จำนวนมากมายหลายรุ่นได้ให้เกียรตินำชมพิพิธภัณฑ์ พร้อมกันนั้นอาจารย์แม่หรืออาจารย์พัฒนา ขุมทิพย์ รองผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรม ได้นำลูกศิษย์อีก 3 คนคือ คุณซี คุณอ้อย คุณชาคริต เข้ามาฝึกงานการต้อนรับแขกผู้มาเยือน อันเนื่องมาจากคนที่ชำนาญการคนก่อนได้ลาออกไป การแบ่งเนื้อหาได้จัดแสดงเป็นส่วนๆ คือ 100 ปี การฝึกหัดครูไทย สถาบันราชภัฏพระนคร สถาบันราชภัฏพระนครกับราชวงศ์ วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร ข้อมูลท้องถิ่น
ความโดดเด่นของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้อยู่ที่ความสวยงามของการจัดซุ้มต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการให้สี การให้ลวดลายบนผนัง รวมไปถึงการมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยอธิบาย ไม่ว่าจะเป็นการให้เสียงเมื่อผู้เยี่ยมชมเดินเข้าไปใกล้ การให้เสียงระฆังของโรงเรียนแบบสมัยก่อน หรือโทรศัพท์แบบโบราณที่เราสามารถยกหูแล้วจะมีเสียงให้ได้ฟัง ถ้าอยากรู้ว่าห้องทำงานของครูใหญ่สมัยก่อนนั้นเป็นอย่างไร ในนี้ก็มีให้ดู นอกจากนี้ก็ยังมีคอมพิวเตอร์อีกหลายเครื่องให้เลือกศึกษาข้อมูล รวมไปถึงจอทีวีขนาดใหญ่พร้อมที่นั่ง โดยสามารถชมได้พร้อมกันถึงยี่สิบคน
เรื่องราวในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ เริ่มจากโรงเรียนฝึกหัดอาจารย์สู่การเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ในช่วงร้อยกว่าปีที่ผ่านมาได้ย้ายที่ตั้งและได้ใช้ชื่อแตกต่างกันออกไป เริ่มต้นของการเปิดสอนวันที่12 ตุลาคม พุทธศักราช 2435 ในสมัยรัชกาลที่ 5 มีการว่าจ้างชาวอังกฤษมาเป็นครูใหญ่คนแรก ใช้ชื่อว่า “โรงเรียนฝึกหัดอาจารย์” (2435-2445) สถานที่ตั้งโรงเรียนคือตึกปั้นหยาหน้าโรงเลี้ยงเด็กต่อมาเป็น “โรงเรียนฝึกหัดอาจารย์เทพศิรินทร์” (2445-2448) “โรงเรียนฝึกหัดอาจารย์ฝั่งตะวันตก” (2449-2456) “โรงเรียนฝึกหัดอาจารย์วังใหม่ ปทุมวัน” (2457-2458) “โรงเรียนฝึกหัดอาจารย์แผนกคุรุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” (2459-2460) “โรงเรียนฝึกหัดครูวัดบวรนิเวศน์” (2461-2474) “โรงเรียนฝึกหัดครูประถมพระราชวังสนามจันทร์” (2475-2476) “โรงเรียนฝึกหัดครูประถมถนนศรีอยุธยา” (2477-2484) “โรงเรียนฝึกหัดครูประถมวังจันทรเกษม” (2485-2489)
จนกระทั่งได้มาตั้งมั่นถาวรที่บางเขนเริ่มจากชื่อ “โรงเรียนฝึกหัดครูพระนคร บางเขน” (2490-2508) แล้วมาเป็น “วิทยาลัยครูพระนคร” (2509-2534) “สถาบันราชภัฏพระนคร” (2535-2547) และท้ายที่สุดก็มาเป็นสถาบันที่มีสภาพเป็นนิติบุคคลในนาม “มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร” (2547-ปัจจุบัน) อธิการบดีคนปัจจุบันคือ รองศาสตราจารย์เปรื่อง กิจรัตน์ภร
ในเรื่องของสถานที่ตั้งของมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร อาจารย์พัฒนาได้เล่าความเป็นมา พื้นที่แห่งนี้มีประวัติศาสตร์ ใกล้กันนี้บริเวณที่เป็นวงเวียนทางแยกจะเห็นอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ในปัจจุบันคนจะนิยมเรียกว่า อนุสาวรีย์หลักสี่ สถานที่บริเวณนี้ได้เก็บบันทึกเหตุการณ์กบฏบวรเดช ซึ่งเกิดขึ้นในวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2476 หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองได้ไม่นานนัก การสู้รบของคนไทยด้วยกันของทหารฝ่ายกบฏกับฝ่ายรัฐบาล บริเวณนี้ได้เคยเป็นจุดที่มีการปักหลักต่อสู้กันจนถึงวันที่ 14 ตุลาคม ผลจากการสู้รบทำให้เกิดการล้มตายเป็นจำนวนมาก อาจารย์พัฒนาที่อยู่ที่นี่มา 33 ปี ได้เล่าว่า เมื่อก่อนแถวนี้เป็นท้องนา เมื่อมีคนตายมาก ก็จะขุดบ่อเพื่อลำเลียงศพเข้าไปใส่ไว้ในนั้น บ่อน้ำที่เคยใส่ศพผู้คนก็คือบ่อที่เห็นกันอยู่ในบริเวณนี้นั่นเอง และตลอดช่วงเวลาที่อาจารย์มาอยู่ที่นี่ก็ได้ทำบุญตักบาตรมาตลอด ในภาพจัดแสดงหนึ่งในภาพนั้นคือภาพอดีตของการเป็นท้องนาที่ยังไม่มีตึกรามบ้านช่อง
ในความเชื่อมโยงของเหตุการณ์ หลังจากที่ฝ่ายรัฐบาลเป็นฝ่ายชนะ นักโทษการเมืองจำนวนหนึ่งจากเหตุการณ์ครั้งนี้ได้ถูกส่งไปกักตัวที่อ่าวตะโละอุดัง เกาะตะรุเตา จ. สตูล ซึ่งหลายคนคงเคยรู้จักมาจากภาพยนตร์ ในคำว่า“คุกนรกตะรุเตา”
ส่วนของสถาบันราชภัฏพระนครกับราชวงศ์ การได้นาม “สถาบันราชภัฏ” นับเป็นความภาคภูมิใจ โดยในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2535 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯพระราชทานนาม “สถาบันราชภัฏ” เป็นชื่อสถาบันการศึกษาในสังกัดกรมการฝึกหัดครูกระทรวงศึกษาธิการ ทั้งยังได้พระราชทานตราพระราชลัญจกรให้เป็นตราสัญลักษณ์ประจำสถาบันราชภัฏด้วย และเมื่อได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติสถาบันราชภัฏเมื่อวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2538 วิทยาลัยครูพระนครจึงได้ชื่อว่า “สถาบันราชภัฏพระนคร” และสิ่งหนึ่งที่เป็นความประทับใจและเป็นความปลาบปลึ้มใจอย่างที่สุดของอาจารย์พัฒนาคือการที่สมเด็จพระเทพฯ ได้เสด็จมาทำพิธีเปิดพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ในวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2544 ในวันนั้นอาจารย์เป็นคนถวายพวงมาลัยให้ท่าน
ยังมีสถานที่อีกแห่งหนึ่งซึ่งได้ผูกพันกันมากับสถาบันการศึกษาแห่งนี้ นั่นก็คือวัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร อาจารย์พัฒนาได้บอกว่าเนื่องจากแถวนี้มีคนตายมาก เป็นธรรมดาที่จะมีการสร้างวัดขึ้นมา ความเป็นมาของวัดได้กล่าวว่า วัดนี้เป็นวัดเริ่มแรกในสมัยประชาธิปไตย เดิมให้ชื่อว่า วัดประชาธิปไตย ซึ่งวัดนี้ได้สร้างขึ้นทีหลังอนุสาวรีย์หลักสี่ที่สร้างเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2479 วัดนี้สร้างเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2485
ในการขอใช้พื้นที่ของวัด หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ในขณะที่ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงศึกษาธิการและเป็นผู้บริหารกระทรวง ได้ขอความอนุเคราะห์ท่านเจ้าอาวาสองค์แรกของวัดคือ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์(อ้วน แสนทวีสุข) ด้วยสายตาที่มองการณ์ไกลและเห็นประโยชน์ของการศึกษา เจ้าประคุณสมเด็จฯ จึงได้กรุณาอนุญาตให้ใช้ที่ธรณีสงฆ์ของวัดประมาณ 165 ไร่ มาตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2499
วัดแห่งนี้มีพระเจดีย์ศรีมหาธาตุ เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ได้รับมอบมาจากรัฐบาลอินเดีย พร้อมด้วยดินจากสังเวชนียสถานและกิ่งพระศรีมหาโพธิ์ ภายในพิพิธภัณฑ์ได้มีส่วนที่เกี่ยวข้องกับวัดได้แก่ การกล่าวถึงเจ้าอาวาสองค์เดิม 2 องค์ ตู้ใส่ของใช้ของพระ ในอนาคตอธิการบดี รศ. เปรื่องได้เสนอกับท่านเจ้าอาวาสว่าอยากจะให้มีวิทยาลัยพุทธศาสตร์และปรัชญา ซึ่งท่านเจ้าอาวาสก็ตอบรับเป็นอย่างดีและเห็นด้วยอย่างยิ่งที่จะให้มีการรื้อพวกร้านคาราโอเกะออกไปเพื่อจะทำเป็นถนนให้เชื่อมติดต่อกัน
ปัจจุบันมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครมีหลักสูตรและสาขาวิชาที่เปิดสอน 5 คณะ ได้แก่ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม คณะวิทยาการจัดการ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วิทยาลัยการฝึกหัดครู ในตู้โชว์ของพิพิธภัณฑ์ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่สวยงามสะดุดตา นั่นคือเครื่องเบญจรงค์ อาจารย์พัฒนาบอกว่า เรามีชื่อเสียงในเรื่องของเซรามิก เครื่องเบญจรงค์ เมื่อก่อนมีการสอนในชื่ออุตสาหกรรมศิลป์ ปัจจุบันอยู่ในคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม
จวบจนทุกวันนี้มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครยังคงยึดมั่นในภารกิจคือ เป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น มีวัตถุประสงฆ์ให้การศึกษาวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง ทำการวิจัย ให้การวิจัย ให้บริการทางวิชาการแก่สังคม ปรับปรุง ถ่ายทอดและพัฒนาเทคโนโลยี ทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ผลิตครู และส่งเสริมวิทยฐานะครู
สาวิตรี ตลับแป้น /ผู้เขียน/ ถ่ายภาพ
ข้อมูลจาก : สำรวจภาคสนามวันที่ 4 มิถุนายน 2551
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสื่อออนไลน์
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยบล็อก
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสารานุกรมไทย
การศึกษา คณะราษฎร มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร ครู
พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตบางขุนเทียน (โรงเรียนคลองพิทยาลงกรณ์)
จ. กรุงเทพมหานคร
พิพิธภัณฑ์และจดหมายเหตุรัฐสภา
จ. กรุงเทพมหานคร
พิพิธภัณฑ์หนังสือพิมพ์ไทย
จ. กรุงเทพมหานคร