พิพิธภัณฑ์สุนทรภู่


ที่อยู่:
วัดเทพธิดาราม ถนนมหาไชย แขวงสำราญราษฎร์ เขตพระนคร กรุงเทพฯ
โทรศัพท์:
02-222-6921
วันและเวลาทำการ:
เปิดทุกวัน
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
เว็บไซต์:
ปีที่ก่อตั้ง:
2507
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ตระเวนยลวัดวางามตา ตามรอย “สุนทรภู่” มหากวีแห่งรัตนโกสินทร์

ชื่อผู้แต่ง: | ปีที่พิมพ์: 16 มิ.ย. 2558;16-06-2015

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์

แหล่งค้นคว้า: ศมส.

โดย: ศมส.

วันที่: 28 มิถุนายน 2559


ไม่มีข้อมูล

พิพิธภัณฑ์สุนทรภู่ วัดเทพธิดาราม

สุนทรภู่เป็นกวีที่คนไทยรู้จักมากที่สุด สร้างสรรค์บทกวีเป็นที่จับจิตจับใจผู้คนในวงกว้างมากที่สุด จนในปี พ.ศ. 2529 ยูเนสโกได้ประกาศเกียรติคุณเป็นบุคคลสำคัญของโลกในด้านงานวรรณกรรม แม้ผลงานสุนทรภู่ยังคงเป็นที่ปรากฏ แต่ “บ้าน” ของสุนทรภู่กลับไม่หลงเหลืออยู่แล้ว ยกเว้น “กุฏิสุนทรภู่” ณ วัดเทพธิดารามวรวิหาร อารามสุดท้ายในการใช้ชีวิตสมณะเพศของท่าน ที่อาจะเรียกได้ว่าเป็นบ้านหลังเดียวที่ยังหลงเหลืออยู่

ทราบกันดีว่าขณะที่สุนทรภู่ออกบวช ท่านเคยมาจำพรรษาที่วัดเทพธิดารามวรวิหาร ระหว่างปี พ.ศ. 2382-2385 ดังปรากฏหลักฐานในวรรณคดีเรื่อง “รำพันพิลาป” ส่วนท่านจำพรรษาที่กุฏิหลังใดยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจน หากแต่อาคารที่เชื่อว่าเป็นกุฏิสุนทรภู่นั้น เป็นเพียงการสันนิษฐานที่เกิดขึ้นราวต้นทศวรรษที่ 2500 โดยนายธนิต อยู่โพธิ์ อธิบดีกรมศิลปากรในตอนนั้น

กุฏิสุนทรภู่กลายเป็นสถานที่สำคัญภายในวัดเทพธิดาราม เป็น “วรรณศิลป์สโมสร”อนุสรณ์ความทรงจำต่อมหากวีกระฎุมพีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์   เคยเป็นที่ทำการสมาคมนักกลอนแห่งประเทศไทย ล่าสุดเป็นแหล่งเรียนรู้นาม “พิพิธภัณฑ์สุนทรภู่” ที่นำเสนอประวัติและผลงานของท่านผ่านนิทรรศการและสื่อสมัยใหม่

แม้สุนทรภู่จะมีชื่อเสียงและได้รับความสนใจจากผู้คน แต่ประวัติและผลงานของท่าน ยังมีหลายสิ่งหลายอย่างที่ยังไม่ชัดเจน หนึ่งในนั้นคือเรื่องสถานที่เกิด เดิมมีข้อกล่าวอ้างว่าสุนทรภู่เกิดที่บ้านกร่ำ เมืองแกลงนั้น แต่มีข้อโต้แย้งว่าอาจจะคลาดเคลื่อน อาจารย์ล้อม เพ็งแก้ว ปราชญ์ด้านภาษาไทย เสนอว่าหากพิจารณาหลักฐานที่สุนทรภู่เขียนไว้ในนิราศสุพรรณบุรี ชัดเจนว่าในวัยหนุ่มท่านเคยอยู่วังหลัง เคยเป็นศิษย์เก่าสำนักวัดชีปะขาว ซึ่งในขณะนั้นชนชั้นผู้ดีนิยมส่งบุตรหลานไปเรียนกัน และมีหลักฐานว่าบรรพชนท่านเป็นพราหมณ์ที่ใกล้ชิดอยู่กับข้าราชการและพระราชวงศ์  ส่วนมารดาเป็นพระนมพระเจ้าลูกเธอในกรมพระราชวังหลัง จึงเชื่อได้ว่าสุนทรภู่เกิดและเติบใหญ่อยู่ในวังหลัง  (ล้อม เพ็งแก้ว 2547, 43-49) พูดอีกอย่างก็คือท่านไม่ใช่สามัญชนคนธรรดาอย่างที่เข้าใจกัน แต่เป็นคนมีตระกูล ที่เกิดและโตในวังหลัง ได้อ่านเขียนเรียนหนังสือในสำนักของเจ้าขุนมูลนาย

เช่นเดียวกันกับทัศนะของอาจารย์ล้อม ที่ว่าเมื่อสิ้นแผ่นดินรัชกาลที่ 2 สุนทรภู่ออกบวชในปีเดียวกัน ท่านเห็นว่าสุนทรภู่น่าจะออกบวชเพราะเกรงราชภัย มากกว่าเพราะตกยากสิ้นคิด เนื่องเพราะสุนทรภู่ใกล้ชิดกับฝ่ายเจ้าฟ้ามงกุฎ จึงย่อมหวาดหวั่นเป็นธรรมดา ทำให้สุนทรภู่ตัดสินใจบวชอย่างไม่ลังเล ดังที่สุนทรภู่บอกไว้รำพันพิลาป ส่วนการไร้ผู้อุปถัมภ์หรือไม่มีเจ้านายคุ้มครอง เพราะเกรงจะฝ่าฝืนพระราชนิยมนั้นยังไม่พบหลักฐานสนับสนุน กลับตรงกันข้าม ปรากฏว่ามีเจ้านายหลายพระองค์ได้เข้ามาอุปัฏฐากสุนทรภู่อย่างเปิดเผย ทั้งพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ และกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ พระธิดาพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ที่ได้นิมนต์ให้ภิกษุสุนทรภู่ไปอยู่วัดเทพธิดาราม และอยู่ที่วัดนี้ถึงสามพรรษาจนลาสึก (ล้อม เพ็งแก้ว 2547, 75-77)

วัดเทพธิดารามวรวิหาร พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนาเมื่อ พ.ศ. 2379 เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระราชทานแก่พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าหญิงวิลาส พระราชธิดาพระองค์ใหญ่ และภายหลังทรงสถาปนาขึ้นทรงกรมเป็น “กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ” โดยสุนทรภู่ท่านได้อุปสมบทและจำพรรษาที่พระอารามนี้ระหว่าง พ.ศ. 2382 – 2385 ซึ่งได้รับอุปถัมภ์จากพระเจ้าลูกเธอ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพตลอดมา สุนทรภู่ได้สร้างงานประพันธ์ไว้จำนวนมากขณะจำพรรษา งานที่เกี่ยวกับวัดเทพธิดารามคือ “รำพันพิลาป” และว่ากันว่าผลงานชิ้นสำคัญคือพระอภัยมณีที่ท่านได้แต่งถวายกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ ขณะบวชด้วย (กุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ บรรณาธิการ 2529)

ชื่อ “กุฏิสุนทรภู่” ถูกพูดถึงครั้งแรกเมื่อราวปี พ.ศ. 2505 ในยุคที่นายธนิต อยู่โพธิ์ เป็นอธิบดีกรมศิลปากร โดยกุฏิหลังหนึ่งภายในหมู่กุฏิคณะ ๗ วัดเทพธิดาราม ได้รับการสถาปนาว่าเป็นกุฏิสุนทรภู่ เข้าใจว่าเป็นวันที่กรมศิลปากรจัดงานยิ่งใหญ่เนื่องในวาระคล้ายวันเกิดครบ 175 ปีของสุนทรภู่ ชื่องาน “กวีวรรณา” เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ.2504 จัดขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์ในวันคล้ายวันเกิดของท่าน ณ วัดเทพธิดาราม มีการจัดพิมพ์หนังสือ “รำพันพิลาป” เพราะบทกลอนเรื่องดังกล่าวสุนทรภู่ได้แต่งขึ้นตามความฝันของท่านเมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๕ ขณะจำพรรษาอยู่ที่วัดเทพธิดาราม โดยรำพันถึงเรื่องราว เหตุการณ์ และสถานที่ภายในวัดเกือบตลอดเรื่อง และมีการนำชมโบราณวัตถุและศิลปวัตถุภายในวัดและในกุฏิสุนทรภู่ (สุจิตต์ วงษ์เทศ บรรณาธิการ 2549)

กุฏิในหมู่กุฏิคณะ ๗ วัดเทพธิดาราม เป็นอาคารผังคล้ายรูปตัวยู เป็นหมู่กุฏิ ๓ หลัง ล้อมรอบพื้นที่ตรงกลาง ที่เป็นพื้นที่ว่างมีศาลาเปิดโล่งตรงกลาง ตัวกุฏิเป็นอาคารถือปูนชั้นเดียว กุฏิของสุนทรภู่อยู่ฝั่งซ้ายของซุ้มทางเข้าด้านทิศเหนือ ด้านในกุฏิประกอบไปด้วยสองห้องเล็กติดกัน

เข้าใจว่าหลังจากที่ได้รับการสถาปนาว่าเป็นกุฏิสุนทรภู่ หมู่กุฏิก็ได้รับการอนุรักษ์และทำหน้าที่เป็นพิพิธภัณฑ์ขนาดย่อมๆ อย่างไม่เป็นทางการ และยังเป็นใช้เป็นที่ทำการของสมาคมนักกลอนแห่งประเทศไทยอยู่ช่วงเวลาหนึ่งในปี พ.ศ. 2517

ในปี พ.ศ. 2559 กุฏิสุนทรภู่ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนส่วนหนึ่งจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เพื่อปรับปรุงและพัฒนากุฏิสุนทรภู่ให้เป็นพิพิธภัณฑ์ ควบคุมการบูรณะโดยกรมศิลปากร เนื่องจากวัดเทพธิดารามได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๒ ส่วนนิทรรศการภายในได้จัดจ้างบริษัทเอกชนเข้ามาดำเนินการ โดยเน้นใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ช่วยในการจัดแสดง

กุฏิสามหลังและอีกหนึ่งศาลาในหมู่กุฏิสุนทรภู่ทั้งหมด ถูกเปลี่ยนหน้าที่ให้เป็นสถานที่เรียนรู้ของวัดอีกครั้งในนาม “พิพิธภัณฑ์สุนทรภู่” มีส่วนจัดแสดงทั้งหมด 4 ห้อง

ส่วนแรกใช้ศาลาเปิดโล่งตรงกลางเป็นพื้นที่ต้อนรับผู้มาชมเป็นจุดแรกตั้งชื่อส่วนนี้ว่า “มหากวีสามัญชน” โดยฉายวิดีทัศน์ประวัติสุนทรภู่ ที่จัดทำเป็นลักษณะการ์ตูนแอนิเมชั่น

ส่วนที่สอง “ใต้ร่มกาสาวพัสตร์” จัดแสดงในอาคารกุฏิที่เชื่อว่าสุนทรภู่เคยจำวัด มีป้ายอธิบายแนวคิดของห้องนี้ว่า ในช่วงที่สุนทรภู่บวช เป็นช่วงที่ยากลำบากที่สุดของสุนทรภู่ แต่ความยากแค้นนั้นเป็นผลักดันให้สุนทรภู่สร้างสรรค์ผลงานอันโดดเด่น  ภายในแบ่งเป็นสองห้อง ห้องแรกคือห้องนอน ภายในยังคงไว้ซึ่งข้าวของที่ติดกับมากุฏิ ได้แก่ เตียงไม้  ตาลปัตร ปิ่นโต บาตร กระโถน ห้องนี้ไม่อนุญาตให้เดินเข้าไปชมเนื่องจากห้องแคบและเล็ก ส่วนอีกห้องจัดแสดงตู้พระธรรมสองใบและโต๊ะหมู่บูชา ด้านข้างมีเตาถ่านพร้อมกาน้ำชา ใกล้กันเป็นตั่งไม้เล็กๆ ที่มีถ้วยชา หินบดยา และกระดานชนวนเก่าแก่ของวัดที่เขียนคำกลอนจากเรื่องพระอภัยมณีไว้  ส่วนจัดแสดงนี้ไม่มีป้ายคำอธิบายวัตถุอื่นๆ อย่างใดอีก หากขาดผู้นำชม เป็นไปได้สูงว่าผู้เยี่ยมชมอาจจะเข้าใจผิดว่าวัตถุที่จัดแสดงเป็นของใช้ของท่านสุนทรภู่ 
ส่วนนี้พิพิธภัณฑ์เน้นให้ผู้ชมมีส่วนร่วมโดยใช้เทคโนโลยี AR (Augmented Reality) เสมือนหนึ่งว่าผู้ชมกำลังนั่งร่วมอยู่กับสุนทรภู่ในกุฏิ ตามแนวคิดของห้องที่ว่า “ในวันที่เทคโนโลยีเชื่อมต่อโลกจริงเข้ากับโลกเสมือนได้ สุนทรภู่ในร่มกาสาวพัสตร์ผู้เคยรังสรรค์ผลงานในห้องนี้จะกลับมามีลมหายใจอีกครั้ง”และการใช้เทคโนโลยีลักษณะนี้จะอยู่ในอีกหลายส่วนของส่วนจัดแสดงต่างๆ

ส่วนที่สาม “มณีปัญญา” ต้องการสื่อถึงผลงานที่สะท้อนโลกทัศน์อันกว้างขวางของสุนทรภู่ เปรียบเสมือนอัญมณีชิ้นเอกที่ได้รับการยกย่องมาทุกยุคทุกสมัย

ส่วนสุดท้าย “แรงบันดาลใจไม่รู้จบ” เป็นส่วนจัดแสดงที่บอกถึงว่าชื่อและผลงานของสุนทรภู่กลายเป็นแรงบันดาลใจแก่คนในยุคหลังได้ศึกษาและต่อยอด กลายเป็นผลงานร่วมสมัยต่างๆ เช่น บทเพลงคำมั่นสัญญา ของชรินทร์ นันทนาคร ที่ได้คำร้องมาจากวรรณคดีเรื่องพระอภัยมณี  แอนิเมชั่น “สุดสาคร” ที่เป็นแอนิเมชั่นเรื่องแรกของไทย การ์ตูนอภัยมณีซากา เป็นต้น ภายในยังจัดแสดงรูปหล่อครึ่งตัวของสุนทรภู่ที่วัดเทพธิดารามเคยทำไว้เมื่อปี พ.ศ. 2512 ป้ายแสดงไทม์ไลน์ชีวิตสุนทรภู่เปรียบเทียบกับเหตุการณ์สำคัญในสยามและโลก  พร้อมกันนี้ยังจัดแสดงสมุดไทยดำที่ระบุว่า “ผลงานชิ้นเอกของสุนทรภู่ เรื่องพระอภัยมณี ตอนนางสุวรรณมาลีจะฆ่าตัวตาย ถูกค้นพบที่กุฏิแม่ชีภายในวัดเทพธิดาราม เมื่อ 30 ปีที่แล้ว”

ปณิตา สระวาสี /เขียน

อ้างอิง
กุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ บรรณาธิการ. 2529. 200 ปี รัตนกวีสุนทรภู่. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร.
ล้อม เพ็งแก้ว. 2547. สุนทรภู่: อาลักษณ์เจ้าจักรวาล. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน.
สุจิตต์ วงษ์เทศ บรรณาธิการ. 2549. รำพันพิลาปของสุนทรภู่. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน.

พระวิสุทธิวราภรณ์. 2560. พิพิธภัณฑ์สุนทรภู่, วันที่ 30 พฤษภาคม สัมภาษณ์โดย ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ และปณิตา สระวาสี.
 
         
 
ชื่อผู้แต่ง:
-

รีวิวของวรรณศิลป์สโมสร วัดเทพธิดาราม (กุฏิสุนทรภู่)

คงไม่ต้องอธิบายเกี่ยวกับมหากวีเอกสุนทรภู่ให้มากความ เพราะนักเรียนทุกคนในประเทศไทยต้องเคยรู้จักท่านมาแล้วทั้งนั้น บทประพันธ์ทั้งพระอภัยมณี นิราศเมืองแกลง นิราศสุพรรณ และอีกหลายเรื่องที่ท่านแต่งไว้ยังคงเป็นอมตะจนถึงปัจจุบัน และมีวันสำคัญในวันที่ 26 มิถุนายน ของทุกปีให้ได้รำลึกถึงและหัดแต่งกลอนให้ไพเราะอย่างท่านอีกด้วย

เราคงจะเคยเรียนประวัติของสุนทรภู่ช่วงที่ตกอับต้องออกบวชเพื่อลี้ภัยการเมือง และมีชีวิตลำบากอยู่ช่วงหนึ่ง แต่ก็มิได้ทำให้อารมณ์กวีของท่านขาดช่วง แม้แต่ช่วงที่บวชเป็นพระอยู่ที่วัดเทพธิดารามแห่งนี้ ก็ยังคงแต่งกลอนที่ไพเราะและแฝงความหมายของชีวิตท่านได้เป็นอย่างดี วันนี้เราจึงมาเยือนกุฎิของสุนทรภู่มหากวีเอกของโลก ที่วัดเทพธิดารามแห่งนี้

เนื่องจากการชมพิพิธภัณฑ์ครั้งนี้ไม่มีผู้นำชมจึงต้องกล่าวตามความรู้สึกและสิ่งที่พบเห็นตามความจริง ถ้าจะมาเที่ยวกุฏิของท่านสุนทรภู่นั้นหาไม่ยาก เมื่อเข้าเขตวัดเทพธิดารามจะมีป้ายเล็กๆ บอกทางมาตลอด เมื่อเริ่มเข้าเขตกุฏิจะพบป้ายสีฟ้าเขียนว่ากุฎิสุนทรภู่มหากวีเอกของโลก และเริ่มมีกลอนแขวนอยู่ตามต้นไม้ต่างๆ เป็นกลอนที่ท่านแต่งไว้ในรำพันพิลาปที่กล่าวถึงต้นไม้ต่างๆ ที่ขึ้นอยู่รอบๆ กุฏิ ช่างชวนให้จินตนาการว่าท่านคงเป็นชายที่มีอารมณ์อ่อนไหวไม่น้อย

“เห็นทับทิมริมกระฎีดอกยี่โถ สะอื้นโอ้อาลัยจิตใจหาย” บทนี้แขวนอยู่ที่ต้นยี่โถซึ่งสันนิษฐานว่าปลูกขึ้นมาใหม่นอกจากนี้ยังมีอีกหลายต้นที่มีกลอนแขวนอยู่ “ทรงบาดาลบานดอกรีบออกทัน เก็บทุกวันเช้าเย็นไม่เว้นวาย” ต้นทรงบาดาลดอกสีเหลืองบานสะพรั่งอยู่หน้ากุฎิสุนทรภู่ต้นเก่าคงล้มหายตายจากไปตามกาลเวลา จึงมีต้นใหม่มาปลูกแทน แต่ต้นไม้เก่าแก่ที่คิดว่าน่าจะเกิดทันท่านสุทรภู่ก็คือต้นชมพู่ที่ยืนต้นอยู่ กลางกุฏิที่ดูจะเก่าแก่และที่สำคัญมีกลอนแขวนไว้ด้วยว่า “ชมพู่แลแต่ละต้นมีผลลูก ดูดั่งผูกพวงระย้านึกน่าฉัน” ส่วนต้นชาสองกระถางหน้ากุฎิก็ไม่น้อยหน้ามีกลอนติดไว้ด้วย

เห็นต้นชาหน้ากระไดในเสียดาย เคยแก้อายหลายครั้งประทังทน

ได้เก็บฉันวันละน้อยอร่อยรส ด้วยยามอดอัตคัดแสนขัดสน

จะซื้อหาชาจีนทรัพย์สินจน จะจากต้นชาให้อาลัยชา......

เรียกได้ว่าเราจะได้ซึมซับบรรยากาศของบทกวีตั้งแต่ทางเข้าจนถึงหน้ากุฏิเลยทีเดียว อาคารกุฏิเป็นอาคารดั้งเดิมตั้งแต่สมัยที่สุนทรภู่ยังพำนักอยู่ที่นี่ ภายในกุฏิเป็นห้องขนาดเล็กสองห้องต่อกันเป็นแนวยาวห้องแรกมีรูปปั้นของท่านสุนทรภู่ ถัดมาเป็นตู้เก็บคัมภีร์และบทประพันธ์เป็นตู้ที่นำมาตกแต่งจำลองให้ได้บรรยากาศเหมือนจริง บางตู้ก็วางข้าวของเครื่องใช้อย่างเช่นตะเกียง บาตร เชี่ยนหมาก กระโถน 

เครื่องกระฎีที่ยังเหลือแต่เสื่อขาด เข้าไสยาศยุงกัดปัดไม่ไหว

เคยสว่างกลางคืนขาดฟืนไฟ จะโทษใครเคราะห์กรรมจึ่งจำจน

หนึ่งวรรคของบทกลอนในรำพันพิลาป คงจะพอบรรยายสภาพความเป็นอยู่ของท่านสุนทรภู่เมื่อครั้งท่านบวชได้เป็นอย่างดี แต่เมื่อเทียบการจัดแสดงข้าวของแล้วเราอาจจะเข้าใจไปว่าท่านมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดี เนื่องจากสภาพกุฏิ ณ ปัจจุบัน มีสภาพน่าอยู่ มีโล่รางวัลต่างๆ ที่ยกย่องท่านตั้งอยู่ เหมือนคำที่หลายๆ คนกล่าวว่าศิลปินจะมีค่าและชื่อเสียงก็ต่อเมื่อตายไปแล้วฉันใด ชีวิตของท่านสุนทรภู่ก็ฉันนั้น ตาลปัตรจากองค์การสหประชาชาติ รูปปั้นครึ่งตัวแทนตัวท่าน เป็นสิ่งที่คนรุ่นหลังผู้นิยมบทกวีของท่านได้ทำขึ้นเพื่อรำลึกมหากวีผู้นี้

สิ่งที่น่าสนใจก็คือสมุดไทยที่นำมาจัดแสดง บางเล่มเป็นบทประพันธ์ของสนุทรภู่ไม่แน่ใจว่าเป็นต้นฉบับหรือไม่ แต่ทั้งหมดยืมจากหอสมุดแห่งชาติมาจัดแสดง เนื่องจากแกะอ่านไม่ได้จึงไม่รู้ว่าด้านในเป็นเรื่องอะไรบ้าง ภายในห้องด้านในซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นห้องนอน มีตั่งขนาดใหญ่ตั้งอยู่และรูปวาดของกรมพระราชวังหลังบวรสถานพิมุข กรมพระราชวังหลังในรัชกาลที่ 1 ผู้ซึ่งเคยอุปถัมภ์ค้ำชูสุนทรภู่มาก่อน สิ่งจัดแสดงภายในต่างพยายามโยงใยให้เกี่ยวกับชีวิตของมหากวีเอกท่านนี้รอบด้าน

อาคารกุฎิสุนทรภู่หลังนี้อนุรักษ์สภาพดั้งเดิมไว้ได้อย่างดีเยี่ยมจนได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่น ประจำปี พ.ศ.2537 จากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ สำหรับผู้นิยมโคลงกลอนของท่านสุนทรภู่และอยากจะทราบว่ากวีเอกท่านนี้หาแรงบันดาลใจในการแต่งกลอนอย่างไร ก็ลองมาเที่ยวที่กุฏิของท่านได้ แต่ที่สังเกตุแล้วท่านจะสร้างสรรค์คำประพันธ์จากสิ่งรอบๆ ตัวหรือเรื่องราวใกล้ตัว แต่มีข้อควรระวังคือไม่ควรมาช่วงพระฉันท์เพลหรือเย็นจนเกินไป เพราะในหมู่กุฏิเดียวกันมีพระสงฆ์พักอยู่อาจจะเป็นการรบกวนได้ 

มัณฑนา ชอุ่มผล : เขียน/วิรวรรณ์ คำดาวเรือง : ถ่ายภาพ

ข้อมูลจาก: การสำรวจภาคสนาม 13 มีนาคม 2551
ชื่อผู้แต่ง:
-

ตระเวนยลวัดวางามตา ตามรอย “สุนทรภู่” มหากวีแห่งรัตนโกสินทร์

วันที่ 26 มิถุนายน เป็น “วันสุทรภู่” วันที่รำลึกถึงกวีผู้มีชื่อเสียงของประเทศไทย ที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น “มหากวีแห่งรัตนโกสินทร์" หรือ "เชกสเปียร์แห่งประเทศไทย" และยังได้รับการยกย่องจากองค์การยูเนสโกในปี พ.ศ. 2529 ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกด้านงานวรรณกรรมอีกด้วย ซึ่งทำให้ฉันเกิดความคิดว่าวันหยุดสุดสัปดาห์นี้จะไปตะลอนเที่ยวตามวัดวาอารามต่างๆ ที่มีประวัติความเป็นมาเกี่ยวข้องกับท่านสุนทรภุ่เมื่อครั้งยังมีชีวิต
ชื่อผู้แต่ง:
-

ชื่อผู้แต่ง:
-