บริการสารนิเทศเฉพาะสาขา ชนเผ่าไท-กะได


ที่อยู่:
ศูนย์สารนิเทศมนุษยศาสตร์ ตึกมหาวชิราวุธ ชั้น3 คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปทุมวัน กรุงเทพฯ
โทรศัพท์:
0-2218-4692
วันและเวลาทำการ:
วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 8.00-17.00 น.
ค่าเข้าชม:
20 บาท
เว็บไซต์:
อีเมล:
artshic@chula.ac.th
ปีที่ก่อตั้ง:
2535
จัดการโดย:

โดย: -

วันที่: 12 มีนาคม 2555

โดย: -

วันที่: 12 มีนาคม 2555

ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

รีวิวของบริการสารนิเทศเฉพาะสาขา ชนเผ่าไท-กะได

ชนเผ่าไท คือชนเผ่าที่ใช้ภาษาในตระกูลภาษาไท คนกลุ่มนี้อาศัยกระจายอยู่ในหลายประเทศ ตั้งแต่บางส่วนของประเทศจีนในบริเวณตอนกลางและตอนใต้ เรื่อยลงมาที่บางส่วนของเวียดนาม ลาว ไทย บางส่วนของเมียนมาร์ และอินเดีย เช่น ชนเผ่าจ้วง ปู้ไย้ ไทน้ำ ไทดำ ไทแดง ไทขาว ไทใหญ่ ไทเหนือ เป็นต้น ส่วนคนไทยก็รวมอยู่ในกลุ่มนี้ด้วย จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เวลาคนไทยไปเที่ยวประเทศลาว จะสามารถฟังภาษาลาวเข้าใจเพราะอยู่ในตระกูลภาษาเดียวกันนั่นเอง

เพื่อให้เห็นภาพรวมชัดเจนขึ้นสำหรับผู้ที่ไม่ได้เล่าเรียนมาทางภาษาศาสตร์ ภาษาที่ผู้อยู่อาศัยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใช้กันอยู่แบ่งออกเป็น 5 ตระกูลภาษา คือ ตระกูลภาษาจีน-ทิเบต ตระกูลภาษาออสโตรเอเชียติก ตระกูลภาษาไท-กะได ตระกูลภาษาแม้ว-เย้า และ ตระกูลภาษาออสโตรเนเชียน ซึ่งภายในห้องสารนิเทศเฉพาะสาขามีแผนที่แสดงตระกูลภาษาประกอบไว้ด้วย

ชนเผ่าที่ใช้ภาษาไทยังแบ่งย่อยออกเป็นกลุ่มตามพื้นที่อาศัย กลุ่มแรกคือชนเผ่าไทกลุ่มตะวันตกเฉียงใต้ ได้แก่ ไทย, ลาว, ไทขาว, ไทดำ, ไทแดง, ไทยวน, ไทจุง, ไทใหญ่, ไทเหนือ, ไทลื้อ ฯลฯ กลุ่มที่สอง ชนเผ่าไทกลุ่มกลาง ได้แก่ ถู่, ผู้หนง, ผู้นุง, ผู้มิน, ไทโล, ไทน้ำ, เทียนเป้า ฯลฯ ส่วนกลุ่มที่สามคือชนเผ่ากลุ่มเหนือ เช่น จ้วง, ปู้ไย้, ปู้ยี, ไป่ยี่ เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีชนเผ่าที่เป็นญาติของคนไท เช่น สุ่ย หลี ลักกยา เหมาหนาน ปู้หยาง มู่หล่าว ฯลฯ

สำหรับสิ่งที่จัดแสดงภายในห้องสารนิเทศเฉพาะสาขา ชนเผ่าไท-กะไดได้แก่ เครื่องแต่งกายสตรีชนเผ่าไท-กะได ซึ่งมีสีสันสวยงาม มีความหลากหลายของรูปแบบ และการออกแบบเป็นเอกลักษณ์ นอกจากนั้นยังมีข้อมูลในรูปของหนังสือ สไลด์ และสิ่งพิมพ์สำหรับผู้สนใจ แต่จุดเด่นของห้องจัดแสดงก็คือ เครื่องแต่งกายของสตรีชนเผ่าไท-กะได เช่น เสื้อ ผ้าซิ่น ผ้าคาดเอว ผ้าสะพายลูก รองเท้า เครื่องประดับ ของใช้ เป็นต้น ซึ่งมีที่มาจากการสำรวจ เรื่อง Tai-kadai: Languages and Ladies’ Costume โดย รศ.ดร.ปราณี กุลละวณิชย์ และ รศ.ดร.ธีรพันธ์ เหลืองทองคำ เป็นผู้วิจัยในปีพ.ศ.2535-2540 ครอบคลุมชนเผ่าในพื้นที่ 4 ประเทศ ได้แก่ มณฑลยูนนาน กวางสี ไกวเจา ไหหนาน ในประเทศจีน ลาว เวียดนาม และไทย

เครื่องแต่งกายส่วนใหญ่จะจัดเก็บแยกประเภทแยกเผ่าไว้ในลิ้นชักและตู้เก็บของ มีบางส่วนนำมาจัดใส่หุ่นเป็นชุด ทำให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นว่าชนเผ่าเหล่านี้แต่งตัวกันอย่างไร ชุดที่หุ่นสวมอยู่จะหมุนเวียนสลับชุดที่เก็บไว้ออกมาเปลี่ยนทุก 6 เดือน นอกจากนั้นยังมี หมวก กระเป๋า และตะกร้ารูปทรงต่างๆจัดแสดงไว้ในตู้กระจก มีภาพชนเผ่าไทให้ชม ส่วนด้านข้างมีแผนที่การกระจายของกลุ่มชนไท-กะไดประกอบ

อีกส่วนหนึ่งที่มีประโยชน์คือฐานข้อมูลซึ่งสืบค้นได้ทางอินเตอร์เนท ไม่จำกัดอยู่เพียงบุคลากรในมหาวิทยาลัยเท่านั้น แต่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้ามาศึกษาได้ที่เวบไซต์ของศูนย์ฯ ข้อมูลดังกล่าวนี้เป็นภาพมีคำอธิบายอย่างย่อประกอบ ยกตัวอย่างถ้าเราพิมพ์คำว่าไทขาวลงในช่องและเลือกการแต่งกายผู้หญิง เราจะได้เห็นภาพหญิงสาวชาวไทขาวในเขตจินผิง มณฑลยูนนาน ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน แต่งตัวด้วยเสื้อสีขาวแขนยาว คอวีผ่าหน้า ติดกระดุมเงินตลอดแนว นุ่งซิ่นสีดำ ชายซิ่นมีลายที่ขอบบนและขอบล่าง มีผ้ารัดเอวสีเขียว นอกจากนั้นยังมีภาพบ้านและหมู่บ้านชาวไทขาวทำให้เห็นลักษณะภูมิประเทศที่มีภูเขาโอบล้อมและมีแม่น้ำไหลผ่าน บ้านของชาวไทขาวในเขตจินผิงเป็นบ้านไม้ชั้นเดียว หลังคามุงด้วยหญ้าคา และมีใต้ถุน

ตัวอย่างที่ใกล้ตัวเข้ามามากขึ้นได้แก่ไทดำ ที่เรียกว่าไทดำเพราะชนกลุ่มนี้นิยมใส่เสื้อผ้าสีดำซึ่งย้อมด้วยต้นห้อมหรือคราม แตกต่างจากไทขาวที่มักแต่งตัวด้วยผ้าสีขาว ส่วนไทแดงนิยมใช้ผ้าสีแดงขลิบชายเสื้อ ชาวไทดำจำนวนหลายสิบล้านคน มีถิ่นอาศัยกระจายอยู่ในหลายประเทศ เช่น จีนตอนใต้ในมณฑลกวางสี ยูนนาน และตังเกี๋ย สำหรับประเทศลาว อยู่ในพื้นที่ของจังหวัดพงสาลี จังหวัดหลวงพระบาง และจังหวัดอุดมไซ ส่วนในประเทศเวียดนาม อยู่ที่จังหวัดเซิงลา และประเทศไทย เช่นที่ จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี และจังหวัดเลย เป็นต้น 

ชาวไทดำในไทยรู้จักกันในนามลาวโซ่ง หรือ ไทยทรงดำ มีภาษาพูดและภาษาเขียนเป็นของตนเอง การแต่งกายแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือชุดที่สวมใส่ในชีวิตประจำวันและชุดที่ใส่ในงานรื่นเริงหรืองานประเพณีเรียกว่าเสื้อฮี ผู้หญิงจะทอผ้าฝ้ายใช้เอง หญิงสาวชาวไทดำที่หลวงพระบาง แต่งตัวด้วยเสื้อคลุมแขนยาวสีดำ ไม่มีปก ติดกระดุมเงินรูปผีเสื้อ แถบผ้าที่ติดกระดุมสีน้ำเงิน นุ่งซิ่นทอลวดลายเรขาคณิตตามขวางสีชมพูสลับเลือดหมู เมื่อเทียบกับหญิงชาวไทดำในเวียดนามจะพบว่าเสื้อมีรูปแบบคล้ายกัน เสื้อฮีของหญิงชาวไทดำเป็นเสื้อคลุมแขนยาวสีดำ แขนสองข้างมีลายดอกไม้ ชายเสื้อสีแดงมีลายเส้นและลายเรขาคณิต ส่วนหญิงชาวไทดำที่อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี แต่งกายด้วยเสื้อสีดำคอกลมคอเสื้อตั้ง แขนยาว ติดกระดุมโลหะเงิน ซิ่นสีดำลายคล้ายแตงโม หญิงชราจะใส่เสื้อสีน้ำเงินเข้ม แขนยาว มีผ้าสไบสีน้ำเงินหรือเหลืองห่มทับเสื้อ ของใช้จำเป็นอีกอย่างคือผ้าสะพายลูก หญิงไทดำที่จังหวัดสุพรรณบุรีใช้ผ้าสีดำคล้องเด็กไว้ด้านข้างบริเวณเอว มีพู่ไหมพรมสีสดประดับด้านหลัง ส่วนหญิงชาวเชียงคานและเวียดนามจะสะพายเด็กไว้ด้านหลัง

ชนเผ่าไทนิยมใช้เครื่องประดับเงิน เช่น ปิ่น กำไล แหวน สร้อย กระดุม หญิงมีอายุในเวียดนามนิยมใช้ปิ่นโลหะปักผมที่เกล้าเป็นมวย หรือใช้สร้อยเงินวนรอบมวยผม ส่วนหญิงไทดำมีอายุที่สุพรรณบุรี นิยมใช้หวีประดับผม สำหรับบ้านของชาวไทดำเป็นบ้านไม้ชั้นเดียว หลังคามุงแฝกหรือหญ้าคา และมีใต้ถุนสูง

ชนเผ่าไทลื้อเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่มีความใกล้ชิดกับเรามากโดยเฉพาะในภาคเหนือ หญิงชาวไทลื้อนิยมโพกผ้าสีขาว แต่ก็ขึ้นอยู่กับอายุของผู้โพกและความนิยมของแต่ละพื้นที่ด้วย ถ้าดูภาพจากเว็บไซต์ฐานข้อมูลที่กล่าวถึงข้างต้น จะพบว่าที่หลวงพระบางหญิงมีอายุโพกผ้าสีเหลือง หญิงสาวโพกผ้าสีขาว ส่วนหญิงมีอายุที่สิบสองปันนา ประเทศจีน โพกผ้าสีชมพูและเก็บชายผ้า หญิงชราในเขตจินผิง ประเทศจีน ใช้ผ้าโพกศีรษะพื้นดำมีลายแนวตั้งสีขาว เป็นต้น

นอกจากข้อมูลของชนเผ่าไท-กะไดแล้ว หน่วยงานนี้ยังเก็บรักษาเอกสารและหนังสือเกี่ยวกับชนเผ่าตระกูลมอญ-เขมรด้วย สำหรับผู้มาเยี่ยมชมส่วนใหญ่เป็นนักวิชาการ และศูนย์มนุษยศาสตร์จากสถาบันอื่น แต่ประชาชนทั่วไปก็เข้ามาชมได้ ทางศูนย์ฯจัดกิจกรรมส่งเสริมการใช้สารนิเทศเฉพาะสาขาทุกปี

เรื่อง/ภาพ: เกสรา จาติกวนิช

ข้อมูลจากการสำรวจภาคสนาม: 8 สิงหาคม 2551

ชื่อผู้แต่ง:
-