หอประวัติไทลื้อ บ้านธาตุสบแวน


ที่อยู่:
วัดพระธาตุสบแวน ตำบลหย่วน อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา
โทรศัพท์:
089 430 3546 (ประธานชมรมไทลื้อบ้านธาตุสบแวน)
วันและเวลาทำการ:
กรุณานัดหมายล่วงหน้า
ค่าเข้าชม:
ไม่เสียค่าเข้าชม
ปีที่ก่อตั้ง:
2554
ของเด่น:
ภาพผนังเล่าเรื่องการอพยพของไทลื้อและการตั้งถิ่นฐานในอำเภอเชียงคำ, เครื่องมือเครื่องใช้พื้นบ้าน, เรือนไทลื้อจำลอง (ภายในบริเวณวัดพระธาตุสบแวน)
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

หอประวัติไทลื้อ และเรือนไทลื้อจำลอง

ข้อมูลที่นำเสนอในครั้งนี้มุ่งเน้นความเป็นมาและเนื้อหาที่นำเสนอในหอประวัติไทลื้อเป็นสำคัญ โดยมีข้อมูลเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์โบราณวัตถุและเรือนไทลื้อจำลองเป็นส่วนประกอบเท่านั้น เพราะทั้งสองโครงการอยู่นอกเหนือความรับผิดชอบของพ่อจรัส สมฤทธิ์ ผู้ให้ข้อมูลหลักเกี่ยวกับความเป็นมาของหอประวัติไทลื้อ และผู้ดูแลกิจกรรมการฟื้นฟูวัฒนธรรมไทลื้อ บ้านธาตุสบแวน

จุดเริ่มต้นงานวัฒนธรรม

พ่อจรัสกล่าวถึงการทำงานจิตอาสาในการพัฒนางานวัฒนธรรมของบ้านธาตุสบแวนในปลาย พ.ศ. 2547 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่พ่อจรัสเป็นทิดหรือในภาษาถิ่นเรียกว่า “หนาน” ผู้อาวุโสหลายคนในชุมชนรวมทั้งพ่อจรัสมองเห็นว่าประเพณีหลายอย่างห่างหายจากการปฏิบัติและสืบทอด เช่น การละเล่นกลอง ประกอบด้วยกลองบูชา กลองสะบัดชัย กลองเอว กลองมูเซิง กลองแซะ จึงมีการรวมตัวเพื่อตั้งเป็นคณะ จากนั้น จึงมีการรวมตัวเพื่อฟื้นฟูวัฒนธรรมการฟ้อนและการขับลื้อในระยะต่อมา

ในระยะแรกเป็นการชวนคนนั้นคุย คนนี้คุย แต่ไม่มีคนลงมือทำ สุดท้ายเป็นคนในชุมชนที่ลงมือลงแรงทำ โลกาภิวัตน์โลกไหลบ่ามาแรง วัฒนธรรมถูกกลืนไปเยอะ เราไม่ได้ต่อต้าน สิ่งใหม่ก็เอา สิ่งเก่าของเดิมเราก็ไม่ทั้ง พอทำแล้วก็เป็นกระแส ชุมชนเห็นดีเห็นงาม และมีสส่วนราชการมาสนับสนุน เช่น การท่องเที่ยวโดยชุมชน การท่องเที่ยวโอทอป

จากคณะต่าง ๆ ที่รวมตัวขึ้นมา นำมาสู่การแสดงในงานสำคัญของหมู่บ้าน เช่นงานสลากภัต งานเทศน์มหาชาติ หรือ ตานธรรม ในภาษาลื้อ งานวิสาขบูชา เป็นต้น “นอกเหนือจากการแสดงแล้ว สถานศึกษาทั้งในระดับอุดมศึกษา ได้แก่ มหาวิทยาลัยพะเยา ส่งนักศึกษามาเรียนตีกลอง หรือสถานศึกษาในท้องถิ่นจากโรงเรียนส่งนักเรียนมาหัดฟ้อนด้วยเช่นกัน” พ่อจรัสสะท้อนถึงผลตอบรับของกระบวนการฟื้น

ในระยะเวลาเดียวกันนั้น พ่อจรัสเล่าถึงโครงการในการจัดทำพิพิธภัณฑ์ ซึ่งเป็นการรวบรวมโบราณวัตถุ “มีการเดินทางไปศึกษาดูงานพิพิธภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงในจังหวัดพิษณุโลก และได้เงินสนับสนุนมาจำนวนหนึ่ง แต่ด้วยเหตุที่ไม่มีการทำระบบ ไม่มีผู้มาดูแล เมื่อโครงการจัดตั้งแล้วเสร็จ จึงไม่มีการพัฒนาพิพิธภัณฑ์ต่อ” พิพิธภัณฑ์ดังกล่าวหรือในปัจจุบันได้ขึ้นทะเบียนเป็น “ศูนย์วัฒนธรรมไทยสายใยชุมชน” คงแสดงโบราณวัตถุในศาลาบาตรใกล้กับวิหาร และแบ่งหมวดหมู่เช่นเครื่องดนตรีพื้นบ้าน ซึ่งคงใช้งานจริงเมื่อมีการแสดง เครื่องใช้ในครัวเรือน เครื่องมือทำนา แต่สิ่งของต่าง ๆ อยู่ตามสภาพและไม่มีการบำรุงรักษาเป็นกิจจะลักษณะ

ส่วนเรือนไทลื้อจำลองตั้งอยู่บริเวณใกล้กับสถานที่ทำการของกลุ่มแม่บ้านที่ทำหัตถกรรมสำหรับขายเป็นสินค้าของชุมชน เรือนไทลื้อที่จัดทำขึ้นเป็นเรือนใต้ถุนสูง มีบันไดถาวรขึ้นเรือน บนเรือนแบ่งเป็นห้องครัวไฟและห้องนอนอย่างเป็นสัดส่วน แต่สำหรับผู้ที่สนใจต้องติดต่อกับวัดเพื่อขออนุญาตเข้าชมภายใน

หอประวัติไทลื้อบ้านธาตุสบแวน

ความตั้งใจเดิมของการสร้างอาคารหอประวัติไทลื้อมาจากความคิดริเริ่มของ “พระอาจารย์ประเทือง” ซึ่งเป็นเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงในจังหวัดเชียงใหม่ ที่ปรารถนาให้สร้างอาคารที่มีภาพจิตรกรรมเล่าเรื่องเกี่ยวกับเทศน์มหาชาติ 13 กัณฑ์ โครงการก่อสร้างดังกล่าวเริ่มขึ้นในราว พ.ศ. 2554 แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2556 แต่ยังไม่มีมีการตกแต่งภายในใด ๆ จนเมื่อเรื่องราวไทลื้อเริ่มเป็นที่สนใจ จึงนำมาสู่การสร้างให้อาคารดังกล่าวถ่ายทอดความเป็นมาของไทลื้อบ้านธาตุสบแวน

หอประวัติเป็นอาคารชั้นเดียวก่ออิฐถือปูน มีประตูทางเข้าอาคารสองทาง ไม่มีการกั้นห้องภายในอาคาร ลักษณะเป็นโถงยาวโดยตลอด สุดผนังด้านหนึ่งเป็นบริเวณประดิษฐานพระพุทธรูป และมีภาพถ่ายเจ้าหม่อมคำลือ กษัตริย์ไทลื้อองค์สุดท้าย “ท่านเป็นกษัตริย์องค์ที่ 41” จากนั้นเป็นภาพผนังจำนวน 13 ภาพที่เขียนโดยศิลปิน ชานนท์ ปัญจะเสน ชาวเชียงราย

ภาพที่ 1  เชื้อเครือเมืองหย่วน บอกเล่าภาพของเมืองหย่วนในความทรงจำ  ซึ่งเป็นบ้านเกิดเมืองนอนของชาวไทลื้อที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของสิบสองพันนา เลี้ยงชีพด้วยการเกษตร ปลูกข้าวในนาโดยอาศัยระบบเหมืองฝาย นอกจากนี้ เป็นศูนย์กลางทางการค้ากับลาวและพม่า จนในช่วงรัชกาลที่ 1 โปรดฯ ให้เกณฑ์ทัพหัวเมืองเหนือไปตีเชียงตุง เชียงรุ่ง เมืองลาว และกวาดต้อนครอบครัวไตลื้อ ไตเขิน ลาว มาใส่เมืองลานนา พ.ศ. 2348

ภาพที่ 2 สิบสองพันนา ถ่ายทอดเรื่องราวทางสังคมที่เชียงรุ่งเป็นเมืองสองฝ่ายผ้า “ถือเอาฮ่อ (จีน) เป็นพ่อ ม่าน (พม่า) เป็นแม่” ในสมัยเจ้าอิ๋นเมืองรวบรวมหัวงเมืองและแบ่งการปกครองเป็นสิบสองพันนา ภาพสะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์กับล้านนาแต่โบราณ ทั้งการรับเอาพุทธศาสนาและคงความเชื่อผีและบรรพบุรุษ พ่อจรัสขมวดคำอธิบายเนื้อหาในส่วนนี้ไว้ว่า “ไตลื้อกลายเป็นชนกลุ่มน้อยในดินแดนของตนเอง” ด้วยในปัจจุบันมีประชากรไตลื้อไม่ถึงหนึ่งในสามของประชากรในสิบสองพันนา และนโยบายของรัฐบาลจีนที่กำหนดให้มณฑลยูนนานเป็นฐานในการขนถ่ายสินค้าสู่ประชาคมอาเซียน จึงมีนักธุรกิจจีนหลั่งไหลสู่สิบสองพันนามากขึ้นเรื่อย ๆ

ภาพที่ 3 บ้านเมืองวอดวาย กล่าวถึงความเป็นอยู่ที่มีการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ ระบบเศรษฐกิจและความมั่นคง จนเกิดการแก่งแย่งอำนาจภายในกลุ่มผู้ปกครอง ทั้งจีนและพม่าแทรกแซงการเมืองภายใน มีบันทึกการสู้รบแก่งแย่งอำนาจอย่างต่อเนื่อง “ชักศึกเข้าบ้าน” ผู้คนทนความยากลำบากไม่ไหว จึง “แตกฉานซ่านเซ็น ตุจช้างหนีนาปลาหนีน้ำ”

ภาพที่ 4 บ่ายหน้าข้ามโขง “ข้ามนทีทิ้งถิ่นเกิดไว้ไกลลิบตา” ภาพถ่ายทอดเรื่องราวการกวาดต้อนเชลยชาวไตลื้อจากเมืองต่าง ๆ จากฝั่งโขงตะวันออก อาทิ เมืองพง เมืองหย่วน เมืองมาง เมืองล้า เมืองแวน จึงถูกบังคับให้อพยพย้ายถิ่นครั้งใหญ่ พ.ศ. 2348 มาในเมืองน่าน ต่อมา พ.ศ.2355 มีการกวาดต้อนผู้คนจากเมืองล้า เมืองพง เมืองแขง เมืองหลวงภูคา อีกครั้ง และ พ.ศ. 2399 สภาพบ้านเมืองที่ไม่สงบในเมืองเชียงแขง ส่งผลให้ไตลื้ออพยพลงมาอยู่ที่เชียงคำมากขึ้น และเทิง ซึ่งเป็นหัวเมืองขึ้นกับเมืองน่าน

ภาพที่ 5 บ้านหงาวเชียงม่วน ภาพสะท้อนการปรับตัวของไตลื้อกับคนในพื้นที่ เมืองเชียงม่วนเป็นเมืองในที่ราบริมแม่น้ำยม ภูเขาล้อมรอบ เมื่อมีคนอพยพมามากขึ้น จึงเกิดความอัตคัด แม้คิดถึงเมืองหย่วนบ้านเกิด แต่ไม่อาจเดินทางกลับไปได้

ภาพที่ 6 บ้านหย่วนเชียงคำ ภาพต่อเนื่องจากภาพที่ 5 แสดงให้เห็นการบุกเบิกที่ทำมาหากินในเชียงคำ ซึ่งเป็นที่ราบกว้างใหญ่ระหว่างแม่น้ำลาวกับแม่น้ำแวน ในภาพแสดงให้เห็นการสร้างฝายกั้นแม่น้ำลาวเพื่อมดน้ำมาหล่อเลี้ยงชุมชนใหม่ โดยทำงานหามรุ่งหามค่ำ จึงต้องมีการจุดไต้ “บองกวาง” ในการส่องแสงแสว่าง จึงได้ชื่อว่า “ฝายกวาง” แต่ละบ้านสร้างบ้านเรือนและชุมชนถาวร โดยมีดงเสื้อเมืองสำหรับทำพิธีเข้ากรรมเลี้ยงผีบ้านผีเมือง สร้างวัดเป็นศูนย์กลาง และนำชื่อบ้านเมืองเดิมมาตั้งเป็นชื่อชุมชนใหม่

ภาพที่ 7 บ้านธาตุสบแวน จุดสำคัญของภาพอยู่ที่การสร้างเจดีย์ วิหาร กุฏิและหอกลอง ตามธรรมเนียมของไตลื้อ แล้วตั้งชื่อวัดว่า วัดพระธาตุสบแวน ตามทำเลที่ตั้งวัดและหมู่บ้านซึ่งไม่ไกลจาก “สบแวน” คือบริเวณที่แม่น้ำแวนบรรจบกับแม่น้ำลาว กลายเป็นชื่อหมู่บ้าน “บ้านธาตุสบแวน”

ภาพที่ 8 บูรณะพระธาตุ การบูรณปฏิสังขรณ์พระธาตุสบแวนดำเนินการในช่วง พ.ศ.2410-2427 ในสมัยเจ้าอนันตวรฤทธิเดช เจ้าเมืองน่าน พระองค์เลือกบูรณะพระธาตุหลังนี้เพื่อแสดงการยอมรับและให้ความสำคัญกับชุมชนผู้อพยพเข้ามาใหม่ และโน้มน้าวให้ชาวไตลื้อกลายเป็นคนของเมืองน่านโดยถาวร

ภาพที่ 9 ปลูกข้าวหาปลา เรื่องราวบอกเล่าวิถีชีวิต ย่างเข้าเดือน 7 เริ่มหว่านกล้า “แฮกนา” เป็นการเริ่มลงไถโดยใช้ควาย แล้ว “ก้าวขี้ไถ” หรือการคราดขี้ควายเพื่อหมักให้หญ้าเน่า จากนั้น “ฮายขี้บัก” เกลี่ยกองขี้ไถลง จึง “กวาดโบ่” นำไม้ไผ่มาปรับแต่งหน้าดิน ปลายเดือน 8 นำกล้ามาปลูก เรียก “เอามือ” หรือการลงแขก และสู่ขวัญควายเพื่อแสดงการขอบคุณ เมื่อถุง “เดือนเก๋ง” ราวพฤศจิกายน เม็ดข้าวเริ่มแ ท้องนาเหลืองอร่าม ถึงเวลาเก็บเกี่ยว นำข้าวใหม่เข้าบ้าน นอกจากนี้ ยังมีภาพที่สะท้อนให้เห็นวิถีชีวิตที่พึ่งพิงสายน้ำ การตกเบ็ดหรือ “จ่อมเบ็ด” การช้อนสวิงหรือ “ส้อนสวิง” เป็นต้น ทั้งปลาเล็กปลาใหญ่ กุ้งหอยกลายเป็นแห่งอาหารสำคัญของไตลื้อ

ภาพที่ 10 งานบุญสลากภัต ชาวบ้านต่างแต่งดาจัดเตรียมปัจจัยไทยทานบรรจุชะลอมเรียกว่า “โก๋ย” และมีเส้นสลากกำกับ ระบุชื่อผู้ทำบุญ อุทิศให้กับผู้ใด และนำ “โก๋ยสลาก” มายังสถานที่ที่ระบุในเส้นสลาก ทางวัดกันไว้ส่วนหนึ่ง และจัดสรรให้แก่ภิกษุและสามเณร แล้วเดินตามหาทานตามเส้นสลากนั้น เพื่อรับประเคนและกรวดน้ำให้พรเป็นอันเสร็จพิธี

ภาพที่ 11 แต่งงานสร้างกรรม ชาวไตลื้อเห็นว่าการแต่งงานเป็นเหมือนการ “สร้างเวรกรรม” ในวันแต่งงานเรียกว่า “กิ๋นแขก” ญาติมิตรเจ้าบ่าวจะส่งเขยยังบ้านเจ้าสาว มีหมอขวัญเริ่มสู่ขวัญด้วยการจัดวาง “หมู่ข้าวขาเค่น” ทั้งไก่คู่ ข้าวปั้น กล้วย หมากพลู และไหมขวัญ จากนั้นผูกข้อมือคู่บ่าวสาวและผู้ใหญ่ให้ศีลให้พร นอกจากนี้ มีการขับลื้อที่เป็นคำกลอนเกี้ยวพาราสีอย่างสนุกสนาน

ภาพที่ 12 งานเทศน์มหาชาติ เป็นการทำบุญครั้งสำคัญ โดยผสมผสานประเพณีการตั้งธรรมหลวงของล้านนาเรียกว่า ตานธรรม ชาว้บานช่วยกันสร้างหอผ้า คล้านมณฑป ทำจากไม้ไผ่และผ้าขาวตกแต่งด้วยเครื่องไทยทาน และแห่สู่นครเหมือนการทำทานบารมีของพระเวสสันดรตามคติของไตลื้อดั้งเดิม เมื่อพระสงฆ์เทศน์มหาชาติแล้ว จึงตานธรรมและอุทิศกุศลให้แก่ผู้ตายเพื่อใช้ในโลกหน้า

ภาพที่ 13 ไหว้ธาตุเพ็ญเดือนหก เป็นประเพณีในเดือนหกที่เรียกว่า ป๋าเวณีไหว้ธาตุ วันเพ็ญเดือนหกเป็นวันสำคัญในทางพุทธศาสนาที่พระพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ชาวบ้านบ้านธาตุสบแวนร่วมจัดงานดังกล่าวตามจารีตในการไหว้พระธาตุประจำปีเพื่อบำรุงพระพุทธศาสนา

ชื่อผู้แต่ง:
ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ