ศูนย์เรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่นไทยรามัญเจ็ดริ้ว


ศูนย์เรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่นไทยรามัญเจ็ดริ้ว ตั้งอยู่ภายในโรงเรียนวัดเจ็ดริ้ว อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร ริเริ่มก่อตั้งเมื่อราวปี พ.ศ. 2540 โดยคุณครูบังอร หังเสวก ครูภาษาไทยของโรงเรียนวัดเจ็ดริ้ว ครูรู้สึกภาคภูมิใจในรากเหง้าความเป็นมอญที่มีอยู่ในตน ด้วยวิญญาณครูที่ชอบบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ให้กับเด็กๆ ครูจึงก่อตั้ง “ศูนย์เรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่นไทยรามัญเจ็ดริ้ว" ขึ้น โดยอาศัยพื้นที่ชั้นล่างของอาคารห้องสมุดโรงเรียนวัดเจ็ดริ้ว โดยครูหวังที่จะส่งผ่านความรู้เกี่ยวกับท้องถิ่นมอญเจ็ดริ้วให้กับนักเรียน ที่ส่วนใหญ่เป็นลูกหลานมอญในพื้นที่เจ็ดริ้ว ภายในเป็นการผสมผสานระหว่างการจัดแสดงข้าวของเครื่องมือเครื่องใช้ โบราณวัตถุ สิ่งประดิษฐ์และรายงานของนักเรียน รวมถึงสื่อการเรียนการสอนของคุณครู ศูนย์ฯ นี้จึงเป็นทั้งพื้นที่การเรียนการสอนและเปิดให้คนทั่วไปที่สนใจวัฒนธรรมมอญเข้ามาเยี่ยมชม

ชื่อเรียกอื่น:
พิพิธภัณฑ์มอญโรงเรียนวัดเจ็ดริ้ว
ที่อยู่:
โรงเรียนวัดเจ็ดริ้ว ต.เจ็ดริ้ว อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร
โทรศัพท์:
034853104
วันและเวลาทำการ:
กรุณานัดหมายล่วงหน้า
ค่าเข้าชม:
ไม่เสียค่าเข้าชม
เว็บไซต์:
ปีที่ก่อตั้ง:
2540
ของเด่น:
ผ้าสไบมอญ, วัดเชตวันจำลอง
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

ศูนย์เรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่นไทยรามัญเจ็ดริ้ว

“ครูขา หนูรักมอญขึ้นอีกเยอะเลย”

ประโยคสั้นๆ ของนักเรียนตัวน้อยเมื่อเกือบสิบปีที่แล้ว เมื่อครั้งที่ครูบังอร หังเสวก พาลูกศิษย์ ไปฝึกเก็บข้อมูลการทำธงตะขาบในท้องถิ่นเจ็ดริ้วรอบโรงเรียนของตนเอง  ยังคงประทับอยู่ในใจและเป็นกำลังใจที่ดีสำหรับครูบังอร หังเสวก ข้าราชการครูเกษียณ โรงเรียนวัดเจ็ดริ้ว  ให้ทำงานสืบสานวิถีวัฒนธรรมชาวมอญเจ็ดริ้วมาจวบจนทุกวันนี้ ครูบังอร หังเสวก  เป็นครูภาษาไทยของโรงเรียนวัดเจ็ดริ้ว ภายหลังเกษียณอายุราชการ ยังคงเข้ามาช่วยงานและดูแลศูนย์เรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่นไทยรามัญเจ็ดริ้ว ภายในโรงเรียนวัดเจ็ดริ้ว ที่ครูเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อกว่ายี่สิบปีที่แล้ว

ที่มาของศูนย์เรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่นไทยรามัญเจ็ดริ้ว

หลังเรียนจบการศึกษา ครูบังอรได้บรรจุเป็นครูภาษาไทยที่โรงเรียนวัดเจ็ดริ้ว ต.เจ็ดริ้ว อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร  โรงเรียนเก่าแก่ในบ้านเกิดของตัวเอง และเป็นโรงเรียนเดียวกับที่เธอร่ำเรียนมาตั้งแต่เด็ก

ครูบังอรเล่าว่าเธอมีเชื้อสายมอญ  และรู้สึกภาคภูมิใจในรากเหง้าความเป็นมอญที่มีอยู่ในตน ด้วยวิญญาณครูที่ชอบบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ให้กับเด็กๆ ครูจึงก่อตั้ง “ศูนย์เรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่นไทยรามัญเจ็ดริ้ว เมื่อยี่สิบกว่าปีที่แล้ว โดยอาศัยพื้นที่เล็กๆ ชั้นล่างของอาคารห้องสมุดโรงเรียนวัดเจ็ดริ้ว  โดยหวังที่จะส่งผ่านความรู้เกี่ยวกับท้องถิ่นมอญเจ็ดริ้วให้กับนักเรียน ที่ส่วนใหญ่เป็นลูกหลานมอญในพื้นที่เจ็ดริ้วนั่นเอง

“เราอยากจะให้ลูกศิษย์ของเรา รุ่นลูกๆ ของเราพบในสิ่งที่เราพบเมื่อตอนเด็กๆ ทีนี้จะทำอย่างไรให้มันมี เราก็เหมือนจำลองย้อนยุคใหม่ล่ะ ให้เขาได้เรียนรู้ ได้ซึมซับไป ได้มากได้น้อยพี่ไม่รู้ พี่ว่าดีกว่าไม่ทำอะไรเลย พี่คิดว่าอย่างนั้น...เราก็เป็นครูที่บรรจุที่นี่ตั้งแต่ต้น แล้วเราก็เป็นคนที่นี่ เพราะฉะนั้นเจตนาแรกก็คือเราต้องการให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ ที่เราจะเอาอุปกรณ์ต่างๆ ตรงนี้เป็นแหล่งค้นคว้าข้อมูลของเด็กในชุมชนเราเป็นเบื้องต้น ทีนี้ก็ค่อยๆ สะสมมาเรื่อยๆ จากวัดบ้าง จากชุมชนบ้าง จากญาติพี่น้องเราบ้าง จากของส่วนตัวเราบ้าง”

ที่มาของคนมอญเจ็ดริ้ว

สมุทรสาครอาจเป็นที่รับรู้ของคนทั่วไปว่าเป็นถิ่นฐานชุมชนคนจีนขนาดใหญ่มาแต่ดั้งเดิม ชื่อแม่น้ำท่าจีนที่เป็นแม่น้ำสายหลักและหล่อเลี้ยงชีวิตชาวสมุทรสาครมาแต่อดีต มีที่มาจากชื่อชุมชนการค้าทางน้ำที่เรียกว่า “บ้านท่าจีน”   

หลายคนอาจไม่รู้ว่านอกเหนือจากคนไทยเชื้อสายจีนที่เป็นคนกลุ่มใหญ่ของสมุทรสาครแล้ว  คนมอญยังเป็นอีกกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งที่ตั้งรกรากในสมุทรสาครหรือในอดีตเรียกว่าเมือง “สาครบุรี” มาช้านาน

 ข้อมูลจากเว็บไซต์แผนที่วัฒนธรรมชาติพันธุ์สาครบุรี ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ระบุว่า ชุมชนมอญขนาดใหญ่ในสมุทรสาคร ตั้งถิ่นฐานริมฝั่งแม่น้ำท่าจีนที่บ้านเกาะ คลองสุนัขหอน  คลองมหาชัย และคลองเจ็ดริ้ว ชาวมอญกลุ่มที่เก่าแก่ที่สุดในสมุทรสาคร  ตั้งบ้านเรือนอยู่แถบตำบลบ้านเกาะและตำบลท่าทราย อำเภอเมือง เป็นชาวมอญที่อพยพเข้ามาในสมัยรัชกาลที่ 2 จากบ้านก๊ะมาวัก เมืองเมาะละแหม่ง ประเทศพม่า ขณะที่ชุมชนมอญในแถบตำบลมหาชัย และริมสองฝั่งคลองสุนัขหอน เป็นชาวมอญที่ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกครัวมาช่วยขุดคลอง-สร้างป้อมในสมัยรัชกาลที่ 3 ส่วนชุมชนมอญอีกกลุ่มหนึ่งก็คือ ชาวมอญในแถบคลองดำเนินสะดวก เป็นชาวมอญที่อพยพขยายที่ดินทำนาไปยังอำเภอบ้านแพ้ว และพื้นที่อื่นๆ ตำบลพันท้ายนรสิงห์ แต่ยังคงสายสัมพันธ์ระหว่างเครือญาติกับชุมชนมอญอื่น ๆ

อาจารย์บังอร หังเสวก เล่าให้ฟังว่าคนมอญในแถบตำบลเจ็ดริ้ว ส่วนใหญ่อพยพมาจากบ้านเกาะ อำเภอเมือง มาหักร้างถางพงเพื่อทำนาตั้งแต่เมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว   โดยข้อเขียน “มารู้จักมอญเจ็ดริ้ว” ของอาจารย์บังอร ที่ตีพิมพ์ในหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพพระครูปริยัติสาครกิจ(สมยา ฐานทัตโต) อดีตเจ้าอาวาสวัดเจ็ดริ้ว  อธิบายรายละเอียดถึงที่มาของชื่อเจ็ดริ้วและคนมอญที่เจ็ดริ้วว่า

“การตั้งบ้านเรือนของชาวตำบลเจ็ดริ้วส่วนใหญ่ตั้งริมสองฝั่งคลอง ทั้งคลองเจ็ดริ้วและคลองพาดหมอน ดินแดนแถบนี้ถือว่าเป็นดินแดนใหม่ที่ชาวมอญจากตำบลบ้านเกาะและตำบลท่าทราย ในแถบอำเภอเมืองสมุทรสาครได้อพยพมาตั้งหลักแหล่ง มาทำการเกษตร โดยยึดอาชีพทำนา ซึ่งพื้นที่แต่เดิมนั้นเป็นที่รกเต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่น้อย ย่าของผู้เขียนซึ่งอพยพมาจากบ้านเกาะเล่าว่า แถบบ้านเกาะเดิมนั้นน้ำเค็ม ชาวบ้านก็ได้มีอาชีพตัดฟืนและเย็บจากขาย เลี้ยงครอบครัวประกอบกับทางบ้านเกาะคนหนาแน่นขึ้น จึงอพยพมาทางเจ็ดริ้ว ซึ่งมีความสมบูรณ์มากกว่า อีกทั้งน้ำจืดและปลาชุกชุม โดยเฉพาะปลาช่อนมีขนาดใหญ่มาก ซึ่งชาวบ้านจะจับนำมาปรุงอาหารหรือแล่เป็นริ้วๆ เพื่อจะตากแห้ง สามาถแล่ได้ถึงเจ็ดริ้ว  ดังนั้นชื่อบ้านเจ็ดริ้ว จึงมีชื่อเรียกขานที่มาจากปลาช่อนที่แล่ได้ถึงเจ็ดริ้ว”

การจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์

ศูนย์เรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่นไทยรามัญเจ็ดริ้ว คล้ายกับพิพิธภัณฑ์หรือศูนย์วัฒนธรรมในโรงเรียนอื่นๆ โดยทั่วไป ที่เปรียบเสมือนแหล่งเรียนรู้สำหรับเด็กๆ เป็นผสมผสานระหว่างการจัดแสดงข้าวของเครื่องมือเครื่องใช้ โบราณวัตถุ สิ่งประดิษฐ์และรายงานของนักเรียน รวมถึงสื่อการเรียนการสอนของคุณครู

วัตถุจัดแสดงที่เป็นเครื่องมืองเครื่องใช้ในอดีตและโบราณวัตถุ ได้มาจากหลายทาง ทั้งจากวัดเจ็ดริ้ว  ของส่วนตัวของครูบังอรและครอบครัว  ของที่รับบริจาคจากคนในชุมชน มีทั้งข้าวของที่ใช้กันในชุมชนและของเก่าที่ชาวบ้านซื้อมาบริจาคเมื่อทราบว่าโรงเรียนมีพิพิธภัณฑ์

โบราณวัตถุที่เป็นสมบัติของวัดเจ็ดริ้ว ที่พระครูปริยัติสาครกิจ(สมยา ฐานทัตโต)เจ้าอาวาสองค์ก่อนเป็นผู้มอบให้นำมาจัดแสดง อาทิ คัมภีร์ใบลาน เครื่องปั้นดินเผาจำพวก หม้อน้ำ หม้อดิน กระปุกขมิ้น เต้าปูน ถาดกระเบื้อง แจกันกระเบื้อง

ของเด่นในพิพิธภัณฑ์คือ ผ้าสไบมอญลวดลายปักฉลุที่วิจิตร ภาษามอญเรียกว่า “หญาดฮะเหริ่มโตะ” แปลได้ว่า ผ้าที่มีลายมาจากขอบลายของโตก บางผืนมีอายุร้อยปี  หลายผืนเป็นฝีมือของเด็กนักเรียนที่ส่งประกวดได้รางวัล ผ้าสไบเป็นเครื่องแต่งกายชิ้นสำคัญของคนมอญที่ขาดไม่ได้ ใช้ทั้งในงานมงคลและอวมงคล ปัจจุบันผ้าสไบได้รับการรื้อฟื้นให้กลับมาใช้งานอย่างแพร่หลายอีกครั้ง โดยลวดลายส่วนใหญ่เป็นดอกไม้และธรรมชาติ และยังได้วิวัฒน์ไปตามจินตนาการของผู้ทำแต่คงไว้ซึ่งลายปักที่อ่อนช้อยงดงาม

วัตถุที่เกี่ยวเนื่องกับพิธีกรรมความเชื่อที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ อาทิ วัดพระเชตวันจำลอง ซึ่งเป็นสิ่งประดิษฐ์ของนักเรียนและยังใช้งานได้จริง  ทำจากกระดาษและวัสดุจำพวกไม้ไผ่ มีลักษณะเป็นบ้านหรือปราสาทแบบมอญตกแต่งด้วยกระดาษสีสวยงาม เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป ใช้ในพิธีเทาะว์อาโหย่งจ้าตหรือพิธีสมโภชพระพุทธรูปแบบมอญ   หางหงส์ที่ใช้แห่ในช่วงสงกรานต์  

หุ่นอาแปะตั่งเจี่ย ลักษณะเป็นหุ่นที่มีมือจับสองข้างเป็นไม้ไผ่ปลายยาว คล้ายกับหุ่นผีกวักของคนพวน การเล่นผีอาแปะตั่งเจี่ยเป็นการละเล่นที่นิยมเล่นกันในช่วงสงกรานต์ เป็นการเรียกผีเข้ามาทรงในหุ่น โดยมีผู้เล่นหลักสองคนเป็นคนจับปลายไม้ทั้งสองข้างของหุ่น คนที่ล้อมวงเล่นจะถามคำถามแล้วให้ผีตอบหรือทำนาย เช่น ถามว่าอีกกี่วันฝนตก ถ้าสองวันก็กระแทกก้นสองที เป็นต้น และขณะที่รวมกลุ่มกันก็จะมีการร้องรำทำเพลงเป็นที่สนุกสนาน  ปัจจุบันการละเล่นนี้ไม่ได้ทำกันอีกแล้ว เหลือแต่การสาธิตเมื่อมีการจัดงานวัฒนธรรมในหมู่บ้าน

        หนังสือเล่มเล็กที่คุณครูมอบหมายให้นักเรียนเป็นผู้ค้นคว้าเกี่ยวกับประเพณีและวัฒนธรรมท้องถิ่น รวมถึงหนังสือที่คุณครูบังอรเรียบเรียงเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ท้องถิ่นและวิถีชีวิตของคนมอญเจ็ดริ้ว ที่เรียงรายอยู่ในตู้หนังสือภายในพิพิธภัณฑ์ ถือเป็นขุมทรัพย์ทางปัญญาทั้งคนในและคนนอกได้ใช้ประโยชน์ และต่อยอดไปสู่การรื้อฟื้นประเพณีสำคัญๆ ของคนมอญเจ็ดริ้ว และเป็นแบบอย่างให้กับคนมอญอื่นๆ ในพื้นที่สมุทรสาคร อาทิ การปักสไบมอญ  การตักบาตรน้ำผึ้ง

        การก่อตั้งศูนย์เรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่นไทยรามัญเจ็ดริ้ว ไม่ได้เพียงเพื่อใช้ในการเรียนการสอนแต่เพียงอย่างเดียว ภายหลังครูบังอรยังได้พยายามรื้อฟื้นวิถีประเพณีสำคัญของคนมอญ โดยความร่วมมือกับวัดเจ็ดริ้ว และสภาวัฒนธรรมตำบลเจ็ดริ้ด อาทิ การตักบาตรน้ำผึ้ง นอกจากนี้ยังได้จัดงานส่งเสริมวัฒนธรรมอย่างต่อเนื่อง เช่น งานเล่นสะบ้า ร้องทะแย แลเจ็ดริ้ว เมื่อปี 2554

        ในอนาคตทางวัด โรงเรียน และเทศบาลตำบล มีแผนที่จะจัดทำพิพิธภัณฑ์หรือศูนย์การเรียนรู้ไทยรามัญขึ้นภายในวัดเจ็ดริ้ว เพื่อเป็นศูนย์เรียนรู้เรื่องมอญของเจ็ดริ้ว และทำแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม

ชื่อผู้แต่ง:
ปณิตา สระวาสี
คำสำคัญ: