แหล่งเรียนรู้ปล่องเหลี่ยม


โบราณสถานปล่องเหลี่ยมตั้งอยู่ภายในโรงเรียนบ้านปล่องเหลี่ยม ริมแม่น้ำท่าจีนหรือแม่น้ำนครชัยศรี จ.สมุทรสาคร ปล่องเหลี่ยม เดิมเป็นปล่องไฟของโรงงานน้ำตาล ซึ่งในอดีตเรียกกันว่า “โรงหีบนครชัยศรี” (Nakon-chei-See Factory) ของบริษัทน้ำตาลอินโดจีน (IndoChinese sugar company limited) ประเทศอังกฤษ สร้างเมื่อ พ.ศ.2413 รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) โรงงานน้ำตาลอินโดจีนแห่งนี้นับว่าเป็นโรงงานเครื่องจักรไอน้ำขนาดใหญ่แห่งแรกในสยาม เป็นโรงงานที่ทัยสมัยและนำเข้าเครื่องจักรจากอังกฤษเข้ามาใช้ในโรงงาน ในระยะต่อมาความต้องการน้ำตาลในประเทศลดลง ประกอบกับน้ำตาลจากต่างประเทศมีคุณภาพดีกว่า ทำให้โรงงานน้ำตาลอินโดจีนเลิกกิจการในราว พ.ศ.2418 หลังจากนั้น พ.ศ.2482 เจ้าของที่ดินโรงงานเดิมแห่งนี้ ได้ยกที่ดินให้ปลูกสร้างโรงเรียนบ้านปล่องเหลี่ยม โดยคงเหลือเพียงปล่องไฟตั้งเด่นตระหง่านอยู่ริมฝั่งแม่น้ำท่าจีนคู่กับโรงเรียนจนถึงทุกวันนี้ ภายในพื้นที่โบราณสถานมีป้ายให้ข้อมูลสำหรับผู้สนใจ ทั้งประวัติพื้นที่ ประวัติการก่อสร้าง และลักษณะทางสถาปัตยกรรม นอกจากนั้นยังมีป้ายบอกทางเข้ามายังแหล่งตั้งแต่ถนนใหญ่เป็นระยะ ทำให้เดินทางได้สะดวก

ชื่อเรียกอื่น:
โบราณสถานปล่องเหลี่ยม
ที่อยู่:
โรงเรียนบ้านปล่องเหลี่ยม หมู่ 10 ตำบลท่าไม้ อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร
โทรศัพท์:
034869481
วันและเวลาทำการ:
เปิดทุกวัน กรุณาติดต่อขอเข้าชมล่วงหน้า
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
ของเด่น:
ปล่องไฟของโรงงานหีบอ้อยน้ำตาลทรายสร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

การพัฒนาพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเพื่อส่งเสริมการศึกษาเชิงสร้างสรรค์: แหล่งเรียนรู้ "ปล่องเหลี่ยม...หนึ่งเดียวในสยาม" จังหวัดสมุทรสาคร

ชื่อผู้แต่ง: ศรีวรรณ ฉัตรสุริยวงศ์ | ปีที่พิมพ์: 2554;2011

ที่มา: โครงการวิจัยการพัฒนาพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเพื่อส่งเสริมการศึกษาเชิงสร้างสรรค์ ภายใต้โครงการศิลปากรพัฒนาเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยศิลปากร

แหล่งค้นคว้า: ศมส.

โดย: ศมส.

วันที่: 23 พฤศจิกายน 2558


ไม่มีข้อมูล

โบราณสถานปล่องเหลี่ยม

โบราณสถานปล่องเหลี่ยมตั้งอยู่ภายในโรงเรียนบ้านปล่องเหลี่ยม ริมแม่น้ำท่าจีนหรือแม่น้ำนครชัยศรี จ.สมุทรสาคร ปล่องเหลี่ยมเป็นโบราณสถานที่มีความสำคัญต่อจังหวัดสมุทรสาครและบ้านปล่องเหลี่ยมเป็นอย่างมาก เป็นโบราณสถานที่ตั้งเด่นตระหง่านอยู่ริมแม่น้ำท่าจีนคู่กับโรงเรียนบ้านปล่องเหลี่ยม เป็นสิ่งสะท้อนถึงความเป็นเมืองเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมของพื้นที่ด้านทิศเหนือของจังหวัดสมุทรสาคร

ภายในพื้นที่โบราณสถานมีป้ายให้ข้อมูลสำหรับผู้สนใจ ทั้งประวัติพื้นที่ ประวัติการก่อสร้าง และลักษณะทางสถาปัตยกรรม นอกจากนั้นยังมีป้ายบอกทางเข้ามายังแหล่งตั้งแต่ถนนใหญ่เป็นระยะ ทำให้เดินทางได้สะดวก

ปล่องเหลี่ยม เดิมเป็นปล่องไฟของโรงงานน้ำตาล ซึ่งในอดีตเรียกกันว่า “โรงหีบนครชัยศรี” (Nakon-chei-See Factory) ของบริษัทน้ำตาลอินโดจีน (IndoChinese sugar company limited) ประเทศอังกฤษ สร้างเมื่อ พ.ศ.2413 รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) มีนายจอห์น คอสเตเกอร์ (John Costeker) เป็นผู้จัดการทั่วไป นาย จี.เอฟ.ฮิกส์ (G.F.Hick) เป็นผู้จัดการโรงงาน

โรงงานน้ำตาลอินโดจีนแห่งนี้นับว่าเป็นโรงงานเครื่องจักรไอน้ำขนาดใหญ่แห่งแรกในสยาม ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2413 มีการส่งเครื่องจักรจากอังกฤษเข้ามาใช้ในโรงงาน ซึ่งเป็นข่าวใหญ่ของกรุงเทพฯ ในสมัยนั้น หมอบรัดเลย์ บันทึกไว้ในจดหมายเหตุบางกอกกาเลนดาร์ (Bangkok Calendar) ว่า

            “...30 พฤศจิกายน เรือกลไฟยูนา (Una) ของอังกฤษ เข้ามาพร้อมกับเครื่องจักรของโรงงานน้ำตาลอินโดจีน 14 ธันวาคม เริ่มติดตั้งเครื่องจักรของโรงงานน้ำตาลอินโดจีน มีการเฉลิมฉลองกันตามสมควร”                     

โรงงานน้ำตาลอินโดจีนเป็นโรงงานอุตสาหกรรมที่ทันสมัย มีวิศวกรโรงงาน 6 คน ผู้ช่วยวิศวกร 4 คน เจ้าหน้าที่ แผนกขนส่ง 1 คน และเจ้าหน้าที่ประจำรถไถเครื่องจักรไอน้ำ (steam ploughs) 1 คน นอกจากนี้ ยังมีคนงานจีนอีกจำนวนกว่า 3,000 คน ซึ่งมากกว่าโรงหีบเล็กๆ แบบชาวบ้านแต่เดิมหลายสิบเท่า จึงทำให้ได้รับความสนใจจากพระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ เสด็จและเดินทางมาเยี่ยมชมโรงงาน จดหมายเหตุสยามรีโปสิตารี (Siam Repository) ของหมอสมิทบันทึกไว้ว่าทั้งสมเด็จพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ล้วนแล้วแต่เคยเสด็จมาเยี่ยมชมโรงงานแห่งนี้

ปัจจัยหลักที่ทำให้มีการก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการผลิตน้ำตาลขึ้นในบริเวณลุ่มแม่น้ำท่าจีนนี้ สืบเนื่องมาจากภายหลังจากการทำสนธิสัญญาเบอร์นีกับอังกฤษในสมัยรัชกาลที่ 3 น้ำตาลได้กลายมาเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญ พื้นที่แถบลุ่มแม่น้ำนครชัยศรีหรือแม่น้ำท่าจีนซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์จึงเป็นพื้นที่เกษตรกรรมแหล่งเพาะปลูกอ้อยขนาดใหญ่ ดังนั้น จึงมีโรงงานหีบอ้อยทำน้ำตาลจำนวนมากมาตั้งดำเนินกิจการอยู่ ปัจจุบันยังคงมีชื่อหมู่บ้านและชื่อคลองปรากฏอยู่ เช่น บ้านโรงหีบ คลองบ้านอ้อมโรงหีบ เป็นต้น ซึ่งโรงงานเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ตั้งอยู่ในพื้นที่ริมแม่น้ำท่าจีนหรือลำคลองขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นเส้นทางคมนาคมหลักที่สำคัญในการขนส่งสินค้าอ้อยหรือน้ำตาล

ลักษณะการดำเนินกิจการของโรงงานน้ำตาลอินโดจีน เริ่มต้นด้วยการทำสนธิสัญญาระหว่างตัวแทนของบริษัทกับรัฐบาลสยาม โดยสัญญามีใจความว่า รัฐบาลสยามอนุญาตให้บริษัทน้ำตาลอินโดจีนจัดตั้งโรงงานน้ำตาลทรายในบริเวณฝั่งขวาของแม่น้ำท่าจีน ตำบลดอนกะดี อำเภอตลาดใหม่  เมืองนครชัยศรี (ปัจจุบันคือ ตำบลท่าไม้ อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร) บริษัทมีสิทธิจับจองที่ดินเพื่อปลูกอ้อยและตั้งโรงงานไม่น้อยกว่าสามพันไร่ โดยบริษัทจะซื้อที่ดินจากราษฎรที่ครอบครองอยู่ตามราคาที่สมควร และเสียภาษีที่ดินตามราคาปกติ การปลูกอ้อยนั้นบริษัทได้จัดการแบ่งที่ดินออกเป็นแปลงเพาะปลูกขนาดย่อมๆ 20 แปลง แต่ละแปลงมีการตัดถนนผ่านเข้าไป เพื่อประโยชน์ในการใช้เครื่องจักรทำงานในไร่อ้อยและการลำเลี้ยงอ้อยจากแปลงปลูกมายังโรงงานโดยเกวียนเป็นพาหนะหลัก

ในระยะต่อมาความต้องการน้ำตาลจากประเทศสยามลดลง ข้าวจึงเป็นสินค้าที่สำคัญเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับน้ำตาลจากต่างประเทศมีคุณภาพดีกว่า ชาวสยามจึงหันไปปลูกข้าวเพื่อการส่งออกแทน ทำให้โรงงานน้ำตาลในแถบนี้ลดปริมาณการผลิตลงและล้มเลิกไปในที่สุด เช่นเดียวกับโรงงานน้ำตาลอินโดจีนในราว พ.ศ.2418 หรือ 5 ปีหลังจากเริ่มดำเนินการก็ได้หยุดกิจการลงเช่นกัน หลังจากนั้น พ.ศ.2482 นายใช้ ทองใบ เจ้าของที่ดินโรงงานเดิมแห่งนี้ ได้ยกที่ดินให้ปลูกสร้างโรงเรียนบ้านปล่องเหลี่ยม โดยคงเหลือเพียงปล่องไฟตั้งเด่นตระหง่านอยู่ริมฝั่งแม่น้ำท่าจีนคู่กับโรงเรียนจนถึงทุกวันนี้

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม ฐานข้อมูลแหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย

ข้อมูลจาก:

ฐานข้อมูลแหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย

กรมศิลปากร. “ปล่องเหลี่ยม.” ระบบฐานข้อมูลแหล่งมรดกศิลปวัฒนธรรมและระบบภูมิสารสนเทศ โครงการสำรวจแหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม. (ออนไลน์) เข้าถึงเมื่อ 10 ธันวาคม 2558. แหล่งที่มา http://www.gis.finearts.go.th/gisweb/viewer.aspx

สุริยา สุดสวาท และเดชา สุดสวาท. ทะเบียนโบราณสถานจังหวัดสมุทรสาคร. ราชบุรี : กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี, 2553.

 



ชื่อผู้แต่ง:
ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล