ศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราชเทศบาลตำบลอากาศอำนวย


ชื่อเรียกอื่น:
ศูนย์การเรียนรู้ชุมชน เทศบาลตำบลอากาศอำนวย
ที่อยู่:
ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนเทศบาลอากาศอำนวย เลขที่ 200/17 หมู่ 17 ต.อากาศอำนวย อ.อากาศอำนวย จ.สกลนคร 47170
โทรศัพท์:
086-3391141, 042-798432, 091-5911305
โทรสาร:
042-798431
วันและเวลาทำการ:
วัน-เวลาราชการ 8.30-17.00 น. วันเสาร์-อาทิตย์ เปิด 8.00-16.30 น.
ค่าเข้าชม:
ไม่เสียค่าเข้าชม
เว็บไซต์:
ปีที่ก่อตั้ง:
2548
ของเด่น:
ฮางหด, ฮาวเทียน, กลองเลง, ผ้าไทโย้ยโบราณ, เรือไฟไทโย้ยจำลอง
เนื้อหา:
ไม่มีข้อมูล

ศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราชเทศบาลตำบลอากาศอำนวย...

โดย: ศมส.

วันที่: 19 มีนาคม 2563

ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

ศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราชเทศบาลตำบลอากาศอำนวย

          ไทโย้ยเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีประวัติความเป็นมาของการอพยพมาจากบ้านปากน้ำ เมืองฮ่อมท้าวฮูเซ ในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เมื่อราวรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) เนื่องจากต้องการแสวงหาพื้นที่ทำมาหากิน และอพยพมาด้วยความสมัครใจ ไม่ได้ถูกกวาดต้อนหรือขับไล่ โดยได้อพยพข้ามแม่น้ำโขงมาอาศัยแม่น้ำสงครามและลำน้ำยามตามลำดับ แล้วมาตั้งถิ่นฐานบริเวณที่เรียกว่า “บ้านม่วงริมยาม” ซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งลำน้ำยาม ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภออากาศอำนวย และอีกส่วนหนึ่งก็ได้อพยพเคลื่อนต่อไปทางทิศตะวันตกของอำเภออากาศอำนวย เข้าไปอยู่ในอำเภอวานรนิวาส

          ชาวไทโย้ยเข้ามาอาศัยในบ้านม่วงริมยาม ซึ่งเป็นหมู่บ้านตั้งอยู่ระหว่างเขตจังหวัดสกลนคร และจังหวัดนครพนม บริเวณนี้เป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูกมาก จึงทำให้มีราษฎรจากที่อื่นอพยพเข้ามาอาศัยเป็นจำนวนมากขึ้น การอาศัยแม่น้ำเป็นเส้นทางการคมนาคม จึงทำให้ชาวไทโย้ยสามารถเลือกทำเลการตั้งถิ่นฐานได้ เพราะลำน้ำยามสามารถติดต่อกับแม่น้ำโขง ซึ่งมีชาวไทโย้ยส่วนหนึ่งได้เคยตั้งบ้านเมืองอยู่ไม่ห่างจากลำน้ำโขงมากนัก

          เมื่อมีการกวาดต้อนและเกลี้ยกล่อมผู้คนหลังศึกเจ้าอนุวงศ์ พ.ศ. 2370 เป็นต้นมา จึงปรากฏว่ามีผู้คนจากเมืองต่างๆ เช่น เมืองฮ่อมท้าวฮูเซ ได้มีผู้นำชื่อ ท้าวเพี้ยติวซอย นอกจากนี้ยังปรากฏชื่อผู้นำอีกบางคน เช่น ท้าวศรีสุราช ท้าวจันทนาม ท้าวนามโคตร ได้นำไพร่พลชาวไทโย้ยที่มีจำนวนมากถึง 2,396 คน พากันอพยพข้ามแม่น้ำโขงเข้ามาเลือกหลักแหล่งเพื่อตั้งบ้านเรือนทำมาหากิน ในจำนวนนั้นมีท้าวเพี้ยคนหนึ่ง ได้อพยพไปอยู่ฝั่งโขง และไม่ได้ปฏิบัติตามธรรมเนียมที่เคยปฏิบัติ ท้าวเพี้ยรู้สึกความผิดและโทษาของตนจึงได้อพยพครอบครัวกลับมาบ้านม่วงริมยามอย่างเดิม การตั้งหลักแหล่งที่บริเวณบ้านม่วงริมยามนี้ ถือว่าอยู่ในเขตแดนเมืองสกลนคร

          หลังจากนั้นไม่นานนัก เกิดความผันผวนในกลุ่มของชาวไทโย้ยที่ไม่ยอมสมัครใจอยู่กับพระยาประจันตประเทศธานี พระสุนทรราชวงศาจึงได้แจ้งความมายังลูกขุนศาลาในกรุงเทพฯ กล่าวว่าท้าวศรีสุราชและท้าวเพี้ยทั้งปวง สมัครมาทำราชการขึ้นกับเมืองนครพนม พระสุนทรราชวงศาได้กล่าวร้องขอชำระเอาครอบครัวพวกท้าวเพี้ยติวซอย ท้าวศรีสุราช มาตั้งบ้านเรือนอยู่ ณ บ้านม่วงริมยาม ซึ่งอยู่ระหว่างเมืองไชยบุรี เมืองท่าอุเทน เมืองสกลนคร ต่อกับเมืองนครพนม จำนวนผู้คนเมื่อครั้งตั้งเมืองมีพระสงฆ์ สามเณร คนชรา คนพิการ 109 คน ท้าวเพี้ย 109 คน ชายฉกรรจ์ 240 คน รวมทั้งหญิงชายใหญ่น้อยจำนวน 2,339 คน พระสุนทรราชวงศา จึงขอยกบ้านม่วงริมยามเป็นเมือง ขอท้าวศรีสุราชเป็นเจ้าเมือง ท้าวจันทนามเป็นราชวงศ์ ท้าวนามโคตรเป็นราชบุตร

          พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกบ้านม่วงริมยามเป็นเมืองอากาศอำนวย และโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งท้าวศรีสุราชเป็นหลวงพลานุกูล ท้าวจันทนามเป็นอัครวงศ์ ท้าวนามโคตรเป็นวรบุตร พร้อมทั้งราชทานเครื่องยศตามตำแหน่ง เมื่อ พ.ศ.2396 เมื่อได้ทรงประกาศตั้งเมืองอากาศอำนวยขึ้นแล้ว ได้ทรงมีสารตราถึงเมืองต่างๆ ให้จัดแบ่งเขตแดนให้แก่หลวงพลานุกูล ตั้งเมืองให้ไพร่พลทำมาหากิน และขอให้ช่วยทำนุบำรุงหลวงพลานุกูลอย่างที่เคยเป็นมา

          ถ้าพิจารณาข้อมูลแล้วจะเห็นได้ว่า เมืองอากาศอำนวยในช่วงแรกที่บ้านม่วงริมยาม ได้มีการยื้อแย่งผู้คนกันระหว่างเจ้าเมืองนครพนมและเจ้าเมืองสกลนคร โดยมีข้ออ้างสำคัญคือความต้องการของท้าวเพี้ยไพร่พลเป็นสำคัญ ทำให้มีชาวไทโย้ยส่วนหนึ่งเกิดการเคลื่อนย้ายออกจากเมืองอากาศอำนวย เพื่อหาแหล่งทำมาหากินในพื้นที่ที่เหมาะสมกว่า ทำให้ประชากรลดลงตามลำดับ ต่อมาในปี พ.ศ. 2458 มีการปฏิรูปการปกครองหัวเมืองใหม่ ข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลอุดรได้มาตรวจราชการที่อำเภออากาศอำนวย ซึ่งขณะนั้นขึ้นกับจังหวัดนครพนม เห็นว่าการคมนาคมและการติดต่อไปมากับจังหวัดนครพนมไม่สะดวก เพราะอำเภออากาศอำนวยอยู่ห่างจากตัวจังหวัดมาก จึงได้เสนอขอเปลี่ยนแปลงเขตการปกครองใหม่ โดยยุบอำเภออากาศอำนวยเป็นตำบลอากาศแล้วขึ้นต่อการปกครองของอำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร จนกระทั่งปี พ.ศ.2506 จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้ตรวจราชการที่ภาคอีสาน ได้พิจารณาเห็นว่าราษฎรในเขต 4 ตำบล คือ ตำบลวาใหญ่ ตำบลอากาศ ตำบลโพนแพง ตำบลโพนงาม อยู่ห่างไกลจากอำเภอวานรนิวาส การติดต่อกับอำเภอไม่สะดวก ประกอบกับมีปัญหาผู้ก่อการร้ายแทรกซึม จึงให้ยกฐานะขึ้นเป็นกิ่งอำเภออากาศอำนวยขึ้นกับอำเภอวานรนิวาส เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ.2506 จึงถึงวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ.2508 จึงได้รับการยกขึ้นเป็นอำเภออากาศอำนวยจนถึงปัจจุบัน

          ในปัจจุบันชาวไทโย้ยส่วนใหญ่ตั้งถิ่นฐานอยู่ภายในตำบลอากาศ มีการรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีของกลุ่มชาติพันธุ์ไว้อย่าง เหนียวแน่น เช่น ประเพณีบวงสรวงปู่ตา ประเพณีไหลเรือไฟแบบดั้งเดิม และการตีกลองเลง จนทำให้เกิดความพยายามในการรวบรวมองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มชาติพันธุ์ไทโย้ยและท้องถิ่นอำเภออากาศอำนวย เพื่อให้ลูกหลายชาวอากาศอำนวยได้ศึกษาเรียนรู้ประวัติความเป็นมาของตนเอง ส่งผลให้เทศบาลตำบลอากาศอำนวยได้จัดทำพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นขึ้น ปัจจุบันเรียกชื่อพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ว่า “ศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราชเทศบาลตำบลอากาศอำนวย”

          ศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราชเทศบาลตำบลอากาศอำนวย ตั้งอยู่บริเวณเดียวกับศูนย์การเรียนรู้ชุมชนเทศบาลตำบลอากาศอำนวย ซึ่งอยู่ภายในชุมชนบ้านอากาศ หมู่ที่ 17 ตำบลอากาศ อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร พัฒนามาจากศูนย์การเรียนรู้ชุมชนเทศบาลตำบลอากาศอำนวยเมื่อปี พ.ศ.2548 ภายใต้แนวคิดของผู้บริหารเทศบาลที่ต้องการให้มีแหล่งเรียนรู้ทางด้านวัฒนธรรมของชนเผ่าไทโย้ย ซึ่งเป็นชนเผ่าหนึ่งในเจ็ดเผ่าของจังหวัดสกลนคร ที่มีอัตลักษณ์ที่โดดเด่น ทั้งเรื่องภาษา วิถีชีวิตความเป็นอยู่ วัฒนธรรมและประเพณี  โดยมีการจัดเก็บรวบรวม สืบค้นประวัติความเป็นมาของกลุ่มชาติพันธุ์ไทโย้ย วัฒนธรรมประเพณีที่โดดเด่น และเชิญปราชญ์ผู้รู้ในท้องถิ่นมาสังเคราะห์ข้อมูลเพื่อทำเป็นข้อมูลทางวัฒนธรรม และจัดทำเป็นศูนย์การเรียนรู้ชุมชนขึ้นมา โบราณวัตถุและส่งของเครื่องใช้ที่จัดแสดงได้มาจากการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนโดยการรับบริจาค พร้อมกับพัฒนาเป็นศูนย์วัฒนธรรมไทยสายใยชุมชนตำบลอากาศอำนวย

          ภายหลังศูนย์วัฒนธรรมไทยสายใยชุมชนตำบลอากาศอำนวยได้รับการประเมินเป็นศูนย์วัฒนธรรมไทยสายใยชุมชน ระดับ 4 ซึ่งได้มีการดำเนินกิจกรรมทางด้านวัฒนธรรมมาอย่างต่อเนื่อง กอปรกับจังหวัดสกลนครเป็นที่ตั้งพระตำหนักภูพานราชราชนิเวศน์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินินาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ ได้เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานประทับแรมเพื่อประกอบพระราชกรณียกิจอย่างต่อเนื่องในพื้นที่จังหวัดสกลนครและจังหวัดใกล้เคียง ยังผลให้พสกนิกรซาบซึ้งในพระบารมีอย่างหาที่สุดมิได้ และในปี พ.ศ.2554 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระชนมายุครบ 7 รอบ 84 พรรษา ทางศูนย์วัฒนธรรมไทยสายใยชุมชนตำบลอากาศ จึงได้พิจารณาสมัครเข้ารับการคัดเลือกเป็นศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราชเพื่อเป็นกิจกรรมเทิดพระเกียรติ และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ซึ่งศูนย์วัฒนธรรมไทยสายใยชุมชนตำบลอากาศ ได้รับคัดเลือกเป็นศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราช ระดับดีเด่น เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ.2555

          ภายในศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราชเทศบาลตำบลอากาศอำนวยมีการแยกส่วนจัดแสดงและแบ่งพื้นที่ใช้งานออกเป็น 8 ส่วน ได้แก่

          1. ห้องพิพิธภัณฑ์ศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราช ซึ่งเป็นที่จัดแสดงความเป็นมาของชาวไทโย้ยในอำเภออากาศอำนวย และสิ่งของเครื่องใช้ในวิถีชีวิตของชาวไทโย้ยในอดีต

          2. ห้องนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ เป็นห้องจัดนิทรรศการพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจที่สำคัญของพระมหากษัตริย์ไทยในพระบรมราชจักรีวงศ์

          3. ห้องวิชาการ เป็นสถานที่ประชุมและนำเสนอข้อมูลทางวิชาการที่เกี่ยวข้องกับท้องถิ่นตำบลอากาศ

          4. ห้องสมุดชุมชน เป็นแหล่งรวบรวมหนังสือสำหรับบริการประชาชนและเยาวชน

          5. ห้องนิทรรศการ ธ สถิตในดวงใจไทยนิรันดร์ เป็นห้องจัดนิทรรศการพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจที่สำคัญของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

          6. ห้องสภาเด็ก เป็นสถานที่ทำงานของสภาเด็กและเยาวชนตำบลอากาศ

          7. ห้องดิจิทัลชุมชน เป็นห้องคอมพิวเตอร์ที่ให้บริการด้านเทคโนโลยีและอินเตอร์เน็ตให้กับชุมชน

          8. ห้องโถง เป็นสถานที่จัดนิทรรศการต่างๆ ตามวาระในรอบปี โดยส่วนด้านหน้าของห้องมีบุษบกเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ให้พุทธศาสนิกชนได้กราบไหว้เพื่อเป็นสิริมงคล

          นอกจากนี้ บริเวณด้านนอกของอาคารยังมีการจำลองลักษณะบ้านเรือนของชาวไทโย้ยในอดีต จัดแสดงในลักษณะนิทรรศการกลางแจ้งอีกด้วย

          ภายในห้องพิพิธภัณฑ์ศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราช ซึ่งเป็นห้องที่จัดแสดงนิทรรศการประวัติความเป็นมาของชาวไทโย้ยในอำเภออากาศอำนวย และสิ่งของเครื่องใช้ในวิถีชีวิตของชาวไทโย้ยในอดีต ได้มีการจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ มากมาย ซึ่งได้รับบริจาคมาจากประชาชนและจากทางวัดในชุมชน เช่น เกวียนโบราณ ตำราสมุดข่อยและคัมภีร์ใบลาน ราวเทียน และฮางหดศิลปะพื้นบ้านไทโย้ย ซึ่งเป็นอุปกรณ์สำคัญที่ใช้ในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาของชาวไทโย้ย กลองเลงซึ่งเป็นเครื่องดนตรีพื้นเมืองที่สำคัญของชาวไทโย้ย ผ้าโบราณอายุกว่า 100 ปี เครื่องปั้นดินเผาแบบพื้นถิ่น อุปกรณ์ทอผ้า เครื่องมือจับปลาซึ่งชาวไทโย้ยจะผูกพันกับการหาปลาในลำน้ำยามเป็นอย่างมาก และมีการจำลองเรือไฟโบราณของชาวไทโย้ยที่ปัจจุบันยังมีการไหลเรือไฟลักษณะเช่นนี้อยู่

          ศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราชเทศบาลตำบลอากาศอำนวยเปิดให้นักท่องเที่ยวและผู้ที่สนใจเข้าเยี่ยมชมได้ทุกวัน โดยในวันราชการเปิดบริการตั้งแต่เวลา 08.30-17.00 น. ส่วนวันเสาร์-อาทิตย์เปิดบริการตั้งแต่เวลา 08.00-16.30 น. ซึ่งทางเทศบาลตำบลอากาศอำนวยได้จัดเจ้าหน้าที่ไว้คอยต้อนรับ นำชมและให้บริการด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องภายในศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราชเทศบาลตำบลอากาศอำนวย

 

อ้างอิง

“ศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราช”. เทศบาลตำบลอากาศอำนวย. สืบค้นจาก http://www.akatumnuay.go.th/ index.php?option=com_content&task =view&id=149&Itemid=155, วันที่ 18 กรกฎาคม 2562.

สพสันติ์ เพชรคำ. ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นสกลนคร. สกลนคร : สถาบันภาษา ศิลปะและวัฒนธรร มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร, 2560.

 

สัมภาษณ์

นางปาริชาติ โน๊ตสุภา ผู้อำนวยการกองการศึกษา เทศบาลตำบลอากาศอำนวย ตำบลอากาศ อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร, สัมภาษณ์วันที่ 10 พฤษภาคม 2562.

นายพจนวราภรณ์  ขจรเนตร นักวิชาการการศึกษา สถาบันภาษา ศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร จังหวัดสกลนคร, สัมภาษณ์วันที่ 13 พฤษภาคม 2562.

ชื่อผู้แต่ง:
ธีระวัฒน์ แสนคำ
คำสำคัญ: