พิพิธภัณฑ์อนุสรณ์ครบรอบ 100 ปี หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี


ที่อยู่:
วัดอาจาโรรังสี บ้านคำข่า ต.ไร่ อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร 47130
โทรศัพท์:
0-4298-1087
วันและเวลาทำการ:
เปิดทุกวัน 9.00-17.00 น.
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
ปีที่ก่อตั้ง:
2546
ของเด่น:
พระบรมไตรโลกนาถ พระนิเทศรังสรรค์
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

พิพิธภัณฑ์อนุสรณ์ครบรอบ 100 ปี หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี และประวัติวัดอาจาโรรังสี

ชื่อผู้แต่ง: วัดอาจาโรรังสี | ปีที่พิมพ์: 4/26/2546

ที่มา: สกลนคร: วัดอาจาโรรังสี

แหล่งค้นคว้า: ศมส.

โดย: ศมส.

วันที่: 13 มีนาคม 2555

ธรรมเทสก์ชุดที่ 10 "ใจ"

ชื่อผู้แต่ง: พระราชนิโรธรังสี คัมภีรปัญญาวิศิษฏ์ (หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี) | ปีที่พิมพ์: 2553

ที่มา: สำนักพิมพ์พัฒนาศึกษา

แหล่งค้นคว้า: ศมส.

โดย: ศมส.

วันที่: 13 มีนาคม 2555


ไม่มีข้อมูล

รีวิวของพิพิธภัณฑ์อนุสรณ์ครบรอบ 100 ปี หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี

วัดอาจาโรรังสี เป็นนามที่ได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก อันมาจากฉายาของพระมหาเถระ 2 รูป คือ "อาจาโร" ของหลวงปู่ฝั้น และ "เทสรังสี" ของหลวงปู่เทสก์ ซึ่งสมเด็จพระสังฆราชทรงเคารพนับถือในพระมหาเถระทั้งสอง วัดอาจาโรรังสีก่อสร้างในปี 2540 โดยความร่วมแรงร่วมใจศรัทธาระหว่างชาวบ้านบ้านคำข่า ลูกศิษย์ลูกหาของหลวงปู่เทสก์ และพระทรงวุฒิ ธมฺมวโร ซึ่งเป็นพระเลขาของหลวงปู่เทสก์มายาวนาน และปัจจุบันเป็นเจ้าอาวาสวัดอาจาโรรังสี
     
ด้วยกิจวัตรอันงดงาม และการบำเพ็ญคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนาและสังคมของหลวงปู่เทสก์เป็นที่ประจักษ์ กลางปี 2543 บรรดากรรมการวัดและศิษยานุศิษย์ของหลวงปู่เทสก์จึงได้หารือกันว่า ในวันที่ 26 เมษายน 2545 หากพระเดชพระคุณหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ยังมีชีวิตอยู่ ท่านจะมีอายุครบ 100 ปีบริบูรณ์ วัดอาจาโรรังสีจึงควรมีถาวรวัตถุเป็นสาราณียธรรมานุสรณ์ถึงท่าน กอรปกับในห้วงนั้นมีข้าราชการ ประชาชน เยาวชนเข้ามารับการอบรมธรรมะอย่างต่อเนื่อง และสถานที่ฝึกอบรมปฏิบัติไม่เพียงพอ ทางวัดจึงตกลงวางแผนสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์ขึ้น เป็นอาคารคอนกรีตทรงไทยสองชั้น ชั้นล่างจะใช้เป็นที่อบรมและปฏิบัติธรรม ส่วนชั้นบนจัดแสดงทันตธาตุ อัฐิ รวมถึงประวัติของหลวงปู่เทสก์ โดยได้ทำพิธีเปิดในวันที่ 26 เมษายน 2546 ศิลปะเชิงช่างไทยปรากฎให้เห็นอยู่ทั่วไปในอาคาร ทั้งงานปูนปั้นช่อฟ้าไทยแบบปากนก หางหงส์หัวนาค ใบระกา ลวดลายหน้าบันทั้งสองด้านปั้นปูนลายกนก ก้านขดใบเทสล้อมรอบพัดยศฝ่ายวิปัสสนาธุระชั้นราชที่หลวงปู่เทสก์ได้รับพระราชทาน บัวหัวเสาภายนอกอาคารทั้งชั้นบนและล่างปั้นปูนกาบพรหมศร ชั้นบนประกอบด้วยคันทวยปูนปั้นทรงนาค ชั้นล่างคันทวยปูนปั้นลักษณะเหยียดตรงมีลายประกอบ บานหน้าต่างชั้นบนเป็นบานเกล็ดไม้สัก ซึ่งหาดูได้ยากในปัจจุบัน เสาอาคารชั้นบน 12 ต้นเป็นงานลงรักปิดทองลายฉลุ ซึ่งเป็นงานศิลปกรรมของงานช่างรัก หนึ่งในงานช่างสิบหมู่ โดยได้นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชมงคล วิทยาเขตเพาะช่างมาช่วยทำให้

การจัดแสดง ชั้นบนของอาคารเป็นห้องโถงโล่ง กลางโถงอาคารประดิษฐานพระพุทธปฏิมาประธานปางมารวิชัย พุทธศิลป์สมัยเชียงแสนสิงห์ 3 พร้อมพระอัครสาวกทั้งคู่ หล่อด้วยโลหะทองเหลือง โดยสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกโปรดประทานนามว่า "พระพุทธทุกขนิโรธบารมี" เบื้องขวาด้านหน้าเป็นบุษบกประดิษฐานพระธาตุหลวงปู่เทสก์ทั้ง 6 ได้แก่ ทันตธาตุ ซึ่งแปรเป็นพระธาตุสีดอกพิกุลแห้ง สัณฐานเมล็ดข้าวโพด-ถั่วเขียว เกศา(ผม) อัฐิ(กระดูก) นขา(เล็บ) โลมา(ขน) และตโจ(หนัง) และด้านหน้าบุษบกเป็นโถแก้วประดิษฐานอัฐิธาตุพระอาจารย์เกต ขนฺติโก ซึ่งเป็นพี่ชายร่วมสายโลหิตของหลวงปู่เทสก์
       
บริเวณผนังทั้งสองด้านของอาคารจัดแสดงเรื่องราวประวัติของหลวงปู่เกี่ยวกับเรื่องการบวชเรียน จำพรรษา และฝึกวิปัสสนากรรมฐานกับพระกรรมฐานาจารย์ต่าง ๆ โดยเป็นการเล่าเรื่องผ่านภาพถ่าย แบ่งคร่าว ๆ ได้เป็น 3 หมวดหมู่ได้แก่ 
        1) ภาพถ่ายของพระอาจารย์ท่านต่าง ๆ ของหลวงปู่ อาทิ พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม ซึ่งเป็นพระปฐมาจารย์ของหลวงปู่เทสก์ พระอาจารย์ลุย ธมมฺทินฺโน พระมหารัฐ รัฐปาโล พระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต พระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล เป็นต้น 
        2) ภาพถ่ายหลวงปู่ในช่วงอายุต่าง ๆ ภาพหลวงปู่เทสก์กับพระมหาเถระต่าง ๆ อาทิ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร หลวงปู่แหวน สุจิณโณ เป็นต้น
        3) ภาพถ่ายหลวงปู่กับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์ในวาระต่าง ๆ  
       
นอกจากนี้ยังจัดแสดงเอกสารทางราชการเกี่ยวกับหลวงปู่อาทิ หนังสือแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะจังหวัดภูเก็ต ซึ่งถือเป็นเจ้าคณะฝ่ายธรรมยุติรูปแรก ใบมรณบัตร รวมถึงจดหมายโต้ตอบเกี่ยวกับปัญหาพระธรรม พระวินัยต่าง ๆ ด้านข้างองค์พระประธานมีตู้ไม้จัดแสดงบริขารพระกรรมฐานของพระอาจารย์หลวงปู่เกต ขนฺติโก ตู้เครื่องไทยธรรมที่ศิษยานุศิษย์ถวายท่านหลวงปู่ ทั้งเครื่องแก้ว เครื่องลายคราม และเครื่องเบญจรงค์ เป็นต้น
 หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี พระเกจิอาจารย์สายวิปัสสนากรรมฐาน เกิดเมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ.2445 ณ บ้านนาสีดา ต.กลางใหญ่ อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี   ได้ติดตามพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม ตั้งแต่เยาว์วัย ต่อมาได้อุปสมบทที่วัดสุทัศนาราม จ.อุบลราชธานี เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2466 อายุได้ 22 ปี โดยมีพระมหารัฐ เป็นพระอุปัชฌาย์ และพระมหาปิ่น ปัญญาพโลเป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้ฝึกกรรมฐานกับหลวงปู่เสาร์ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต และได้ติดตามไปจำพรรษากับพระอาจารย์มั่นที่จังหวัดเชียงใหม่กว่า 10 ปี หลวงปู่เทสก์ เทสรังสีเป็นพระสายวิปัสสนากรรมฐานรูปแรกที่นำการวิปัสสนากรรมฐานไปเผยแผ่ที่ภาคใต้ และเป็นเจ้าคณะจังหวัดภูเก็ตฝ่ายธรรมยุติกนิกายรูปแรก ในปี 2508-2535 จำพรรษาที่วัดหินหมากเป้ง อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย สองพรรษาสุดท้าย จำพรรษา ณ วัดถ้ำขาม จ.สกลนคร และได้ปลงธรรมสังเวช ณ วัดถ้ำขาม เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2537 ตรงกับวันพระขึ้น 15 ค่ำ เดือนอ้าย ปีจอ 
 
ข้อมูลจาก: 
1. การสำรวจภาคสนาม ของสำนักวิจัยและสนับสนุนการวิจัย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2547.
2. สัมภาษณ์พระทรงวุฒิ   ธมมฺวโร เจ้าอาวาสวัดอาจาโรรังสี เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2547.
3. พระทรงวุฒิ ธมฺมวโร และคณะ. อาคารพิพิธภัณฑ์อนุสรณ์ครบรอบ 100 ปี หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี และประวัติวัดอาจาโรรังสี. หนังสือพิมพ์เนื่องในการบำเพ็ญกุศลวันเทสรังสีรำลึก ฉลองอาคารพิพิธภัณฑ์อนุสรณ์ครบรอบ 100 ปี หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ฉลองวิหารพระบาง และถาวรวัตถุ วันที่ 26 เมษายน 2546.
ชื่อผู้แต่ง:
-