ห้องจริยวัฒนธรรม ร.ร.บ้านไฮหย่อง


ที่อยู่:
บ้านไฮหย่อง หมู่ 1 ต.ไฮหย่อง อ.พังโคน จ.สกลนคร 47160
โทรศัพท์:
042 - 706239
วันและเวลาทำการ:
เปิดจันทร์-ศุกร์ ในเวลาราชการ
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

รีวิวของห้องจริยวัฒนธรรม ร.ร.บ้านไฮหย่อง

บ้านไฮหย่อง เป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ ในอำเภอพังโคน จังหวัดสกลนคร ไฮหย่องเป็นชื่อภาษาถิ่น มาจากคำว่า"ไฮ" ที่หมายถึงต้นไทร และ "หย่อง" ที่แปลว่า ห้อย หรือย้อยลงมา ชาวบ้านเล่าสืบต่อกันมาว่า บรรพบุรุษของพวกเขาได้อพยพมาตั้งถิ่นฐาน ณ ที่แห่งนี้ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 เนื่องจากเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ มีหนองน้ำทั้งทางทิศเหนือและใต้ เหมาะแก่การตั้งรกราก และเห็นไทรต้นใหญ่ขึ้นอยู่ในบริเวณนั้น จึงกลายเป็นที่มาของชื่อหมู่บ้านในทุกวันนี้ คณะสำรวจมีโอกาสไปที่โรงเรียนบ้านไฮหย่อง ตั้งอยู่ใกล้กับศูนย์ส่งเสริมการท่องเที่ยวและอนุรักษ์วัฒนธรรมไฮหย่อง ที่ปิดตายและไม่มีใครไปใช้ประโยชน์ และมีโอกาสสัมภาษณ์อาจารย์สมจิต ทิพย์มณี ผู้รับผิดชอบห้องจริยวัฒนธรรม โรงเรียนบ้านไฮหย่อง ซึ่งเป็นอาคารชั้นเดียวแยกออกมาจากตึกเรียน ตั้งอยู่ริมสนามฟุตบอลของโรงเรียน

ห้องจริยวัฒนธรรมสร้างขึ้นด้วยแนวคิดของการอนุรักษ์วัฒนธรรมบ้านไฮหย่อง "วัฒนธรรมไทย" และการสอนจริยธรรมให้กับนักเรียน เรื่องเด่นของห้องจริยวัฒนธรรมคือ ประวัติและเรื่องราวการเซิ้งผีโขนในพิธีบุญผะเหวด หัวผีโขน เครื่องประดับหน้ากาก เนื้อเพลงที่ใช้ในการแหล่จากเอกสารใบลาน รวมทั้งหนังสือแบบเรียนและวรรณกรรมเกี่ยวกับท้องถิ่น นอกจากนี้ ยังมีบทเรียนอื่นๆ ที่เป็นรูปแบบของสื่อเอกสารการสอน ภาพ และกิจกรรมการปฏิบัติต่างๆ เนื้อหาการสอนแม้เป็นพูดถึงรูปแบบการประกอบพิธี วัตถุตัวอย่างที่เกี่ยวเนื่องกับพิธีกรรม อาทิ ตัวอย่างหัวผีโขนที่ทำจากลำต้นนุ่น(ต่างจากหัวผีตาโขนที่ด่านซ้าย จ.เลย ที่ทำด้วยหวด) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของขบวนแห่สมมติพระเวสสันดรเข้าเมือง แต่ที่น่าสนใจคือ การสอนยังเชื่อมโยงกับคติคุณธรรมที่ปรากฏในเรื่องของพระเวสสันดรชาดก สอดแทรกเข้าไปในขบวนการสอน เช่น เรื่องทานบารมี ที่พระเวสสันดรพระราชทานสมบัติของตนให้กับผู้อื่น ไม่เว้นกระทั่งบุตรธิดา มเหสี

สำหรับงานบุญพระเวสหรือผะเหวดของบ้านไฮหย่องนั้น จัดขึ้นทุกปีในวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 4 ชาวอีสานรวมถึงชาวบ้านไฮหย่องถือว่าบุญผะเหวดเป็นบุญยิ่งใหญ่ ลูกหลานที่ไปทำงานในเมืองก็จะกลับมาร่วมงานบุญ ในงานชาวบ้านจะสมมติให้พระเวสสันดรอยู่ที่เขาคีรีวงกต ซึ่งในปัจจุบันเป็นการเชิญ "ผู้ใหญ่" ของชุมชนเป็นพระเวสสันดร โดยในขบวนอัญเชิญพระเวสสันดรกลับสู่นคร พวกภูติผีปีศาจตามส่งเสด็จ เพื่อขอบารมีพระเวสสันดร อุทิศส่วนกุศลให้ไปเกิดเป็นมนุษย์ จะมีผะหยาเป็นภาษาอีสานที่ผีโขนพูดกับพระเวสสันดร โดยภูติผีเหล่านี้จะแห่เป็นขบวนสุดท้าย เรียกว่า "เซิ้งผีโขน" ศูนย์ส่งเสริมการท่องเที่ยวและอนุรักษ์วัฒนธรรมบ้านไฮหย่องที่ปิดตาย เป็นประจักษ์พยานชั้นดีที่สะท้อนถึงประสิทธิภาพการทำงานขององค์กรการปกครองส่วนท้องถิ่น ในขณะที่ "ห้องจริยวัฒนธรรม" แม้เป็นเพียงเฟืองเล็ก ๆ ในโรงเรียน แต่กลับทำหน้าที่และมีบทบาทในการเป็นคลังความรู้ของเด็กนักเรียนและคนในชุมชนได้เป็นอย่างดี

ข้อมูลจาก:
1. การสำรวจภาคสนามโดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร วันที่ 28 พฤศจิกายน 2547
2. สัมภาษณ์อาจารย์สมจิต ทิพย์มณี โรงเรียนบ้านไฮหย่อง วันที่ 28 พฤศจิกายน 2547
ชื่อผู้แต่ง:
-