ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมผู้ไทยผ้าไหมแพรวา เฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี


ที่อยู่:
176 หมู่ 2 ต.โพน อ.คำม่วง จ.กาฬสินธุ์ (ข้างสำนักงานเทศบาลบ้านโพน)
โทรศัพท์:
043-856157
วันและเวลาทำการ:
วัน-เวลาราชการ
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
เว็บไซต์:
ปีที่ก่อตั้ง:
2556
ของเด่น:
โมเดลจำลองประวัติความเป็นมาของชาวผู้ไทยบ้านโพนและประเพณีสำคัญในรอบปี
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมผู้ไทยผ้าไหมแพรวาบ้านโพน

เมกา โปรเจ๊ค ในท้องถิ่น

การเยี่ยมชมศูนย์ศิลปวัฒนธรรมผู้ไทยผ้าไหมแพรวา ที่ตั้งอยู่ข้างสำนักงานเทศบาลบ้านโพนในวันที่เข้าสำรวจนี้ สร้างความรู้สึกหลายอย่างให้กับผู้เขียน แม้ท่านปลัดเทศบาล “ณฐอร การถัก” จะกล่าวย้ำว่าในการสนทนาว่า ในตอนนี้ ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมยังไม่แล้วเสร็จเต็มรูปแบบ แต่เมื่อมองกลุ่มอาคารที่สร้างขึ้นใหม่เพื่อกำหนดไว้เป็น “แลนด์มาร์ก” ให้กับบ้านโพนนั้น คงสร้างความประทับใจให้กับผู้มาเยือนในครั้งแรกได้อยู่ไม่น้อย

ปลัดฯ ณฐอร เท้าความถึงการทำงานระหว่างเทศบาลกับสถานศึกษาในพื้นที่อย่างมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ที่ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ในการนำนักศึกษามาศึกษาชุมชนและใช้เป็นฐานในการออกแบบอาคารที่สะท้อนให้เห็นเอกลักษณ์ท้องถิ่นเมื่อ พ.ศ. 2554 โดยให้ความสำคัญกับการทำประชาคมกับชาวบ้านที่เข้าร่วมกิจกรรม ประจวบกับในช่วงเวลานั้น โครงการพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาลต้องการเชื่อมโยงเส้นทางสายตะวันตกและตะวันออกหรือที่เรียกว่า อีสต์ เวสต์ คอริดอร์ ทำให้เส้นทางสายรองกลายเป็นเส้นทางสายหลัก โดยเชื่อมโยงจากมุกดาหารไปถึงแม่สอด จังหวัดตาก

จึงมีการนำเสนอโครงการที่ได้รับการพัฒนาในเบื้องต้นแล้ว เสนอไปยังจังหวัดและได้งบประมาณในการก่อสร้างเบ็ดเสร็จเป็นจำนวนเงินประมาณ 49 ล้านบาท โครงการศูนย์ศิลปวัฒนธรรมจึงถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการ และดำเนินการจัดจ้างโดยจังหวัด เริ่มก่อสร้างเมื่อ พ.ศ.2556 แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ.2558 โดยศูนย์ศิลปวัฒนธรรมแห่งตั้งอยู่บนที่ดินสาธารณประโยชน์ของชุมชน และเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2558.

กลุ่มอาคารและกิจกรรมต่อเนื่อง

ตัวอาคารก็จะเป็นเหมือนเราจำลองบ้านผู้ไทยโบราณแต่เอาผสมให้ร่วมสมัย ด้วยการเปลี่ยนแปลงใช้วัสดุที่มีความมั่นคง แต่ยังมีกลิ่นอาย เช่น การมุงหลังคาแบบเดิมนั้นใช้ไม้จริง แต่เรามาใช้กระเบื้องที่มีลักษณะคล้าย ๆ ไม้ แต่คงรูปแบบที่เป็นจั่วทรงอีสาน หรือสะท้อนความเป็นสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น ในตัวอาคาร

ปลัดฯ ณฐอร ถ่ายทอดแนวคิดหลักในการสร้างอาคารและพื้นที่ใช้สอยทั้ง 7 ส่วนที่สามารถใช้พื้นที่ในการประกอบกิจกรรมได้อย่างครบวงจร อาคารหลังด้านหน้าสุดจะเป็นสถานที่ตั้งอาคารชั้นเดียว และได้รับการกำหนดไว้เป็น “ศูนย์ข้อมูลข่าวสาร” ภายในจัดแสดงในปัจจุบัน นำเสนอข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับบ้านโพน งานศิลปะหัตถกรรมหรือผ้าไหมแพรวาซึ่งเป็น “ของดี” ของจังหวัดกาฬสินธุ์ แม้ข้อมูลต่าง ๆ อยู่ในรูปแบบของบอร์ดนิทรรศการที่ทำขึ้นอย่างง่าย ๆ แต่ผู้ที่สนใจสามารถเรียนรู้ข้อมูลที่สำคัญในพื้นที่และเชื่อมโยงไปยังฐานการเรียนรู้ที่ตั้งอยู่ในชุมชน ท่านปลัดกล่าวว่าจะพัฒนาตรงนี้ให้มีความสง่างามมากยิ่งขึ้น เพื่อให้คนสามารถเข้ามาสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมได้อย่างแท้จริง

ต่อเนื่องจากศูนย์ข้อมูล เป็นอาคารหลังที่สอง ที่ได้รับการกำหนดไว้เป็นอาคารพิพิธภัณฑ์ โดยพื้นที่ด้านล่างเป็นการจำลองประวัติความเป็นมาและประเพณีสำคัญของบ้านโพนใน 9 ส่วนเนื้อหาด้วยกัน ได้แก่ การอพยพ การสร้างบ้านแปงเมือง สภาพชุมชน วิถีชีวิต การแต่งงาน งานศพ ฟ้อนรำ ผ้าไหมแพรวา บุญบั้งไฟ การจำลองเนื้อหาเป็นไปในลักษณะเดียวกัน นั่นคือการปั้นหุ่นบุคคลในอากัปกริยาต่าง ๆ จำลองไว้ในตู้ใส โดยมีคำอธิบายประกอบเนื้อหาขนาดสั้น

ในส่วนนึ้ ท่านปลัดกล่าวด้วยว่าชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบความถูกต้อง เกิดการท้วงติงแบบเสื้อผ้าและมีการแก้ไขตามความเหมาะสม ซึ่งสะท้อนให้เห็นการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ ในด้านบน โครงการในอนาคตกำหนดจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ชุมชน ซึ่งในตอนนี้เป็นห้องโล่ง แต่เริ่มทยอยรับข้าวของเครื่องใช้จากสมาชิกในชุมชนเพื่อเตรียมการจัดตั้ง โดยต้องมองหาผู้เชี่ยวชายในการให้คำแนะนำ อย่างไรก็ดี หากผู้ชมเดินออกจากอาคาร 2 มายังอาคาร 3 ระหว่างทางจะพบเรือนผู้ไทยจำลองไว้กลางแจ้ง เพื่อแสดงให้เห็นรูปทรงและวัสดุของสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น

อาคารหลังที่ 3 เป็นอาคารหอประชุม ที่สามารถจุคนได้ประมาณ 350 คน  ภายในเป็นห้องโล่งและมีโต๊ะเก้าอี้พร้อมสำหรับการจัดประชุม หรือทำอีเว้นต์ภายข้างในตัวอาคาร มีเวทียกพื้นสูงพร้อมเครื่องเสียง กิจกรรมในลักษณะหนึ่งคือการใช้พื้นที่หอประชุมเป็น “โรงเรียนผู้สูงอายุ” ที่ให้ผู้สูงอายุในบ้านโพนเข้าร่วมกิจกรรมและพบปะสมาชิกในชุมชน ส่วนที่ 4 เป็นสนามหญ้าตรงกลางที่เชื่อมอาคารต่าง ๆ เข้าไว้ด้วยกัน ความตั้งใจคือการจัดพาแลงสำหรับต้อนรับหมู่คณะ มีการจัดดนตรี และปัจจุบันดำเนินโครงการตลาดประชารัฐเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจในระดับรากหญ้า

ส่วนที่ 5 เป็นอาคารอเนกประสงค์ กำหนดให้ผู้ประกอบการมาขายสินค้า ซึ่งบางส่วนเอื้อให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนมาใช้ประโยชน์ในการทำกิจกรรม ณ ปัจจุบัน ทางเทศบาลบ้านโพนเข้ามาใช้อาคารเป็นการชั่วคราว จากอาคารอเนกประสงค์จะมีทางเดินเชื่อมระหว่างอาคารที่มีหลังคาคลุม (cover way) ไปยังหอชมเมือง หอชมเมื่อดังกล่าวมีความสูงประมาณ 14 เมตร นักท่องเที่ยวสามารถดูทัศนียภาพของบ้านโพนได้ สุดท้ายเป็นบริเวณสำหรับจดรถด้านหน้าอาคารอเนกประสงค์และด้านข้างอาคารศูนย์ข้อมูลข่าวสาร

ความท้าทายในอนาคต

การดูแลอาคารและการจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่องนับเป็นความท้าทายของหน่วยงานที่ดูแลอย่างเทศบาล เพราะงบประมาณที่ใช้ในการบำรุงรักษาเป็นส่วนหนึ่ง การต่อยอดสร้างพิพิธภัณฑ์ยังต้องใช้งบประมาณอีกจำนวนหนึ่ง ท่านปลัดกล่าวว่าศูนย์ศิลปวัฒนธรรมคงเป็นที่รู้จักมากขึ้นเป็นลำดับ เพราะคนในพื้นที่เอง เช่นนักศึกษา นักเรียน เริ่มเข้ามาใช้สถานที่แห่งนี้เพื่อทำโครงงานของสถานศึกษา หรือเอกชนมาใช้เป็นสถานที่ประกอบการถ่ายภาพในวาระพิเศษ

ในปัจจุบัน ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมยังกลายเป็นส่วนหนึ่งของการจัดงานประจำปี “แพรวา พุทราหวาน” ซึ่งเป็นงานประจำปีของบ้านโพนในการนำเสนอผลิตภัณฑ์ผ้าทอไหมแพรวาและสินค้าการเกษตรอย่างพุทรา ภายในงานยังเปิดให้มีการประกวดเครื่องจักสาน ผ้าไหมแพรวา ประกวดการทอผ้า ประกวดการสาวไหม โดยมีผู้เชี่ยวชาญและปราชญ์ชาวบ้านเป็นผู้ตัดสิน ทั้งหมดนี้กล่าวได้ว่าเป็นการลงทุนของภาครัฐกับการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่ผนวกเอาวัฒนธรรมเป็นกลไกส่วนหนึ่งในการทำงาน และเงินงบประมาณที่จะมาใช้หมุนเวียนในการจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมหรือส่งเสริมการท่องเที่ยวจะได้รับการจัดสรรต่อเนื่องหรือไม่เพียงใด คงเป็นสิ่งที่ต้องจับตาดู

อ้างอิง

“ฟ้อนรำเปิดศูนย์ศิลปวัฒนธรรมผู้ไทยผ้าไหมแพรวาฯบ้านโพน,” จาก https://www.youtube.com/watch?v=tG 237AnU760, เข้าถึงเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2561.

“รายละเอียดโครงการพัฒนา แผนพัฒนาพัฒนาท้องถิ่นสี่ปี - เทศบาล ตำบล โพน,” จากwww.poncity.go.th/fileupload /57122.docx, เข้าถึงเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2561.

ณฐอร การถัก, “ความเป็นมาและเนื้อการจัดแสดง ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมผู้ไทยผ้าไหมแพรวา,” สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2561 ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมผู้ไทยผ้าไหมแพรวา, ตำบลโพน อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์.

ชื่อผู้แต่ง:
-

ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมผู้ไทยผ้าไหมแพรวา เฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี

บ้านโพน เป็นหมู่บ้านที่มีชื่อเสียงด้านการทอผ้าไหมที่เรียกว่าผ้าไหมแพรวา ได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนจากโครงการศูนย์ศิลปาชีพพิเศษ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จเยี่ยมพสกนิกร ชาวอำเภอคำม่วง เมื่อปี พ.ศ.2520 ทำให้บ้านโพนได้รับการฟื้นฟูและเกิดกลุ่มอาชีพทอผ้าไหมแพรวาบ้านโพน ตำบลโพน อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ ขึ้น

ในปี 2556 มีโครงการปรับปรุงพื้นที่การจัดแสดงและอาคาร โดยได้รับความร่วมมือด้านวิชาการจาก คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ผังเมืองและนฤมิตรศิลป์และคณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคามในการศึกษาออกแบบและจัดเก็บรวบรวมข้อมูลของชุมชนเพื่อจัดแสดง ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากจังหวัดกาฬสินธุ์ในการจัดหางบประมาณผ่าน สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด จนได้รับการอนุมัติงบประมาณก่อสร้างจากรัฐบาล เมื่อปี 2556 จนแล้วเสร็จในปี 2557

ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมผู้ไทยผ้าไหมแพรวา เฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี มีพิธีเปิดวันที่ 7 สิงหาคม 2558 ประกอบด้วย

1.หอชมเมือง ด้านบนชั้นสองเป็นพื้นที่ชมภาพและถ่ายภาพมุมสูงของโครงการและชุมชนบ้านโพน
2.อาคารต้อนรับของโครงการพื้นที่ภายในมีส่วนพักคอย ศูนย์บริการข้อมูลการท่องเที่ยวและสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้ที่มาเยี่ยมชม
3.อาคารนิทรรศการพิพิธภัณฑ์คติชนวิทยาผู้ไทยบ้านโพน ชั้นล่างจัดแสดงหุ่นปั้นวิถีชีวิต ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ของชุมชนบ้านโพน ชั้นสองจัดเป็นส่วนจัดแสดงนิทรรศการหมุนเวียน
4.อาคารศูนย์เรียนรู้ชุมชน ชั้นล่างเป็นพื้นที่จัดกิจกรรมการเรียนรู้ ชั้นบนเป็นห้องสมุดและห้องเรียนวัฒนธรรมชุมชน
5.อาคารหอประชุมใหญ่ ขนาด 350 ที่นั่ง สามารถใช้จัดประชุม อบรมความรู้ด้านต่างๆจัดสัมมนาและงานเลี้ยงในวาระต่างๆของชุมชน
6.อาคารสำนักงานวิสาหกิจชุมชน เป็นอาคาร 2 ชั้น ใช้เป็นศูนย์อำนวยการ ส่วนสำนักงานห้องประชุมขนาดเล็ก ส่วนติดต่อประสานงาน ส่วนจัดเก็บและสืบค้นข้อมูลชุมชน


ข้อมูลจาก: https://www.facebook.com/ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมผู้ไทยผ้าไหมแพรวาฯบ้านโพน
ชื่อผู้แต่ง:
-