บ้านอาจารย์ฝรั่ง


ที่อยู่:
สำนักงานตรวจสอบภายในทหารบก เลขที่ 153 ถ.ราชวิถี แขวงวชิระพยาบาล เขตดุสิต กทม. 10300
โทรศัพท์:
02-2410051
วันและเวลาทำการ:
เปิดเฉพาะวันพุธ เวลา 9.00-15.00 น.
ค่าเข้าชม:
ไม่เสียค่าเข้าชม
ปีที่ก่อตั้ง:
2559
ของเด่น:
บ้านหลังแรกในเมืองไทยที่อาจารย์ศิลป พีระศรี มาอาศัยอยู่พร้อมกับครอบครัว
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

บ้านปูนสองชั้นสถาปัตยกรรมแบบฝรั่งหลังงามภายในสำนักงานตรวจสอบภายในทหารบก ปลายถนนราชวิถี เชิงสะพานซังฮี้ น้อยคนนักที่จะทราบว่าครั้งหนึ่งอาจารย์ศิลป์ พีระศรี บิดาแห่งวงการศิลปะร่วมสมัยไทย และผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากร เคยพำนักอยู่ราว 8 ปี เมื่อแรกเข้ามารับราชการในตำแหน่งช่างปั้น สังกัดกรมศิลปากร ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6

แม้ก่อนหน้านี้จะปรากฏภาพถ่ายเก่าบ้านหลังแรกของอาจารย์ศิลป์ แต่ไม่มีใครตามหาอย่างจริงจังว่าบ้านหลังนี้อยู่ที่ไหน จนกลางปี พ.ศ. ๒๕๕๙ ศิษย์เก่าท่านหนึ่งได้ลงภาพถ่ายเก่าของบ้านในโซเซียลมีเดีย และได้รับความสนใจจากศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยศิลปากร จนมีการสืบหาและพบที่ตั้งของบ้าน นำไปสู่การประสานกับหน่วยงานที่ถือกรรมสิทธิ์ คือสำนักงานตรวจสอบภายในทหารบก และด้วยร่วมมือจากมหาวิทยาลัยศิลปากร นำไปสู่การเปิดบ้านให้สาธารณชนได้รู้จักอาจารย์ศิลป์ พีระศรี และชื่นชมสถาปัตยกรรมของตัวบ้านในนาม “บ้านอาจารย์ฝรั่ง”

จากบ้านพระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ(นพ ไกรฤกษ์) ถึงอาคารเลขที่ 3/96
 

ที่ตั้งของสำนักงานตรวจสอบภายในทหารบก เดิมคือบ้านของพระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ(นพ ไกรฤกษ์) ต้นตระกูลไกรฤกษ์ พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภถวายตัวเข้ารับราชการครั้งแรกเป็นมหาดเล็กในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่  5 ได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยให้เป็นผู้ตามเสด็จอย่างใกล้ชิดโดยตลอด และได้ปฏิบัติราชการสนองพระเดชพระคุณมีความชอบตลอดมา ปี พ.ศ. 2442 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานที่ดินริมถนนซางฮี้นอก(ถนนราชวิถี) ให้เจ้าหมื่นสรรพเพธภักดี(ยศในตอนนั้น) ปลูกสร้างบ้านพักอาศัย และยังพระราชทานเงิน 300 ชั่ง สำหรับสร้างตึกเป็นที่อยู่ในที่ๆ พระราชทานใหม่ และวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2448 ได้เสด็จพระราชดำเนินเหยียบบ้านเพื่อเป็นสิริมงคล พร้อมกับสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ(รัชกาลที่ 6)  (พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ(นพ ไกรฤกษ์) 2553)

พันเอกสนิท มีแสง นายทหารบกที่เคยทำงานกว่า 35 ปีในรั้วอดีตบ้านพระยาบุรุษรัตนราชพัลลภและได้รับมอบหมายดูแลการเปิดบ้านอาจารย์ฝรั่งของสำนักงานตรวจสอบภายในทหารบก เล่าถึงการใช้เข้ามาใช้พื้นที่ของทหารบกว่า
“สันนิษฐานว่าด้วยภาวะเศรษฐกิจตกต่ำหลังสงครามโลกครั้งที่ 2  การซ่อมแซมอาคารทั้งหมดอาจจะเป็นภาระ จึงมีการบอกขายบ้านพระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ ให้กับกองทัพบก ในปี พ.ศ. 2495  โดยเมื่อปี พ.ศ. 2496-2521 อาคารบ้านพระยาบุรุษรัตนราชพัลลภถูกใช้เป็นที่ทำการกรมการทหารสารวัตรทหารบก  จากนั้นทหารบกได้ยกให้เป็นทรัพย์สินแผ่นดิน คือกรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา 14 พฤศจิกายน 2521  และนับแต่ปี พ.ศ. 2522 สำนักงานตรวจสอบบัญชีกองทัพบก ซึ่งเป็นหน่วยงานตั้งใหม่ก็เข้ามาใช้พื้นที่อาคารบริวารหลังนี้และรับผิดชอบพื้นที่ทั้งหมด ราวปี พ.ศ. 2532 สำนักงานได้ตึกที่ตั้งใหม่จึงย้ายออก และเปลี่ยนชื่อจากสำนักงานตรวจสอบบัญชี เป็นสำนักงานตรวจสอบภายในทหารบก ส่วนอาคารหลังนี้ใช้เป็นสำนักงานปลัดบัญชีของทหารบก และล่าสุดเมื่อราวเดือนตุลาคม 2559 ใช้เป็นสำนักงานอนุกรรมการของคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้งบประมาณภาครัฐ ก่อนจะเปิดเป็นบ้านอาจารย์ฝรั่ง”

“บ้านอาจารย์ฝรั่ง” เป็นบ้านบริวารหนึ่งในสามหลังของบ้านพระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ ตัวบ้านเคยได้รับการซ่อมแซมครั้งใหญ่ในปี พ.ศ.2545 โดยกรมศิลปากร หากเปรียบเทียบกับภาพถ่ายเดิมบ้านก่อนอนุรักษ์จะเห็นว่ามีการเปลี่ยนแปลงสภาพบ้านบริเวณชั้นบน คือ มีการรื้อผนังไม้กั้นบริเวณระเบียงชั้นบนทิศตะวันตกที่ถูกต่อเติมในภายหลังออก พันเอกสนิท เล่าเพิ่มเติมว่า

“เป็นที่น่าสังเกตว่าอาคารหลังนี้ได้ถูกใช้งานบ้านไม่ใช้งานบ้างมาหลายยุคหลายสมัย แล้วอาคารก็มีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติม ผมจำได้ว่ามีการซ่อมแซมครั้งใหญ่สุดเลยคือในปี พ.ศ. 2545 เปลี่ยนหลังคาที่เป็นกระเบื้องว่าวเป็นหลังคากระเบื้องเป็นลอนแบบปัจจุบัน เปลี่ยนอันที่สองก็คือหน้ามุข ชั้น ๒ ทางทิศตะวันตกของหลัง ซึ่งเดิมมีการปิดกั้นเอาไว้ เป็นเหมือนไม้กั้นทั้งแถบเลย ก็ถูกรื้อออก แต่ผมเข้าใจว่าของเดิมน่าจะยังไม่มี แล้วก็อยากทำเพิ่มเติมมาทีหลัง แล้วก็มาถูกรื้อออกในปี พ.ศ. 2545 เพราะว่าผมเห็นรูป มันจะมีลูกกรง ซึ่งเป็นกรงเหมือนกับชั้นล่างที่เป็นฐานเดิม แล้วก็อีกอันหนึ่งที่เปลี่ยนคือ พื้นระดับ จากเดิมปี พ.ศ. 2525 ที่มีการถ่ายรูปเอาไว้ซึ่งเข้าใจว่าเป็นกรมศิลปากรที่มาถ่ายไว้ ผมว่ามันมีบันไดอยู่ขั้นหนึ่ง แต่เดิมเข้ามาจะเห็นแค่ 5 ขั้น ก็แสดงว่าพื้นถูกยกระดับไว้หนึ่งขั้น เพราะฉะนั้นจะเห็นว่าในภาพที่เปลี่ยนไป โครงสร้างหลักไม่เปลี่ยน แต่เข้าใจว่าน่าจะเพิ่มพื้นที่แล้วบันไดนี่หายไป อย่างกระเบื้องสามารถจะรับแดดรับฝนได้ดีขึ้น...อาคารนี่ขนาดกว้างยาว 14 เมตร ถ้าคำนวณพื้นที่ทั้งสองชั้น จะเป็นบ้านที่มีขนาดพื้นทีเท่ากับ 392 ตารางเมตร ถือว่าเป็นบ้านที่ใหญ่พอสมควร”

ปัจจุบันสำนักงานตรวจสอบภายในทหารบก ได้ทำทะเบียนบ้านเก่าที่ติดมากับพื้นที่เดิมทั้งสี่หลัง อาคารบ้านพระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ ที่เป็นบ้านประธาน ทะเบียนเลขที่ 1/96 ส่วนบ้านอาจารย์ฝรั่ง คือเลขที่ 3/96  อีกสองหลังที่เป็นบ้านบริวาร หลังหนึ่งอยู่หัวมุมถนน ด้านที่ติดกับวัดราชผาติการาม เลขที่ 2/96 ติดกันคืออาคารเลขที่ 4/96 ได้ใช้ทำเป็นพื้นที่ร้านกาแฟสวัสดิการ

เปิดบ้าน “อาจารย์ฝรั่ง”
 

ประวัติเกี่ยวกับอาจารย์ศิลป์ พีระศรี ในหนังสือหลายเล่มพูดตรงกันว่า ท่านเดินทางเข้ามาในประเทศไทยพร้อมกับครอบครัว โดยได้รับเงินเดือนๆ ละ 800 บาท ค่าเช่าบ้าน 80 บาท (เขียน ยิ้มศิริ 2545, 11) วันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2467 คือวันที่ช่างปั้นชาวอิตาเลียนนาม คอร์ราโด เฟโรจี (Corrado Feroci) ทำสัญญาจ้างทำงานกับรัฐบาลสยาม 
ชัดเจนว่าบ้านหลังแรกที่อาจารย์ศิลป์เข้ามาอยู่คือบ้านริมถนนราชวิถี เนื่องจากปรากฎชื่อถนนราชวิถีบนหัวจดหมายของอาจารย์ศิลป์ที่เขียนถึงกาลิเลโอ คินี ก่อนที่ท่านจะย้ายไปอยู่บ้านที่สีลม และพระโขนง ตามลำดับในเวลาต่อมา
แม้ว่าจะมีภาพถ่ายบ้านหลังแรกที่อาจารย์ศิลป์เคยมาพำนัก แต่ไม่มีใครตามหาอย่างจริงจังว่าบ้านหลังนั้นตั้งอยู่ตรงไหนและปัจจุบันยังอยู่หรือไม่ จนเมื่อกลางปี พ.ศ. 2559 มีการโพสต์ภาพบ้านหลังดังกล่าวในเฟซบุ๊กโดยศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยศิลปากรท่านหนึ่ง ว่าบ้านหลังดังกล่าวอยู่ในพื้นที่สำนักงานตรวจสอบภายในทหารบก เชิงสะพานซังฮี้ นำมาไปสู่การประสานความร่วมมือระหว่างสำนักงานตรวจสอบภายในทหารบก มหาวิทยาลัยศิลปากร เพื่อยืนยันข้อเท็จจริงและร่วมกันดำเนินงานฟื้นคืนชีวิตบ้านหลังนี้ขึ้นมาในนาม “บ้านอาจารย์ฝรั่ง”

“พอเห็นในเฟซบุ๊ก ทางผู้บังคับบัญชาผม ท่านก็ให้พวกเราทางฝ่ายเสธฯ ให้ไปติดต่อคุณประสพชัย แสงประภา ว่าท่านมั่นใจได้อย่างไรว่าที่นี่เป็นบ้านที่อาจารย์ศิลป์เคยมาอยู่ จึงเรียนเชิญท่านประสบชัยมาพบผู้บังคับบัญชา เพื่อขอให้ท่านยืนยัน ทางเราก็ได้ค้นคว้าเอกสารเพิ่มเติม แล้วผมเองก็ได้ไปดูภาพในเอกสารในหนังสือ ๙๐ ปี อาจารย์ศิลป์ ที่เขียนว่าบ้านพักหลังแรกที่ทางการจัดให้เมื่อมาอยู่ในเมืองไทย...ถ้าหากว่าทางมหาวิทยาลัยยืนยันได้ว่ารูปอันนี้มันใช่ ผมก็ยืนยันว่าใช่ แล้วก็ติดต่อไปทางมหาวิทยาลัยศิลปากร ได้เชิญท่านอธิการบดีมาดูบ้านและคุยเพื่อให้ท่านยืนยันอีกครั้งหนึ่งว่าบ้านนี้ท่านอาจารย์ศิลป์มาพักอยู่จริง ถามว่าท่านพักอยู่กี่ปี เท่าที่ผมพิสูจน์ทราบได้ ท่านน่าจะพักอยู่ประมาณ 8 ปีด้วยเหตุผลที่ว่าในปี พ.ศ. 2474 มีจดหมายของอาจารย์ศิลป์ถึงกาลิเลโอ คีนิ ที่ท่านนับถือเป็นอาจารย์ ในหัวจดหมายเขียนชัดเจนคำว่า Rajvithi Roadแต่หลังจากนั้น ปี พ.ศ. 2477-2478 ท่านมีบ้านพักหลังที่สองคือที่ถนนสาทร เพราะฉะนั้นเราก็ยืนยันแค่ว่าท่านได้มาพักอยู่ที่ 8 ปี แต่อาจจะเป็น 9 ปีก็ได้ ไม่น่าจะเกินนั้น”

แม้ในตอนนั้นสำนักงานตรวจสอบภายในทหารบก จะไม่รู้จักอาจารย์ศิลป์ พีระศรี เท่ากับคนที่อยู่ในแวดวงศิลปะ แต่ทีมงานได้ค้นคว้าเพิ่มเติมและรับรู้ถึงชื่อเสียงและคุณูปการที่อาจารย์ศิลป์ มีแต่ประเทศ จึงเรียนผู้บังคับบัญชาและเห็นว่าตัวบ้านมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ และควรเชิดชูผลงานอาจารย์ศิลป์ จึงได้ปรึกษากับมหาวิทยาลัยศิลปากรเพื่อเปิดบ้านให้คนได้เข้าชม โดยเลือกวันที่ 14 มกราคม 2560 ที่เป็นวันครบรอบที่ท่านเดินทางมาอยู่ในประเทศไทย เป็นวันเปิดตัวบ้านครั้งแรก

ด้วยที่ว่า คำว่า “อาจารย์ฝรั่ง” เป็นชื่อเรียก Professor Corrado Ferociของลูกศิษย์ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร และในช่วงเวลาที่ท่านพำนักในบ้านหลังนี้ท่านยังไม่ได้เปลี่ยนชื่อเป็นศิลป์ พีระศรี สำนักงานตรวจสอบภายในทหารบกจึงเลือกชื่อนี้อันที่มาของชื่อ “บ้านอาจารย์ฝรั่ง”

จุดมุ่งหมายและสารสำคัญที่ “บ้านอาจารย์ฝรั่ง” ต้องการสื่อถึงคือความสำคัญของอาคาร คือการเป็นบ้านหลังแรกของอาจารย์ศิลป์ ที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ พันเอกสนิท มีแสง ผู้มีส่วนในการบริหารจัดการเล่าถึงจุดมุ่งหมายดังกล่าวว่า

“อาคารที่อยู่ในขณะนี้เราไม่ได้ใช้ประโยชน์ด้วยเหตุผลที่ว่าอาคารมีอายุค่อนข้างมาก การที่จะตั้งเป็นสำนักงานแล้วมีคนมานั่งทำงานเยอะๆ นี่ก็เกรงว่าจะมีผลกระทบต่ออาคาร ซึ่งตอนหลังเราเริ่มมองเห็นคุณค่าทางสถาปัตยกรรม เพราะเป็นอาคารที่สร้างมาแล้วกว่า 100 ปีแน่นอน โชคดีที่ว่าอาคารหลังนี้มีสภาพที่ค่อนข้างจะสมบูรณ์และสำคัญ...ตอนนั้นท่านยังไม่เป็นที่รู้จักของศิษย์ เป็นช่วงที่ท่านอยู่กับครอบครัวอย่างแท้จริง เพราะฉะนั้นเชื่อว่าอาคารมีคุณค่าต่อลูกศิษย์ของท่านที่มองท่านในมิติของบ้าน ไม่ใช่ที่ทำงานอย่างที่รู้ๆ กัน และสำคัญมากกว่านั้นคือ บ้านหลังนี้เป็นบ้านหลังแรก และคงสภาพมากที่สุด เป็นบ้านที่ท่านอยู่แล้วมีความสุข...”

เนื่องจากไม่มีภาพถ่ายหรือบันทึกใดที่เป็นหลักฐานการใช้งานของครอบครัวอาจารย์ศิลป์ในพื้นที่บ้านหลังนี้ การจัดแสดงทั้งหมดจึงจัดแสดงภาพถ่ายเก่าของอาจารย์ศิลป์และครอบครัว ภาพถ่ายผลงาน และประวัติความเป็นมาของบ้านพระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ ที่นำไปตั้งไว้ตามมุมต่างๆ ของตัวบ้าน นิทรรศการที่จัดแสดงภายในได้รับการช่วยเหลือจัดทำโดยมหาวิทยาลัยศิลปากร

เมื่อผ่านประตูเข้ามา ชั้นล่างจะมีป้ายแนะนำประวัติของบ้านพระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ (นพ ไกรฤกษ์) ประวัติอาจารย์ศิลป์ พีระศรี  ภาพถ่ายผลงานสำคัญอาทิ รูปปั้นสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ รูปปั้นพระบรมรูปรัชกาลที่ 6 อนุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช อนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช อนุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช
         
ห้องโถงใหญ่ บริเวณมุขด้านหน้า โดดเด่นด้วยรูปปั้นอาจารย์ศิลป์ครึ่งตัว พื้นที่รายรอบเป็นภาพถ่ายอาจารย์ศิลป์ขณะทำงานในอิริยาบทต่างๆ ซึ่งภาพถ่ายส่วนใหญ่ล้วนแล้วเป็นภาพที่ตีพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือที่เกี่ยวกับอาจารย์ศิลป์มาแล้ว

“ตอนแรกเราคิดว่าน่าจะเปิดแค่ชั้นล่าง ต่อมามหาวิทยาลัยศิลปากรเข้ามาดู บอกว่าชั้นชนจะปล่อยให้ว่างไปเลยก็ยังไงอยู่ ควรจัดแสดงชั้นบนอาคารด้วย เพื่อโชว์คุณค่าอาคารในเชิงสถาปัตยกรรม”

ห้องด้านหนึ่งชั้นบนจึงจัดแสดงภาพถ่ายอาจารย์ศิลป์ พร้อมกับภรรยา บุตรสาว และบุตรชาย บางภาพสันนิษฐานว่าถ่ายในบริเวณหน้าบ้านหลังนี้  มุมหนึ่งจัดแสดงหนังสือประวัติและผลงานของอาจารย์ศิลป์

ส่วนบริเวณโถงกลาง แสดงโครงสร้างอาคาร โดยเปิดพื้นไม้ขนาดกว้างและยาวราว 1 ฟุต เพื่อให้เห็นโครงไม้ด้านล่างของตัวบ้าน  ด้านข้างมีป้ายอธิบายสถาปัตยกรรมของตัวเรือนบ้านพระยาบุรุษรัตนราชพัลลภว่า ได้รับอิทธิพลสถาปัตยกรรมวิคตอเรียน เรเนอซองส์ โดยอาศัยช่างชาวต่างประเทศชุดเดียวกับที่สร้างพระที่นั่งอนันตสมาคม โดยพระยาบุรุษรัตนราชพัลลภเป็นผู้วางแปลนเองทั้งหมด แต่ไม่ได้อธิบายในส่วนอาคารบริวารหลังนี้ เข้าใจว่าไม่มีข้อมูลบันทึกไว้

ด้วยความที่ไม่มีบันทึกเกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ของครอบครัวอาจารย์ศิลป์ในบ้านหลังนี้ ในวันเปิดบ้านจึงจัดพิมพ์ คำสัมภาษณ์ของแม่พิมพ์ รัตนพันธุ์ ผู้ที่เคยเป็นเด็กรับใช้ใกล้ชิดกับครอบครัวอาจารย์ศิลป์ บันทึกโดยชัยนันท์ ชอุ่มงาม ที่เคยลงไว้ใน “ข่าวสารช่างศิลปะ รุ่น 14/2508 ฉบับที่ 7 “ศิลปะ พีระศรี สรรเสริญ” เดือนมิถุนายน 2551 เพื่อประกอบการชมตัวบ้าน ซึ่งให้ภาพทั้งชีวิตประจำวัน อุปสรรคด้านภาษา อุปนิสัยของอาจารย์ศิลป์และภรรยา และความสุขเล็กๆน้อยๆ ของครอบครัวในดินแดนใหม่

 “นายฝรั่งเป็นคนขยันขันแข็งมาก ขนาดทำงานหนักที่ทำงาน กลับมาบ้านยังไม่หายเหนื่อยก็ตรงเข้าห้องทำงาน พอใกล้เวลาอาหารก็จะอาบน้ำอาบท่า ทานอาหารเสร็จจะนั่งพักอยู่สักครู่แล้วก็เข้าห้องทำงานต่อเช่นนี้ทุกวันเป็นนิจสิน วันหยุดราชการท่านก็ไม่พัก จะจ้างเด็กๆ หรือคนในย่านนั้นมาเป็นแบบปั้น คุณแม่พิมพ์เองก็เป็นแบบให้ท่านปั้นอยู่บ่อยๆ จนรูปปั้นเต็มห้องไปหมด...ครั้งหนึ่งนายฝรั่งเคยเป็นอีสุกอีใสเพราะติดไปจากคุณแม่พิมพ์เอง คุณพ่อจองท่านจึงทำยาเขียวให้นายทาน นายก็ทานโดยไม่อิดเอื้อน พร้อมให้เหตุผลว่า อยู่เมืองร้อนเวลาป่วยไข้ก็ต้องกินยาของเมืองร้อน เมื่ออยู่เมืองหนาวก็ต้องกินยาของเมืองหนาวจึงจะหาย”

พันเอกสนิท มีแสง เรี่ยวแรงสำคัญในการค้นคว้า ประสานงาน และจัดการดูแลบ้านอาจารย์ฝรั่ง และเป็นผู้ที่เห็นความเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ ตลอดกว่า 35 ปีที่เขาทำงานภายในรั้วบ้านพระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ  หวังว่าจะผลักดันให้อาคารเก่าภายในพื้นที่สำนักงานตรวจสอบภายในทหารบก บอกเล่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ได้อย่างเต็มที่

“ผมเองก็ยังไม่ยืนยังคงกระพันอยู่ที่นี่ตลอดไป แต่อย่างน้อยผมก็ภูมิใจที่จุดประกายในเรื่องประวัติศาสตร์หรือว่าในเรื่องความเป็นมาทั้งหมดนี้ ผมได้ตั้งใจว่าผมจะทำมันให้ได้ก่อนเกษียณ อย่างน้อยก็ได้ตอบแทนที่นี่ เพราะผมอยู่ที่นี่มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2526 น่าจะนานกว่าใครทั้งหมด...ในเชิงของการมาเรียนรู้ ทางเราก็ยินดี เพราะคุณค่าที่เก็บไว้นี่ มันยังน้อยอยู่ แต่หากว่าคุณค่าอันนี้ได้ถูกนำไปขยาย ไปใช้ประโยชน์ก็ถือว่าหน่วยงานได้ใช้ประโยชน์อย่างมีคุณค่า”

ข้อจำกัดของการเปิดบ้านอาจารย์ฝรั่ง คือภายใต้หน่วยงานราชการอย่างสำนักงานตรวจสอบภายในทหารบกที่มีภารกิจหลักอยู่แล้ว การทำพิพิธภัณฑ์หรือดูแลอาคารอนุรักษ์เป็นส่วนเพิ่มเติมเข้ามา และ “บ้านอาจารย์ฝรั่ง” ถือว่าเป็นภารกิจที่ไม่ได้คาดคิดมาก่อน แม้บุคลากรมีจำกัด แต่น่ายินดีว่ามีทหารในสังกัดที่สนใจประวัติศาสตร์และยินดีในการจัดการดูแล หน่วยงานหาวิธีการจัดการในแบบที่ตนเองสามารถจัดการได้ คือ เปิดให้เข้าชมเพียงหนึ่งวันต่อสัปดาห์เท่านั้น คือเฉพาะวันพุธ เวลา 9.00 – 15.00 น. เท่านั้น สามารถเดินชมได้โดยตนเองตามอัธยาศัย ไม่มีผู้นำชม ยกเว้นชมเป็นหมู่คณะและติดต่อล่วงหน้า

ปณิตา สระวาสี เขียน

ข้อมูลจาก
 

เขียน ยิ้มศิริ. 2545. "ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี." ใน บทความ ข้อเขียน และงานศิลปกรรมของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี, โดย ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี, 9-23. กรุงเทพฯ: หอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร.
นิพนธ์ ขำวิไล บรรณาธิการ. 2542. อาจารย์ศิลป์กับลูกศิษย์. กรุงเทพฯ: สำนักวิจัยศิลป์ พีระศรี.
พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ(นพ ไกรฤกษ์). 2553. บุรุษรัตน. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ดำรงวิทยา.
สนิท มีแสง,พันเอก. 2560. บ้านอาจารย์ฝรั่ง, วันที่ 22 กุมภาพันธ์ สัมภาษณ์โดย ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ และปณิตา สระวาสี.
 
 
 
 
 
ชื่อผู้แต่ง:
-
คำสำคัญ:
-

ชีวิตที่บ้าน ‘อาจารย์ฝรั่ง’ เปิดบ้านหลังแรก ‘ศิลป์ พีระศรี’

บ้านหลักแรกในเมืองไทยที่อ.ศิลป์ พีระศรี พำนักอยู่ราว 8 ปี พร้อมภรรยาและลูกน้อย 2 คน แม้จะเคยมีการบันทึกไว้ก่อนว่าบ้านหลังนี้อยู่ที่ใด แต่ไม่มีใครตามหาอย่างจริงจังว่าแท้จริงแล้วตั้งอยู่ที่พิกัดใดกันแน่

ดูรายละเอียด      ดูรีวิวทั้งหมดของมติชน +

ชื่อผู้แต่ง:
-
คำสำคัญ:
-
ไม่มีข้อมูล
คำสำคัญ:
-