อนุสรณ์สถานประธานโฮจิมินห์


ที่อยู่:
หมู่บ้านมิตรภาพไทย-เวียดนาม บ้านนาจอก ต.หนองญาติ อ.เมืองนครพนม จ.นครพนม
โทรศัพท์:
089 713 0261, ติดต่อนางสมจิตร ประธานกลุ่มโอมสเตย์บ้านนาจอก, 088 036 6218, ผู้ใหญ่บ้านนาจอก
วันและเวลาทำการ:
ทุกวัน เวลา 8.00-17.00 น.
ค่าเข้าชม:
ไม่เสียค่าเข้าชม
ของเด่น:
ชีวประวัติและหุ่นขี้ผึ้งจำลองประธานโอจิมินห์, บ้านพักจำลองที่ประธานโฮจิมินห์เคยมาพักอาศัยที่บ้านนาจอก
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

อนุสรณ์สถานประธานโฮจิมินห์

นครพนม แหล่งบ่มเพาะนักปฏิวัติชาตินิยมเวียดนาม

นครพนมเป็นพื้นที่อาศัยสำคัญของคนเชื้อสายเวียดนามที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานไทยมาตั้งแต่อดีต  ในราวปี ค.ศ. 1920 นครพนมเป็นเส้นทางเข้าออกจากแถบภาคกลางของเวียดนามของบรรดานักปฏิวัตินักชาตินิยม ข้ามมาจากเวียดนามข้ามลาวแล้วก็เข้ามาที่นครพนม “บ้านนาจอก” จึงเป็นที่บ่มเพาะของพวกกระบวนการชาตินิยมฝ่ายซ้ายที่กลับไปต่อสู้กับฝรั่งเศส ตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 1920 จนถึงปี 1975 หลังสงครามเวียดนามนครพนมกลายเป็นพื้นที่สำคัญเท่าๆ กันกับอุดรธานี ในฐานะของการเป็นศูนย์รณรงค์เรื่องชาตินิยมเวียดนามกับของคนเวียดนามในเมืองไทย

บ้านนาจอก หรือที่ชาวเวียดนามเรียกว่าบ้านใหม่ แม้เป็นหมู่บ้านเล็กๆ แต่เป็นที่รับรู้ของคนไทยและคนเวียดนามอย่างกว้างขวาง เนื่องจากเป็นสถานที่ที่ “ลุงโฮ” หรือโฮจิมินห์ เคยมาเคลื่อนไหวในพื้นที่แห่งนี้อยู่ช่วงเวลาหนึ่ง ราวปี ค.ศ. 1928-1929 โดยโฮจิมินห์เดินทางมาจากทางเรือเข้าไปที่กรุงเทพฯ แล้วนั่งรถไฟต่อไปที่พิจิตร จากพิจิตรเดินเท้าข้ามเขาค้อ เพชรบูรณ์ ลงไปต่อไปยังอุดรธานี โดยการเดินทางกับพรรคพวกอีกราว 5-6 คน เนื่องจากช่วงนั้นอุดรธานี เป็นศูนย์กลางการเคลื่อนไหวใหญ่แห่งหนึ่งของคนเวียดนามในเมืองไทย เรียกได้ว่า นครพนมเป็นทางเข้า ส่วนอุดรเป็นแหล่งบ่มเพาะตรงกลาง และพิจิตรเป็นศูนย์ใหญ่ ชื่อที่โฮจิมินห์ใช้ในการทำงานคือ “เฒ่าจีน” เพราะท่านมีหน้าตาคล้ายคนจีน มีหนวดเครา และพรางตัวเป็นพ่อค้าคนจีนในการเดินทางเพื่อค้าขาย

อนุสรณ์สถานประธานโฮจิมินห์

ความสัมพันธ์ระหว่างเวียดนามและไทยเริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ หลังจากนโยบายเปลี่ยนสนามรบให้เป็นสนามการค้าในสมัยพลเอกชาติชาย ชุณหะวัน เป็นนายกรัฐมนตรี ราวทศวรรษ 2530   จนถึงในปี พ.ศ. 2557 รัฐบาลเวียดนามได้มอบเงินประมาณ 45 ล้านบาท  แก่จังหวัดนครพนมและสมาคมไทยเวียดนาม เพื่อสร้างอนุสรณ์สถานประธานโฮจิมินห์ บนเนื้อที่ 7 ไร่ ภายในหมู่บ้านนาจอก ถือเป็นหนึ่งในนโยบายของเวียดนามที่เรียกว่าการเชิดชูแนวทางคุณธรรมของโฮจิมินห์ เป็นการเผยแพร่เอกลักษณ์ของโฮจิมินห์ในเวียดนามและต่างประเทศ

อนุสรณ์สถานประธานโฮจิมินห์เปิดเป็นทางการเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2559  พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามเคลมว่าที่นี่เป็นอนุสรณ์สถานที่ใหญ่ที่สุดในโลกภายนอกประเทศเวียดนาม และไม่มีหมู่บ้านไหนอีกแล้ว ที่มีอนุสรณ์สถานหรือมีแหล่งประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวกับโฮจิมินห์ถึงสามที่ในหมู่บ้านเดียวกัน แม้กระทั่งในเวียดนามเอง

นั่นคือก่อนหน้านี้ บ้านนาจอก มีพิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับท่านโฮจิมินห์อยู่แล้ว 2 แห่งคือ “หมู่บ้านมิตรภายไทย-เวียดนาม” เป็นนิทรรศการที่จัดขึ้นภายในโรงเรียนประถมเก่าของบ้านนาจอก ที่เกิดขึ้นอันเนื่องมาจากความร่วมมือระหว่างหอการค้าจังหวัดนครกับพิพิธภัณฑ์โฮจิมินห์ (Museum of Ho Chi Minh: MHCM) ของเวียดนาม ในปี พ.ศ. 2547 และ “บ้านท่านโฮจิมินห์” ที่เป็นบ้านของลุงเตียว ซึ่งแกเล่าว่า สถานที่แห่งนี้เคยที่อาศัยของโฮจิมินห์เมื่อครั้งมาเคลื่อนไหวที่บ้านนาจอก เปิดดำเนินการมาตั้งแต่ พ.ศ. 2539

ผังการก่อสร้างสถานที่ภายในอนุสรณ์ฯ มีสิ่งก่อสร้างจำนวนกว่า 11 รายการ  ออกแบบโดยพิพิธภัณฑ์โฮจิมินห์ที่ฮานอย โดยมีสำนักงานโยธาจังหวัดนครพนมมาลงรายละเอียดการสร้าง ด้านหน้ามีซุ้มประตูทางเข้าขนาดใหญ่ประดับด้วยดอกไม้สัญลักษณ์ของทั้งสองประเทศคือ ดอกบัวของเวียดนาม และดอกราชพฤกษ์ของไทย

อาคารที่สำคัญที่สุดคือ “อาคารบูชารูปปั้นโฮจิมินห์” ภายในมีรูปปั้นท่านโฮจิมินห์ในท่านั่ง คล้ายเป็นแท่นบูชาที่ผู้เข้าชมส่วนใหญ่จะนำธูปเทียนมาไหว้บูชา รูปปั้นและของประดับตกแต่งล้วนนำมาจากเวียดนามทั้งหมด ช่างที่สร้างอาคารเป็นช่างเวียดนามที่มีความถนัดในการสร้างงานปูน อาคารเป็นสถาปัตยกรรมแบบเวียดนามที่มีหลังคาอ่อนช้อย มีบ่อน้ำตรงทางเข้าเรื่องของฮวงจุ้ย คือมีด้านหน้าเป็นน้ำด้านหลังเป็นภูเขา  

ในวันเปิดอนุสรณ์สถานแห่งนี้ มีการนำปลาทองจากบ่อน้ำในบ้านพักเดิมของท่านโฮจิมินห์ที่ฮานอยมาปล่อยในบ่อนี้ด้วย คล้ายกับเป็นความพยายามในการเชื่อมโยงเวียดเกี่ยวหรือคนเชื้อสายเวียดนามกับมาตุภูมิ คือแม้ห่างไกลมาตุภูมิแต่ยังมีสายสัมพันธ์กันอยู่  มีการติดคำกลอนต่างๆที่เชื่อมโยงสายสัมพันธ์ เช่น สามัคคี สามัคคี มหาสามัคคี สำเร็จ สำเร็จ มหาสำเร็จ ซึ่งเป็นวลีที่ลุงโฮใช้ในการปลุกใจคนเวียดนามในประเทศหรือแม้กระทั่งต่างประเทศในการสู้กับฝรั่งเศส บริเวณด้านหน้าและรายรอบอาคารประดับประดาด้วยบอนไซในกระถางกระเบื้องเคลือบที่นำมาจากเวียดนามทั้งหมด

อาคารอีกหลังหนึ่งติดกัน ภายในเป็นนิทรรศการเกี่ยวกับการจำลองการเคลื่อนไหวของโฮจิมินห์ที่บ้านนาจอก คือ ลักษณะเป็นไดโอรามาที่ลุงโฮมีการลงมาคุยกับชาวบ้าน รณรงค์เรื่องการช่วยเหลือมาตุภูมิ  พร้อมจัดแสดงภาพถ่ายของโฮจิมินห์และสำเนาเอกสารสำคัญๆ ต่างๆ เช่*9ฑธ็เอกสารรัฐธรรมนูญเวียดนามฉบับที่หนึ่ง คำประกาศอิสระภาพ งานเขียนของโฮจิมินห์ที่เขียนในฝรั่งเศส เส้นทางเดินทางของโฮจิมินห์บนประเทศต่างๆ นอกจากนี้ยังจัดแสดงภาพวาดผีมือของอาจารย์หลี อดีตนายกสมาคมชาวเวียดนามจังหวัดนครพนม 

สิ่งก่อสร้างติดกันเป็น “บ้านพักจำลองจำลองมาจากบ้านของประธานโฮจิมินห์ที่เคยมาอาศัยอยู่ที่บ้านนาจอก (เหมือนกับบ้านท่านโฮจิมินห์ที่อยู่ในพื้นที่ของลุงเตียว) โดยตัวบ้านเป็นบ้านไม้ทั้งหลังชั้นเดียวแบบเวียดนาม มีห้องครัวและยุ้งฉางข้าวแบบดั้งเดิมแยกออกมาจากตัวบ้าน ภายในจัดแสดงภาพถ่ายเหตุการณ์สำคัญต่างๆ ของท่านโฮจิมินห์พร้อมคำบรรยายใต้ภาพสามภาษาคือ ไทย เวียดนาม และอังกฤษ รอบบ้านชาวไทยเชื้อสายเวียดนามนครพนมได้นำต้นไม้มาจากบริเวณรอบบ้านของท่านโฮจิมินห์ที่ฮานอยมาปลูกที่นี่ เช่น ต้นมะม่วง ต้นละมุด ต้นลูกน้ำนม เพื่อที่ผู้มาเยี่ยมชมจะได้รู้สึกถึงความใกล้ชิดของท่านโฮจิมินห์และกลิ่นอายของความเป็นเวียดนามในอนุสรณ์สถานแห่งนี้

ปณิตา สระวาสี เขียน

ข้อมูลจาก:
สำรวจภาคสนามวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2560
สุริยา คำหว่าน, 2560. อนุสรณ์สถานท่านประธานโฮจิมินห์ บ้านนาจอก นครพนม (สัมภาษณ์ วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2560)
http://www.thaiworld.org/thn/thailand_monitor/answera.php?question_id=1528
https://mgronline.com/travel/detail/9610000000756
 
ชื่อผู้แต่ง:
-