This is Us - Empower's Museum


เอ็มพาวเวอร์ (Empower) เป็นองค์การพัฒนาเอกชนที่ทำงานเพื่อส่งเสริมโอกาสด้านต่างๆ ให้กับผู้หญิงที่ทำงานในสถานบริการในประเทศไทย การทำงานของมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ตลอดหลายสิบปี กลายเป็นที่สนใจของกลุ่มคนและองค์กรทั้งในและนอกประเทศ เป็นที่อบรม/ฝึกงาน/ดูงาน ด้วยเหตุนี้เองจึงนำไปสู่การก่อตั้ง “นี่คือเรา” พิพิธภัณฑ์เอ็มพาวเวอร์ขึ้น นำโดยคุณจันทวิภา อภิสุข หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิ เปิดอย่างเป็นทางการในเดือนสิงหาคม ปี 2559 ในอาคารพาณิชย์ที่เป็นที่ทำการมูลนิธิในนนทบุรี พื้นที่จัดแสดงอยู่บนชั้น 3 ของมูลนิธิ แบ่งการจัดแสดงออกเป็น 2 เรื่องใหญ่ คือ ประวัติศาสตร์การค้าประเวณีในประเทศไทย รูปแบบต่างๆ ของสถานบริการในไทย และโครงการต่างๆ ของมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ วางอยู่บนแนวคิดพื้นฐานที่มองว่าหญิงบริการหรือพนักงานบริการคือ “อาชีพ” หนึ่งที่ควรได้รับสิทธิและโอกาสทางสังคมที่เท่าเทียมเช่นเดียวกับอาชีพอื่นๆ อย่างไรก็ดีเมื่อสำนักงานของมูลนิธิได้ย้ายที่ทำการไปยังจังหวัดเชียงใหม่ พิพิธภัณฑ์จึงจำเป็นต้องปิดตัวลงในนนทบุรี และย้ายไปยังที่ทำการแห่งใหม่ในจังหวัดเชียงใหม่ แต่ยังคงนำเสนอยืนยันนำเสนอประวัติศาสตร์และความเป็นมาของอาชีพงานบริการ ที่เกี่ยวพันกับกฎหมาย การเมือง ศิลปะ วัฒนธรรม ความเชื่อในแต่ละยุคสมัย และการต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิของพนักงานบริการในไทย

ชื่อเรียกอื่น:
พิพิธภัณฑ์เอ็มพาวเวอร์
ที่อยู่:
322 หมู่บ้านเชียงใหม่แลนด์ ถ.ช้างคลาน ต.ช้างคลาน อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50100 (เดิมตั้งอยู่ที่ 57/60 ถ.ติวานนท์ อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000)
โทรศัพท์:
053282504
วันและเวลาทำการ:
กรุณาแจ้งล่วงหน้า
ค่าเข้าชม:
ไม่เสียค่าเข้าชม
เว็บไซต์:
อีเมล:
cm.empowerfoundation@gmail.com
ปีที่ก่อตั้ง:
2555
ของเด่น:
เรื่องราวประวัตืศาสตร์ความเป็นมาของการขายบริการทางเพศในประเทศไทย
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

นี่คือเรา พิพิธภัณฑ์เอ็มพาวเวอร์

เอ็มพาวเวอร์ (Empower) เป็นองค์การพัฒนาเอกชนที่ทำงานเพื่อส่งเสริมโอกาสด้านต่างๆ ให้กับผู้หญิงที่ทำงานในสถานบริการในประเทศไทย ก่อตั้งในปี 2528 ในขณะที่เพลง One Night in Bangkokกำลังฮิตโดยเฉพาะในบาร์อะโกโก้ย่านพัฒน์พงษ์ ย่านราตรีที่มีชื่อเสียงในยุคนั้น ปัจจุบันเอ็มพาวเวอร์มีศูนย์อยู่ที่กรุงเทพฯ เชียงใหม่ แม่สาย  ป่าตอง มุกดาหาร และแม่สอด ตลอดการทำงานกว่าสามสิบปีทั้งการเป็นสถานที่พบปะสังสรรค์ของพนักงานบริการ เป็นโรงเรียนกศน.สอนตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการ เป็นเวทีสนทนานำเสนอเสียงสะท้อนและมุมมองจากพนักงานบริการ เป็นองค์กรตัวแทนในการประสานความร่วมมือกับองค์ภาครัฐและเอกชนที่ทำงานในประเด็นปัญหาใกล้เคียงกัน  เป็นสำนักพิมพ์ที่ผลิตสื่อเผยแพร่มุมมองเกี่ยวกับธุรกิจบริการทางเพศ

จันทวิภา อภิสุข หรือพี่น้อย หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งเล่าที่มาว่าเมื่อกว่า 30 ปีก่อนตัวเธอและเพื่อนๆ ได้มีโอกาสไปเที่ยวกินดื่มแถวพัฒน์พงษ์ มีเด็กพนักงานบริการเข้ามาคุยด้วย พบว่าเด็กหลายคนไม่รู้หนังสือ อยากเรียนหนังสือ ประสบปัญหาใหญ่หลวงกับการใช้ประจำวัน ไม่สามารถทำธุรกรรมกับธนาคารได้ เขียนจดหมายสื่อสารไม่ได้ ฯลฯ กลายเป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดโรงเรียนสอนหนังสือ 4 โมงเย็นขึ้นในตอนนั้น จากนั้นเกิดกิจกรรมต่างๆ ขยายออกไป

การทำงานของมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ตลอดหลายสิบปี กลายเป็นที่สนใจของกลุ่มคนและองค์กรทั้งในและนอกประเทศ เป็นที่อบรม/ฝึกงาน/ดูงานของนักศึกษาด้านสังคมศาสตร์ทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงโรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพราน!! ทำให้มูลนิธิรู้สึกว่าคนต่างๆ เหล่านี้เป็นกลุ่มเป้าหมายใหม่ที่เข้ามาใช้บริการและแสวงหาความรู้จากมูลนิธิมากขึ้นนอกเหนือไปจากหญิงบริการที่เป็นเป้าหมายแรกเริ่ม ด้วยเหตุนี้เองจึงนำไปสู่การก่อตั้ง “นี่คือเรา” พิพิธภัณฑ์เอ็มพาวเวอร์ขึ้น โดยเริ่มทำมาตั้งแต่เมื่อสามปีที่แล้ว แต่จะเปิดอย่างเป็นทางการในเดือนสิงหาคม ปี 2559 นี้ พร้อมๆ กับการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีม่วงที่วิ่งผ่านที่ทำการสำนักงานใหญ่มูลนิธิที่นนทบุรี

พื้นที่จัดแสดงอยู่บนชั้น 3 ของมูลนิธิ แบ่งการจัดแสดงออกเป็น 2 เรื่องใหญ่ คือ ประวัติศาสตร์การค้าประเวณีในประเทศไทย รูปแบบต่างๆ ของสถานบริการในไทย และโครงการต่างๆ ของมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ วางอยู่บนแนวคิดพื้นฐานที่มองว่าหญิงบริการหรือพนักงานบริการคือ “อาชีพ” หนึ่งที่ควรได้รับสิทธิและโอกาสทางสังคมที่เท่าเทียมเช่นเดียวกับอาชีพอื่นๆ

“No more Sewing Machine” พอกันทีจักรเย็บผ้า! เอ็มพาวเวอร์ก็ได้รับการบริจาคจักรเย็บผ้าจำนวนมาก  จักรเย็บผ้าที่เก็บไว้เป็นระลึกหลังหนึ่งนำมาจัดแสดงอยู่บริเวณทางเข้า เป็นการโหมโรงที่สั่นคลอนความคิดของคนส่วนใหญ่เกี่ยวกับหญิงบริการ  สื่อให้เห็นมุมมองของสังคมที่มักมองผู้หญิงแบบเหมารวมว่าเหมาะกับงานเย็บปักถักร้อย จักรเย็บผ้าถูกนำมาเป็นเครื่องมือฝึกอาชีพให้กับผู้กระทำผิดตาม พรบ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี ที่ถูกจับมารับโทษในสถานสงเคราะห์ โดยรัฐหวังว่าการฝึกอาชีพเย็บผ้าจะทำให้หญิงบริการมีอาชีพใหม่แทนการขายบริการทางเพศ

ส่วนจัดแสดงที่ว่าด้วยเรื่องประวัติศาสตร์การค้าประเวณี นำเสนอให้เห็นว่าธุรกิจการค้าประเวณีในไทยมีมาตั้งแต่อดีต แม้รูปแบบจะวิวัฒน์ไปตามสภาพสังคมและเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป เริ่มด้วยการย้อนไปถึงปี พ.ศ. 2223 สมัยอยุธยาที่มีบันทึกว่ามีการออกใบอนุญาตให้ข้าราชการเปิดซ่องโสเภณีในนามของรัฐในช่วงอยุธยาตอนนั้น มีหญิงทำงานในซ่องนี้ถึง 600 คน ลูกค้ามีทั้งคหบดีไทย ชาวต่างชาติ กะลาสีเรือ นักเดินทางและพ่อค้า การค้าประเวณีในไทยยิ่งขยายตัวมากขึ้นเมื่อพร้อมๆ กับการเติบโตของชุมชนคนจีน ในปี พ.ศ. 2393 ธุรกิจการค้าประเวณีย่านบางกอกมีศูนย์กลางอยู่ที่ย่านคนจีน “ตรอกสำเพ็ง”  ในปี พ.ศ.2432 เฉพาะตรอกสำเพ็งมีโรงโสเภณี 71 โรง โรงฝิ่น 245 โรง โรงพนัน 128 โรง จนสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง เริ่มมีทหารกองทัพสัมพันธมิตรเข้าประจำการในกรุงเทพฯ ตะวันตกกลายเป็นลูกค้าใหม่ และธุรกิจนี้ค่อยๆ ขยายตัวมากขึ้นโดยเฉพาะในยุคสงครามเย็นที่มีการตั้งฐานทัพสหรัฐอเมริกาในไทย พัทยากลายเป็นจุดหมายปลายทางที่สำคัญของบรรดาจีไอ ลูกค้ารายใหญ่คนสำคัญที่ว่ากันว่าทำรายได้เข้าประเทศไทยหลายร้อยล้านบาทต่อปี

พิพิธภัณฑ์ยังได้จำลองลักษณะสถานบริการรูปแบบต่างๆ มาให้ผู้ชมที่ไม่เคยเข้าได้ตื่นตาตื่นใจ อาทิ บาร์อะโกโก้ ที่มีที่มาจากนวนิยายชื่อ วิสกี้กาลอร์(Whiskey Galore) เกี่ยวกับเรือสินค้าที่มีเหล้าวิสกี้อยู่บนเรือ ต่อนวนิยายเรื่องนี้ถูกนำมาทำเป็นภาพยนตร์ เมื่อถูกชายในฝรั่งเศสได้เปลี่ยนชื่อเป็น Whiskey A Gogo ซึ่ง  a gogo หรือ au gogo ในภาษาฝรั่งเศสแปลว่า Galoreคือมากมายเหลือเฟือ  จริงๆ ข้อดีของเสาอะโกโก้คือ เป็นการเซฟคนเต้นไม่ให้ตกเวที ขณะที่เต้นโคโยตี้อาจจะตกเวทีก็เป็นได้  ผู้ชมจะขึ้นไปโหนเสาอะโกโก้ก็ได้ไม่มีใครห้าม แต่ครั้งหนึ่งเมื่อปี 2547 ที่เชียงใหม่เจ้าหน้าที่ได้รื้อเสาอะโกโก้ออกจากบาร์ ด้วยเหตุผลว่าเสาอะโกโก้ทำให้ดูไม่สุภาพและไม่เหมาะสมกับเมืองเชียงใหม่ที่เป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรมของดินแดนล้านนา

พื้นที่อีกครึ่งหนึ่งของพิพิธภัณฑ์ว่าด้วยเรื่องโครงการต่างๆ ของเอ็มพาวเวอร์ หนึ่งในนั้นคือ “บาร์แคนดู-บาร์ยุติธรรมเราทำเองได้”  จัดแสดงงานศิลปะดินปั้นชิ้นเล็กๆ เรียกว่า mini-bar series ของ “เล็ก” สมาชิกหนึ่งของเอ็มพาวเวอร์ที่ต้องการสร้างบาร์ในฝันของตนเองจึงทำงานศิลปะนี้ถ่ายทอดลักษณะบาร์ที่ตัวเองอย่างจะทำ ในที่สุดบาร์ในฝันก็เกิดขึ้นได้จริง บาร์แคนดูตั้งอยู่ที่เชียงใหม่ เป็นบาร์ที่พนักงานลงหุ้นกันเองและบริหารงานกันเอง พนักงานมีเวลาหยุดพักระหว่างการทำงาน มีห้องพักผ่อน ไม่มีการเก็บหัวคิดพนักงาน ไม่มีบังคับดื่ม บังคับออฟ ฯลฯ ตอนกลางวันบาร์นี้เป็นศูนย์เอ็มพาวเวอร์เชียงใหม่ด้วย

การจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์เอ็มพาวเวอร์ค่อนข้างนำการอุปมาอุปไมยเข้ามาใช้อธิบายหลักคิดและการทำงานของมูลนิธิอยู่ไม่น้อย หนึ่งในนั้นคือส่วนจัดแสดงที่เป็นเวทีมวยที่ด้านหนึ่งมีตัวการ์ตูนที่ชื่อฮันนี่-บีกำลังต่อสู้กับสิ่งต่างๆ เช่น การล่อซื้อ  พรบ.การค้ามนุษย์  ตราบาป  ฯลฯ และข้อเขียนว่า “Learning by Doing”  อุปมาอุปไมยว่ามวยไทยเป็นศิลปะการป้องกันตัว ผู้ที่เป็นนักมวยต้องมีความกล้าหาญ ได้รับการฝึกฝนและออกอาวุธอย่างถูกวิธีและถูกเวลา การเป็นพนักงานบริการก็เช่นกัน ต้องเรียนรู้ว่าเมื่อไรจะรุกเมื่อไรจะถอย จะลดการถูกเอาเปรียบได้อย่างไร รวมถึงการหลีกเลี่ยงความรุนแรงจากการปฏิบัติหน้าที่ของผู้รักษากฎหมายอย่างไร

ในช่วงที่โรคเอดส์กำลังระบาดและสังคมไทยขาดความรู้ที่แท้จริงเกี่ยวกับโรคเอดส์ ทำให้คนตื่นตระหนักและรังเกียจหญิงบริการซึ่งถูกตีตราว่าเป็นผู้แพร่เชื้อ เอ็มพาวเวอร์จึงพยายามรณรงค์เรื่องนี้อย่างหนักจนถึงทุกวันนี้ ด้วยหลักคิดที่ว่า “อาชีพไม่ใช่สาเหตุของการแพร่เชื้อ แต่ร่วมเพศที่ไม่ปลอดภัย แพร่เชื้อได้” มุมหนึ่งของห้องนิทรรศการเป็นหุ่นอาชีพต่างๆ ที่ล้วนต้องพกถุงยางอนามัย เพื่อการร่วมเพศอย่างปลอดภัยไม่ว่าคุณจะเป็นใครหรือทำอาชีพอะไร

โครงการที่ดูจะเป็นที่รู้จักและประสบความสำเร็จคือ “โครงการแรงงานไร้พรมแดน” หรือรู้จักกันดีในนาม “การเดินทางของคำจิ่ง” ที่เริ่มจากการพบว่าเริ่มมีผู้หญิงข้ามแดนเข้ามาสู่ธุรกิจค้ามนุษย์มากขึ้นเรื่อยๆ  การเดินทางของคำจิ่งเป็นโครงการศิลปะเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวชีวิต ความคิด ความฝัน ของผู้คนที่อพยพจากต่างถิ่นมาอยู่แถวชายแดนประเทศไทย โดยใช้ชื่อคำจิ่งเรียกแทนแรงงานผู้อพยพ โดยให้บรรดาแรงงานข้ามแดนสร้างหุ่นตุ๊กตาปั้นกระดาษหรือเปเปอร์มาเช่เป็นรูปครึ่งตัวคนเพื่อแทนตัวเอง ดั้งนั้นหุ่นกว่า 250 ตัวหน้าตาจะไม่เหมือนกันเลย จากนั้นจึงมีการพาหุ่นเดินทางไปที่ต่างๆ ทั้งไทยและต่างประเทศที่เป็นความฝันของคนปั้นตุ๊กตา มีการบันทึกภาพถ่ายไว้ทุกที่ๆ คำจิ่งเดินทางไป การเดินทางของคำจิ่งได้รับรางวัล “อิสรภาพแห่งการสร้างสรรค์” ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เมื่อปี พ.ศ. 2552

ตุ๊กตาคำจิ่งที่หลงเหลือจากการทำโครงการถูกนำมาจัดแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑ์ พร้อมกับข้าวของเครื่องใช้ของ “คำจิ่ง” เมื่อครั้งตอนที่อพยพเข้าประเทศไทย เช่น ปิ่นโตสนามที่พวกเธอใส่ข้าวมากินระหว่างรอนแรมเป็นเวลากว่า 3 วันกว่าจะถึงเมืองไทย  ผ้าห่ม  กระบอกน้ำ

คุณจันทวิภา อภิสุข เคยให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งว่า
“มีคนบอกว่ากลุ่มทำเหมือนสนับสนุนให้มีอาชีพโสเภณี  ถ้าคิดสั้นๆ ก็อาจเหมือนใช่ แต่ถ้ารู้จักมองยาวๆ สักหน่อยก็จะเห็นว่า การช่วยคนๆ หนึ่งให้รู้จักต่อสู้กับชีวิตอย่างมั่นใจยิ่งขึ้น เสียเปรียบน้อยลง ถูกขูดรีดน้อยลงก็เป็นการดีไม่ใช่หรือ...”

เมื่อชมพิพิธภัณฑ์นี้แล้วเชื่อได้ว่าหลายคนจะย้อนกลับไปสำรวจทัศนคติตัวเองที่มีต่อหญิงบริการ

เขียนโดย: ปณิตา สระวาสี

ข้อมูลจาก:
การสำรวจภาคสนามเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2559
มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์.นี่คือเรา พิพิธภัณฑ์เอ็มพาวเวอร์.นนทบุรี: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเอ็มพาวเวอร์, 2559.
น้อย อภิสุข และลิซ แคมเมอรูน (บก.). Reading Between Lines Empower in the Press Since 1985 ระหว่างบรรทัด เอ็มพาวเวอร์ในหน้า นสพ. ตั้งแต่ปี 2528. นนทบุรี: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเอ็มพาวเวอร์, 2557.


  
 
ชื่อผู้แต่ง:
-