พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดพลแพง


ที่อยู่:
วัดพลแพง เลขที่ 99 บ้านเมืองเก่า หมู่ที่ 1 ต.เมืองเก่าพัฒนา อ.เวียงเก่า จ.ขอนแก่น 40150
โทรศัพท์:
081-9750637 ติดต่อเจ้าอาวาส
วันและเวลาทำการ:
เปิดทุกวัน
ค่าเข้าชม:
ไม่เสียค่าเข้าชม
ปีที่ก่อตั้ง:
2540
ของเด่น:
ไซดักปลาขนาดใหญ่และบั้งไฟ
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล

โดย:

วันที่: 08 ตุลาคม 2558

ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดพลแพง

           
วัดพลแพงเป็นวัดเก่าแก่ของชุมชนบ้านเมืองเก่า อำเภอเวียงเก่า จังหวัดขอนแก่น ตั้งขึ้นพ.ศ.2418 ชาวบ้านสมัยก่อนเรียกกันว่า วัดโพนแพงหรือวัดใต้ เป็นวัดต้นตระกูลของพระยานาหมื่น  วัฒนธรรมประเพณีเด่นที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยโบราณคืองานบุญสัจจา ในวันวิสาขบูชา งานประเพณีสงกรานต์ งานบุญมหาชาติ(พระเวสสันดร)  พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดพลแพง ก่อตั้งโดยเจ้าอาวาสองค์ก่อนคือ พระครูปัญญาวิสารคุณ ปัจจุบันท่านมรณภาพไปแล้ว แต่พิพิธภัณฑ์ยังคงจัดแสดงอยู่ในอาคารเดิม ข้างกุฏิเจ้าอาวาสรูปปัจจุบันคือ พระเพชร จตฺตมโล  ท่านได้พูดถึงสิ่งของจัดแสดงว่าส่วนใหญ่เป็นของพื้นบ้าน ปัจจุบันไม่มีให้เห็นอีกแล้ว
           
สิ่งของที่เห็นเด่นแต่ไกลคือ ไซดักปลาขนาดใหญ่ แขวนยกสูงไว้  การจัดแสดงแบ่งออกเป็นสองส่วนคือ ส่วนที่วางในพื้นที่เปิดโล่งมีหลังคาคลุม กับส่วนที่อยู่ในห้องกระจก เครื่องมือพื้นบ้านในวิถีชีวิตการทำเกษตรกรรมอยู่ด้านนอก  มีเครื่องมือในการทำนา เป็นไถ คราด ใช้กับควายไถนา ครกกระเดื่องสำหรับตำข้าวเปลือก มีเครื่องหีบอ้อยทำจากไม้ และเครื่องมือสำหรับทำประมงน้ำจืด เช่นพวกไซดักปลาที่มีทั้งขนาดใหญ่ขนาดเล็ก

เสร็จจากงานไร่นา ผู้หญิงจะทอผ้า อุปกรณ์ทอผ้ามีไนปั่นด้าย ลักษณะเป็นวงล้อกลม การทำงานเป็นแบบล้อและเพลา ตั้งระหว่างขาสองอันมีเหล็กสอดเป็นคันสำหรับหมุน ส่วนที่เป็นไม้สี่ขาคือ อักหรือกวัก เป็นเครื่องคัดเส้นด้าย ใช้กรอด้ายเข้ามาม้วนเก็บไว้ให้เป็นระเบียบเพื่อใช้ในการทอผืนผ้า  พระเพชร จตฺตมโล ได้พูดถึงการทอผ้าว่าตอนนี้พอมีอยู่บ้างเป็นส่วนน้อย  ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมคือการทำตุงเป็นรูปไดโนเสาร์ ใช้ในงานบุญ  ซึ่งกลายเป็นสัญลักษณ์ของที่นี่ไปแล้วหลังจากมีการค้นพบซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์มากมาย โดยเจ้าภาพจะให้ทอชื่อเจ้าภาพติดไว้ที่ตุงด้วย

สิ่งของจัดแสดงที่เด่นอีกอันหนึ่งคือ บั้งไฟ  แสดงให้เห็นว่าบ้านเมืองเก่า มีงานบุญบั้งไฟ มีการจัดขบวนแห่บั้งไฟ ชาวบ้านหลายหมู่บ้านมาร่วมงาน มีการทำบั้งไฟมาประชันแข่งขันกัน(ปัจจุบันห้ามแข่งขัน)  จัดขึ้นในวันวิสาขบูชา วันขึ้น 15 ค่ำเดือน 6 ในงานมีกิจกรรมอื่นด้วยเช่น การบรรพชาอุปสมบท การแข่งขันกลองยาว เป่าแคน มโหรี ปี่พาทย์ ฟ้อนรำ ขับร้อง เป็นต้น

งานบุญนี้ชาวบ้านเรียกกันว่า บุญสัจจาหรือบุญสัจจะ ความเป็นมาของงานพิธีที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ ท่านพระครูปฏิพัทธรรมคุณ อดีตเจ้าคณะอำเภอภูเวียงรูปแรก ที่ได้ละสังขารไปตั้งแต่ปีพ.ศ.2493 ได้เคยอธิบายไว้ว่า “บุญสัจจา”เป็นบุญเสริมสร้างคุณธรรม ปลูกฝังให้คนมีความซื่อสัตย์ต่อกัน เป็นวัฒนธรรมชุมชนที่ตั้งถิ่นฐานในหุบเขาภูเวียง(เมื่อก่อนบ้านเมืองเก่า อ.เวียงเก่า อยู่ในอำเภอภูเวียง) เคยหายไป 30-40 ปี แล้วมีการนำกลับมาปฏิบัติกันใหม่

พิธีจะเริ่มกันในเดือนหก ชาวบ้านจะเตรียมมูลค้างคาวมาต้มทำดินประสิว เพื่อนำมาทำบั้งไฟ บั้งตะไล ครั้นถึงขึ้น 14 ค่ำเดือน 6 ถูกกำหนดให้เป็น “วันรวม”ชาวภูเวียงจะพากันไปทำเทียน มีทั้งเทียนบูชาและเทียนเมืองคุณ(เทียนน้ำมนต์) โดยถือเอาวัดใต้หรือวัดพลแพงแห่งนี้ เป็นสถานที่ประกอบพิธี  มีการนำภาชนะไปเอาน้ำจากต้นน้ำสายหลักของภูเวียงมาให้พระสงฆ์ทำน้ำพระพุทธมนต์  อันได้แก่ ห้วยแข้ ห้วยเหมืองซ้าง(ห้วยบ้านช้าง)และห้วยบอง  ในวันนี้มักจัดให้มีงานบรรพชาอุปสมบทด้วย  ในวันรวมพ่อแม่นาคจะต้องจัดแจงนำเครื่องอัฐบริขารที่เรียกกันว่า เม็ง ออกไปตั้งรวมกันไว้ที่ศาลาวัด รวมกับบั้งไฟ บั้งตะไลด้วย บางปีมีขบวนแห่นาคและแห่บั้งไฟในช่วงบ่ายวันเดียวกัน 

ช่วงกลางคืนจะมีการอาราธนาพระสงฆ์ตั้ง “เมืองคุณ”(สวดปริตรมงคล) ทำน้ำพระพุทธมนต์เพื่อใช้ในการดื่ม “พิธีบุญสัจจา”ถือว่าเป็นการสร้างสิริมงคลให้กับบ้านเมือง จึงเรียกพิธีนี้ว่า “ตั้งเมืองคุณ”ซึ่งคนภูเวียงยังพูดถึงคำนี้มาจนถึงปัจจุบัน หลังพิธีนี้ญาติพี่น้องของผู้เป็นนาคจะต้องอยู่เฝ้าอัฐบริขารของนาค จะเรียกการเฝ้าว่า “งันเม็งงันบั้งไฟ”บางปีมีมหรสพฉลองสมโภชด้วย พอถึงเช้ามืดของวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 6  จะทำพิธีบรรพชาอุปสมบท หลังจากนั้นจะเป็นพิธีทำบุญตักบาตร

หลังจากนี้ก็จะเป็นพิธีบุญสัจจา โดยประธานฝ่ายสงฆ์จะเป็นผู้กล่าวชุมนุมเทวดาให้ลงมาเป็นสักขีพยาน จากนั้นประธานฝ่ายฆราวาสนำกล่าวสัตย์ปฏิญาณ  ว่าจะตั้งมั่นในความซื่อสัตย์สุจริต ไม่คิดทรยศต่อกัน “ถ้ามันผู้ใด ไม่ซื่อสัตย์ต่อคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ ก็ขอให้มีอันเป็นไปตามโทษานุโทษ”และบทส่งท้าย “สิ่งศักดิ์สิทธิ์ จงบันดาลฟ้าฝนชลธารตกต้องตามฤดูกาล น้ำอย่าบกเขิน หาดอย่าขาดเขินวัง พีชะพืชอุดมสมบูรณ์ ผู้คนสัตว์เลี้ยงอยู่สุขสบาย ไม่เจ็บ ไม่ไข้ ฟ้าไม่ผ่า ห่าไม่ลง”

เมื่อกล่าวเสร็จ ประธานฝ่ายสงฆ์จะนำพระสงฆ์ดื่มน้ำพระพุทธมนต์ เพื่อแสดงว่าพระสงฆ์ท่านจะซื่อสัตย์ต่อพระธรรมวินัยและต่อชาวบ้าน จากนั้นประธานฝ่ายฆราวาสจะนำจุดบั้งไฟคอบแถน(แจ้งให้พระยาแถนทราบ)การจุดบั้งไฟแรกนั้น ถือว่าเป็นการนำข่าวไปบอกให้พระยาแถนทราบว่า การประกอบพิธีกระทำสัตย์ปฏิญาณนั้น ทุกฝ่ายจะซื่อสัตย์ต่อกันและขอพรพระยาแถนให้ความเมตตาปรานี ให้ฟ้าฝนตกต้องตามฤดูกาล

งานบุญใหญ่อีกงานคือ ประเพณีทำบุญมหาชาติ(พระเวสสันดร) ปัจจุบันแม้ว่าบ้านเมืองเก่าจะแยกการปกครองออกเป็น 3 หมู่บ้าน แต่งานประเพณีทำบุญมหาชาติยังคงทำร่วมกัน โดยหมุนเวียนกันไปตามหมู่บ้านหรือคุ้ม ปีนี้คุ้มเหนือจัด ปีหน้าเป็นของคุ้มใต้ อีกปีจะเป็นของคุ้มกลาง ลักษณะเช่นนี้ ยังหมุนเวียนกันจัดในงานบุญปีใหม่หรือวันสงกรานต์ด้วย

การที่วัดพลแพงเป็นวัดเก่าแก่ เมื่อถามพระเพชร เกี่ยวกับโบราณวัตถุของวัด ท่านบอกว่ามีพระพุทธรูปโบราณทำด้วยสำริด ทางวัดกับคณะกรรมการหมู่บ้านถือกุญแจร่วมกันช่วยกันดูแลรักษาไว้อย่างดี เพื่อป้องกันการโจรกรรม  จะนำออกมาเฉพาะวันสงกรานต์เพื่อให้ผู้คนได้สรงน้ำพระเป็นสิริมงคล

นอกจากนี้บริเวณข้างอุโบสถวัดพลแพงด้านทิศเหนือ ซึ่งปัจจุบันเหลือแต่ซากอิฐเก่าที่เกิดมาจากการก่อทับกันเป็นชั้นๆ กล่าวกันว่า เป็นกรุที่พังลงมา เมื่อนานมาแล้วมีการขุดพบพระทองคำ เงิน นาก พระทองสำริด พระบุ และพระผงพิมพ์ต่างๆจำนวนมาก เนื่องจากเป็นของมีค่าจึงหายไปหมด ไม่มีจัดแสดงให้เก็บรักษาเป็นสมบัติของวัด

อีกส่วนของห้องจัดแสดงในห้องกระจก  พระเพชรบอกว่ากุญแจล็อคห้องหายไปนานแล้ว จึงไม่ได้เปิดเข้าไป ทุกอย่างยังคงเหมือนเดิม เนื่องจากเป็นห้องกระจก แม้กระจกจะมัวๆแต่ถ้าเดินไปมองใกล้ๆสามารถมองผ่านเข้าไปได้ ข้างในทำเป็นชั้นวางมีกระจกปิดอีกที มีตะเกียงเจ้าพายุสภาพดีหลายอัน มีอุปกรณ์ทอผ้า แล้วก็พวกขันและพานของวัด   
            จากการที่ชาวบ้านยังคงสืบทอดวัฒนธรรมประเพณีบุญสัจจา ทำให้ที่นี่พระสงฆ์กับชาวบ้านดูมีความใกล้ชิดกัน พระสงฆ์ยังคงมีบทบาทในการศึกษาในโรงเรียน ดังจะเห็นว่าตามโรงเรียนได้มีการจัดตารางสอนให้พระสงฆ์เข้าไปสอนวิชาศีลธรรม เสมือนเป็นคำมั่นสัญญาในการสนับสนุนเกื้อกูลกัน เพื่อสร้างศีลธรรมอันดีงามให้กับสังคม

----------------------------------------------------

สาวิตรี  ตลับแป้น  / ผู้เขียน 
สำรวจข้อมูลภาคสนาม วันที่ 20 ธันวาคม 2558


----------------------------------------------------

การเดินทาง : จากตัวเมืองขอนแก่นใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 12(ขอนแก่น-ชุมแพ) ประมาณ 48 กม.จะถึงทางแยกเลี้ยวขวาไปอีกประมาณ 20 กม.ก็จะถึงอ.ภูเวียงและ อ.เวียงเก่า วัดพลแพงอยู่ติดถนนใหญ่สังเกตเห็นซุ้มประตูของวัดได้ง่าย(แต่เดิม อ.เวียงเก่าอยู่ในเขตอ.ภูเวียง แต่ได้แยกเขตการปกครองเป็นอำเภอแห่งใหม่)

-----------------------------------------------

บรรณานุกรม
วัดพลแพง,ปัญญาวุฑฒานุสรณ์. อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระครูปัญญาวิสารคุณ(ทองม้วน ปญฺญาวุฑฺโฒ), ขอนแก่น: ขอนแก่นการพิมพ์, 2543.
ณ พจนาถ. ฟื้นฟู “บุญสัจจา”ภูเวียง รับสังคมที่โหยหาสัจจะ. สยามรัฐ, 28 พฤษภาคม 2548: หน้า 30 แหล่งที่มา  ศูนย์นิเทศอีสานสิรินธร สำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม(ออนไลน์) http://news.msu.ac.th/web/dub/in.php?ID=13400454166 (18 เมษายน 2559).
ชื่อผู้แต่ง:
-