ที่อยู่:
วัดสระโนน บ้านขามป้อม หมู่ที1 ต.ขามป้อม อ.พระยืน จ.ขอนแก่น
โทรศัพท์:
085-7440729 (พระครูปรีชาธรรมาภิวัฒน์)
วันและเวลาทำการ:
กรุณาติดต่อล่วงหน้า
ค่าเข้าชม:
ไม่เสียค่าเข้าชม
อีเมล:
thothai999@gmail.com
ของเด่น:
เครื่องใช้พื้นบ้านในการทำนา เครื่องครัว ทอผ้า
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยทีมงานและสมาชิก
พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดสระโนน
พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านแห่งนี้เกิดมาจากท่านพระครูปรีชาธรรมาภิวัฒน์ เจ้าอาวาสวัดสระโนนท่านมาเป็นเจ้าอาวาสที่วัดแห่งนี้ในปี พ.ศ.2545 ท่านสังเกตว่าชาวบ้านได้เลิกใช้เครื่องมือเครื่องใช้พื้นบ้าน พากันไปใช้รถไถนา วัวควายในหมู่บ้านก็มีจำนวนน้อยลง ท่านจึงมีความคิดที่จะเก็บรักษาไว้ ด้วยการบอกกับชาวบ้านไปว่า บ้านไหนที่มีเครื่องใช้เหล่านี้แล้วรู้สึกว่ารกบ้าน ให้นำมาให้ทางวัด ให้ท่านได้เก็บรักษาไว้จนกระทั่งมีโครงการวัฒนธรรมไทยสายใยชุมชนเกิดขึ้นมา ส่วนหนึ่งของโครงการคือการจัดทำพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน ท่านจึงได้โอกาสจัดทำ เริ่มด้วยการเตรียมสถานที่ โดยการใช้กุฏิหลังหนึ่ง ดัดแปลงชั้นบนจัดตกแต่งเป็นพิพิธภัณฑ์ โดยได้มีการประสานงานร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆในชุมชน ได้แก่ กศน. และ อบต.ขามป้อม หน่วยงานทั้งสองนี้ช่วยเหลือทั้งกำลังคน งบประมาณและจัดทำข้อมูล พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านที่เป็นของชุมชนจึงได้เกิดขึ้นมาในปี พ.ศ.2550 แล้วผลการประกวดก็สร้างความภูมิใจให้ทุกคน ด้วยการได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 1 ของจังหวัดขอนแก่น ในโครงการวัฒนธรรมสายใยชุมชนต้นแบบดีเด่นประจำปี 2552
ด้วยความสนใจและเห็นคุณค่าของพิพิธภัณฑ์ของท่านพระครูปรีชาธรรมาภิวัฒน์ ในการอบรมสั่งสอนพระเณรและนักเรียน ท่านมักจะแนะนำชักชวนให้เข้าชมพิพิธภัณฑ์ ให้ไปเรียนรู้สิ่งที่อยู่ในนั้น ท่านมองว่ายุคสมัยเปลี่ยนแปลงไป ผู้คนจึงมีวิถีชีวิตที่แตกต่าง จากเดิมสามารถพึ่งพาตนเองได้ สามารถผลิตเครื่องมือเครื่องใช้ได้เอง ปัจจุบันกลายเป็นว่าใช้เงินซื้อมาทั้งหมด ผลิตเองไม่เป็น พิพิธภัณฑ์นี้จึงต้องการบอกเล่าว่า คนสมัยก่อนเขาดำรงชีวิตกันมาได้อย่างไรอย่างยาวนาน ด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ท่านเรียกว่าวัฒนธรรมไม้
การจัดแสดงอยู่บนชั้นสอง ขึ้นบันไดไปจะมีเหล็กดัดวางปิดไว้ ชั้นสองพื้นเป็นไม้ดูสวยงาม เป็นแบบห้องเดียว แต่แบ่งเป็นส่วนๆให้เป็นการจัดแสดงเป็นห้องเล็กๆ แบ่งตามเนื้อหาการจัดแสดง ห้องแรกคือห้องชาวนา มีคันไถ แอก คราด วางพิงและห้อยไว้กับผนังเป็นจำนวนมาก มีกระพรวนวัวควายห้อยรวมกันไว้ วีหรือกา เป็นพัดสานขนาดใหญ่ ใช้พัดเศษฟางหรือข้าวลีบให้ปลิวออกไป
โต๊ะตรงกลางมีอุปกรณ์จับปลา ซึ่งเป็นวิถีชีวิตของชาวนาในการหาอาหารกลับมาปรุงในครัวเรือน มีข้องแบบต่างๆ เช่นข้องลอย จะมีพืชลอยน้ำมัดพันไว้ เพื่อให้ข้องลอยน้ำได้ ทำให้มีความสะดวกในขณะอยู่ในน้ำ ลอบ ไซดักปลา ถังไม้
ห้องถัดมาเป็นห้องครัวอีสาน ที่วางจัดเรียงมีเป็นจำนวนมากหลายขนาดคือ โบม เป็นภาชนะทำด้วยไม้ขุดเป็นวงกลมมีขอบ ด้ามสั้น ใช้สำหรับสงข้าวเหนียวที่นึ่งสุกใหม่ๆ หรือคนข้าวเหนียวนึ่ง ให้ความร้อนลดลงก่อนจะนำไปใส่ในกล่องข้าวหรือกระติบ นอกจากนี้ยังใช้เป็นภาชนะรองถ้วยชามเป็นสำรับ ท่านพระครูปรีชาฯ บอกว่าตอนนี้โบมมีราคาแพง เพราะได้รับความนิยม
จากรีสอร์ต ร้านอาหาร นำไปเขียนตกแต่งเป็นป้ายร้าน มีความสวยงาม ที่ห้อยอยู่รวมกันมีก่องข้าว
และกระติบใส่ข้าวเหนียว ท่านอธิบายความแตกต่างว่าถ้ามีฐานกากบาทจะเรียกก่องข้าวหรือกล่องข้าว สังเกตว่ามีการสานไม้ไผ่สองชั้นเพื่อให้เก็บความร้อนได้ดี ส่วนอันที่เรียบๆ จะเรียกว่ากระติบ มีรูปร่างทรงกระบอกคล้ายกระป๋อง ส่วนนี้ตรงกลางห้องมีหม้อดินใช้หุงข้าวต้มแกง มีครกไม้ บนชั้นมีเตารีดโบราณ อีกชิ้นที่น่าสนใจคือ อุปกรณ์สำหรับทำเส้นขนมจีน ในห้องครัวยังมีเครื่องใช้ที่เกี่ยวข้องทั้งไซดักปลา เครื่องมือล่าสัตว์ หน้าไม้
ต่อมาเป็นห้องทอผ้า มีกี่ทอผ้าที่มีผืนผ้าหลายขนาดพาดตกแต่งไว้อย่างสวยงาม กระสวยใช้สำหรับร้อยด้ายทอผ้า พวงสาวไหม ใช้ดึงเส้นไหมออกจากรัง ไม้เก็บขิดลายหมอน บนผนังมีขดวงกลมขนาดใหญ่เรียกว่า จ่อ สำหรับเลี้ยงตัวไหม ลักษณะเป็นไม้ไผ่สานคล้ายกระด้ง มีไส้สานขดเป็นวงหลายๆวง เป็นช่องสำหรับใส่ตัวไหม
ใกล้กันที่แขวนบนผนัง มีตัวอย่างลวดลายผ้าใส่กรอบไว้พร้อมคำเรียก ทำให้ผู้สนใจได้ความรู้เรื่องลายผ้า อาทิเช่น ลายมัดหมี่ ลายดอกแก้ว ลายกลีบดอกบัว ลายประดู่ ลายขอ เป็นต้น ท่านพระครูปรีชาฯ จับที่ผ้าทอโบราณผืนหนึ่ง ท่านบอกว่าที่มาของผ้าผืนนี้เป็นของคุณยายที่เสียชีวิตแล้ว ท่านได้ขอไว้มาจัดแสดงเพื่อเป็นการอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ล่วงลับ ผ้าของคุณยายมีที่มาว่า คุณยายท่านนี้ได้ทอไว้ตั้งแต่ตอนเป็นสาว เพื่อใช้สำหรับพิธีแต่งงาน
ห้องถัดไปที่เห็นเป็นรูปภาพพระภิกษุ คือหลวงปู่พระครูญาณสารโสภิต ท่านได้สร้างคุณประโยชน์ให้กับวัดและชุมชน เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของผู้คน ท่านเป็นพระอุปัชฌาย์ให้กับท่านพระครูปรีชาฯด้วย ห้องนี้มีภาพประวัติผลงานของท่าน งานพัฒนาของท่านนั้นได้รวมไปถึงสิ่งจำเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิตของประชาชน ท่านได้พัฒนาด้านสาธารณูปโภคให้กับหมู่บ้าน พัฒนาถนนหนทางในหมู่บ้าน ระบบไฟฟ้า ระบบประปา อีกทั้งยังบริจาคเงินเป็นการกุศลให้กับกิจกรรมพัฒนาหมู่บ้าน โรงเรียน และอนามัย ในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี คณะสงฆ์และประชาชนชาวอำเภอพระยืน จะจัดงานรำลึกหลวงปู่พระครูญาณสารโสภิต เป็นการประกาศเกียรติคุณให้กับท่าน
อีกส่วนสำคัญห้องหนึ่งคือ ห้องภาพเฉลิมพระเกียรติในหลวง มีพระบรมฉายาลักษณ์ของพระองค์ท่านขณะทรงผนวชและภาพการเสด็จพระราชดำเนินมาเยี่ยมราษฎรในจังหวัดต่างๆทางภาคอีสาน
นอกจากนี้ยังมีสิ่งของอื่นๆ ที่แยกออกมาใส่ไว้ในตู้กระจก เป็นพวกคัมภีร์ใบลาน แอบยา เชี่ยนหมากลวดลายสวยงาม มีดปอกหมากกระปุก เหรียญ ของใช้อื่นๆ ที่วางไว้ยังมีหีบเหล็ก กระเป๋าหนังโบราณ ฯลฯ
การดำเนินงานของพิพิธภัณฑ์ ในช่วงนี้ได้หยุดชะงักไป เนื่องจากพื้นไม้มีความผุพังจากปลวก เคยมีนักศึกษาเดินเข้ามาชมไปถ่ายภาพไป แล้วพื้นไม้ยุบเป็นช่อง ทำให้ดูไม่ปลอดภัย ท่านคิดว่าอยากจะย้ายการจัดแสดงลงไปชั้นล่าง โดยจะรื้อชั้นบนออก และปัญหาอีกประการหนึ่งคือ การหาคนมาช่วยดูแลนำชมพิพิธภัณฑ์ ปัจจุบันคือท่านนำชมคนเดียว บางครั้งก็จะติดภารกิจหลายอย่าง ดังเห็นได้จากงานพัฒนาที่อยู่ในความรับผิดชอบของท่าน ทั้งเรื่องพัฒนาคน พัฒนาวัดและสร้างสาธารณประโยชน์ ดังจะเห็นได้จากการได้รับประกาศเกียรติคุณจากการทำงานอย่างมากมาย ล่าสุดคือในปีพ.ศ.2558 ท่านได้รับรางวัล “คนดีของแผ่นดิน”และรางวัล “สิงห์ทอง ผู้บริหารและพัฒนาองค์กรดีเด่นแห่งปี”จาก ฯพณฯนายอำพล เสนาณรงค์ องคมนตรี
หลังจากนำชมพิพิธภัณฑ์แล้ว พระครูปรีชาธรรมาภิวัฒน์ ได้พาเดินไปยังที่ตั้งของสิมแบบอีสาน ซึ่งเป็นอาคารเก่าแก่อาคารเดียวที่ได้อนุรักษ์ไว้ สร้างขึ้นในปีพ.ศ.2427 เพิ่งบูรณะเมื่อปีพ.ศ.2553
การเดินทาง : จากกรุงเทพฯมาตามถนนมิตรภาพ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2ผ่านอำเภอพล อำเภอบ้านไผ่ ก่อนจะถึงจังหวัดขอนแก่น จะมีทางแยกเลี้ยวซ้ายไปอำเภอพระยืน วัดสระโนนเป็นวัดใหญ่ อยู่บ้านขามป้อม ตำบลขามป้อม
----------------------------------------------------
สาวิตรี ตลับแป้น ผู้เขียน
ข้อมูลจาก : สำรวจภาคสนามเมื่อ 30 กรกฎาคม 2559
เครื่องจักสาน. สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฉบับเสริมการเรียนรู้ เล่ม 11 ,พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ:ด่านสุทธาการพิมพ์,2554.
วัดสระโนน.สวดมนต์,ขอนแก่น:เพ็ญพริ้นติ้ง จำกัด, 2559.
อีสานร้อยแปด.โบม ภาษาอีสาน คำศัพท์ภาษาอีสาน(ออนไลน์) แหล่งที่มา esan108.com/dic/view.php?id=323(25 สิงหาคม 2559).
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสื่อออนไลน์
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยบล็อก
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสารานุกรมไทย
เครื่องใช้พื้นบ้าน
พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดไชยศรี
จ. ขอนแก่น
พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์โบราณดงเมืองแอม
จ. ขอนแก่น
พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา มหาวิทยาลัยขอนแก่น
จ. ขอนแก่น