โดย:
วันที่: 29 กันยายน 2558
ชื่อผู้แต่ง: เมธินีย์ ชอุ่มผล | ปีที่พิมพ์: ปีที่ 41 ฉบับที่ 2 เมษายน - มิถุนายน 2558;vol. 41 No.2 April - June 2015
ที่มา: วารสารเมืองโบราณ
แหล่งค้นคว้า: ศมส.
โดย: ศมส.
วันที่: 12 ตุลาคม 2558
จ. บุรีรัมย์
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยทีมงานและสมาชิก
พิพิธภัณฑ์เมืองฝ้าย
วันหนึ่งหลังจากกาลเวลาผ่านไปนับพันปี ในปีพ.ศ.2513 ได้มีเรื่องปาฏิหาริย์เกิดขึ้นกลางหมู่บ้าน พระพุทธรูปศิลาองค์หนึ่งปรากฏอยู่ในสวนพริก พระพุทธรูปหินแกะสลักมีความสวยงามมาก ลักษณะเป็นปางเสด็จลงจากดาวดึงส์ ยุคสมัยทวารวดี ด้วยมูลค่าที่ประเมินมิได้ พระพุทธรูปองค์จริงหลังจากได้มีผู้ค้นพบแล้วประดิษฐานไว้ในหมู่บ้าน ผู้คนทั่วทุกสารทิศพากันมากราบไหว้บูชาศรัทธาในความศักดิ์สิทธิ์ปาฏิหาริย์ เพียงไม่นานนักได้มีการโจรกรรมไปในเวลาไล่เลี่ยกันถึง 2 ครั้ง ปัจจุบันพระพุทธรูปองค์สำคัญองค์นี้ ได้ถูกเก็บรักษาไว้อย่างดีที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครกรุงเทพมหานคร
แม้เวลาจะล่วงเลยไปกว่าสี่สิบปี แต่เรื่องราวของหลวงพ่อประทานพร ยังได้รับการกล่าวถึงด้วยความรู้สึกศรัทธาและผูกพันอย่างลึกซึ้ง ในแต่ละปี อบต.เมืองฝ้ายได้จัดงานบวงสรวงหลวงพ่อประทานพร ปีนี้จัดงานในวันที่ 16-18 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2559 ใช้ชื่องานว่า งานของดีเมืองฝ้ายและนมัสการหลวงพ่อประทานพรศักดิ์สิทธิ์ ภายในงานมีขบวนแห่แต่งกายสวยงามในชุดประจำกลุ่ม 4 ชาติพันธุ์ที่มาอยู่อาศัยที่นี่ ได้แก่ เขมร ไทยเดิ้ง(ไทยโคราช) ส่วย ลาว
พิพิธภัณฑ์เมืองฝ้ายก่อตั้งขึ้นปีพ.ศ.2556 ผู้ริเริ่มคือ นายทวี พยัคฆา นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเมืองฝ้าย ด้วยความเห็นดีเห็นงามของคนในชุมชน การนำชมพิพิธภัณฑ์ครั้งนี้เป็นแบบหมู่คณะ ได้แก่ นางกุหลาบ สียางนอก รองนายกอบต. นายมณี อินทร์มนตรี ส.อบต. หมู่1 นายประจวบ ศรีนวรัตน์ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่1 นายรวย ทานกระโทก ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหมู่ 9 นายสมคิด ชนะวงศ์วิสุทธิ์ กรรมการหมู่บ้าน หมู่ 9 นายเทียน จันทร์กฤช กรรมการหมู่บ้าน หมู่1 นายอนุวัฒน์ นาบำรุง กรรมการหมู่บ้าน หมู่ 1 นางสาวรวิวรรณ จันทร์นพคุณ ผู้ช่วยนักวิชาการศึกษาและนางมณีวรรณ บุญวัฒนา เจ้าหน้าที่พิพิพิธภัณฑ์เมืองฝ้าย ไม่เพียงแต่ช่วยกันเล่าเรื่องราวภายในพิพิธภัณฑ์ หลายท่านยังได้นำชมสถานที่จริงในจุดเด่นๆที่ได้แสดงไว้ในแผนผัง ได้แก่ ปราสาทคูกะน๊อบ บริเวณคูเมืองเก่า ปล่องสะดือพญานาค ปราสาทกลางบ้าน ปราสาทตาบึ้ง และวัดบ้านฝ้าย
พิพิธภัณฑ์แห่งนี้โดดเด่นที่การออกแบบสถาปัตยกรรม ให้ตัวอาคารเป็นแบบปราสาทหิน ด้านนอกจัดสวนดอกไม้สวยงาม ด้านในจัดแสดงพระพุทธรูปและโบราณวัตถุที่มีการค้นพบตามไร่นาของตำบลเมืองฝ้าย พระพุทธรูปหลวงพ่อประทานพรองค์จำลองตั้งสถิตไว้เด่น ใกล้กันมีภาพขยายขนาดใหญ่ มีภาพของนายลับ ขุนนาม ผู้ค้นพบเมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ.2513 ก่อนที่จะนำไปที่วัด เขาเล่าว่ามีคนมาเข้าฝันว่าบริเวณแปลงปลูกพริกน่าจะมีอะไรบางอย่าง มีพญานาคเป็นงูตัวใหญ่โผล่ขึ้นมา และตรงที่เจอหลวงพ่อประทานพร พอตกค่ำชาวบ้านบอกว่ามักจะเห็นแสงขึ้นมาทางทิศตะวันตก หลังจากที่นำพระพุทธรูปขึ้นมาแล้ว แสงนั้นก็หายไป
จากการสำรวจทางโบราณคดีบริเวณเมืองฝ้าย ได้พบโบราณสถานที่ปรักหักพังและโบราณวัตถุกระจายเป็นบริเวณกว้าง แสดงให้เห็นว่าบริเวณนี้เคยมีชุมชนตั้งถิ่นฐานมาหลายช่วงเวลา ช่วงแรกตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย ประมาณ 2500 ปีมาแล้ว มีการค้นพบโครงกระดูกมนุษย์โบราณ ได้เป็นข่าวในหนังสือพิมพ์มติชน ลงวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ.2540 กล่าวว่าเป็นโครงกระดูกผู้ชายสูงประมาณ 170 ซม.อายุกว่า 3000 ปี
ช่วงต่อมาเป็นสมัยทวารวดี(พุทธศตวรรษที่ 12-16) ซึ่งพบหลักฐานทางโบราณคดีอย่างมากมายทั้งอิฐปราสาทและพระพุทธรูป มาถึงยุคพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (พ.ศ.1724-1762) ยุคหลังนี้จากการวิจัยโดยโครงการค้นหาและพัฒนาสารสนเทศภูมิศาสตร์ของราชมรรคาสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ได้ทำให้เราเห็นสภาพความเป็นอยู่ของชุมชนโบราณได้มีมิติมากขึ้น ความสำคัญของเมืองฝ้าย ได้ปรากฏว่าเป็นหนึ่งในชุมชนของถนนโบราณจากเมืองพระนครมายังเมืองพิมาย ในเส้นทางราชมรรคาสายตะวันตกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นไปตามจารึกปราสาทพระขรรค์ที่กล่าวถึงธรรมศาลา(บ้านมีไฟ) ศาสนสถานประจำที่พักนักเดินทาง ตามเส้นทางนี้มี 17 แห่ง
โบราณวัตถุที่เห็นเป็นภาชนะดินเผา ไหโบราณแบบต่างๆเครื่องมือโลหะ ที่เราเห็นจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ ล้วนแล้วแต่มีความเชื่อมโยงชวนติดตาม ด้วยว่ามีการสำรวจพบแหล่งผลิตภาชนะดินเผา แหล่งถลุงโลหะ อันเป็นกิจกรรมในชุมชน สิ่งของจัดแสดงอื่นๆที่รวบรวมไว้ในพิพิธภัณฑ์ยังมีพวกหินบดยาที่พบเป็นจำนวนมาก และยังพบชิ้นส่วนของยอดปราสาท
พระพุทธรูปโบราณองค์สำคัญที่ค้นพบในเมืองฝ้ายยังมีอีกหลายองค์ มีพระพุทธรูปสำริดอีกสามองค์ที่ชาวบ้านเรียกกันว่า พระพุทธรูปสามพี่น้อง เนื่องมาจากว่าพบในบริเวณใกล้เคียงกันองค์แรกคือพระโพธิสัตว์สำริด มี 4 กร องค์นี้เด่นตามยุคสมัยทวารวดีแบบบุรีรัมย์ มีลักษณะของศิลปะคุปตะที่ชัดเจนมาก องค์กลางเป็นพระพุทธรูปสำริดประทับยืนในปางประทานธรรม อีกองค์คือ พระโพธิสัตว์สำริดศรีอาริยเมตไตรยศวร ประทับยืนในท่าตริภังค์ ทั้งสามองค์ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร กรุงเทพมหานคร
อีกองค์หนึ่งคือ หลวงพ่อศรี ชาวบ้านเล่าต่อกันมาว่า มีขโมยไปแอบขุดมาจากซากปราสาทคูกะน๊อบ เป็นพระพุทธรูปศิลาปางนาคปรก สมัยทวารวดี จากนั้นก็นำไปพักไว้ แล้วคนที่ขโมยไปได้มีอันเป็นไป ชาวบ้านที่ไปเจอจึงนำไปถวายวัดหินดาด ตำบลหินดาด อำเภอห้วยแถลง จังหวัดนครราชสีมา หลวงพ่อศรีจึงประดิษฐานอยู่ที่นั่นตราบจนทุกวันนี้
สิ่งที่เป็นความคาดหวังของคนในชุมชนคือ ความต้องการให้พระพุทธรูปหลวงพ่อประทานพรองค์จริงที่เคยอยู่ในหมู่บ้านนานนับพันปีได้กลับมาเหมือนเดิม ชาวบ้านได้เคยไปที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร กรุงเทพมหานคร ซึ่งได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีในฐานะเจ้าของพื้นที่ มีการอนุญาตให้ถ่ายภาพได้ แต่ด้วยเหตุผลใหญ่เรื่องมาตรการการรักษาความปลอดภัยให้กับโบราณวัตถุ อันเป็นสมบัติของชาติ จึงไม่ได้รับอนุญาตให้นำกลับมาทั้งถาวรและชั่วคราว
อีกความหวังหนึ่งของชุมชนก็คือ ความอยากให้มีการบูรณะโบราณสถานที่ทางกรมศิลปากรได้เคยมาสำรวจและกันพื้นที่ไว้ ซึ่งคณะนำชมได้พาไปดูพื้นที่จริงด้วยความกระตือรือร้น ที่แรกคือ ปราสาทคูกะน๊อบสภาพพื้นที่ที่เห็นคือกองดินขนาดใหญ่ผสมกับอิฐ มีส่วนของหินทรายขนาดใหญ่แทรกตัวอยู่ ปรากฏมีหลุมที่มีการลักลอบขุดหาพระพุทธรูปและวัตถุโบราณในสมัยก่อน ช่วงที่ชาวบ้านไม่ตื่นตัวรับรู้เรื่องการอนุรักษ์ จากข้อมูลทำให้ทราบว่า ปราสาทคูกะน๊อบเป็นโบราณสถานยุคแรกที่ก่อสร้างด้วยอิฐ ส่วนที่เป็นหินทรายขนาดใหญ่ สันนิษฐานว่าคือ เสากรอบประตู ทับหลัง ลักษณะโบราณสถานเป็นศาสนสถานแบบพุทธเถรวาทในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12 ต่อมาช่วงพุทธศตวรรษที่ 14 จึงเปลี่ยนมาเป็นนิกายมหายานที่รุ่งเรืองแผ่ขยายในช่วงเวลานั้น
ต่อมาคณะนำชมได้พาไปดูบริเวณคูเมืองเก่า ลักษณะเป็นลำน้ำล้อมรอบหมู่บ้าน ตรงนี้ถ้าดูภาพถ่ายทางอากาศจะมองเห็นแนวคูเมืองได้เด่นชัด มีการสำรวจและกำหนดว่าบริเวณที่ชุมชนบ้านเรือนและพื้นที่เพาะปลูกแทรกอยู่ เป็นเขตโบราณสถานทั้งหมด 325 ไร่ สมัยก่อนที่ยังไม่มีการลอกคลองจะมีต้นไทรเต็มไปหมด มีฝูงลิงเป็นจำนวนมาก มีเสือให้พบเห็นด้วย
จากนั้นคณะนำชมได้พาไปดูปล่องสะดือพระยานาค ตรงนี้ชาวบ้านบอกว่าตอนกลางวันเคยเห็นงูใหญ่ตัวสีดำเลื้อยออกมา เมื่อก่อนบ่อนี้เป็นโพรงลึกมาก เคยมีคนเอาไม้ไผ่ทั้งลำแหย่ลงไปก็ยังไม่ถึงก้นปล่อง
สถานที่ต่อมาคือซากโบราณสถานปราสาทกลางบ้าน ลักษณะเป็นเนินดิน มีอิฐก้อนเล็กเต็มไปหมด สังเกตว่าในแต่ละจุดของโบราณสถานได้มีการตั้งศาลไว้บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ทำให้ไม่มีใครกล้าบุกรุกนำอิฐเอาไปใช้ และต้นไม้ใหญ่ตรงนั้นก็ได้รับการอนุรักษ์ด้วย ในเดือนหกชาวบ้านจะมาทำพิธีร่วมกันทำบุญตักบาตร
อีกจุดหนึ่งที่น่าสนใจ สามารถมองเห็นแต่ไกล กองดินที่มีต้นมะค่าโมงต้นใหญ่มากอยู่กลางที่นา ในช่วงฤดูแล้งแลเห็นกองฟางกับแปลงผักเล็กๆที่ชาวบ้านปลูกไว้กินในครัวเรือน ตรงนี้คือ ปราสาทตาบึ้ง ลักษณะกองดินนี้มีอิฐก้อนเล็กโผล่มาให้เห็น ต้นมะค่าโมงใหญ่ได้ใช้รากกอดเอาบางส่วนของตัวปราสาทไว้ ในช่วงที่ชาวบ้านยังไม่ค่อยทราบข้อมูลข่าวสาร ได้เคยมีคนเอาเครื่องตรวจจับโลหะมาค้นหาวัตถุโบราณบริเวณนี้ แต่ชาวบ้านที่เห็นก็ได้ไปแจ้งให้กำนันทราบว่ามีคนต่างถิ่นมาบุกรุก
อีกสถานที่จัดแสดงวัตถุโบราณอยู่ที่วัดบ้านฝ้าย ในศาลามีพระพุทธรูปจำลองหลวงพ่อประทานพรอีกองค์หนึ่ง มีหินรูปปลา หินระฆังที่ตีแล้วดังกังวาน แท่นศิวลึงค์ มีภาพถ่ายทางอากาศของเมืองฝ้าย ใกล้กันมีการค้นพบใบเสมาหินโบราณคู่ขนาน มีการสร้างหลังคาคลุมไว้ ความสำคัญมีอยู่ว่า สิ่งนี้เป็นหลักฐานสำคัญของการรับอารยธรรมพุทธศาสนาที่รุ่งเรืองในสมัยทวารวดี ในดินแดนภาคอีสานของไทย ซึ่งแตกต่างจากทวารวดีภาคกลางที่นิยมสร้างธรรมจักร ใบเสมาของวัด คือสิ่งบ่งบอกความเป็นวัด เริ่มมาจากที่พระพุทธเจ้าทรงกำหนดให้ภิกษุต้องทำอุโบสถ ปวารณาและสังฆกรรมร่วมกัน โดยเฉพาะการสวดปาฏิโมกข์ ซึ่งต้องสวดร่วมกันเดือนละ 2 ครั้ง ใบเสมาเป็นหลักที่ปักเขตสำหรับการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาของวัด
ใกล้กันภายในบริเวณวัดได้ปรากฏฐานอาคารที่สร้างทิ้งไว้ สอบถามได้ความว่าแต่เดิมจะสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์ตรงนี้ ก่อสร้างฐานเสร็จแล้ว จึงได้ทราบว่าผิดกฎระเบียบว่าห้ามก่อสร้างในเขตโบราณสถาน ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ ทางอบต.เมืองฝ้ายและชาวบ้านต่างไม่ย่อท้อ จึงได้ไปสร้างที่พื้นที่ของอบต. ดังปรากฏเป็นอาคารพิพิธภัณฑ์ที่สวยงามเก็บเรื่องราวอันมีคุณค่าของชุมชนไว้
----------------------------------------------------
สาวิตรี ตลับแป้น / ผู้เขียน
สำรวจข้อมูลภาคสนาม วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2559
----------------------------------------------------
การเดินทาง : จากตัวเมืองบุรีรัมย์ไปอำเภอหนองหงส์ ระยะทาง 60 กม. จากหนองหงส์ไปต.เมืองฝ้ายใช้เส้นทางสระขุด-โคกสว่าง ระยะทางประมาณ 7 กม. (ทางเดียวกับที่จะไปอำเภอหนองกี่และอ.ลำปลายมาศ) ให้สังเกตป้ายบอกที่ตั้งของอบต.เมืองฝ้าย
-----------------------------------------------
บรรณานุกรม
พงศ์ธันว์ สำเภาเงิน. “เส้นทางวัฒนธรรม พิมายและศาสนาสถานที่เกี่ยวข้องปราสาทพนมรุ้งและ ปราสาทเมืองต่ำ.” ศิลปากร,58,5(กันยายน-ตุลาคม):หน้า 5-18.
ศักดิ์ชัย สายสิงห์,ปราสาทขอมในประเทศไทย.สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เล่มที่ 30,พิมพ์ครั้งที่ 7. กรุงเทพฯ:ด่านสุทธา
การพิมพ์,2554.
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสื่อออนไลน์
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยบล็อก
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสารานุกรมไทย
พระพุทธรูป ภาชนะดินเผา โบราณวัตถุ โบราณคี คูเมืองเก่า
ศูนย์บูรณาการวัฒนธรรมไทยสายใยชุมชนสามเผ่า วัดคุรุราษฎร์
จ. บุรีรัมย์
พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านอีสานใต้
จ. บุรีรัมย์
พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดละลวด
จ. บุรีรัมย์