พิพิธภัณฑ์โบราณวัตถุยุคก่อนประวัติศาสตร์ วัดป่าพระสบาย


ที่อยู่:
วัดป่าพระสบาย หมู่ 1 ต.บึงเจริญ อ.บ้านกรวด จ.บุรีรัมย์ 31180(ห่างจากตัวอำเภอบ้านกรวดราว 14 ก.ม.)
โทรศัพท์:
08-9585-0467 ติดต่อคุณสำนวน หลอมนาค, 08-9850-3656
วันและเวลาทำการ:
เปิดทุกวัน กรุณาติดต่อล่วงหน้า
ค่าเข้าชม:
ไม่เสียค่าเข้าชม
ปีที่ก่อตั้ง:
2540
จัดการโดย:
เนื้อหา:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

รีวิวของพิพิธภัณฑ์โบราณวัตถุยุคก่อนประวัติศาสตร์ วัดป่าพระสบาย

ถนนคอนกรีตเล็ก ๆ ในหมู่บ้านบึงเจริญ สองข้างทางเต็มไปด้วยสวนยางพาราและไร่มันสำปะหลัง นำเราไปสู่วัดป่าพระสบาย ที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์โบราณวัตถุยุคก่อนประวัติศาสตร์ วัดแห่งนี้ร่มรื่นด้วยต้นยางพารา ต้นไม้เศรษฐกิจที่ชาวบ้านที่นี่ปลูกกันแทบทุกครัวเรือน อาคารจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์แฝงตัวอยู่ในสวนยางพารา ภายในจัดแสดงโบราณวัตถุที่ชาวบ้านขุดพบบริเวณท้ายหมู่บ้านบึงเจริญแห่งนี้ 
 
ปี 2516 เป็นช่วงเวลาแรก ๆ ที่ชาวบ้านได้ไปขุดบ่อน้ำแล้วพบภาชนะดินเผา แต่ว่ายังไม่มีใครสนใจ จนกระทั่งราวปี 2540 ชาวบ้านได้ขุดดินลึกประมาณ 1 เมตร เพื่อทำไร่มันสำปะหลัง พบเศษภาชนะดินเผาอีกจำนวนมาก พระอาจารย์ธงชัย ชาตปญโญ เจ้าอาวาสวัดป่าพระสบายในขณะนั้น จึงได้ขอให้ผู้ที่ขุดพบโบราณวัตถุนำมารวบรวมไว้ที่วัด เพื่อจะก่อตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ ให้คนท้องถิ่นและผู้ที่สนใจเข้ามาศึกษาหาความรู้ จากนั้นได้มีการแจ้งกรมศิลปากร ให้มาสำรวจพื้นที่ ซึ่งมีการขุดพบโครงกระดูกมนุษย์โบราณ และเศษภาชนะดินเผาซึ่งส่วนใหญ่เป็นภาชนะดินเผาสีเทาดำ ไม่มีการเคลือบ มีรูปทรงคล้ายภาชนะบ้านเชียงแต่ไม่มีลายจากการเขียนสี มีเพียงลายจากการทาบเชือก และสายจากการจดของแหลมลงในเนื้อภาชนะเท่านั้น ส่วนหนึ่งนำไปจัดแสดงที่ปราสาทหินพนมรุ้ง กรมศิลปากรได้สรุปเบื้องต้นว่า โบราณวัตถุที่ขุดพบอยู่ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ มีอายุราว 3,000 ปี
 
หลังจากที่ทางวัดและชุมชนตกลงกันว่าจะสร้างพิพิธภัณฑ์ จึงได้ขอทุนสนับสนุนจากโครงการ SIP ราวสี่แสนบาท ชาวบ้านและผู้มีจิตศรัทธาบริจาคเงินสมทบกว่าอีกแปดแสนบาท เพื่อใช้ในการก่อสร้างอาคารจัดแสดงพิพิธภัณฑ์ภายในบริเวณพื้นที่ของวัดป่าพระสบาย โดยกรมศิลปากรได้เข้ามาสนับสนุนข้อมูลในการจัดแสดงและทำทะเบียนวัตถุที่มีกว่า 300 ชิ้น ให้กับทางพิพิธภัณฑ์  ราวปี 2544 จึงแล้วเสร็จเปิดให้เข้าชม
 
ภายในพิพิธภัณฑ์จัดแสดงโบราณวัตถุมากมาย ชิ้นที่สมบูรณ์และมีคุณค่าเก็บไว้ในตู้กระจก ส่วนเศษภาชนะดินเผาที่แตกหักจำนวนมาก นำมาวางรวมไว้บนโต๊ะเหล็ก ตามมุมห้อง โบราณวัตถุที่จัดแสดง อาทิ หินกก้อนกลมที่ใช้ทุบวัตถุหรือลับโลหะ สร้อยคอหินสี กำไลหิน เครื่องใช้ที่เป็นเหล็กจำพวก มีด หอก กระดิ่ง กะพรวน แหวนสำริด สร้อยคอสำริด ต่างหู กระสุนดินเผา แวดินเผา กระดิ่งดินเผา ภาชนะดินเผารูปทรงคล้ายบาตร หม้อดินสีแดงไม่เคลือบ ภาชนะดินเผารูปทรงคล้ายกะลาและพาน ภาชนะดินเผาสีดำมีเชิง
 
อย่างไรก็ดี อาคารจัดแสดงเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนที่สร้างอย่างง่าย ๆ แม้จะมีเหล็กดัดและล็อกกุญแจตู้จัดแสดงทุกตู้ ก็ยังมีโจรลักลอบเข้ามาขโมยโบราณวัตถุ ดังนั้นผู้ชมไม่ต้องแปลกใจถ้าก่อนเดินออกจากอาคารจัดแสดง จะเห็นที่นอน มุ้ง หมอน “จัดแสดง” บริเวณห้องทางออก คุณสำนวน หลอมนาค เจ้าของห้องนอนในพิพิธภัณฑ์ ซึ่งเป็นลูกจ้างขององค์การบริหารส่วนตำบลบึงเจริญ และเจ้าของที่ดินที่ขุดพบโบราณวัตถุ คือผู้ที่อาสาเข้ามาดูแลและเฝ้ายามพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ในตอนกลางคืน 
 
ทางชุมชนบึงเจริญบอกว่า มีแนวโน้มว่าในอนาคตทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและทางจังหวัด อาจจะเข้ามาจัดทำบริเวณแห่งนี้ให้เป็นแหล่งขุดค้นทางโบราณคดีกลางแจ้ง (site museum) พวกเขาหวังไว้ว่าใครที่ผ่านไปมาอำเภอบ้านกรวด จะเข้ามาเยี่ยมเยือนและท่องเที่ยวในหมู่บ้านของพวกเขามากขึ้น

ข้อมูลจาก: สำรวจภาคสนามวันที่ 19 ตุลาคม 2550
ชื่อผู้แต่ง:
-