ที่อยู่:
โรงเรียนลาดบัวหลวงไพโรจน์วิทยา อ.ลาดบัวหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา
วันและเวลาทำการ:
เปิดวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 08.00 – 16.30 น. ตามเวลาราชการ (กรุณาติดต่อล่วงหน้า)
ของเด่น:
เรื่องราวเกี่ยวกับชุมชนลาดบัวหลวง วิถีชีวิตชาวบ้าน, การอยู่ร่วมกันระหว่างชุมชนไทยพุทธและมุสลิม, เรือพื้นบ้านจำลองแบบต่างๆ
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยทีมงานและสมาชิก
ลักษณะประชากรหลักของอำเภอลาดบัวหลวง (ตามข้อมูลของทางโรงเรียนและราชการ) แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ ประชากรที่เป็นคนไทยภาคกลางทั้งที่มีถิ่นฐานเดิมอยู่ในเขตละแวกใกล้เคียงอาทิ อำเภอเสนา อำเภอบางไทร และบางส่วนที่อพยพมาจากปทุมธานี (กลุ่มที่มาพร้อมกับการหาที่ดินเพื่อปลูกผัก, และทำนา) และจากนนทบุรี (กลุ่มที่ทำหม้อดินเผา และแสวงหาที่ทำเกษตร) และอีกกลุ่มหนึ่งคือประชากรที่พูดภาษายาวีเป็นหลัก หรืออาจจะเรียกได้ว่าเป็นกลุ่มชาวมุสลิม ที่ถูกกวาดต้อนมาจากทางเมืองปัตตานีเพื่อช่วยขุดคลองพระยาบันลือ (สันนิษฐานว่ากลุ่มนี้น่าจะเป็นชาวมลายูจากหัวเมืองภาคใต้ที่ถูกกวาดต้อนมาพร้อมกับกลุ่มชาวมลายูที่ตั้งถิ่นฐานบริเวณคลองรังสิต ในสมัยรัชกาลที่ 5 – ผู้วิจัย) ในโรงเรียนลาดบัวหลวงเองก็เห็นได้ชัดว่า ร้อยละ 40 เป็นนักเรียนมุสลิม ในขณะที่ประมาณ ร้อยละ 60 เป็นนักเรียนไทยพุทธ ในแง่ของศาสนสถานก็สามารถสะท้อนถึงจำนวนได้ชัดเจน คือ มัสยิด 19 แห่ง วัดในพุทธศาสนา 15 แห่ง
ประวัติพิพิธภัณฑ์อู่ข้าวอู่น้ำ
พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ก่อตั้งมาตั้งแต่ พ.ศ.2547 ในสมัยของ ผอ.ประเสริฐ อยู่นาน ด้วยเห็นว่านักเรียนซึ่งเป็นคนในท้องถิ่นเองกลับไปค่อยรู้เรื่องประวัติ หรือความเป็นมาของชุมชน รวมไปถึงสภาพโดยทั่วไปของชุมชนตนเอง (อำเภอลาดบัวหลวง) จึงเริ่มจากการให้นักเรียนในโรงเรียนไปลองศึกษาประวัติชุมชนของตนเอง แล้วนำมาจัดแสดงเป็นนิทรรศการในงานประชุมของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และทางอำเภอ ต่อมาจึงเริ่มขยายมาเป็นการรับบริจาคข้าวของเพื่อการจัดแสดงเป็นพิพิธภัณฑ์
ชื่อของพิพิธภัณฑ์นั้นมีที่มาจาก “อู่ข้าว” คือการเป็นเมืองเกษตรกรรมขนาดใหญ่ ประชาชนส่วนใหญ่มีที่ทำกินเป็นหลายร้อยไร่ ที่การปลูกผัก (ผักบุ้งจีน, ผักบุ้งนา,ผักกาด, แตงกวา, บวบ, มะระ ฯลฯ) และทำนา ส่วน “อู่น้ำ”นั้นก็ด้วยเหตุที่ว่าอำเภอลาดบัวหลวงมีคลองหลายสาย นอกจากคลองพระยาบันลือ และคลองสาน ที่เป็นลำน้ำสายหลักแล้วยังมีคลองย่อยอื่นๆ อีกประมาณ 22 คลอง
ห้องจัดแสดงอยู่บริเวณใต้ถุนของอาคารเรียน มีการกั้นเป็นห้องกระจกอย่างเป็นสัดเป็นส่วน ในตอนแรกที่ก่อตั้งนั้นพื้นอาคารมีลักษณะเป็นพื้นดินธรรรมดา ต่อมาได้รับเงินบริจาคจากเจ้าอาวาสวัดปทุมวันพอสำหรับการทำกระเบื้องปูพื้น รวมกับเงินบริจาคจากคหบดีท่านอื่นๆ จึงพอสำหรับกั้นห้องและจัดสร้างเรือนไม้จำลองขนาดเล็ก อาจารย์ผู้ดูแลเล่าว่าในปี พ.ศ.2554 เมื่อน้ำท่วมใหญ่นั้นทางโรงเรียนสามารถกันน้ำไม่ให้ไหลเข้ามาในโรงเรียนได้ แต่ห้องจัดแสดงก็ยังเกิดปัญหาว่ามีน้ำสามารถรั่วซึมเข้ามาได้อยู่ผ่านทางพื้นห้อง
วัตถุและเนื้อหาจัดแสดง
เนื้อหาจัดแสดง แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ วิถีชีวิตชุมชน และ การอยู่ร่วมกันระหว่างชุมชนไทยพุทธและมุสลิม
วิธีชีวิตชุมชน
ด้วยความคิดที่ว่าเมืองลาดบัวหลวงเป็นเมืองอู่ข้าวซึ่งก็คือเป็นแหล่งเพาะปลูกที่สำคัญ ข้าวของเครื่องใช้ที่นำมาประกอบการอธิบายจึงประกอบไปด้วย สีฝัด กองฟาง แอก ถังตวงข้าว นอกจากเรื่องเกษตรกรรมแล้วยังมีการนำเสนอเรื่องราวของวิถีชาวน้ำ คือการปรับตัวให้เข้ากับลักษณะพื้นที่ลุ่มที่น้ำท่วมถึงทุกปี ด้วยการนำเสนอเครื่องมือจับสัตว์น้ำหลายหลายประเภท ทั้งสุ่ม ไซ ลอบ แห เรือพายขนาดเท่าจริงที่เคยใช้กันอยู่ และแบบจำลองเรือชนิดต่างๆ (เรือผีหลอก,เรือพายม้า เรือหมู เรือแท๊กซี่) เครื่องมือที่น่าสนใจและไม่ค่อยเห็นได้บ่อยคือ เครื่องมือที่เรียกว่า “สระโอกรีดปลาหลด”ได้รับบริจาคมาจากนักการของโรงเรียนซึ่งบอกว่าเป็นเครื่องมือที่ได้รับตกทอดมาจากบรรพบุรุษ ลักษณะเป็นเหล็กที่ถูกนำมางอที่ปลายด้านหนึ่งจนมีลักษณะคล้ายสระโอ ส่วนปลายด้ามอีกด้านใช้สำหรับเข้ากับด้ามไม้ไผ่ยาวๆ ใช้ในช่วงน้ำแล้ง หรือฤดูแล้งเมื่อน้ำในคลองแห้งขอดจนสามารถเดินลุยข้ามฝั่งได้ แล้วลากปลายด้านที่เป็นสระโอลงไปในโคลนหรือเลน เมื่อดึงขึ้นมาก็มักจะคล้องได้คอของปลาหลด (หรือปลาไหลตัวเล็กๆ หรือบางครั้งก็อาจได้งูติดขึ้นมาด้วย) ด้วยเหตุที่ว่าลำตัวของปลาหลดนั้นลื่นมาก จึงยากที่จะจับด้วยอุปกรณ์อื่นๆ ส่วนที่เป็นสระโอมีหน้าที่คล้ายขอเกี่ยวและตัวล๊อคปลาหลดไว้นั่นเอง
ที่มุมหนึ่งของห้องจัดแสดงมีเรือนจำลองวิถีชีวิตชาวบ้านมีลักษณะเป็นบ้านยกพื้น (ความจริงต้องยกพื้นสูง แต่เนื่องจากข้อจำกัดความสูงของห้องจัดแสดงทำให้มีลักษณะเป็นเรือนเตี้ยๆ แทน ด้านนอกชานมีข้าวของเครื่องใช้ภายในบ้าน โดยเฉพาะเครื่องครัว และหินโม่แป้ง ด้านในห้องจัดแสดงเป็นห้องนอนที่มีเครื่องนอน และที่หน้าต่างมีม่านไม้ไผ่แบบดั้งเดิมแขวนอยู่ ครูกาญจนา เล่าว่าลักษณะเรือนแบบนี้ใช้กันทั้งชาวไทยพุทธ และมุสลิมในท้องถิ่น
นอกจากวิถีชีวิตแล้วยังมีวัตถุที่แสดงสินค้าหัตถกรรมประจำท้องถิ่นคือ เครื่องดนตรีไทยจำลอง มาจากชุมชนที่ผลิตและแกะสลักเครื่องดนตรีไทยจำลอง อาทิ ระนาด กระจังแขวนฆ้อง และรางฆ้อง แบบเรือจำลองชนิดต่างๆ เครื่องปั้นดินเผาที่มีการแกะสลักลวดลาย (เล่ากันว่าชุมชนที่ปั้นเครื่องปั้นดินเผานี้อพยพมาจากทางนนทบุรีหรือที่เรียกว่าชุมชนเกาะเกร็ด)
การอยู่ร่วมกันระหว่างชุมชนไทยพุทธและมุสลิม
ส่วนที่เล่าเรื่องนี้มีเพียงส่วนเดียวคือ ภาพวาดบนฝาผนังห้องด้านหนึ่ง ที่เป็นภาพแนวยาว ฝั่งทางด้านขวามือเป็นภาพวาดจำลองชุมชนมุสลิม ลักษณะเป็นลานหินด้านหน้ามัสยิด คุณครูกาญนาเล่าว่าจำลองช่วงเวลาที่ชาวมุสลิมกำลังเดินไปมัสยิดเพื่อทำละหมาด ส่วนภาพวาดทางด้านขวามือเป็นภาพวาดเรือนไทยที่ตั้งอยู่ริมน้ำ สื่อถึงวิถีชีวิตของชาวไทยพุทธ ภาพทั้ง 2ภาพที่นำมาต่อไว้ด้วยกันนั้นต้องการสื่อถึงการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขทั้งของชาวไทยพุทธ-และมุสลิม แม้ว่าในความจริงหย่อมบ้านจะแยกออกจากกันอย่างชัดเจน แต่ก็ไม่ได้มีปัญหาขัดแย้งแต่อย่างใด
การบริหารจัดการ
งบประมาณในการจัดการส่วนใหญ่มาจากทางโรงเรียนซึ่งมีข้อจำกัด ดังนั้น จึงได้รับบริจาคการปรับปรุงห้องจัดแสดงจากบุคคลภายนอก อาทิ ส่วนพื้นกระเบื้องและศาลาด้านหน้าทางเข้าได้มาจากเจ้าอาวาสวัดปทุมวัน และบ้านจำลองวิถีชีวิตซึ่งเคยเสียหายจากน้ำท่วมก็ได้เงินซ่อมแซมจากคุณอภิวัฒน์ สุดใจดี
ปัญหาสำคัญนอกจากด้านงบประมาณที่จำกัดแล้วยังเป็นสถานที่ที่จัดแสดงซึ่งอยู่ใต้ถุนอาคารจึงมีความชื้นสูง และอับ (ร้อน) เนื่องจากยังไม่มีการจัดการเรื่องความชื้นทำให้มุมห้องในบางจุดมีราขึ้น และมีผลต่อวัตถุจัดแสดงที่เป็นอินทรีย์วัตถุบางชิ้นด้วย
ในด้านของกิจกรรมที่เกี่ยวข้องส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอน โดยปกติแล้วจะมีนักเรียนห้องหนึ่งที่รับหน้าที่นำชมพิพิธภัณฑ์อยู่เป็นประจำเมื่อมีคณะบุคคลภายนอกขอเข้ามาเยี่ยมชม
การเดินทาง
การเดินทางโดยรถยนต์จากกรุงเทพใช้ถนนกาญจนาภิเษก หมายเลข 9(วงแหวนตะวันตก) ผ่านไปทางอำเภอบางบัวทอง เมื่อผ่านอำเภอบางบัวทองเบี่ยงซ้ายเพื่อเข้าสู่ทางขนานที่แยกเข้าสู่ถนนบางบัวทอง-สุพรรณบุรี (หมายเลข 340) ตรงไปประมาณ 6กิโลเมตร เบี่ยงซ้ายออจากถนนคู่ขนานเพื่อเตรียมกลับรถ (U-Turn)ใต้สะพาน เมื่ออกจากใต้สะพานจะพบซอยทางด้านซ้ายมือเป็นสะพานคอนกรีต วิ่งข้ามสะพานคอนกรีต แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนน บ้านสุเหร่าแดง-บ้านคลองบางหลวง ขับตรลและเลียบคลองไปเรื่อยๆ (เรียกว่าถนนเลียบคลองใหญ่) ประมาณ 19กิโลเมตร เมื่อข้ามคลองพระยาบันลือแล้วจะพบสี่แยก เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนหมายเลข 4006ตรงไปประมาณ 3.4กิโลเมตร จะเห็นสะพานสะพานสูงเพื่อข้ามคลอง ทางซ้ายมือก่อนขึ้นสะพานเป็นซอยด้านหน้ามีป้ายโรงเรียนลาดบัวหลวงไพโรจน์วิทยาตั้งอยู่ เลี้ยวซ้ายไปตามถนนจนเข้าเขตประตูโรงเรียน เลี้ยวขวาไปตามถนน อาคารแรกทางขวามือคือบริเวณที่ตั้งพิพิธภัณฑ์อู่ข้าวอู่น้ำ
อุดมลักษณ์ ฮุ่นตระกูล / เขียน
ข้อมูลจาก: การสำรวจภาคสนามเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2556
อ้างอิง
สัมภาษณ์ อาจารย์กาญจนา กลัดทอง ผู้ดูแลและจัดการพิพิธภัณฑ์ในปัจจุบัน, วันที่ 9กันยายน 2556
สัมภาษณ์ อาจารย์อทิตา บุญขยาย ผู้ร่วมก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำอยู่ที่โรงเรียนเสนาประสิทธิ์, วันที่ 9กันยายน 2556
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสื่อออนไลน์
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยบล็อก
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสารานุกรมไทย
มุสลิม วิถีชีวิตชาวบ้าน ไทยพุทธ เรือพื้นบ้านจำลอง
พิพิธภัณฑ์การศึกษา ร.ร.อยุธยาวิทยาลัย
จ. พระนครศรีอยุธยา
ศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยา
จ. พระนครศรีอยุธยา
พิพิธภัณฑ์เรือโบราณวัดหนองน้ำส้ม
จ. พระนครศรีอยุธยา