ที่อยู่:
โรงเรียนเสนาประสิทธิ์ เลขที่ 39 ในเขตเทศบาลเมืองเสนา ถ.วิไลเสนา อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา
วันและเวลาทำการ:
จันทร์-ศุกร์ เวลา 08.00 – 16.30 น. ตามเวลาราชการ (กรุณาติดต่อล่วงหน้า)
ของเด่น:
เรื่องราวเกี่ยวกับเมืองเสนา ชีวิตชาวบ้าน, เรือพื้นบ้านจำลองแบบต่างๆ, เครื่องอัฐบริขารและของใช้ของหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยทีมงานและสมาชิก
รีวิวของศูนย์ศึกษาแหล่งเรียนรู้และภูมิปัญญาเมืองเสนา (โรงเรียนเสนาประสิทธิ์)
อำเภอเสนา เป็นอำเภอทางด้านตะวันตกของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พื้นที่บริเวณนี้เคยมีการตั้งถิ่นฐานอย่างหนาแน่นมาแล้วตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี อันเนื่องมาจากเป็นชุมชนริมฝั่งแม่น้ำน้อย มีการค้าขายที่คึกคัก ในช่วงกรุงรัตนโกสินทร์เอง อำเภอเสนาก็เป็นตลาดที่คึกคักและเป็นแหล่งรวมของผู้คนจากหลายๆ แห่ง ทั้งคนจากสุพรรณ วิเศษชัยชาญ เมืองนนท์ เมืองปทุม และลำลูกกา ทำให้ย่านนี้เป็นท่าจอดเรือเมล์ และเรือแท๊กซี่ที่วิ่งขึ้นล่องระหว่างกรุงเทพและอยุธยา และวิ่งระหว่างตัวอำเภอกับตำบลอื่นๆ ในตอนหลังเมื่อเส้นทางคมนาคมอื่นๆ สะดวกสบายขึ้น โดยเฉพาะทางรถยนต์ ก็ทำให้กิจการเรือโดยสารเหล่านี้ปิดตัวลงพร้อมๆ กับความคึกคักทางเศรษฐกิจที่มาพร้อมกับสายน้ำประวัติศูนย์ศึกษาแหล่งเรียนรู้และภูมิปัญญาเมืองเสนา
แนวคิดของการจัดตั้งศูนย์แห่งนี้เริ่มตั้งมาตั้งแต่ พ.ศ.2530 เมื่อสำนักงานวัฒนธรรมแห่งชาติ (สวช.) สนับสนุนให้มีการจัดตั้งศูนย์วัฒนธรรมของอำเภอ โดยขอให้ทางโรงเรียนเป็นเจ้าภาพในการดูแล ในช่วงแรกๆ ศูนย์ข้อมูลจะอยู่ในห้องอื่นๆ ของทางโรงเรียนตามแต่ว่าในช่วงดังกล่าวห้องใดสะดวกให้จัดแสดง เนื้อหาก็จะล้อไปกับคำขวัญประจำอำเภอ คำขวัญเดิมคือ “เสนา ตะกร้าสาน หลวงพ่อปานคู่เมือง เรืองรองเจียระไน ใฝ่ใจแผ่นดินธรรม” ส่วนคำขวัญใหม่คือ “หลวงพ่อปานเป็นศรี ทุ่งนาเขียวขจี หัตถกรรมมากมี ตลาดดีบ้านแพน”
ในปี พ.ศ.2549 ทางโรงเรียนได้รับงบประมาณจากโครงการโรงเรียนในฝันของทางรัฐบาล (เป็นโครงการที่สั่งลงมาจากรัฐบาลแต่ไม่มีงบประมาณให้) งบประมาณที่ว่าได้มาจากการเรี่ยไรจากคณะผู้ปกครองนักเรียน นักการเมือง หน่วยงาน และคหบดีในท้องถิ่น ได้เงินมาปรับปรุงห้องจัดแสดงซึ่งก็คือห้องปัจจุบันของทางศูนย์ศึกษาฯ และดำเนินการจัดแสดงมาจนถึงปัจจุบัน
วัตถุและเนื้อหาจัดแสดง
ภายในห้องจัดแสดงมีการแบ่งเนื้อหาออกเป็นมุมต่างๆ และตู้จัดแสดงวัตถุ ที่ล้อไปกับขวัญข้างต้นคือ “หลวงพ่อปานเป็นศรี ทุ่งนาเขียวขจี หัตถกรรมมากมี ตลาดดีบ้านแพน”
หลวงพ่อปานเป็นศรี หลวงพ่อปาน แห่งวัดบางนมโค เป็นพระเกจิชื่อดังที่คนไทยนับถือกับแพร่หลาย ท่านมีชีวิตอยู่ในช่วง พ.ศ.2418 – 2481 และเป็นครูผู้สอนกรรมฐานให้กับหลวงพ่อฤาษีลิงดำ พ.ศ.2459-2535 พระสงฆ์ที่มีชื่อเสียงในด้านการบำเพ็ญวิปัสสนากรรมฐานรูปหนึ่งที่ประชาชนเคารพเลื่อมใส หลวงพ่อปานเป็นพระฝ่ายปฏิบัติกรรมฐาน (อสุภะกรรมฐาน) ท่านมีความสามารถในด้านการรักษาด้วยคุณไสย ด้วยยาแผนโบราณ และที่มีชื่อเสียงมากอีกอย่างหนึ่งคือการสร้างพระเครื่องและผ้ายันต์คุ้มภัย
วัตถุจัดแสดงที่เกี่ยวกับหลวงพ่อปานคือ เครื่องอัฐบริขาร ที่สำคัญคือ บาตรพระ ร่มออกธุดงค์ ไม้เท้า มีดอาคม ชุดน้ำชา กระโถน และภาพถ่ายของหลวงพ่อปาน ของเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ยืมมาจากวัดบางนมโค เพื่อจัดแสดงด้วยเหตุที่ว่าเป็นศูนย์วัฒนธรรมประจำอำเภอ
ทุ่งนาเขียวขจี ส่วนจัดแสดงนี้เป็นข้าวของเครื่องใช้ในบ้าน โดยเฉพาะเครื่องมือเกษตรกรรม อาทิ เครื่องสีฝัด ครกตำข้าว สากตำข้าว กระด้ง กระจาด เครื่องสีข้าว และเครื่องมือจับสัตว์น้ำ เป็นต้น
หัตถกรรมมากมี งานหัตวกรรมในที่นี้มีความหมายถึงการเป็นแหล่งผลิตงานฝีมือและหัตถกรรมของชุมชนในเขตอำเภอเสนา โดยเฉพาะพวกเครื่องจักสาน ตะกร้าสาน ทั้งแบบที่ทำจำลองขายเพื่อการท่องเที่ยว และแบบที่ทำเพื่อใช้จริง นอกจากนี้ยังมี งานช่างที่ทำแบบจำลองของเรือนไทยโบราณ และเรือพายในท้องถิ่นแบบต่างๆ ในส่วนของการจัดแสดงแบบจำลองเรือพายนี้ยังสื่อถึงประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่เล่าถึงวิถีชีวิตชาวบ้านของชาวเสนา การเป็นท่าเรือที่เป็นจุดจอดของเรือเมล์ เรือแท๊กซี่ในอดีต และความคึกคักของตลาดบ้านแพนที่เป็นแหล่งแลกเปลี่ยน ค้าขาย สินค้าอุปโภคบริโภคที่สำคัญของคนในแถบนี้ นอกจากนี้งานหัตถกรรมอีกชนิดที่ถือได้ว่าเป็นงานที่โดดเด่นในท้องถิ่นคือการทำเมรุลอย หรือเมรุสำหรับงานศพที่ถอดประกอบได้ ซึ่งในปัจจุบันหาช่างฝีมือในด้านนี้ได้น้อย ในห้องจัดแสดงก็มีแบบจำลองของเมรุลอยที่ได้รับบริจาคมาจากผู้ปกครองและนักเรียนที่สืบทอดงานช่างประเภทนี้ไว้อยู่
ตลาดดีบ้านแพน เนื้อหาจัดแสดงส่วนนี้จะเน้นที่ภาพเก่าเล่าเรื่อง กิจกรรมสำคัญทางน้ำ ทั้งภาพความคึกคักของตลาดที่มีเรือจำนวนมากมาจอดรอเพื่อซื้อขายของกัน และกิจกรรมทางน้ำของหนุ่มสาวในอดีต (การล่องเรือเพื่อละเล่นเพลงเรือ) พร้อมๆ กับเรื่องเล่าที่แทรกอยู่กับแบบจำลองของบ้านเรือนไทยโบราณ และแบบจำลองเรือประเภทต่างๆ
การบริหารจัดการ
การบริหารจัดการอยู่ภายใต้การดูแลของโรงเรียนเสนาประสิทธิ์ โดยเฉพาะคณาจารย์ในหมวดสาระการเรียนรู้ด้านสังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม ในอนาคตทางโรงเรียนมีโครงการที่จะระดมทุนขอรับบริจาคเพื่อขยายห้องจัดแสดงและสื่อเทคโนโลยีให้กับศูนย์แห่งนี้ แต่ปัจจุบันห้องจัดแสดงยังคงมีปัญหาสำคัญคือปลวกที่มาพร้อมกับปัญหาน้ำท่วม แม้ว่าเมื่อ พ.ศ.2554 น้ำจะไม่ทำความเสียหายให้กับวัตถุจัดแสดงนักแต่ด้วยความแรงและน้ำปริมาณมากก็ทำให้พื้นห้องจัดแสดงมีรอยเผยอหรือพื้นเปิดขึ้นมา
การเดินทาง
การเดินทางโดยรถยนต์จากกรุงเทพใช้ถนนกาญจนาภิเษก หมายเลข 9 (วงแหวนตะวันตก) แล้วจึงแยกเข้าสู่ถนนสาย 347มุ่งหน้าสู่เส้นทางที่จะไปศูนย์ศิลปาชีพบางไทร หรือเส้นทางที่ป้ายบอกว่าไปสู่ อ.บางปะหัน เลี้ยวซ้ายที่สี่แยกวรเชฐ ที่ทางขวามือเป็นทางแยกเข้าสู่อ.เมือง จ.พระนครศรีอยุธยาส่วนซ้ายมือคือทางไปอำเภอเสนา วิ่งตรงมาจนกระทั่งผ่านเข้าสู่ตัวเมืองเสนา เมื่อผ่านโรงพยาบาลศุภนิมิตรเสนาที่เห็นทางขวามือ ให้เตรียมเบี่ยงซ้ายเพื่อออกทางคู่ขนาน และลอดใต้สะพานข้ามน้ำขนาดใหญ่เพื่อกลับรถ จากทางลอดใต้สะพานเมื่อกลับรถมาแล้วเลี้ยวซ้ายที่ซอยแรกที่พบ วิ่งตรงไปเรื่อยๆ จนพบโค้งขนาดใหญ่ที่เป็นสามแยกให้เลือกโค้งไปตามถนนทางซ้ายมือสู่ถนนกิตติขจร วิ่งตรงไปจนสุดถนนที่เป็นสามแยก เลือกเลี้ยวขวา วิ่งตรงไปจนสุดถนนจนกระทั่งเห็นทางขึ้นสะพานสูง ก่อนขึ้นสะพานจะมีลักษณะเป็นสี่แยกขนาดเล็ก เลี้ยวซ้ายก่อนขึ้นสะพาน วิ่งตรงไปประมาณ 500เมตร จะพบกับกำแพงโรงเรียนเสนาประสิทธิ์ทางด้านขวามือ เลี้ยวขวาเข้าสู่โรงเรียนตรงไปจนสุดสนามจะพบอาคารเรียนทางด้านซ้ายมือเป็นที่ตั้งของศูนย์ศึกษาแหล่งเรียนรู้และภูมิปัญญาเมืองเสนา
อุดมลักษณ์ ฮุ่นตระกูล / เขียน
สำรวจภาคสนาม เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2556
อ้างอิง
สัมภาษณ์ อาจารย์ชาญศักดิ์ สามสี ผู้อำนวยการโรงเรียนเสนาประสิทธิ์, วันที่ 9 กันยายน 2556
สัมภาษณ์ อาจารย์วิฑูร ไตรนาถ ผู้ก่อตั้งและดูแลจัดการพิพิธภัณฑ์, วันที่ 9 กันยายน 2556
สัมภาษณ์ อาจารย์สมบัติ ละกำปั่น ผู้ดูแลและจัดการพิพิธภัณฑ์, วันที่ 9 กันยายน 2556
สัมภาษณ์ อาจารย์อทิตา บุญขยาย ผู้ดูแลและจัดการพิพิธภัณฑ์, วันที่ 9 กันยายน 2556
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสื่อออนไลน์
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยบล็อก
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสารานุกรมไทย
เรือจำลอง เรือพื้นบ้าน เครื่องอัฐบริขาร หัตถกรรม เมืองเสนา ของใช้พระสงฆ์
สถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำวังปลา ศูนย์ศิลปาชีพบางไทร
จ. พระนครศรีอยุธยา
บ้านตุ๊กตาไทย
จ. พระนครศรีอยุธยา
ศูนย์เรียนรู้พลังงานทดแทนบางจาก
จ. พระนครศรีอยุธยา