พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติ จังหวัดนนทบุรี


พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติ จังหวัดนนทบุรี เดิมชื่อ พิพิธภัณฑ์มนุษยชาติวิทยา สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2504 อาจกล่าวได้ว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาแห่งแรกของไทย โดยความคิดของนายสอาด ปายะนันท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรีในสมัยนั้น อาคารแห่งนี้เป็นตึก 2 ชั้น มีห้องขนาดใหญ่รวม 4 ห้อง จัดไว้เป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติ จัดแสดงวิวัฒนาการของพืช สัตว์ และมนุษย์ รวมทั้งวิวัฒนาการของสัตว์โบราณสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ต่อมาในปี พ.ศ. 2554 อาจารย์ปริญญา สัญญะเดช อาจารย์จากเทคนิคกรุงเทพ ได้อาสาเข้ามาปรับปรุงพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ใหม่อีกครั้ง โดยคงรูปแบบเดิมไว้ให้มากที่สุด ปรับเปลี่ยนบางส่วนเพื่อการใช้งานที่สะดวกมากขึ้น พิพิธภัณฑ์นี้ถือเป็นตัวอย่างของพิพิธภัณฑ์ยุคดั้งเดิม และเป็นบรรยากาศของเมืองไทยเมื่อ 40-50 ปีก่อน ห้องจัดแสดงได้ปรับปรุงใหม่ โดยยังคงแบบให้ใกล้เคียงกับพิพิธภัณฑ์เดิม เมื่อเวลาเดินชมพิพิธภัณฑ์ทำให้สัมผัสถึงบรรยากาศแนวเรทโทร บวกกับแสงไฟที่จัดทำให้ดูน่าสนใจและน่าค้นหา ตู้จัดแสดงยังเป็นชุดเดิมแต่นำมาปรับเปลี่ยนเพื่อให้ใช้กับที่นี่ได้สะดวก

ที่อยู่:
ด้านหลังศาลากลางจังหวัดนนทบุรีหลังเก่า(ท่าน้ำนนท์) อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี
โทรศัพท์:
0-2589-0481-2 ต่อ 159
วันและเวลาทำการ:
วันอังคาร-วันเสาร์ เวลา 8.30-16.30 น. (ปิดวันอาทิตย์-วันจันทร์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์)
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
ปีที่ก่อตั้ง:
2504
ของเด่น:
สัตว์สตัฟฟ์
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติ จังหวัดนนทบุรี

ชื่อผู้แต่ง: ศรัณย์ ทองปาน | ปีที่พิมพ์:

ที่มา: วารสารเมืองโบราณ

แหล่งค้นคว้า:

โดย: ศมส.

วันที่: 15 พฤศจิกายน 2556


ไม่มีข้อมูล

พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติ

พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติ จังหวัดนนทบุรี เดิมชื่อ พิพิธภัณฑ์มนุษยชาติวิทยา สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2504 อาจกล่าวได้ว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาแห่งแรกของไทย โดยความคิดของนายสอาด ปายะนันท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรีในสมัยนั้น และความร่วมมือของคณะครูแห่งจังหวัดนนทบุรี มีนายจำรัส สักรวัตร ศึกษาธิการจังหวัดเป็นหัวหน้าคณะจัดทำ

อาคารแห่งนี้เป็นตึก 2 ชั้น รูปตัว T ออกแบบโดย นายประดิษฐ์ โลหะเนตร ช่างเทศบาลเมืองนนทบุรี มีห้องขนาดใหญ่รวม 4 ห้อง จัดไว้เป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติ จัดแสดงวิวัฒนาการของพืช สัตว์ และมนุษย์ รวมทั้งวิวัฒนาการของสัตว์โบราณสมัยก่อนประวัติศาสตร์

ต่อมาในปี พ.ศ. 2554 อาจารย์ปริญญา สัญญะเดช อาจารย์จากเทคนิคกรุงเทพ ได้อาสาเข้ามาปรับปรุงพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ใหม่อีกครั้ง โดยคงรูปแบบเดิมไว้ให้มากที่สุด ปรับเปลี่ยนบางส่วนเพื่อการใช้งานที่สะดวกมากขึ้น

ทิพวรรณ เกียรติวานิชโสภณ เจ้าหน้าที่นำชมเล่าว่า ตอนเข้ามาที่นี่ครั้งแรกเจอสัตว์สตัฟฟ์และกรุพระเป็นจำนวนมาก สัตว์สตัฟฟ์บางส่วนเสื่อมสภาพมาก ส่วนกรุพระนั้นถูกเก็บไว้ในห้องน้ำเป็นอย่างดี อาจเป็นเพราะกันคนขโมย

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ถูกปิดมานานหลายสิบปี การเปิดพิพิธภัณฑ์ที่ผ่านมาหลังจากอาจารย์ปริญญาเข้ามาอาสาปรับปรุงนั้น มีคนส่วนน้อยที่ทราบ เพราะที่ตั้งค่อนข้างลับตาคน คนที่ดูแลก็เปลี่ยนมือไปมา จึงขาดการดูแลอย่างต่อเนื่อง พิพิธภัณฑ์นี้ถือเป็นตัวอย่างของพิพิธภัณฑ์ยุคดั้งเดิม และเป็นบรรยากาศของเมืองไทยเมื่อ 40-50 ปีก่อน ในช่วงยุคจอมพลสฤษดิ์-จอมพลถนอม ที่เน้นวาทกรรมแห่ง “การพัฒนา” และถูกแช่แข็งไว้ตั้งแต่ยุคนั้น สังเกตได้ว่า ในซอกตู้ชั้นบน ยังซุกแผ่นกระดานป้ายระบุนามผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งยังคงค้างเติ่งอยู่ที่นายสอาด ปายะนนท์ นั้นเอง (ศรัณย์ ทองปาน, 2553)

ห้องจัดแสดงได้ปรับปรุงใหม่ โดยยังคงแบบให้ใกล้เคียงกับพิพิธภัณฑ์เดิม เมื่อเวลาเดินชมพิพิธภัณฑ์ทำให้สัมผัสถึงบรรยากาศแนวเรทโทร บวกกับแสงไฟที่จัดทำให้ดูน่าสนใจและน่าค้นหา ตู้จัดแสดงยังเป็นชุดเดิมแต่นำมาปรับเปลี่ยนเพื่อให้ใช้กับที่นี่ได้สะดวก เช่น การปิดฝาตู้เพื่อป้องกันฝุ่นละออง การจัดแสดงบางส่วนยังไม่เรียบร้อยดี เช่น ป้ายข้อมูล

ห้องจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติ แบ่งออกเป็น 5 ห้อง

ห้องแรกเป็นห้องรับแขก จากทางเข้าเมื่อเงยหน้ามองเพดาน จะพบกับการจำลองบรรยากาศใต้ท้องเรือ มีฝูงปลาสตัฟฟ์ว่ายวนรอบๆ ใต้ท้องเรือ และในห้องจัดแสดงนี้ ยังจัดแสดงสัตว์สตัฟฟ์ที่มาจากใต้ท้องทะเลเป็นส่วนใหญ่ รวมถึงความเป็นมา เกี่ยวกับโลกชีวิต พืช มนุษย์

ห้องที่ 2 เป็นจัดแสดงเกี่ยวกับสัตว์สตัฟฟ์ทั้งหมด เจ้าหน้าที่ได้จัดสัตว์สตัฟฟ์ในตู้ใหม่ เพื่อให้ดูง่ายขึ้น บางส่วนมีต่อเติมชั้นขึ้นมาใหม่ เนื่องจากแบบเดิมบางส่วนไม่เหลือสภาพที่คงดูได้ สัตว์สตัฟฟ์ทุกตัวที่อยู่ที่นี่เจ้าหน้าที่จัดเก็บอย่างดีไว้หมด บางส่วนที่จัดแสดงไม่ได้จะถูกเก็บไว้ในห้องคลังวัตถุ วัตถุบางอย่างที่พอหาได้ จะนำมาเติมให้เต็ม การจัดแสดงของห้องนี้แบ่งตามของที่มีเดิม เช่น นก ปลาฉลาม เต่า ควาย งู ผีเสื้อ ฯลฯ ไฮไลต์คือ เขาสมัน ที่ค่อนข้างหาชมยาก ด้วยความที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ปิดตายมานาน จึงทำให้มีเขาสมันยังเหลือรอดอยู่ได้ เจ้าหน้าที่ดูแลเป็นอย่างดี การจัดแสดงในห้องนี้ยังนำเสนอวิดีโอดั้งเดิมของหมอบุญส่ง เลขะกุล ที่คุณหมอพูดถึงเรื่องการอนุรักษ์ป่าไม้ ความยาวประมาณ 2 นาที

คุณทิพวรรณ เล่าว่า ตอนปรับปรุงห้องนี้เครียดมาก เพราะวัตถุส่วนใหญ่เป็นสัตว์สตัฟฟ์ ไม่ชิน และรู้สึกว่ามันยังมีชีวิตอยู่ ส่วนคนอื่นที่ชอบวัตถุจำพวกนี้ก็จะมีความสุขมาก ผู้ชมเองบางคนก็เห็นคล้ายกัน คือเมื่อเดินเข้าไปดูแล้วมีความรู้สึกขนลุก เหมือนพบสัตว์หายากจริงๆ

ชั้นบน มีห้องจัดแสดงอีก 3 ห้อง ส่วนใหญ่จัดแสดงตามของที่มีอยู่เดิมเกือบทั้งหมด ห้องแรกเล่าถึงประวัติศาสตร์ของจังหวัดนนทบุรี ในประวัติศาสตร์นนทบุรีเดิมเล่ากันว่ามีป้อมค่ายไม้ รวมถึงการที่พิพิธภัณฑ์เก็บปืนไว้เป็นจำนวนมาก  พิพิธภัณฑ์จึงจำลองป้อมโบราณขึ้นมา ซึ่งแต่เดิมห้องนี้จัดแสดงแค่พระพุทธรูป ส่วนตามทางเดินนั้น บริเวณข้างฝาประดับตกแต่ด้วยภาพวาดที่เป็นภาพวาดเดิมตั้งแต่เปิดพิพิธภัณฑ์ เป็นฝีมือของครูวิชาวาดเขียนตามโรงเรียนต่างๆ ในจังหวัดนนทบุรีที่ถูกระดมมาช่วยงานกันในครั้งนั้น มีภาพหนึ่งเล่าถึงเรื่องราววิถีผู้คนยุคนั้น เป็นภาพมุมเดียวกันกับภาพหากเรามองออกไปนอกหน้าต่างเพียงแต่ต่างยุคสมัย เป็นตึกและถนนบริเวณท่าน้ำนนทบุรี ด้านหนึ่งเป็นแม่น้ำ มีความสวยงามมาก

ห้องถัดมา เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับศาสนา ด้านหน้าจัดแสดงตู้พระธรรม และชิ้นส่วนพระพุทธรูป ส่วนมากได้มาจากการขุดกรุวัดเชิงท่า ริมแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตอำเภอปากเกร็ด ที่ถูกกรมชลประทานรื้อเพื่อใช้สถานที่

ห้องสุดท้าย เล่าถึงของดีเมืองนนทบุรี ในส่วนนี้อยู่ระหว่างการปรับปรุง การจัดแสดงจึงยังไม่เรียบร้อยดีนัก เป็นห้องที่จำลองบ้านและตลาดริมน้ำ และพืชพันธุ์ที่มีชื่อเสียงของนนทบุรี เช่น ทุเรียน ทุเรียนนนท์จัดว่าเป็นที่นิยมว่ามีรสชาติที่ดีที่สุดในประเทศ นอกจากนี้ยังมีตัวอย่างเมล็ดพันธุ์ข้าว แร่ และหิน

ถ้าสนใจเข้าชมพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติ จังหวัดนนทบุรี กรุณาติดต่อล่วงหน้าก่อนเข้าชม ตามรายละเอียดในเว็บไซต์ พิพิธภัณฑ์นี้เข้าชมฟรี แต่ถ้าท่านใดอยากบริจาคก็มีตู้ตั้งรับบริจาคตามกำลังศรัทธา
 
วริสรา แสงอัมพรไชย/ เขียน
ข้อมูลจาก
การสำรวจเก็บข้อมูลภาคสนาม เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2559
ศรัณย์ ทองปาน. (10 มิถุนายน 2553). พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติ จังหวัดนนทบุรี. เรียกใช้เมื่อ 5 สิงหาคม 2559 จาก เว็บไซต์วารสารเมืองโบราณ.: http://www.muangboranjournal.com/modules.php?name=News&file=article&sid=2847
 
ชื่อผู้แต่ง:
-

พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติ จังหวัดนนทบุรี

ผ่านไปหัวหินวันก่อน เห็นฝูงชนทะลักทลายอยู่ใน “เพลินวาน” ศูนย์การค้าแนวย้อนยุคริมถนนเพชรเกษม พวกเขาเข้าไปที่นั่นด้วยแรงดึงดูดใจของอดีตยุค ๒๕๐๐ อะไรทำนองนั้น ที่จริง มีสถานที่อีกแห่งหนึ่งที่เว็บไซท์วารสารเมืองโบราณอยากแนะนำ สำหรับผู้ที่ชอบ “ของเก่าของโบราณ” หรือบรรยากาศ “ย้อนยุค” ต่างกันแต่ว่า ที่หัวหินนั้นเป็นของสร้างใหม่ที่ทำให้เหมือนเก่า แต่ที่นี่เป็นของ “เก่าจริง” ด้านหลังศาลากลางจังหวัดหลังเก่าของนนทบุรี ริมแม่น้ำเจ้าพระยา มีตึกทรงไทยประยุกต์สองชั้น แบบที่นิยมสร้างเป็นสถานที่ราชการหลังหนึ่ง ซ่อนตัวอยู่
ชื่อผู้แต่ง:
-