ศูนย์ข้อมูลท้องถิ่น ชุมชนตลาดล่าง


ศูนย์ข้อมูลท้องถิ่น “ชุมชนตลาดล่าง”แห่งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของบ้านเลขที่ 173-175 ถนนวานิชบำรุง ต.นาโพธิ์ อ.สวี จ.ชุมพร ส่วนหนึ่งของย่านที่อยู่อาศัยและศูนย์กลางเศรษฐกิจดั้งเดิมของ อ.สวี หลังจากที่การสัญจรทางน้ำในแม่น้ำสวีลดความสำคัญลงเนื่องจากมีการตัดถนน ทำให้ตลาดล่างซบเซา ต่อมาปี 2553 ชาวตลาดล่างรวมกลุ่มกันเพื่อรื้อฟื้นตลาดล่างที่กลับมาคึกคักอีกครั้งในฐานะย่านเก่าที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาของอำเภอ โดยมีอาจารย์จากสาขาวิชาสถาปัตยกรรมและการวางแผน คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาราดกระบัง เข้ามาสนับสนุนและร่วมกันก่อตั้งศูนย์ข้อมูลท้องถิ่นชุมชนตลาดล่าง เพื่อจัดแสดงมรดกทางวัฒนธรรมของชุมชน อาทิ ประวัติศาสตร์ชุมชนตลาดล่าง. วัตถุจัดแสดงอย่างของเครื่องใช้ในอดีต ส่วนโต๊ะหมู่บูชาของตระกูลนายมุตัน แซ่ฮุน และจัดแสดงภาพวาดอาคารในย่านตลาดล่าง เป็นต้น

ที่อยู่:
173-175 ถนนวานิชบำรุง ต.นาโพธิ์ อ.สวี จ.ชุมพร
โทรศัพท์:
077-531-149
วันและเวลาทำการ:
กรุณาติดต่อล่วงหน้า
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
ปีที่ก่อตั้ง:
2556
ของเด่น:
แผ่นไม้เขียนสีรูปเทพเจ้ากวนอู อาคารเรือนแถวไม้บริเวณตลาดล่าง อ.สวี
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล

โดย:

วันที่: 01 กรกฎาคม 2556

ไม่มีข้อมูล

'ตลาดล่าง' แสงเงาแห่งสวี

ชื่อผู้แต่ง: นายปริญญา ชูแก้ว | ปีที่พิมพ์: 27 ตุลาคม 2556;27-10-2013

ที่มา: เดลินิวส์

แหล่งค้นคว้า:

โดย: ศมส.

วันที่: 29 ตุลาคม 2556


ไม่มีข้อมูล

ศูนย์ข้อมูลท้องถิ่น ชุมชนตลาดล่าง

ศูนย์ข้อมูลท้องถิ่น “ชุมชนตลาดล่าง”แห่งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของบ้านเลขที่ 173-175 ถนนวานิชบำรุง ต.นาโพธิ์ อ.สวี จ.ชุมพร พื้นที่บริเวณดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของย่านที่อยู่อาศัยและศูนย์กลางเศรษฐกิจดั้งเดิมของ อ.สวี ที่เรียกรวมกันว่าย่านตลาดล่าง ตั้งอยู่ระหว่างแม่น้ำสวีทางด้านตะวันตกที่ปลายสุดของ ถ.วานิชบำรุง นั้นเคยเป็นท่าเรือที่ใช้เป็นเส้นทางสัญจรเพื่อการนำผลผลิตทางการเกษตรจากชาวสวนในเขต อ.สวีมาขึ้นเพื่อส่งขายผ่านยังตลาดล่าง ไปสู่สถานีรถไฟสวีที่อยู่อีกปลายด้านหนึ่งของ ถ.วานิชบำรุง (หรือทางทิศตะวันออกของย่านตลาดล่าง)
       
ย่านตลาดล่างเริ่มมีการพัฒนาปรับปรุงโรงสีข้าว บ้านพักอาศัย และโรงเลื่อยขึ้นที่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำสวี มาตั้งแต่ พ.ศ. 2462 โดยคหบดีชาวจีนคนแรกที่เริ่มเข้ามาคือ นายมุตัน แซ่ฮุน (ฮุ่นตระกูล) ที่ในภายหลังทั้งนายมุตันและลูกหลานได้ขยายการก่อสร้างจากที่พักอาศัย ศาลเจ้าประจำตระกูล โรงสีขาว โรงเลื่อย โรงไฟฟ้า โรงภาพยนตร์ และร้านค้า นอกจากนี้ยังมีคหบดีชาวจีนอื่นๆ อาทิ นายแดง สุขกำเนิด นางยี นายเนือง บุญสิทธิ์ นายบุตร ชนะ และนายบุ่นโหย่ง แซ่ด่าน เป็นต้น เริ่มเข้ามาปรับปรุงพื้นที่และก่อสร้างอาคารเพิ่มเติมตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2468 กลายเป็นเรือนแถวไม้และบ้านเดี่ยวหันหน้าเข้าหากัน โดยมี ถ.วานิชบำรุงคั่นกลาง ยาวประมาณ 500 เมตร ย่านตลาดล่างเริ่มเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ การค้าและเส้นทางคมนาคมของ อ.สวี มาตั้งแต่ปลายทศวรรษที่ 2460 แม้กระทั่งในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพญี่ปุ่นก็ได้เข้าใช้พื้นที่บริเวณตลาดล่างเป็นเส้นทางในอยู่อาศัย และการส่งกำลังบำรุง ด้วยความที่มีทั้งโรงเลื่อย โรงสีข้าว และสถานีรถไฟในบริเวณเดียวกัน ทำให้บริเวณดังกล่าวกลายเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่ถูกโจมตีโดยเครื่องบินทิ้งระเบิดของกองกำลังฝ่ายสัมพันธมิตร ช่วงหลังสงคราม (ปริญญา ชูแก้ว,2556)
 
ย่านตลาดเก่าก็ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของย่านเศรษฐกิจสำคัญของ อ.สวี เรื่อยมา กระทั่งการเปลี่ยนแปลงสำคัญเกิดจากหลายปัจจัย อาทิ รัฐบาลได้ก่อสร้างเส้นทางคมนาคมที่เชื่อมต่อ อ.สวีกับเส้นทางหลวง ทำให้การสัญจรทางน้ำที่ชาวสวนขนถ่ายสินค้ามาขึ้นท่าเรือบริเวณตลาดล่างลดน้อยลง และไม่จำเป็นต้องพึ่งเพียงเส้นทางรถไฟอีกต่อไป (ท่าเรือเลิกใช้ไปเมื่อประมาณทศวรรษที่ 2510) กิจการการค้าต่างๆ จึงค่อยๆ ซบเซาลง จนเมื่อ พ.ศ. 2535 โรงภาพยนตร์เสาวภารามาได้ปิดตัวลง ก็เป็นสัญญานให้เห็นถึงความถดถอยของย่านตลาดล่างที่ค่อยๆ กลายสภาพเป็นเช่นในปัจจุบันคือส่วนใหญ่อาคารถูกปล่อยให้เช่า มีสภาพทรุดโทรม (ปริญญา ชูแก้ว,2556)

การรื้อฟื้น “ตลาดล่าง”
เมื่อประมาณ พ.ศ. 2553 ในชุมชนตลาดล่างเริ่มมีกลุ่มที่รวมตัวกันเพื่อต้องการรื้อฟื้นชุมชนให้กลับมามีชีวิตชีวา แต่ยังไม่ได้จัดตั้งกลุ่มเป็นทางการ มีเพียงการพูดคุยกันภายใน กระทั่งเมื่อ อ.ปริญญา ชูแก้ว ซึ่งเป็นอาจารย์ประจำสาขาวิชาสถาปัตยกรรมและการวางแผน คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาราดกระบังและเป็นเลขาธิการอีโคโมสไทย ได้เข้ามาทำโครงการฟื้นฟูเมืองการอยู่อาศัยในภูมิภาค อ.หลังสวน จ.ชุมพร ซึ่งอยู่ติดกับอ.สวี และได้เดินทางผ่านมาที่ตลาดล่างแล้วเกิดความประทับใจ จึงทำให้มีการติดต่อประสานงานระหว่างชาวชุมชนตลาดล่าง กับ อ.ปริญญาจนเริ่มมีการพูดคุยจัดเวทีทั้งในระดับชุมชนและหน่วยงานราชการ (เทศบาล) พร้อมๆ กับจัดทำฐานข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ และรูปแบบของสิ่งก่อสร้างย่านตลาดล่าง ในช่วง พ.ศ. 2554 พร้อมๆ กันนี้ ทาง อ.ปริญญา ก็ได้เสนออาคารสิ่งก่อสร้างในย่านตลาดล่างต่อสมาคมสถาปนิกสยาม และได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่น ใน พ.ศ. 2554
 
ใน พ.ศ. 2555 อ.ปริญญา ได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนวิจัย สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ให้จัดทำโครงการแนวทางการอนุรักษ์มรดกทางสถาปัตยกรรมแบบการมีส่วนร่วม กรณีศึกษากลุ่มอาคารบนถนนวานิชบำรุง อ.สวี จ.ชุมพร ทางทีมงานวิจัยจึงได้เริ่มจัดทำกระบวนการร่วมกับชุมชนและหน่วยงานราชการ เพื่อที่จะร่วมกันดูแล จัดการ และอนุรักษ์ย่านตลาดล่างในอนาคต พร้อมๆ กับการลงพื้นที่สัมภาษณ์ สำรวจ ค้นคว้าเอกสารด้านประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรม สังคม และเศรษฐกิจของอำเภอสวี จนงานวิจัยดำเนินมาถึง พ.ศ. 2556 เป็นช่วงที่ทีมวิจัยสามารถรวบรวมข้อมูลพื้นฐานได้ดีในระดับหนึ่ง จึงจัดกิจกรรมร่วมกับชุมชน อาทิ กิจกรรมสวนศิลปะชุมชน ที่ชักชวนเด็กๆ ให้มาวาดภาพชุมชนตลาดล่างในความรับรู้ และจัดทำศูนย์ข้อมูลท้องถิ่นชุมชนตลาดล่าง ขึ้นที่อาคารศาลเจ้าประจำตระกูลของนายมุตัน แซ่ฮุน (ฮุ่นตระกูล) (ปัจจุบันอยู่ในการครอบครองของตระกูลบ่างวิรุฬห์รักษ์ ลูกหลานของนายมุตัน) โดยได้รับความร่วมมือในการจัดทำจากอาจารย์และนักศึกษาจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง คณะวิศวกรรมศาสตร์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย สาขาวิชาครุศาสตร์สถาปัตยกรรมและการออกแบบ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ชาวบ้านในชุมชนย่านตลาดล่าง
 
ห้องจัดแสดง
เนื้อหาในวันที่เปิดแสดงครั้งแรกในวันที่ 10เมษายน พ.ศ. 2556 แบ่งออกเป็น
 
1) ส่วนเนื้อหาที่จัดพิมพ์บนแผ่นโปสเตอร์ติดไว้บนผนังด้านในโดยรอบอาคาร เกี่ยวกับรายละเอียดของโครงการวิจัยที่ อ.ปริญญา ดำเนินงานในตลาดล่าง ประวัติศาสตร์ชุมชน รูปแบบทางสถาปัตยกรรม และแนวทางในการอนุรักษ์
 
2) วัตถุจัดแสดง มีสองประเภท ประเภทแรก ทั้งข้าวของเครื่องใช้ในอดีต ที่ได้จากลูกหลานนายมุตัน และชาวชุมชนตลาดล่างให้ยืมมาจัดแสดง อาทิ มีดผ่าเปลือกลูกหมาก เครื่องตัดใบยาสูบ ตาชั่งแขวนแบบโบราณ กระบุง ฝาชี  กระทะ ม้านั่ง รังผึ้งทำจากไม้สำหรับนึ่งอาหารใช้กับกระทะทองเหลือง ตะเกียงลาน ตะเกียงเจ้าพายุ ที่โม่แป้ง ถาดขนมครก เตาปรุงอาหารใช้น้ำมันก๊าด เตาอบขนมแบบที่ใช้ได้ทั้งถ่านและแก็ส ม้านั่งไม้แบบเป็นแถวในโรงภาพยนตร์เสาวภารามา ประเภทที่สอง โมเดลแสดงอาคารสิ่งก่อสร้างในตลาดล่าง
 
 3) ส่วนโต๊ะบูชา ศาลเจ้าประจำตระกูลของนายมุตัน แซ่ฮุน ประกอบด้วยแผ่นไม้เขียนสีเป็นรูปเทพเจ้ากวนอูและสาวกทั้งสองข้าง ซึ่งเล่ากันว่าแผ่นไม้นี้นายมุตัน ได้นำล่องสำเภาติดตัวมาด้วยจากเกาะไหหลำ และนำมาตั้งไว้ในศาลเจ้าประจำตระกูลเรื่อยมา แม้ว่าภาพอื่นโดยรอบเทพกวนอูจะเลือนและสีหลุดร่อนไปหมดแล้วแต่มีเพียงภาพวาดของเทพเจ้ากวนอูและสาวกทั้งสองเท่านั้นที่ยังคงอยู่มาจนกระทั่งปัจจุบันโดยที่สีไม่ซีดจางเลย
 
4) ส่วนจัดแสดงภาพวาดอาคารในย่านตลาดล่างโดยนักศึกษาจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และงานศิลปะเกี่ยวกับตลาดล่างที่วาดโดยเด็กๆ ใน อ.สวี
 
การบริหารจัดการศูนย์ข้อมูลฯ
เนื่องจากศูนย์ข้อมูลฯ เพิ่งเปิดอย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2556 ทำให้การจัดการหลายๆ อย่างยังไม่ลงตัวนัก อาทิ เนื้อหาที่คาดว่าจะมีการปรับเปลี่ยนวิธีการนำเสนอ หรือเพิ่มเติมเนื้อหาในอนาคต และป้ายคำอธิบายวัตถุข้าวของที่จัดแสดงอยู่ ในส่วนของค่าใช้จ่ายและงบประมาณในขณะนี้ยังเป็นความรับผิดชอบของครอบครัววิรุฬห์รักษ์ เนื่องจากอาคารศาลเจ้าที่จัดแสดงนั้นอยู่ในความดูแลของครอบครัวดังกล่าว 
 
การเดินทาง
การเดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัวไปตามถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 เพชรเกษมจากกรุงเทพฯ กระทั่งถึงสี่แยกระหว่างทางซ้ายมือไปตัวอำเภอเมืองชุมพร  ทางขวามือยังคงเป็นถนนเพชรเกษม มุ่งหน้าไปจังหวัดระนองและพังงา ส่วนตรงไปเป็นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 41 ไปจังหวัดสุราษฎร์ธานี มุ่งหน้าไปทางหลวงหมายเลข 41ประมาณ 32 กิโลเมตร เมื่อข้ามสะพานข้ามแม่น้ำสวีซึ่งเป็นจุดสังเกต ไปประมาณ 300 เมตรจะพบสามแยก เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนสาย 4003 สู่อำเภอสวี วิ่งต่อไปประมาณ 2 กิโลเมตร จะเป็นถนนคู่ขนานไปกับทางรถไฟ ก่อนที่จะข้ามทางรถไฟจะเห็นทางแยกซ้ายมือเป็นถนนคอนกรีต ชื่อถนนสถานีรถไฟสวี วิ่งไปตามถนนคอนกรีตจนพบทางแยกที่สอง เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนวานิชบำรุง อาคารหลังที่ 3 ซ้ายมือคือที่ตั้งของศูนย์ข้อมูลชุมชนตลาดล่าง
 
พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ / เขียน
สำรวจภาคสนาม วันที่ 10 เมษายน 2556
 
อ้างอิง
ปริญญา ชูแก้ว. ประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรม ชุมชนตลาดล่าง อำเภอสวี จังหวัดชุมพร. (พิมพ์ครั้งที่สอง) กรุงทพฯ:บริษัท เบสท์ พริ้นติ้ง แอนด์ ดีไซน์ จำกัด,2556.
 
ชื่อผู้แต่ง:
-

'ตลาดล่าง' แสงเงาแห่งสวี

ชุมชนตลาดล่างตั้งอยู่ระหว่างแม่น้ำสวีและสถานีรถไฟสวี อำเภอสวี จังหวัดชุมพร เป็นชุมชนที่อยู่อาศัยดั้งเดิมที่มีประวัติความเป็นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2466 เมื่อ นายมุตัน แซ่ฮุน คหบดีชาวจีนได้ซื้อที่ดินจากชาวบ้านเพื่อสร้างโรงสีข้าว โรงเลื่อย และบ้านพักอสศัยของครอบครัว หลังจากนั้นนายมุตันและครอบครัวได้สร้างห้องแถวไม้สองชั้นตลอดแนวสองฟากถนนวานิชบำรุง ซึ่งเป็นถนนหลักของชุมชน เพื่อใช้เป็นบ้านเช่าพักอาศัยและค้าขายจนกลายเป็นตลาดร้านค้าที่สมบูรณ์แบบมากขึ้น
ชื่อผู้แต่ง:
-