พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านเฮือนฟองคำทวี


ก่อตั้งโดยครูสมคิด อินต๊ะพรม ใช้บริเวณบ้านของตนเองจัดทำ ทำด้วยใจรัก มีอาคารบ้านแบบล้านนาและล้านนาประยุกต์ จัดแสดงสิ่งของเป็นหมวดหมู่ มีแบ่งเป็นห้องๆ เช่นห้องภูมิปัญญาชาวบ้าน ห้องพระ ห้องครัวไฟ ห้องตัดผม ห้องนอนแบบล้านนา ห้องตุงจัยและอื่นๆ ปัญหาค่าใช้จ่ายในการดูแล และยังไม่มีหน่วยงานใดมาสนับสนุน งบประมาณที่ทำเป็นของส่วนตัว

ที่อยู่:
79 หมู่ 8 บ้านพระธาตุจอมปิง ต.นาแก้ว อ.เกาะคา จ.ลำปาง 52130
โทรศัพท์:
0848033654
วันและเวลาทำการ:
8.00 น. ถึง 17.00 น. ทุกวัน
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
อีเมล:
Tave724@hotmail.com
ปีที่ก่อตั้ง:
2554
ของเด่น:
ของใช้ภูมิปัญญาชาวบ้าน และ ของสะสมส่วนตัว
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

รีวิวของพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านเฮือนฟองคำทวี

พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านเฮือนฟองคำทวี จังหวัดลำปาง ตั้งอยู่ห่างจากวัดพระธาตุจอมปิง ประมาณ 300 เมตร เป็นพิพิธภัณฑ์ส่วนบุคคล ก่อตั้งขึ้นโดย “ครูสมคิด อินต๊ะพรม” เดิมครูสมคิดเคยเป็นผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์วัดพระธาตุจอมปิง และต่อมา เกิดจากแรงบันดาลใจจากงานตัวเองรักและสนใจในวัฒนธรรมพื้นบ้าน ภูมิปัญญาชาวบ้านที่นับวันจะหายไปกับกาลเวลา  จึงคิดสร้างพิพิธภัณฑ์ส่วนตัวขึ้นมาที่บ้าน ด้วยเงินของตัวเอง ครูสมคิดใช้เวลาดำเนินการประมาณ 2 ปี เพื่อจัดเป็นแหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยเน้นการจัดแสดงของสะสมส่วนตัว และของใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่ส่วนใหญ่ได้รับมอบจากชาวบ้านที่เห็นคุณค่าของการเก็บรักษา
 
พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน“เฮือนฟองคำทวี”  คำนี้ เป็นการนำชื่อของ “แม่ฟอง พ่อสุขคำ” และชื่อเล่น “ครูทวี” มารวมกันเป็น “ฟองคำทวี” ส่วนคำว่า “เฮือน” เป็นภาษาทางภาคเหนือ หมายถึง บ้าน
 
พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านเฮือนฟองคำทวี ก่อตั้งเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2554 ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเกิดของครูสมคิด และเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2556 พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ได้รับโล่ห์ จากกระทรวงวัฒนธรรมว่า เป็นแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรม และเป็นแหล่งเรียนรู้ของเทศบาลตำบลนาแก้ว
 
พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านเฮือนฟองคำทวี มีห้องจัดแสดงทั้งหมด 8 ห้อง ดังนี้
 
1.   ห้องประวัติศาสตร์ท้องถิ่น(รากเหง้าของบรรพบุรุษ) จัดแสดงประวัติความเป็นมาของมนุษย์จอมปิง ประวัติกู่ทุ่งศาลา กู่ร้องตีนจา ประวัติวัดพระธาตุจอมปิง ความเป็นมาของเงาพระธาตุจอมปิง ภาพถ่ายเก่าของบ้านจอมปิง(เมืองจุมภิตนคร) และภาพถ่ายเก่าของจังหวัดลำปาง
 
2.   ห้องของสะสม(มุ่งมั่นและอดทน) จัดแสดงของสะสม เช่น  พระ ปั๊บสา(สมุดข่อย) ผ้ายันต์ ย่ามทอ เงินตรา การ์ดโฟน กล้องถ่ายรูป แสตมป์ ปฏิทิน เซรามิก ฯลฯ
 
3.   ห้องภูมิปัญญาชาวบ้าน(ฮีตฮอยบรรพบุรุษ) จัดแสดงเครื่องมือการทำนา เครื่องมือดักสัตว์ เครื่องดนตรีพื้นเมือง ของเล่นเด็กล้านนา เครื่องมือทอผ้า เครื่องมือสล่าล้านนา  ฯลฯ
 
4.   ห้องนอนแบบล้านนา(อบอุ่นสุขสบาย) จัดแสดงการจำลองที่นอนแบบชาวบ้านชนบท การนำผ้าทอพื้นเมืองมาปูที่นอน หมอน และผ้าห่มที่ใช้มือเย็บ มีการทำฝาไหลเพื่อระบายลมและเปิดรับลมให้อากาศในห้องถ่ายเท
 
5.   ห้องครัวไฟ(อิ่มกายอิ่มใจ) จัดแสดงการจำลองวิถีชีวิตการกินของชาวล้านนา การนำดินมาทำเตาไฟ และข้าวของเครื่องใช้ในอดีตของคนชนบท
 
6.   ห้องตุงจัย(มีชัยมงคล) จัดแสดงเรื่องตุงหรือธงของชาวล้านนา ทั้งตุงที่ใช้จัดในงานมงคล และตุงที่ใช้จัดในงานอวมงคล
 
7.   ห้องโคมไฟ(ส่วางไสวเรืองรอง) จัดแสดงโคมไฟอันสวยงามของชาวล้านนา
 
8.   ห้องร่มเย็น(อยู่เย็นเป็นสุข) จัดแสดงร่มอันเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของล้านนา
 
9.   ห้องตัดผม(คนนิยมชมชอบ) เป็นห้องที่เจ้าของบ้านทำเป็นอาชีพร่วมกับงานรับราชการ
 
วริสรา แสงอัมพรไชย / เรียบเรียง
ข้อมูลจาก ครูสมคิด อินต๊ะพรม วันที่ 28 เมษายน 2556
ชื่อผู้แต่ง:
-