พิพิธภัณฑ์ชุมชนดอยเวียง-ดอยวง


พื้นที่ดอยเวียงและดอยวง มีความสำคัญในฐานะเป็นแหล่งโบราณคดีในยุคหินใหม่ คือมีอายุอยู่ในช่วงประมาณ 5,000 – 3,000 ปี ที่มาของการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์โดยชาวบ้านเหล่าพัฒนา คือราวปี พ.ศ. 2553 ชาวบ้านที่ทำไร่ไถนามักจะพบเศษภาชนะดินเผา จึงมีการพูดคุยและสันนิษฐานกันในหมู่บ้านว่า บริเวณบ้านเหล่าพัฒนาในบริเวณดอยเวียงและดอยวง อาจจะเป็นแหล่งโบราณคดีคล้ายๆ กับแหล่งโบราณคดีเตาเผาเวียงกาหลง อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย ที่ขุดพบเครื่องปั้นดินเผาโบราณ    กลุ่มชาวบ้านจำนวนหนึ่งที่สนใจศึกษาด้านโบราณคดี  จึงเริ่มค้นหาแหล่งเตาเผาโบราณในพื้นที่ป่าพื้นที่ดอยภายในหมู่บ้าน และได้พบเศษภาชนะดินเผา และได้ติดต่ออาจารย์สายันต์ ไพรชาญจิตร์ นักโบราณคดี มาสำรวจขุดค้นบริเวณดอยเวียงและดอยวง ด้วยที่ชาวบ้านเห็นความสำคัญของแหล่งโบราณคดีดอยเวียงดอยวง จึงร่วมกันก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ของชุมชนขึ้น เพื่อเก็บรักษาโบราณวัตถุที่ชาวบ้านพบและเก็บได้ขณะทำการเกษตรกรรม รวมถึงวัตถุที่ชาวบ้านพบบนดอยเวียงและดอยวงเมื่อครั้งไปสำรวจ และข้าวของเครื่องใช้ในอดีตที่ชาวบ้านบริจาค โดยอาคารของพิพิธภัณฑ์ได้ขอใช้พื้นที่ของศูนย์การเรียนรู้ตำบลป่าแดด ในส่วนที่เป็นหอประชุมหมู่บ้านเดิม มาจัดทำเป็นสถานที่จัดแสดงโบราณวัตถุที่พบทั้งที่ดอยเวียงและดอยวง อาทิ เศษกำไลหิน  ขวานหินแบบมีบ่าและไม่มีบ่า    ก้อนดินที่มีเศษภาชนะดินเผาฝังติดอยู่ ภาชนะดินเผาจำพวก หม้อ ไห  เป็นต้น   ส่วนโบราณวัตถุชิ้นสำคัญคือกงจักรหิน ซึ่งไม่ได้เก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์เพราะเกรงว่าจะสูญหาย จะนำมาให้ชมได้หากติดต่อล่วงหน้า 

ที่อยู่:
ศูนย์การเรียนรู้ตำบลป่าแดด บ้านเหล่าพัฒนา หมู่ 22 ต.ป่าแดด อ.แม่สรวย จ.เชียงราย 57180
โทรศัพท์:
086-181-8879 คุณไพบูลย์, 085-722-4006 คุณสนธิชัย
วันและเวลาทำการ:
9.00 - 16.00 น. กรุณาติดต่อล่วงหน้า
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
อีเมล:
mountain2210@hotmail.com
ของเด่น:
กงจักรหิน, โบราณวัตถุที่ขุดพบมาจากดอยเวียงและดอยวง เช่น ขวานหิน เศษภาชนะดินเผา
จัดการโดย:
เนื้อหา:

โดย:

วันที่: 11 กันยายน 2555

โดย:

วันที่: 11 กันยายน 2555

โดย:

วันที่: 11 กันยายน 2555

โดย:

วันที่: 11 กันยายน 2555

โดย:

วันที่: 11 กันยายน 2555

ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

ดอยเวียงและดอยวง เป็นภูเขาลูกเตี้ยๆ ที่ตั้งอยู่ในเขตบ้านเหล่าพัฒนา ต.ป่าแดด อ.แม่สรวย จ.เชียงราย ความสำคัญของดอยเวียงและดอยวงคือเป็นชุมชนโบราณที่ถือเป็นแหล่งโบราณคดีในยุคหินใหม่ คือมีอายุอยู่ในช่วงประมาณ 5,000 – 3,000 ปี

เดิมชุมชนบ้านเหล่าพัฒนาส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำเกษตรกรรม ปลูกข้าว และทำสวนส้ม คุณไพบูลย์ สมใจ หนึ่งในผู้มีส่วนก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ชุมชนดอยเวียงดอยวง เล่าให้ฟังว่า เมื่อราวปี พ.ศ. 2553 ชาวบ้านที่ทำไร่ไถนามักจะพบเศษภาชนะดินเผา จึงมีการพูดคุยและสันนิษฐานกันในหมู่บ้านว่า บริเวณบ้านเหล่าพัฒนาในบริเวณดอยเวียงและดอยวง อาจจะเป็นแหล่งโบราณคดีคล้ายๆ กับแหล่งโบราณคดีเตาเผาเวียงกาหลง อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย ที่ขุดพบเครื่องปั้นดินเผาโบราณ   

กลุ่มชาวบ้านจำนวนหนึ่งที่สนใจศึกษาด้านโบราณคดี  จึงเริ่มค้นหาแหล่งเตาเผาโบราณในพื้นที่ป่าพื้นที่ดอยภายในหมู่บ้าน โดยได้สอบถาม “ลุงวงศ์” หรือลุงสมพร  อบอุ่น ซึ่งเป็นคนเฒ่าคนแก่ที่มีอาชีพหาของป่าในหมู่บ้าน ว่าเคยพบแหล่งเศษภาชนะดินเผาในป่าที่ไหนหรือไม่ ลุงวงจึงพาคุณไพบูลย์และชาวบ้าน ไปสำรวจในป่ารกชัฏบนเขาลูกหนึ่งในหมู่บ้าน การสำรวจป่าครั้งนั้นชาวบ้านลงความเห็นว่า น่าเป็นพื้นที่แหล่งโบราณคดีที่เป็นเตาเผาเพราะผืนดินดูผิดแผกจากดินธรรมชาติ โดยมีเศษดินสีแดงคล้ายๆ ดินเผาโผล่มาจากดิน ซึ่งต่อมาชุมชนได้ตั้งชื่อดอยลูกนั้นตามชื่อลุงวงว่า “ดอยวง”  ทั้งนี้เพื่อยืนยันว่าบริเวณป่าบนเขาดังกล่าวเป็นแหล่งโบราณคดี และสามารถเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ของชุมชนและทางวิชาการต่อไป  ชาวบ้านจึงได้ติดต่ออาจารย์สายันต์ ไพรชาญจิตร์ นักโบราณคดี มาสำรวจขุดค้นบริเวณดอยเวียงและดอยวง

คุณไพบูลย์ เล่าถึงความเชื่อและบรรยากาศประหลาดที่เกิดขึ้นในวันที่กลุ่มชาวบ้านพาอาจารย์สายันต์ไปสำรวจดอยวงว่า
“พวกผมไปขุดกันนี้  ขุดไปลึกลง ฟ้าก็มืด นกไม่รู้ว่ามาจากไหนมาเป็นฝูงเลยมาจับบนต้นไม้ที่เราขุด แล้วก็ส่งเสียงร้องเสียงดัง  มันแปลกๆ ดูนาฬิกาเป็นเวลาบ่าย 2 แต่บรรยากาศดูเหมือนพลบค่ำ ประมาณ 5 โมง 6 โมงเย็น นกก็มาร้องเสียงดัง เราก็ขุดไปขุดไปเจอไห ไหโบราณแตกแล้ว แล้วก็มีเศษขี้เถ้าคล้ายกระดูก แต่ยังไม่ชี้ชัดว่าเป็นกระดูก แต่เหมือนมากเพราะเห็นมีโพรงอยู่ข้างในครับ ขาวๆ”

หลังจากสำรวจ อาจารย์สายันต์  ไพรชาญจิตร์ ได้ให้ข้อสันนิษฐานว่า บริเวณพื้นที่ดอยเวียงและดอยวง เป็นแหล่งโบราณคดีในยุคหินใหม่ ซึ่งมีอายุอยู่ในช่วงประมาณ 5,000 – 3,000 ปี โดยเป็นยุคที่มนุษย์เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตไปจากเดิมที่เคยเป็นพรานป่าล่า สัตว์ เร่ร่อนติดตามฝูงสัตว์และอาศัยอยู่ตามถ้ำมาอาศัยอยู่เป็นหลักแหล่ง จุดเด่นของยุคหินใหม่อยู่ที่มนุษย์รู้จักใช้ภาชนะเครื่องปั้นดินเผามาใช้ในบ้านเรือน มีการนำเส้นใยของพืชมาทอเป็นเครื่องนุ่มห่ม และจากการที่มนุษย์เร่ร่อนและตั้งหลักแหล่งอยู่อาศัย มีการสร้างบ้านเรือนใกล้กับแหล่งเพาะปลูก มีการอยู่รวมกันและเพิ่มจำนวนมากขึ้นจนกลายเป็นชุมชนขนาดใหญ่ ทำให้เกิดรูปแบบการปกครองชุมชน มีหัวหน้าเผ่าที่มีอำนาจสิทธิ์ขาดในการดูแลปกครองกันเอง

สำหรับดอยเวียงนั้น มีข้อสันนิษฐานว่า น่าจะเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ยุคหิน เพราะมีคูเมืองล้อมรอบถึง 3 ชั้น ด้วยกัน ยังพบเครื่องมือหินขัดและภาชนะดินเผาจำนวนมาก ส่วนบริเวณดอยวง สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นสถานที่ฝังศพ หรือเก็บกระดูก (อัฐิ) เมื่อมีคนตายจึงนำศพหรือกระดูกขึ้นไปเก็บไว้บนดอยวง โดยมีการสร้างหลุมดินเผาไว้ คาดว่าผ่านความร้อนถึง 1,200 องศา แล้วนำศพพร้อมภาชนะหรือของใช้บางอย่างของคนตายมาใส่ไว้เพื่อฝังรวมกัน 

จากหลักฐานดังกล่าวทำให้ทราบว่า ต.ป่าแดด อ.แม่สรวย จ.เชียงราย เป็นสถานที่อยู่ของมนุษย์ยุคหินและที่สำคัญ ยังไม่เคยปรากฏหลักฐานการค้นพบการนำศพหรือกระดูกมาสร้างหลุมดินเผาไว้บนดอย สูงแบบนี้มาก่อนในประเทศไทย หรือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  จากการขุดค้นในเบื้องต้นพบว่ามีหลุมดินจำนวนมากบริเวณดอยวงเกือบ 300 หลุม เป็นหลักฐานทางโบราณคดีใหม่ที่บ่งบอกว่า ดินแดนแถบนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างอารยธรรมยุคใหม่ของประเทศไทย ที่มนุษย์รู้จักสร้างที่อยู่อาศัย มีการเคารพหรือมีประเพณีการจัดการศพ

ด้วยที่ชาวบ้านเห็นความสำคัญของแหล่งโบราณคดีดอยเวียงดอยวง จึงร่วมกันก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ของชุมชนขึ้น เพื่อเก็บรักษาโบราณวัตถุที่ชาวบ้านพบและเก็บได้ขณะทำการเกษตรกรรม รวมถึงวัตถุที่ชาวบ้านพบบนดอยเวียงและดอยวงเมื่อครั้งไปสำรวจ และข้าวของเครื่องใช้ในอดีตที่ชาวบ้านบริจาค โดยอาคารของพิพิธภัณฑ์ได้ขอใช้พื้นที่ของศูนย์การเรียนรู้ตำบลป่าแดด ในส่วนที่เป็นหอประชุมหมู่บ้านเดิม ลักษณะเป็นอาคารชั้นเดียว ชาวบ้านช่วยกันบริจาคเงินเพื่อนำเงินมาปรับปรุง ทาสี ทำรั้ว และจัดทำนิทรรศการภายใน ซึ่งขณะที่ผู้เขียนไปเยี่ยมชม การจัดแสดงยังไม่เสร็จสมบูรณ์  ชาวบ้านช่วยกันคิดออกแบบการนำเสนอ โดยพยายามแบ่งพื้นที่จัดแสดงภายในกั้นเป็นส่วนๆ เพื่อให้ผู้ชมได้เดินชมตามทิศทางที่กำหนด  คุณไพบูลย์ให้เหตุผลว่า

ถ้าพื้นที่ข้างในทำโล่ง เวลานักท่องเที่ยวมาเขาจะสนใจแค่พักเดียว  แล้วก็จะเดินออกไป บางคนก็พลาดคือไม่ได้ดูอะไรเยอะแยะเลย แต่ทำเป็นมิติอย่างนี้ เราตั้งใจจะให้เขาดูไปทีละช่วงๆ  ทำให้ดูเหมือนว่าพื้นที่นำเสนอกว้างใช้เวลาเยี่ยมชมนานขึ้น”

โบราณวัตถุที่พบทั้งที่ดอยเวียงและดอยวง จัดแสดงไว้ในตู้กระจก อาทิ เศษกำไรหิน  ขวานหินแบบมีบ่าและไม่มีบ่า  ขวานหินบางอันได้นำมาประกอบกับด้ามเพื่อให้ผู้ชมเข้าใจและเห็นภาพได้ชัดขึ้น ลูกปัดคาร์เนเลียน  ก้อนดินที่มีเศษภาชนะดินเผาฝังติดอยู่ ภาชนะดินเผาจำพวก หม้อ ไห  เป็นต้น นอกจากนี้ตามฝาผนังยังมีแผ่นป้ายนิทรรศการที่ความรู้เกี่ยวกับแหล่งโบราณคดีดอยเวียง-ดอยวง  มีมุมด้านหนึ่งที่นำเสนอชิ้นส่วนพระพุทธรูปที่พบ โดยจัดเป็นมุมคล้ายโต๊ะหมู่บูชา ที่มีทั้งพระพุทธรูปทั้งใหม่และชิ้นส่วนพระพุทธรูปเก่าวางไว้บนหิ้งบูชา  ส่วนโบราณวัตถุชิ้นสำคัญคือกงจักรหิน ซึ่งไม่ได้เก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์เพราะเกรงว่าจะสูญหาย จะนำมาให้ชมได้หากติดต่อล่วงหน้า 

นอกจากนี้ทางพิพิธภัณฑ์ยังแสดงภาพการทำกิจกรรมของพิพิธภัณฑ์ เช่น การไปร่วมออกซุ้มนิทรรศการงานเทศกาลพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น พ.ศ. 2555 ณ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร  และออกงานแนะนำพิพิธภัณฑ์ที่จัดขึ้นในจังหวัดเชียงราย  ซึ่งคุณไพบูลย์ได้เล่าให้ฟังเพิ่มเติมว่า ตั้งแต่ที่องค์การภายนอกทั้งภาครัฐและเอกชนให้ความสนใจต่องานศึกษาทางโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์ชุมชน มีองค์กรต่างๆมาทัศนศึกษา  ทำให้ชาวบ้านและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างให้ความสนใจและร่วมช่วยเหลือกิจกรรมของพิพิธภัณฑ์มากขึ้น

ทั้งนี้ชาวบ้านได้รวมกลุ่มกันเพื่อรักษาและปกป้องแหล่งโบราณคดี สร้างกิจกรรมให้เกิดความรักและหวงแหนแหล่งโบราณคดีในชุมชน รวมถึงการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ  มีการก่อตั้งกลุ่มยุวมัคคุเทศก์  ก่อตั้งกลุ่มพิพิธภัณฑ์ที่กำลังอยู่ในระหว่างการพัฒนาทั้งเรื่องการจัดแสดง การศึกษาหาความรู้  รวมถึงการเข้าร่วมเป็นเครือข่ายการท่องเที่ยวในชุมชนป่าแดด ร่วมกับองค์กรชุมชนอื่นๆ อาทิ ศูนย์การเรียนรู้ด้วงกว่าง  พิพิธภัณฑ์เล่นได้  เพื่อให้คนรู้จักแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมในตำบลป่าแดดมากขึ้น

อย่างไรก็ดีในปัจจุบัน ชาวบ้านประสบปัญหาการใช้พื้นที่บริเวณดอยเวียง ที่เดิมบริเวณพื้นที่ดอยเวียง ชาวบ้านเชื่อกันว่าเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ใช้เป็นที่ประกอบพิธีกรรมเลี้ยงผีเป็นประจำทุกปี มีตำนานเล่าต่อกันมาว่า พื้นที่ดอยเวียงมีถ้ำที่เก็บทรัพย์สมบัติไว้ ชาวบ้านสามารถเข้าไปยืมข้าวของเครื่องใช้มาใช้ในพิธีต่างๆ ได้ แต่ต้องนำมาคืน ต่อมามีคนยืมของแล้วไม่คืน วิญญาณที่รักษาถ้ำจึงบันดาลให้หน้าผาถล่มปิดปากถ้ำไว้ ทำให้ไม่มีใครได้เห็นสมบัติในถ้ำอีกเลย แต่เชื่อกันว่าถ้ำจะเปิดออกอีกครั้งโดยผู้มีบุญญาธิการ 

ตามความเชื่อดังกล่าวชุมชนจึงจัดพิธีบวงสรวง แต่หลังจากที่สำรวจแหล่งโบราณคดีดอยเวียงดอยวงได้ไม่นาน พื้นที่บริเวณดอยเวียงถูกกว้านซื้อและครอบครองโดยเอกชน ทำให้ชุมชนไม่สามารถประกอบพิธีกรรมบนดอยอย่างที่เคยทำมาได้  ชาวบ้านจึงแก้ปัญหาโดยจัดพิธีบวงสรวงเล็กๆ บริเวณทางขึ้นดอยเวียงแทนเพราะเกรงว่าถ้าไม่ทำพิธีบวงสรวงจะเกิดเภทภัยแก่หมู่บ้าน  และได้ร่วมกันสร้างพระพุทธรูปพระเจ้าทันใจประดิษฐานไว้บริเวณหลุมขุดค้นบนดอยวง เพื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ

ผู้เขียน: ปณิตา สระวาสี
ข้อมูลจาก: การสำรวจวันที่ 11 ธันวาคม 2556
สนธิชัย วิลัย. “แหล่งโบราณคดีชุมชนดอยเวียง ดอยวง” ใน ภูมิรู้สู้วิกฤต. กรุงเทพฯ:ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 2555.
http://www.chiangmainews.co.th/page/?p=119780[เข้าถึงวันที่ 3 มีนาคม 2557]
ชื่อผู้แต่ง:
-

ดอยเวียง-ดอยวง หลักฐานโบราณคดีมนุษย์ยุคหินที่แม่สรวย

อุทยานแห่งชาติดอยเวียงผา มีลักษณะภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน เทือกเขาวางตัวในแนวทิศเหนือ – ใต้ เป็นแนวแบ่งเขตระหว่าง จังหวัดเชียงใหม่ – เชียงราย มียอดดอยสูงสุดคือ ดอยเวียงผา มีความสูง 1,834 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าต้นน้ำลำธารและแหล่งกำเนิดของลำห้วยใหญ่ ๆ ที่สำคัญ โดยเฉพาะเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำฝาง และสาขาหนึ่งของแม่น้ำลาว เช่น ห้วยแม่ฝางหลวง ห้วยแม่ฝางน้อย น้ำแม่ยางมิ้น มติคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติการดำเนินการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติขึ้นโดยกำหนดบริเวณที่ดินป่าลุ่มน้ำแม่ฝาง และป่าแม่ลาวฝั่งซ้าย

ดูรายละเอียด      ดูรีวิวทั้งหมดของเชียงใหม่นิวส์ +

ชื่อผู้แต่ง:
-