โดย:
วันที่: 07 สิงหาคม 2555
โดย:
วันที่: 07 สิงหาคม 2555
โดย:
วันที่: 07 สิงหาคม 2555
ชื่อผู้แต่ง: | ปีที่พิมพ์: 10 ส.ค. 2555;10-08-2012
ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์
แหล่งค้นคว้า: ศมส.
โดย: ศมส.
วันที่: 28 เมษายน 2557
ชื่อผู้แต่ง: วรุณรัตน์ คัทมาตย์ | ปีที่พิมพ์: 7 ก.พ. 2556;07-02-2013
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ
แหล่งค้นคว้า: ศมส.
โดย: ศมส.
วันที่: 28 เมษายน 2557
ชื่อผู้แต่ง: | ปีที่พิมพ์: 29 ก.ค. 2555;29-07-2012
ที่มา: ไทยรัฐ
แหล่งค้นคว้า: ศมส.
โดย: ศมส.
วันที่: 06 มิถุนายน 2557
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยทีมงานและสมาชิก
พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมดอกไม้
พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมดอกไม้ ก่อตั้งโดยนักออกแบบดอกไม้ที่มีชื่อเสียงระดับชาติ คุณสกุล อินทกุล การจัดแสดงอยู่ในบ้านสไตล์โคโลเนียล อยู่ในซอยองครักษ์ 13 ถนนสามเสน 28 บริเวณที่มีประวัติความเป็นมาย้อนไปในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้ทรงพระราชทานพื้นที่ในซอยองครักษ์ให้กับบรรดาเหล่าองครักษ์ให้เป็นที่พำนักเมื่อก่อนหน้าบ้านหลังนี้เป็นคลองเชื่อมต่อไปยังแม่น้ำเจ้าพระยา สามารถเชื่อมไปยังพระราชวังดุสิต คุณสุธิสิทธิ์ ศรีน่วม ผู้บรรยายและนำชม เริ่มด้วยการเล่าประวัติความเป็นมาของพื้นที่ ตอนนี้เปลี่ยนมาเป็นถนน ทำให้หน้าบ้านกลายเป็นหลังบ้าน การจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมดอกไม้ แบ่งได้เป็น 6 ห้อง ห้องแรกคือ หอภาพดุสิต จัดนิทรรศการภาพถ่ายที่ได้สืบค้นมาจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ เป็นภาพงานดอกไม้แบบไทยๆจำพวกเครื่องแขวน งานพานพุ่ม พวกระย้าน้อย ระย้าสามชั้น ระย้าโคมจีน ดอกไม้ตาข่าย มาลัยเถา กรวยอุปัชฌาย์ ใช้ในการเคารพบูชา มีภาพการนำดอกไม้มาประกอบขบวนรถอย่างสวยงาม ถือว่าเป็นขบวนรถบุปผาชาติยุคเริ่มต้นของสยาม
งานดอกไม้ในสมัย ร.5 ผู้ที่มีบทบาทสำคัญคือ กรมหลวงสมรรัตนสิริเชษฐ ซึ่งดำรงตำแหน่ง อธิบดีราชการฝ่ายในเป็นผู้ทรงพระปรีชาสามารถในการจัดแต่งร้อยกรองดอกไม้มาก เครื่องแขวนดอกไม้สด มักจะทรงบัญชาการให้เจ้านายฝ่ายในทำดอกไม้ตกแต่งพระแท่นมณฑลในพระราชพิธีต่าง ๆ ดอกไม้ตกแต่งพระทวาร พระบัญชรในพระที่นั่งต่าง ๆ นอกจากจะทำแบบโบราณแล้ว ยังทรงคิดดัดแปลงการทำดอกไม้แบบใหม่ ๆ แบบโบราณมีการร้อยตาข่าย ร้อยเฟื่องอะไรต่าง ๆ ติดโครงไม้หุ้มผ้าขาว ตามต้นฉบับเดิม เช่น บันไดแก้ว พู่กลิ่น กลิ่นคว่ำ กลิ่นตะแคง กลิ่นจีน เป็นต้น ได้ทรงคิดทำโครงลวดสีขาว และประดิษฐ์ดอกไม้ให้มีรูปร่างแปลกพิสดารงดงามออกไป เช่น ระย้าแปลง พวงแก้ว ทรงแปลงบันไดแก้วเป็นรูปวิมานพระอินทร์ วิมานแท่น
ห้องที่สองคือ โลกแห่งวัฒนธรรมดอกไม้ ในห้องนี้แสดงแผนที่โลก แสดงให้เห็นว่าวัฒนธรรมดอกไม้นั้นได้ปรากฏอย่างเด่นชัดในหลายแห่งในโลกนี้ ตรงกลางห้องจัดแสดงคัมภีร์วัฒนธรรมดอกไม้ที่เก่าแก่ที่สุดในโลก มีชื่อว่า “ตำราลับแห่งการจัดดอกไม้แบบโชกะของอิเคโนโบะ” หนังสือม้วนโบราณอายุราวปี พ.ศ.2299 ซึ่งเทียบเท่าสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เป็นเรื่องรวมของการจัดดอกไม้แบบอิเคบานะ คำว่า อิเครุ แปลว่า การดำเนินชีวิต บานะ/ฮานะ แปลว่า ดอกไม้ ดังนั้นรวมความหมายว่าการดำเนินชีวิตด้วยการส่งผ่านทางดอกไม้ โดยการจัดดอกไม้ใช้ในการประกอบพิธีชงชาของชาวญี่ปุ่น การสืบทอดงานดอกไม้ของญี่ปุ่นได้ผ่านการสอนต่อเนื่องมาจากวัด ในห้องนี้ยังเป็นที่รวมของภาพถ่ายเกี่ยวกับวัฒนธรรมดอกไม้ ที่ค้นคว้ามาได้จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ รวมถึงอุปกรณ์และภาพถ่ายเกี่ยวกับวัฒนธรรมดอกไม้ของอินเดีย จีน ญี่ปุ่น บาหลี พม่า ลาว เนปาล ธิเบต ไปจนถึงฮาวาย อียิปต์ กรีก อังกฤษ และฝรั่งเศส
ส่วนของไทยนั้นที่พอเป็นหลักฐานได้ ปรากฏอยู่ในภาพเขียนประดับฝาผนังประตูวัดราชโอรส ดอกไม้ที่ปรากฏ ดอกโบตั๋นเป็นสัญลักษณ์ถึงความรุ่งเรือง ดอกบัวสื่อถึงปัญญา ดอกเบญจมาศสื่อถึงการมีชีวิตยืนนาน ผลทับทิมหมายถึงการมีลูกเต็มบ้านหลานเต็มเมือง
ส่วนของประเทศอินเดีย มีการประดับธงรังโกลี มีการนำด้ายมามัดกับดอกไม้สด มีการพับริบบิ้นประดับลูกปัด พวงมาลัยดอกดาวเรือง ในประเพณีการแต่งงานมีการใช้เงินรูปีพับร้อยกันเป็นพวงมาลา ให้พี่ชายหรือน้องชายเป็นผู้มอบให้คล้องคอเจ้าบ่าว ในประเทศอินโดนีเซีย ที่บาหลีมีวัฒนธรรมดอกไม้ที่โดดเด่น มีการประดิดประดอยศิราภรณ์สวมเทินบนศีรษะของหญิงสาวชาวบาหลี ด้านหน้าเป็นข้าวโพด ดอกไม้ประดิษฐ์และของบูชาต่างๆ จากนั้นหญิงสาวจะเดินเข้าสู่ศาสนสถานเพื่อบูชาเทพเจ้า ตามความเชื่อคนบาหลีเชื่อในเรื่องสมดุลของจักรวาล ในความหมายการสร้างสมดุลของโลกของพระเจ้า โลกของวิญญาณ โลกของมนุษย์ จึงต้องทำเครื่องบูชาถวายเพื่อไม่ให้เกิดภัยพิบัติบนโลก ในอารยธรรมเขมร วัฒนธรรมดอกไม้ปรากฏอยู่ในภาพสลักนางอัปสราที่ปราสาทหิน มงกุฎดอกไม้จะประกอบด้วยดอกไม้ตระกูลอากาเว่ ด้านข้างเป็นดอกมะพร้าว มีพวงมาลัยดอกลำดวน
ห้องที่สาม อุโบสถแห่งดอกไม้ เป็นงานประเพณีการแห่ต้นดอกไม้ อำเภอนาแห้ว จังหวัดเลย ย้อนเวลาไป 30 ปี ในปีพ.ศ.2526 ช่วงนั้นมีคอมมิวนิสต์ รัฐบาลแอบทำโครงการสัมปทานป่าไม้แบบลับๆโดยชาวบ้านไม่รู้ ต่อมามีคนเห็นกากบาทสีแดงทีต้นไม้ สืบไปมาจึงรู้ว่าจะมีการตัดโค่นถางป่า ชาวบ้านจึงไปบอกกำนันสมบัติ กำนันจึงรวบรวมคนมาประท้วงที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อเรียกร้องพื้นที่ป่ากลับคืนมา ไม่อย่างนั้นชาวบ้านจะคืนบัตรประชาชนแล้วไปเข้าร่วมกับคอมมิวนิสต์ลาว รัฐบาลจึงยอม
ปัจจุบันผืนป่ามีความสมบูรณ์ในชื่อ อุทยานแห่งชาติภูสวนทราย จากความสมบูรณ์สวยงามวัฒนธรรมดอกไม้จึงได้ดำเนินต่อมา ในหมู่บ้านแสงภา งานประเพณีแห่ต้นดอกไม้ของที่นี่จัดขึ้นในวันสงกรานต์ มีความเป็นมายาวนาน 400 ปี มีการนำไม้ไผ่มาขึ้นโครง ต้นดอกไม้ของบ้านแสงภาจะมีลักษณะเด่นกว่าทุกวัดคือมีขนาดใหญ่และสูง มีความกว้าง 3 เมตร สูง 15 เมตร แล้วมาประดับดอกไม้ให้สวยงามก่อนพระอาทิตย์ตกดิน โดยต้องทำให้เสร็จภายในวันเดียว ช่วงเวลากลางวันจะเล่นสงกรานต์ การแห่ต้นดอกไม้ของชาวบ้านแสงภา ต้องแห่ตอนกลางคืน ราว 1 ทุ่ม - 3 ทุ่ม และต้องมาแห่ที่วัดรอบพระอุโบสถวัดศรีโพธิ์ชัยโดยต้องแห่ให้ครบสามรอบ โดยรอบที่ 1 แห่เพื่อบูชาพระพุทธ รอบที่ 2 เพื่อบูชาพระธรรม และรอบที่ 3 เพื่อบูชาพระสงฆ์ เมื่อทำการแห่จนครบสามรอบแล้ว ต้องวางต้นดอกไม้ทุกต้นไว้รอบพระอุโบสถ เพื่อบูชาพระรัตนตรัยตลอดทั้งคืน รุ่งเช้าชาวบ้านจะช่วยกันนำต้นดอกไม้ออกจากวัด ถ้าต้นไหนยังแข็งแรง ไม่เสียรูปทรง สามารถที่จะนำมาเปลี่ยนดอกไม้ใหม่ แล้วนำไปแห่ในคืนต่อไปได้อีก
ห้องที่สี่และห้าคือ หอมรดกแห่งวัฒนธรรมดอกไม้ไทย เป็นพวกงานใบตอง งานมาลัย งานบายศรี ซึ่งใช้ในงานบายศรีสู่ขวัญ การตกแต่งขันหมากในงานแต่งงาน มีเครื่องแขวนสานเป็นลายตาข่ายทำจากดอกพุด รูปร่างคล้ายจระเข้ ผลงานของคุณสกุล มีการทำพานพุ่ม สมัยก่อนจะนำดินเหนียวมาปั้นเป็นแท่ง จากนั้นนำไม้ระกำมาเหลาปักกับดอกบานไม่รู้โรย(ไม้ระกำเหนียวกว่าก้านมะพร้าว) การตกแต่งสามารถขึ้นลายให้สวยงามได้ และได้พบหลักฐานอย่างหนึ่งในบทกลอนท่านสุนทรภู่ได้เอ่ยถึงงานดอกไม้ของไทย
เหมือนบายศรีมีงานท่านถนอม แต่งเติมหอมน้ำมันจันทน์หรรษา
พอเสร็จการท่านเอาลงทิ้งคงคา ให้ลอยไปลอยมาเป็นใบตอง
ส่วนต่อมาคือเรือนไทยหลังบ้าน ใช้สำหรับสอนงานดอกไม้ ซึ่งในประเทศไทยมีไม่กี่แห่งที่สอนเรื่องนี้ โดยการสอนมีการเปิดคอร์สในวันเสาร์ เสาร์แรกของเดือนเป็นการเปิดสอนฟรีสำหรับเด็กๆ อายุ 7- 14 ปี วันเสาร์ที่สองของเดือนสำหรับบุคคลทั่วไปคอร์สละ 1700 บาท หลักสูตรที่สอนมีการปรับหมุนเวียนกันไปในแต่ละเดือน ได้แก่ มาลัยสามชาย งานดอกไม้บูชาบาหลี พุ่มดอกไม้บนพานวันแม่ อุบะทรงเครื่อง มาลัยแขก กระทง ถักตาข่ายดอกพุด เป็นต้น
จากนั้นคุณสุธิสิทธิ์ ได้เดินนำขึ้นไปชั้นบน ระหว่างขึ้นบันไดได้ชี้ให้ดูดอกเข้าพรรษาที่บานประดับสวยงาม ซึ่งจะบานพอดีกับงานตักบาตรดอกไม้ที่วัดพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี ชั้นบนเป็นห้องจัดแสดงสุดท้าย ใกล้กันเป็นห้องวางแผนงานของคุณสกุลที่ใช้ทำงานอยู่ ห้องจัดแสดงนี้ให้ชื่อว่า ปากกา ดินสอ ความน่าจะเป็นไปได้ ชื่อภาษาอังกฤษเก๋ๆติดปาก pen pencil and possibility จัดแสดงภาพร่างผลงานชิ้นต่างๆ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันของ สกุล อินทกุล ซึ่งมีไฮไลต์อยู่ที่ ชิ้นงานดอกไม้สำหรับงานพระราชทานเลี้ยงในพระบรมมหาราชวัง เมื่อครั้งเฉลิมฉลองครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อปี พ.ศ. 2549 และผลงานจากหนังสือดัง “ดอกไม้ไทย” ซึ่งสกุลได้จัดทำเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 77 พรรษา ในปี พ.ศ.2552
คุณสุธิสิทธิ์พาเดินชมสวนดอกไม้ที่คุณสกุลเลือกสรรพรรณไม้มาประดับตกแต่ง อาทิ กล้วยไม้แวนด้า เฟิร์นสไบนางบนตะกร้าห้อยระย้า เดินลึกเข้าไปพบกับดอกหน้าวัว ดอกพุด พระยาสัตบรรณคู่ หมากผู้หมากเมีย ปาริชาติ มะแว้ง ปักษาสวรรค์ ไอริส ว่านเสน่ห์จันทร์แดง เสน่ห์จันทร์ขาว ไผ่ดำ ไผ่สีทอง กล้วยแคระ หมากแดง พลับพลึงสีชมพู บัวราชินี ดอกมะลิ ดอกแก้ว ดอกรักม่วง เป็นต้น สำหรับผู้เข้าชม ชมสวนแล้วสามารถมานั่งพักผ่อนหย่อนใจจิบชารับของหวานในร้านน้ำชาบริเวณระเบียงข้างบ้านได้
----------------------------------------------------
สาวิตรี ตลับแป้น / ผู้เขียน
สำรวจภาคสนาม วันที่ 31 กรกฎาคม 2556
----------------------------------------------------
การเดินทาง: มาโดยรถยนต์ ให้ตรงเข้าซอยสามเสน 28 ประมาณ 500 เมตร ทางซ้ายมือคือ แยกซอยองครักษ์ 13 เลี้ยวซ้ายเข้าซอยมาประมาณ 30 เมตร ทางขวามือคือ พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมดอกไม้
-----------------------------------------------
อ้างอิง :
กรมหลวงสมรรัตนสิริเชษฐ.(2556).ค้นเมื่อ 11 กันยายน 2556, จาก
http://archive.lib.kmutt.ac.th/index.php?option=com_content&view=article&id=223&catid=37&Itemid=75&limitstart=5
ข้อมูลการสัมภาษณ์เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2556
ประเพณีแห่ต้นดอกไม้ บ้านแสงภา อ.นาแห้ว จ.เลย.(2556).ค้นเมื่อ 11
กันยายน 2556, จาก.http://pantip.com/topic/30445936
พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมดอกไม้.(2556).ค้นเมื่อ 11 กันยายน 2556, จาก
http://office.bangkok.go.th/dusit/travel/index.php?option=com_content&view=article&id=224:the-museum-of-floral-culture&catid=47:library&Itemid=101
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสื่อออนไลน์
การเดินทางสายดอกไม้ของ "สกุล อินทกุล" สู่ฝันที่เป็นจริง...พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมดอกไม้ แห่งแรกของโลก
วัฒนธรรมการจัดดอกไม้ผูกพันกับคนไทยมาตั้งแต่โบราณกาล และเกี่ยวโยงสัมพันธ์อย่างแนบชิดกับทุกๆจังหวะของวิถีชีวิตคนไทย ตั้งแต่เกิดจนตาย เรียกได้ว่าทุกๆบันทึกหน้าสำคัญของชีวิตไม่เคยขาดสุนทรีย์แห่งดอกไม้แม้สักคราเดียว และด้วยเสน่ห์ของวัฒนธรรมดอกไม้ไทยนี่เอง ได้ดึงดูดให้วิศวกรหนุ่ม สาขาอิเล็กทรอนิกส์ จากรั้วลาดกระบัง “อ๋อง–สกุล อินทกุล” เก็บกระเป๋ามุ่งสู่การเดินทางสายดอกไม้ และอุทิศทั้งชีวิตเพื่อค้นหาความหมายแท้จริงแห่งสัจธรรม “ดอกไม้ดอกหนึ่งบาน...จักรวาลก็สั่นไหว”“พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมดอกไม้” สืบสานวัฒนธรรมผ่านดอกไม้ของ...สกุล อินทกุล
เก็บความฝันพร้อมกับแอบซุ่มสานฝัน เพื่อสืบสานการเรียนรู้วัฒนธรรมผ่านไม้ดอก ที่ตนรักกลายมาเป็น “พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมดอกไม้” ที่ สกุล อินทกุล ศิลปินนักจัดดอกไม้ระดับนานาชาติ พร้อมแล้วกับการเปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 12 ส.ค. 55 เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา ด้วยทรงเป็นนักอนุรักษ์พรรณพืช เป็นที่ประจักษ์แก่นานาประเทศอาเซียน เรียนด้วย 'ดอกไม้'
พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมดอกไม้' กลายเป็นลานกิจกรรมของเด็กๆ ไปโดยปริยาย เนื่องด้วยพิพิธภัณฑ์แห่งนี้แทรกตัวอยู่กลางชุมชน ประชาชนในย่านนี้จึงรู้จักที่นี่กันแทบทุกคน และเมื่อผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ฯ มีแนวคิดอยากจะจัดกิจกรรมการเรียนรู้อาเซียนผ่านวัฒนธรรมดอกไม้ให้แก่เยาวชน จึงได้รับการตอบรับจากผู้ปกครองและน้องๆ เป็นอย่างดีพิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมดอกไม้ วิกิพีเดียดอกไม้แห่งแรก/แห่งเดียวในโลก
เพิ่งเปิดตัวไปหยกๆ พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมดอกไม้ (The Museum of Floral Culture) ที่ว่ากันว่าเป็นพิพิธภัณฑ์อันว่าด้วยเรื่องของวัฒนธรรมของดอกไม้ แห่งแรกและแห่งเดียวของโลกเชียวนา ที่นี่บรรจุชิ้นงานและหลักฐานทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการจัดดอกไม้จากอดีตถึงปัจจุบัน ทั้งของไทยและนานาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากทั่วเอเชีย ซึ่ง สกุล อินทกุล ศิลปินนักจัดดอกไม้ระดับนานาชาติ ตั้งใจสร้างขึ้นเพื่อสืบสานวัฒนธรรมดอกไม้ในประเทศไทย และเพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา ด้วยทรงเป็นนักอนุรักษ์พรรณพืชที่เป็นที่ประจักษ์แก่นานาประเทศเรียนรู้วิถีชีวิตผ่านวัฒนธรรมดอกไม้
พร้อมแล้วกับการเปิดตัวอย่างเป็นทางการของ "พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมดอกไม้" พิพิธภัณฑ์อันว่าด้วยเรื่องของวัฒนธรรมของดอกไม้แห่งแรกและแห่งเดียวของโลก ซึ่งบรรจุชิ้นงานและหลักฐานทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการจัดดอกไม้จากอดีตถึงปัจจุบัน ทั้งของไทยและนานาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากทั่วเอเชีย โดย สกุล อินทกุล ศิลปินนักจัดดอกไม้ระดับนานาชาติแนะนำพิพิธภัณฑ์โดยบล็อก
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสารานุกรมไทย
ดอกไม้ วัฒนธรรมดอกไม้ สกุล อินทกุล พวงมาลัย พานพุ่ม ใบตอง บายศรี
พิพิธภัณฑ์อัญมณีและเครื่องประดับ
จ. กรุงเทพมหานคร
พิพิธภัณฑ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
จ. กรุงเทพมหานคร
พิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง Bio-Geo Path
จ. กรุงเทพมหานคร