หอประวัติและพิพิธภัณฑ์ ดร.ไสว สุทธิพิทักษ์,มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์


ดร.ไสว สุทธิพิทักษ์ ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์คนที่ยึดมั่นในอุดมการณ์การสร้างคนด้วยการศึกษา แม้ว่าในแต่ละช่วงชีวิตของเขาจะมีมรสุมชีวิตพัดผ่านเข้ามาหลายครั้ง ด้วยความอุตสาหะอดทน ทำให้เขาก้าวผ่านอุปสรรคและเดินไปข้างหน้า หอประวัติและพิพิธภัณฑ์แห่งนี้แบ่งการจัดแสดงออกเป็น 2 ส่วน รวม 14 ห้อง ส่วนแรก เป็นเรื่องราวชีวิตของ ดร.ไสว ตั้งแต่เกิด เรียนหนังสือ ทำงานรับใช้ประเทศชาติ ลี้ภัยการเมือง และกลับสู่มาตุภูมิ ส่วนที่สอง เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการก่อตั้งมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

ที่อยู่:
อาคาร6 ชั้น7 มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ 110/1-4 ถ.ประชาชื่น แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ 10210
โทรศัพท์:
0-2954-7300 ต่อ 231
วันและเวลาทำการ:
เปิดวันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 08.30-12.00 น.(เช้า)และ 13.00-16.00 น. (บ่าย)
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
เว็บไซต์:
จัดการโดย:

โดย: -

วันที่: 12 มีนาคม 2555

โดย: -

วันที่: 12 มีนาคม 2555

โดย: -

วันที่: 12 มีนาคม 2555

โดย: -

วันที่: 12 มีนาคม 2555

โดย: -

วันที่: 12 มีนาคม 2555

โดย: -

วันที่: 12 มีนาคม 2555

ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

หอประวัติและพิพิธภัณฑ์ ดร.ไสว สุทธิพิทักษ์

ชื่อผู้แต่ง: หอประวัติและพิพิธภัณฑ์ ดร.ไสว สุทธิพิทักษ์ | ปีที่พิมพ์: 2548

ที่มา: กรุงเทพฯ:มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

แหล่งค้นคว้า: ศมส.

โดย: ศมส.

วันที่: 13 มีนาคม 2555


ไม่มีข้อมูล

รีวิวของหอประวัติและพิพิธภัณฑ์ ดร.ไสว สุทธิพิทักษ์,มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

สถานที่แห่งนี้คือบันทึกประวัติศาสตร์ที่นำเสนอผ่านเกียรติประวัติของผู้ชายคนหนึ่ง คนที่ยึดมั่นในอุดมการณ์การสร้างคนด้วยการศึกษา แม้ว่าในแต่ละช่วงชีวิตของเขาจะมีมรสุมชีวิตพัดผ่านเข้ามาหลายครั้ง ด้วยความอุตสาหะอดทน ทำให้เขาก้าวผ่านอุปสรรคและเดินไปข้างหน้า บุคคลที่กำลังกล่าวถึงในที่นี้คือ ดร.ไสว สุทธิพิทักษ์ ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ 

เมื่อมาหยุดยืนด้านหน้าของพิพิธภัณฑ์ ภาพแรกที่เห็น พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ดูสวยงาม สีไม้และลวดลายสลักของไม้สักปรากฏเด่นตั้งแต่ทางเข้า ผู้นำชมพิพิธภัณฑ์ในวันนี้คืออาจารย์อรชา เผือกสุวรรณ ด้วยความผูกพันในตำแหน่งเลขานุการของดร. ไสว มาถึง 26 ปี และเป็นผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์แห่งนี้มานาน ทำให้อาจารย์อรชาคือผู้ที่สามารถถ่ายทอดเรื่องราวในที่แห่งนี้ได้ดีที่สุด

อาจารย์เริ่มต้นด้วยการกล่าวว่าเรื่องราวในนี้ไม่ใช่เฉพาะของมหาวิทยาลัย แต่เป็นชีวิตของท่านด้วย เริ่มตั้งแต่ห้องแรกที่เรียกว่า“ชาติกำเนิด” บอกว่าท่านเป็นใคร เกิดที่ไหน ด้วยการนำเสนอผ่านสัญลักษณ์ของตัวจังหวัด ท่านเป็นคนจังหวัดนครศรีธรรมราช สัญลักษณ์ของจังหวัดคือเครื่องถม เครื่องเงิน กระเป๋าย่านลิเภา เป็นบุตรของนายเฟื่อง สุทธิพิทักษ์ ข้าราชการกรมสรรพากร ส่วนมารดาเสียชีวิตตั้งแต่ท่านยังเด็ก ด้วยความที่คุณพ่อต้องย้ายที่ทำงานบ่อยๆ จึงได้ไปฝากตัวท่านไว้กับพระ ในช่วงเรียนหนังสือ ดร.ไสวอยู่ในความปกครองของพระครูปลัดสง เจ้าอาวาสวัดจันทาราม 

สิ่งที่โดดเด่นของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้คือบรรยากาศของสถานีรถไฟในอดีต อยู่ภายในห้องที่สองที่เรียกว่า “ชีวิตวัยเด็ก” ขณะเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่สอง ด.ช.ไสวพร้อมกับเพื่อน 7 คนได้ขี่จักรยานทางไกลจากนครศรีธรรมราชไปกรุงเทพฯ ในกิจกรรมของลูกเสือ การเดินทางใช้เวลา11 วัน การขี่จักรยานได้เลียบไปตามทางรถไฟผ่านจังหวัดต่างๆ ภายในพิพิธภัณฑ์เราจะเห็นทั้งช่องขายตั๋วรถไฟ ระฆังและตั๋วรถไฟสมัยก่อน ใกล้กันมีตะเกียงที่ใช้ในสถานีรถไฟ ตรงพื้นมีรางรถไฟโดยด้านบนปิดไว้ด้วยกระจกนิรภัยเพื่อให้ผู้เข้าชมเดินผ่านได้ อุปกรณ์ต่างๆ ล้วนเป็นของแท้ที่ได้รับความอนุเคราะห์จากการรถไฟแห่งประเทศไทย ใกล้กับรางคือจักรยานเก่ารุ่นที่ดร.ไสวใช้เป็นพาหนะตลอดการเดินทางด้วยความมานะพยายามถึง11 วัน สิ่งที่น่าสังเกตอย่างหนึ่งในการจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้คือการนำกระจกมาติดผนังเพื่อเพิ่มมุมมองของห้องให้ดูกว้างขึ้น

ในห้องที่สาม “ภูมิปัญญานครศรีธรรมราช” ห้องนี้นำเสนอเกี่ยวกับจังหวัดนครศรีธรรมราชมีทั้งงานประเพณีการแห่ผ้าขึ้นห่มองค์พระบรมธาตุเจดีย์ การแสดงพื้นบ้านคือหนังตะลุง โดยมีตัวหนังตะลุงจัดแสดงไว้ คนที่เข้ามาชมสามารถเปิดเสียงเชิดหนังตะลุงพร้อมกับภาพผ่านจอโทรทัศน์ ส่วนของงานหัตถกรรมในตู้กระจกที่น่าสนใจอีกอย่างคือผ้ายกนครที่สวยงาม ลวดลายประณีต นอกจากนี้ยังมีพืชต่างๆ ที่ใช้ทำเป็นสีย้อมผ้าอย่างเช่นสะตอ ลูกเนียง ก้านขนุน อีกมุมหนึ่งเราจะเห็นสิ่งของแปลกตาเป็นพวกเครื่องครัวของบ้านชนบทในสมัยก่อนได้แก่ กระต่ายขูดมะพร้าว กระทะทองเหลือง กระบอกขนมจีน อาจารย์อรชาอธิบายว่าคนต่างจังหวัดในภาคใต้จะทำขนมจีนกินกันเองที่บ้าน กินเป็นอาหารหลักเหมือนกับการกินข้าว

เมื่อดร.ไสว เรียนจบมัธยมต้นที่โรงเรียนเบญจมราชูทิศ ได้เข้ามาศึกษาต่อในชั้นมัธยมปลายที่โรงเรียนอำนวยศิลป์ เมื่อจบชั้นมัธยมปีที่ 8 ก็ได้รับทุนของจังหวัดระนอง ให้ศึกษาระดับอุดมศึกษาที่โรงเรียนฝึกหัดครูพระนคร จากนั้นจึงไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง ห้องที่สี่ตั้งชื่อว่า “ศึกษาต่อในกรุงเทพฯ” ในด้านการศึกษาอาจารย์อรชาได้เล่าให้ฟังว่าแต่เดิมท่านอยากเป็นตำรวจ แต่ไม่ผ่านเพราะสายตาสั้น ที่ธรรมศาสตร์ท่านเรียนจบปริญญาตรีด้านกฎหมาย และเรียนต่อปริญญาโทด้านเศรษฐศาสตร์ ในช่วงเวลานั้นได้มีเหตุการณ์สำคัญของประเทศชาติคือเป็นช่วงเวลาของสงครามโลกครั้งที่ 2 

ในห้องที่ห้า “ชีวิตสมรสและการรับใช้ชาติ” ภายในห้องเราจะได้เห็นความเชื่อมโยงกับห้องที่แล้ว ความผูกพันกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่านแต่งงานกับนางสาวสนม เกตุทัต ซึ่งเรียนจบที่ธรรมศาสตร์ในด้านบัญชี โดยได้ทำพิธีแต่งงานที่ตึกโดมโดยดร.ปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้สวมมงคลและให้พร ดร.ไสวทำงานเป็นข้าราชการที่กรมบัญชีกลางอยู่พักหนึ่ง ในช่วงนั้นท่านปรีดี พนมยงค์เป็นหัวหน้าเสรีไทย จึงได้ชวนดร.ไสวให้มาร่วมกู้ชาติ ด้วยการเป็นเสรีไทยสายกรุงเทพฯ เมื่อสงครามยุติ ด้วยคำเชิญชวนจากผู้ใหญ่หลายท่าน ดร.ไสวจึงได้สมัครเป็นสมาชิกผู้แทนราษฎรและได้รับเลือกตั้งที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ท่านเป็นสส. ในวัยเพียง 30 ปี พร้อมได้ดำรงตำแหน่งเลขานุการนายกรัฐมนตรี ในคณะรัฐบาลพลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ภายในห้องนี้สำหรับผู้เข้าชม จะพบว่ามีรูปภาพขยายใหญ่ภาพหนึ่งสวยงามมาก เป็นภาพที่ท่านนั่งไขว่ห้างอ่านเอกสาร 

ในช่วงการเป็นนักการเมือง ได้ทำให้ชีวิตของท่านมาถึงจุดผกผัน ช่วงเวลานั้นได้เกิดเหตุการณ์ไม่สงบในบ้านเมือง ทั้งกรณีสวรรคตของรัชกาลที่ 8 กรณีกบฏวังหลวง ทำให้ท่านต้องจากบ้านเกิดเมืองนอนไปประเทศสิงคโปร์ในฐานะผู้ลี้ภัยทางการเมือง การนำเสนอภายในห้องที่หกให้ชื่อว่า “เก้าปีที่สิงคโปร์” เราจะได้เห็นห้องเล็กๆ ที่แบ่งเป็นเตียงนอนและอีกมุมหนึ่งเป็นโต๊ะเขียนหนังสือ ดร.ไสวเป็นคนที่ภาษาอังกฤษดีมาก ท่านได้ใช้ความรู้ในการแปลและเขียนหนังสือ ผลงานแปลและงานเขียนของท่านได้ส่งกลับมาให้ภริยาจัดพิมพ์ที่กรุงเทพฯ มีทั้งงานแปลจากอังกฤษเป็นไทย จีนเป็นไทย ส่วนเรื่องที่ท่านเขียนเองคือเรื่องดร.ปรีดี พนมยงค์กับการปฏิวัติซึ่งในช่วงเวลาหนึ่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ใช้หนังสือเล่มนี้ในการเรียนการสอน

ช่วงเวลาที่ดร.ไสวอยู่สิงคโปร์ ได้ทำธุรกิจกับเพื่อนชาวจีน 2 คน ซึ่งทั้งสองคนนี้ถือว่าเป็นผู้มีอุปการะคุณ ท่านได้เรียนรู้เรื่องการทำธุรกิจจากเพื่อนสองคนนี้ถึงเก้าปี พร้อมกันกับได้ทำธุรกิจที่นั่นด้วย

หลังได้จากบ้านไปถึงเก้าปีก็มาถึงวันที่ได้กลับมา ในห้องที่เจ็ด “กลับสู่มาตุภูมิ” ในห้องนี้มีความโดดเด่นที่มีภาพเก่าขยายใหญ่ เป็นภาพในวันที่เดินทางกลับมาถึงสนามบินดอนเมืองโดยมีภริยาไปรับ จากนั้นวันรุ่งขึ้นท่านก็ไปรายงานตัวที่สันติบาล คดีความที่เคยมีได้ยกฟ้อง เพราะไม่มีหลักฐานพิสูจน์ว่าท่านเป็นกบฏ การที่ต้องลี้ภัยไปสิงคโปร์เพราะเพื่อนถูกยิงตายไปหลายคน หลังจากนั้นท่านก็หันหลังให้การเมือง โดยมุ่งความสนใจไปที่การทำธุรกิจและมีความคิดที่จะก่อตั้งสถาบันการศึกษา ในห้องนี้เราจะเห็นความละเอียดในการเก็บเอกสาร ตั๋วเครื่องบินที่ใช้บินกลับได้ใส่กรอบไว้ใกล้กัน

เมื่อนำชมถึงห้องที่เจ็ด อาจารย์อรชาได้บอกว่าพิพิธภัณฑ์นี้แบ่งเป็นสองด้าน ฝั่งตรงข้ามจะเป็นห้องที่แปด ในชื่อว่า “ก่อตั้งสถาบันการศึกษาสร้างนักธุรกิจเพื่อสร้างชาติ” ในห้องนี้มีรูปของอาจารย์สนั่น เกตุทัต ผู้ร่วมก่อตั้งมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ อาจารย์สนั่นเป็นพี่ชายของอาจารย์สนม ภริยาของดร.ไสว ในขณะนั้นรับราชการในตำแหน่งอธิการบดีกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง โรงเรียน “ธุรกิจบัณฑิตย์” เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2511 จากนั้นพัฒนาเป็นวิทยาลัยและเติบโตเป็นมหาวิทยาลัยเช่นในปัจจุบัน

จากนั้นก็เป็นทางเดินขึ้นไปสู่ห้องที่เก้า “สู่ความสำเร็จ” ดร.ไสวได้แสดงให้เห็นว่า การเรียนรู้ไม่มีวันจบสิ้น โดยได้ไปเรียนต่อปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยแปซิฟิกสเตทส์ ประเทศสหรัฐอเมริกาในขณะที่อายุ 70 ปี ทำวิทยานิพนธ์เรื่อง ศิลปหัตถกรรมเครื่องถมไทย ลวดลายที่ปรากฎในวิทยานิพนธ์ได้ถูกนำมาให้ช่างแกะลวดลายบนชุดตักบาตรและชุดเครื่องหอมถมทอง ทั้งสองชุดมีโชว์อยู่ในตู้กระจก ในห้องนี้มีภาพสำคัญคือภาพการเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ของดร.ไสว

ห้องที่สิบ “ธุรกิจบัณฑิตย์วันนี้” มหาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ได้มีสถานะเป็นมหาวิทยาลัยตั้งแต่ พ.ศ. 2527 ปัจจุบันเป็นสถาบันการศึกษาเอกชนที่มั่นคง มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในด้านมาตรฐานวิชาการ อีกทั้งยังเป็นมหาวิทยาลัยที่ร่มรื่นสวยงามบนพื้นที่ 80 ไร่

ห้องที่สิบเอ็ด “งานอดิเรกและของสะสม” มุมนี้เป็นภาพถ่ายครอบครัว มีภริยาและบุตรสาวสองคน การถ่ายภาพเป็นงานอดิเรกที่ดร.ไสวโปรดปราน ดังจะเห็นกล้องถ่ายรูปแบบสมัยก่อนหลายตัวจัดแสดงไว้ในตู้กระจก การมีพิพิธภัณฑ์ที่ผู้เข้าชมสัมผัสได้กับความรักความใส่ใจอย่างที่เห็น เกิดมาจากบุตรสาวของท่านคือ อาจารย์เลิศลักษณ์และอาจารย์เฉิดโฉม ปัจจุบันเป็นผู้บริหารมหาวิทยาลัย

ห้องที่สิบสอง “สนั่นพฤกษ์” ก่อนจะเดินลงไปยังห้องนี้ จะเห็นรูปปั้นเท่าตัวจริงของ ดร.ไสว รูปปั้นนี้ทำด้วยเรซิ่น ที่ไม่ทำเป็นหุ่นขี้ผึ้งเพราะว่าห้องนี้ไม่ได้เปิดแอร์ตลอดเวลา การทำด้วยเรซิ่นแม้จะค่อนข้างแพงแต่การดูแลรักษาทำได้ง่ายกว่า อาจารย์อรชาบอกว่าตัวจริงของท่านสูง 180 ซม. ช่างปั้นได้ปั้นให้รูปร่างเล็กลงเล็กน้อยเพื่อจะได้สวมเสื้อผ้าของท่านเอง เนื่องจากรูปปั้นไม่ยืดหยุ่นเหมือนร่างกายปกติ 

ที่ห้องสนั่นพฤกษ์ ห้องนี้เป็นการรำลึกถึงอาจารย์สนั่น ความร่มรื่นของอาณาบริเวณของมหาวิทยาลัยเกิดมาจากอาจารย์สนั่นลงมือปลูกต้นไม้เอง ตั้งแต่ยังเป็นกล้าไม้จนกระทั่งเติบใหญ่ผลิดอกออกผลให้ร่มเงาแก่ทุกคน ในห้องนี้เราจะเห็นการจัดตกแต่งด้วยต้นไม้จริงสลับกับต้นไม้ปลอมดูร่มรื่น

ห้องถัดมา “รางวัลแห่งชีวิต” สำหรับห้องนี้อาจารย์อรชาบอกว่า สิ่งที่เราต้องการบอกกับผู้เยี่ยมชมมาจนถึงห้องนี้คือ ความดีเท่านั้นที่จะยังคงอยู่ให้คนกล่าวขาน ส่วนอื่นจะสลายกลายเป็นดิน เป็นน้ำ เป็นลม เป็นไฟ จะเหลือไว้แต่คุณงามความดีให้คนชื่นชม ตรงกลางห้องนี้มีแจกันดอกไม้ช่อหนึ่งอยู่ในตู้กระจก ความสำคัญอยู่ที่การได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานแจกันดอกไม้ขณะที่ดร.ไสวพักรักษาตัวอยู่โรงพยาบาล เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2537 แจกันที่จัดแสดงเป็นของจำลอง โดยจัดทำขึ้นมาให้เหมือนกับของเดิมทุกประการ และในห้องนี้ได้จัดแสดงรางวัล โล่ และเกียรติบัตร จากองค์กรและหน่วยงานต่างๆ เป็นจำนวนมาก รางวัลที่ได้รับอย่างเช่น การได้รับพระราชทานรางวัลพระเกี้ยวทองคำ จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในฐานะสถาบันการศึกษาที่ส่งเสริมการใช้ภาษาไทยดีเด่น รับโล่และเกียรติบัตรพ่อตัวอย่างแห่งชาติ จากองคมนตรี เป็นต้น

ห้องที่สิบสี่อยู่ตรงโถงกลางระหว่างห้องพิพิธภัณฑ์ทั้งสองด้าน “ความทรงจำอันอมตะ” เป็นปฏิมากรรมนูน-สูงอันงดงามเล่าเรื่องราวของดร.ไสว สุทธิพิทักษ์และมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ 

ในการเข้าเยี่ยมชม ถ้ามากันเป็นกลุ่มใหญ่ ทางพิพิธภัณฑ์จะเปิดห้องประชุมที่อยู่ถัดเข้าไปเป็นการต้อนรับ และจะให้ชมวีดีโอสรุปเรื่องราวแบบสั้นๆ ก่อนนำชม

ถึงตรงนี้เราจะคิดได้ว่าชีวิตของคนๆหนึ่งสามารถทำอะไรได้มากมาย ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละคนจะเลือกใช้เวลาที่ตนมีอย่างไรหรือทำประโยชน์เพื่อใคร ในวันนี้ชีวิตอันมีแบบแผนของดร.ไสว สุทธิพิทักษ์ ได้เป็นหนึ่งในความทรงจำของผู้ที่ได้มีโอกาสมาเยือนจำนวนหลายพันคนในแต่ละปี

สาวิตรี ตลับแป้น / ผู้เขียน / ถ่ายภาพ

ข้อมูลจาก : สำรวจภาคสนาม 8 กรกฎาคม 2551

ชื่อผู้แต่ง:
-