พิพิธภัณฑ์เปลือกหอย ภูเก็ต


พิพิธภัณฑ์เปลือกหอยภูเก็ต เกิดจากความตั้งใจของคุณสมนึก ปัทมคันธิน ที่ต้องการให้ทุกคนเห็นคุณค่าของเปลือกหอยชิ้นเล็ก ๆ โดยพิพิธภัณฑ์รวบรวมเปลือกหอยมาจากทั่วโลก ภายในจัดแสดงเปลือกหอยรูปแบบต่าง ๆ หลากหลายสีสัน จัดเรียงอย่างสวยงามพร้อมข้อมูลประกอบ โดยมีทั้งเปลือกหอยจากทะเลไทย อ่าวเม็กซิโก และแอฟริกาใต้ รวมถึงยังมีการจัดแสดงเปลือกหอยมีค่า ฟอสซิลหอยอายุกว่าร้อยล้านปี เปลือกหอยยักต์ที่มีน้ำหนักกว่า 250 กิโลกรัม และไขมุกสีทองที่หนักกว่า 140 กะรัต

ที่อยู่:
12/2 หมู่ 2 ถ.วิเศษ ต.ราไวย อ.เมือง จ.ภูเก็ต 83000
โทรศัพท์:
0-7638-1888, 0-7638-1274
วันและเวลาทำการ:
เปิดทุกวัน 9.00-18.00 น.
ค่าเข้าชม:
คนไทย 100 บาท ต่างชาติ 200 บาท
ปีที่ก่อตั้ง:
2540
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

รีวิวของพิพิธภัณฑ์เปลือกหอย ภูเก็ต

พิพิธภัณฑ์เปลือกหอย ก่อตั้งขึ้นโดยคุณสมนึก ปัทมคันธิน ผู้ซึ่งสนใจเรื่องราวเกี่ยวกับเปลือกหอย คุณสมนึกเริ่มศึกษาค้นคว้าอย่างจริงจัง รวมถึงรับซื้อและแลกเปลี่ยนเปลือกหอยจากคนภูเก็ต ผู้สนใจหอยทั่วไป จากเรืออวนลาก จากชายฝั่งที่ต่าง ๆ เป็นเวลาหลายสิบปี ทำให้มีเปลือกหอยแปลกใหม่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จึงคิดสร้างพิพิธภัณฑ์เปลือกหอยขึ้น เพื่อเผยแพร่ความรู้เรื่องหอยแก่บุคคลทั่วไป ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการวิทยาศาสตร์ทางทะเล กล่าวว่าที่นี่เป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาของเอกชนที่ดีที่สุดเท่าที่เคยเห็นมาในเมืองไทย เปิดให้เข้าชมครั้งแรกในเดือนธันวาคม 2540

ภายในอาคารได้จัดแสดงเปลือกหอยเป็นหมวดหมู่อย่างสวยงาม จำแนกเป็นประเภทใหญ่ ๆ ได้ 4 กลุ่ม ได้แก่ หอยเบี้ย เป็นหอยที่คนนิยมสะสมมากที่สุด มีโครงสร้างโค้งมน ผิวเปลือกเป็นมันวาวคล้ายกระเบื้องเคลือบ หอยเต้าปูน เป็นหอยมีพิษ มีเปลือกเป็นทรงกรวย มีสีสัน ขนาด และลวดลายที่หลากหลายมาก หอยสังข์หนามหรือหอยหน้ายักษ์ เป็นหอยทะเลกลุ่มที่ใหญ่ที่สุด เป็นหอยฝาเดี่ยว มีหนามขึ้นเป็นแนวรอบตัว และหอยสังข์จุกพราหมณ์ อาศัยอยู่ตามพื้นทรายปนเลนนอกแนวชายฝั่ง พบในประเทศไทยเพียงสองชนิด หอยแต่ละกลุ่มที่จัดแสดงมีทั้งเปลือกหอยที่พบในน่านน้ำไทย เช่น จากภูเก็ต สตูล กระบี่ ระนอง และเปลือกหอยจากหลายประเทศทั่วโลก เช่น จากทะเลเมดิเตอร์เรเนียน อ่าวเม็กซิโก แอฟริกาใต้ ฯลฯ มีทั้งเปลือกหอยที่หายากมากและที่พบเฉพาะถิ่น หอยทุกตัวมีป้ายบอกชื่อ ลำดับชั้นทางวิทยาศาสตร์ และคำบรรยายทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ตัวอย่างที่น่าสนใจ เช่น ไข่มุกสีทองหนัก 140 กะรัต พบด้านฝั่งตะวันตกของเกาะภูเก็ต ฟอสซิลหอยกาบสองฝาอายุนับร้อยล้านปี หอยสังข์ที่ใช้ในพิธีมงคล ไมโครเชลล์หรือกลุ่มหอยที่ตัวเต็มวัยมีขนาดเล็กมากจนไม่สามารถแยกได้ด้วยตาเปล่า นอกจากนี้ยังมีแอมโมไนต์ขนาดใหญ่ที่เกือบเท่าล้อรถ หอยดึกดำบรรพ์สายพันธุ์ต่าง ๆ รวมทั้งหอยพิสดารเปลือกหมุนเวียนซ้าย(หันจุกหรือยอดเข้าตัว หอยปรกติจะหมุนเวียนขวา) ไข่มุกหอยสังข์ทะนาน หรือหอยที่พบเป็นครั้งแรกในโลกที่เมืองไทยเช่น หอยเต้าปูนระนอง เป็นต้น


ข้อมูลจาก: กุศล เอี่ยมอรุณ. เที่ยวทั่วไทยไปกับนายรอบรู้: ภูเก็ต. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์สารคดี, 2543. ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์. "พิพิธภัณฑ์หอย". อนุสารอสท. พฤศจิกายน 2547.
ชื่อผู้แต่ง:
-

พิพิธภัณฑ์ไทยในดวงใจ (2): พิพิธภัณฑ์เปลือกหอย ภูเก็ต

เวลาไปเที่ยวพิพิธภัณฑ์ เกณฑ์ส่วนตัวง่ายๆ ข้อหนึ่งที่ผู้เขียนใช้วัดระดับ ‘คุณภาพ’ ของพิพิธภัณฑ์ คือ ‘ความสนุก’ ที่รู้สึกเวลาเดินชม และ ‘ความรู้’ ใหม่ๆ ที่ได้รับหลังจากเดินออกมาแล้ว เป็นความรู้ชนิดที่ไม่รู้สึกว่าหนักหัวหรือไร้ค่า เพราะได้เรียนรู้มาด้วยความสนุก ถ้าคำกล่าวที่ว่า “อะไรก็ตามที่ทำด้วยใจรัก คนดูย่อมรู้สึกได้ถึงความรักของคนทำ” เป็นจริง พิพิธภัณฑ์เปลือกหอยที่ภูเก็ต ก็เป็นหนึ่งในบทพิสูจน์ที่ดีที่สุดเท่าที่ผู้เขียนรู้จัก
ชื่อผู้แต่ง:
-