อนุสรณ์สถานพระรัตนธัชมุนี


ที่อยู่:
วัดท่าโพธิ์วรวิหาร ต.ท่าวัง อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช 80000
โทรศัพท์:
089-8677585 เจ้าอาวาส พระโพธิธรรมธาดา
วันและเวลาทำการ:
ติดต่อขอเข้าชมล่วงหน้ากับทางวัด หรือติดต่อโดยตรงทางสำนักศิลปากรที่ 14 นครศรีธรรมราช
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
ปีที่ก่อตั้ง:
2536
ของเด่น:
ข้าวของเครื่องใช้ (อัฐบริขาร) ของพระรัตนธัชมุนี (ม่วง)
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล

โดย:

วันที่: 13 กุมภาพันธ์ 2555

ไม่มีข้อมูล

ประวัติวัดท่าโพธิ์วิหาร

ชื่อผู้แต่ง: กรมศิลปากร | ปีที่พิมพ์: 2536

ที่มา: กรุงเทพฯ: กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร

แหล่งค้นคว้า: ศมส.

โดย: ศมส.

วันที่: 13 มีนาคม 2555

ประวัติวัดท่าโพธิ์วรวิหาร

ชื่อผู้แต่ง: กรมศิลปากร | ปีที่พิมพ์: 2536

ที่มา: กรุงเทพฯ: กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร

แหล่งค้นคว้า:

โดย: ศมส.

วันที่: 13 มีนาคม 2555


ไม่มีข้อมูล

อนุสรณ์สถานพระรัตนธัชมุนี

อนุสรณ์สถานพระรัตนธัชมุนีตั้งอยู่ในเขตวัดท่าโพธิ์วรวิหาร เนื่องจากเป็นกุฏิเก่าของพระรัตนธัชมุนี (ม่วง รัตนธชฺเถร) อดีตเจ้าอาวาสในช่วง พ.ศ. 2427 – 2477 วัดท่าโพธิ์เป็นวัดเก่าแก่ที่สร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยา เมื่อ พ.ศ. 2027 ในรัชสมัยพระบรมไตรโลกนาถ แต่บริเวณที่ตั้งวัดแต่เดิมไม่ได้อยู่ในพื้นที่ปัจจุบัน แต่เป็นบริเวณโรงเรียนเทศบาลวัดท่าโพธิ์ ซึ่งอยู่ถัดออกไปทางด้านตะวันออก และในสมัยสมเด็จพระนเรศวร ได้มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้พระรามราชท้ายน้ำมาปกครองเมืองนครศรีธรรมราช ในช่วงเวลาดังกล่าวเมื่อ พ.ศ. 2181 ก็เกิดศึกโจรสลัดที่อยู่บริเวณเกาะสิงคโปร์ยกพวกเข้ามาปล้นเมืองนครศรีธรรมราช พระยารามราชได้เกณฑ์ไพร่พลให้ขุดคูขึ้นเพื่อขวางทางข้าศึกคือ คูขวาง แต่พระรามราชท้ายน้ำซึ่งในขณะนั้นมีอายุมากแล้วได้ต่อสู้ป้องกันเมืองจนเสียชีวิต เหล่าโจรสลัดสามารถบุกขึ้นมาถึงวัดโพธิ์ซึ่งตั้งอยู่ริมน้ำได้ จึงเผาทำลายบ้านเรือนและวัดจนเสียหายจนต้องทิ้งร้างไปในช่วงเวลาหนึ่ง กระทั่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (พัด) เจ้าเมืองนครฯ ในสมัยดังกล่าว ได้ย้ายที่ตั้งวังซึ่งอยู่ในบริเวณวัดท่าโพธิ์ปัจจุบัน เข้าไปตั้งใหม่ในเขตกำแพงเมือง หรือก็คือศาลากลางในปัจจุบัน ส่วนบริเวณวังเก่าก็ได้อุทิศเพื่อสร้างวัดท่าโพธิ์ขึ้นใหม่ แต่ไม่มีหลักฐานถึงปีสร้างที่ชัดเจน มีข้อสันนิษฐานว่าน่าจะประมาณ พ.ศ. 2327 หรือหลังจากนั้นไม่นานนัก และนี่ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ย่านบริเวณวัดท่าโพธิ์ปัจจุบันยังมีคำเรียกติดปากชาวบ้านอยู่ว่าเป็นท่าวัง ซึ่งก็หมายถึงท่าเรือที่อยู่ใกล้กับวังเดิมของเจ้าเมืองนครฯ นั่นเอง
 
ประวัติพระรัตนธัชมุนี (พ.ศ. 2396-2477)
พระรัตนธัชมุนีศรีธรรมราช (ม่วง รตนธชฺเถร) หรือเรียกสั้นๆ ว่า พระรัตนธัชมุนี เป็นอดีตเจ้าอาวาสวัดท่าโพธิ์และเป็นพระสงฆ์ที่ได้รับการนับถือเป็นอย่างมากในวงการสงฆ์และชาวจังหวัดนครศรีธรรมราชในฐานะของผู้ที่มีคุณูปการด้านการศึกษา และด้านการศาสนา ในช่วงรัชกาลที่ 5
 
พระรัตนธัชมุนีเป็นชาวอำเภอปากพนัง เกิดที่บ้านหมาก ต.บ้านเพิง ในสมัยรัชกาลที่ 4 วันที่ 10 สิงหาคม 2396 เมื่ออายุได้ 7 ขวบเข้าศึกษาที่สำนักอาจารย์สีดำ วัดหลุมพอ ต่อมาเมื่อ 9 ขวบ ย้ายไปบรรพชาเป็นสามเณรที่วัดแจ้ง (อำเภอปากพนัง) เมื่ออายุได้ 17 โยมพ่อได้พามาฝากให้ได้ศึกษาปริยัติธรรมกับพระครูการาม (จู) วัดมเหยงคณ์ จนปี 2416 จึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุฝ่ายนิกายมหานิกาย หลังจากที่อุปสมบทได้ 1พรรษา จึงได้ย้ายตามพระครูการาม (จู) มาจำพรรษาที่วัดท่าโพธิ์ เมื่อปี 2417 พระครูการาม (จู) มรณภาพลงท่านจึงได้เป็นเจ้าอาวาสสืบแทน
 
เหตุการณ์สำคัญที่เปลี่ยนให้ชีวิตของท่านไปอย่างสิ้นเชิงคือการเสด็จมาตรวจการพระศาสนาในหัวเมืองปักษ์ใต้ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส และสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในปี 2427 ท่านได้เข้าเฝ้าสนทนาอยู่ด้วยหลายครั้งในที่สุดจึงได้ตามเสด็จไปศึกษาต่อที่กรุงเทพฯ (ว่ากันว่าสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ เป็นผู้ชักชวนด้วยเห็นว่าเป็นพูดจาฉะฉาน น่าจะเป็นกำลังสำคัญในอนาคต) เมื่อไปอยู่กรุงเทพฯ ท่านได้พำนักอยู่ที่วัดมกุฏกษัตริยารามเป็นเวลา 2 ปี ระหว่างนั้นก็ได้แปลงเป็นพระภิกษุฝ่ายธรรมยุติกนิกาย เข้าสอบไล่แปลงพระปริยัติธรรมสนามหลวง ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ได้เปรียญ 4 ประโยค โดยมีสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ เป็นผู้ตรวจธรรมวาจา ต่อมาท่านจึงได้ทูลลากลับมาเป็นเจ้าอาวาสที่วัดท่าโพธิ์ การเดินทางกลับมาของท่านมาทางเรือ (เรือใบ) เป็นช่วงที่ลมอุตรา (ลมตะวันออก) กำลังหนุนทำให้การเดินทางมาได้อย่างรวดเร็วและในวันที่ท่านเดินทางมาถึงก็มาขึ้นฝั่งที่ท่าโพธิ์ (เข้ามาทางคลองท่าซัก) มีประชาชนทีทราบข่าวมารอต้อนรับอย่างล้นหลาม
 
งานแรกๆ ที่ท่านเริ่มดำเนินการอย่างเร่งด่วนคือเรื่องการศึกษาและการศาสนา ในด้านการศึกษาท่านได้ก่อตั้งโรงเรียนหลวงแห่งแรกขึ้นคือ โรงเรียนสุขุมาภิบาลวิทยา ขึ้นที่วัดท่าโพธิ์ปัจจุบัน ซึ่งต่อมาเมื่อมีการขยายตัวมากขึ้นก็ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็นโรงเรียนเบญจมราชูทิศ ซึ่งได้รับพระราชชื่อจาก รัชกาลที่ 5 และย้ายมาอยู่บริเวณสี่แยกเบญจ นอกจากโรงเรียนหลวงแล้วก็ยังได้สร้างโรงเรียนสอนวิชาชีพขึ้นอีกหลายแห่งคือ โรงเรียนช่างถมเงิน-ทอง ปัจจุบันคือโรงเรียนศิลปหัตถกรรม โรงเรียนช่างไม้ ซึ่งก็คือโรงเรียนเทคนิคในปัจจุบัน โดยรวมแล้วท่านได้เปิดโรงเรียนในเขตนครศรีธรรมราชและปัตตานีถึง 21 แห่ง
 
ส่วนงานด้านการศาสนาที่สำคัญคือการปรับปรุงการปกครองคณะสงฆ์และสามเณรในเมืองนครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา ตามระเบียบของ พรบ.สงฆ์ ที่เพิ่งมีการปฏิรูปจากส่วนกลาง มีการจัดลำดับการปกครองเป็นเจ้าคณะเมือง เจ้าคณะแขวง และเจ้าอธิการวัด ในระหว่าง พ.ศ. 2445 – 2445 ก็ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะมณฑลนครศรีธรรมราชและปัตตานี ได้รับสมณศักดิ์เป็นพระเทพกวี พระธรรมโกศาจารย์ และพระรัตนธัชมุนีศรีธรรมราช ตามลำดับ
 
ในส่วนของความเกี่ยวข้องระหว่างท่านกับตึกอนุสรณ์สถานพระรัตนธัชมุนีก็คือช่วงระหว่างที่ท่านตรวจการทางภาคใต้ลงไปจนถึงสงขลาก็ได้มีโอกาสเดินทางต่อไปยังมาเลเซีย และได้เห็นตึกข้าหลวงปีนังที่เมืองปีนัง ท่านเกิดชอบในรูปแบบของอาคารจึงได้ให้คนถ่ายภาพไว้ และนำมาลอกแบบสร้างเป็นกุฏิของท่านและสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2459 อาคารแห่งนี้มีลักษณะเป็นทรงตามแบบอย่างตะวันตก 2 ชั้น เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนและเครื่องไม้ ที่กรอบประตู หน้าต่าง ชายคามีการฉลุลายไม้อย่างงดงาม
 
หลังจากที่กุฏิสร้างเสร็จท่านก็จำพรรษาที่วัดท่าโพธิ์มาตลอดจนกระทั่งมรณภาพใน พ.ศ. 2477 กุฏิของท่านก็ยังมีการใช้เรื่อยมาจนมีสภาพทรุดโทรมมาก ในสมัยของพระเทพปัญญากวี เจ้าคณะจังหวัดในช่วง พ.ศ. 2533 เห็นว่าอาคารทรุดโทรมมากจึงอยากจะรื้อเพื่อสร้างอาคารใหม่ แต่ทางกรรมการวัดเห็นว่าไม่สมควรเนื่องจากเป็นกุฏิเก่าของพระรัตนธัชมุนี จึงได้ทักท้วงและเชิญให้เจ้าหน้าที่กรมศิลปากรมาร่วมพิจารณา จนในที่สุดทางวัดจึงตัดสินใจยกให้เป็นกรรมสิทธิ์ของกรมศิลปากร ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานและสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของนครศรีธรรมราช ทางกรมศิลปากรได้ตั้งงบประมาณเพื่อการซ่อมแซมบูรณะอาคารจนเสร็จสิ้น ปี พ.ศ. 2536 และมีการนำข้าวของเครื่องใช้เกี่ยวกับพระรัตนธัชมุนีมาจัดแสดงร่วมด้วยทั้ง 2ชั้น     
 
การจัดแสดงและการบริหารจัดการ
การเก็บข้อมูลครั้งนี้ทำได้แต่เพียงชั้นล่างของอาคารเท่านั้น เนื่องจากท่านเจ้าอาวาสมีกุญแจเพียงชั้นล่าง ส่วนชั้นบนนั้นหาไม่พบ (กุญแจอีกชุดทางกรมศิลปากรเก็บรักษาไว้ แต่ไม่มีเจ้าหน้าที่นำชมประจำ)  ห้องจัดแสดงชั้นล่างมีเพียงห้องเดียวจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ประจำตัวของพระรัตนธัช รวมถึงข้าวของที่ได้รับพระราชทานมา ภาพถ่าย และอื่นๆ อีกหลายประเภท  ซึ่งอาจจะแบ่งเป็นหมวดหมู่ได้ ดังนี้
       
        1. เครื่องใช้ทองเหลือง เป็นเครื่องอัฐบริขาร ประเภท กาน้ำ ป้านชา พานกลีบบัว กระโถนปากแตร กระดิ่ง (ซึ่งใช้เรียกเณรที่คอยดูแลท่านเองยามชรา) ที่ใส่พลู เต้าปูน ยันหมาก มีดผ่าหมาก และขันน้ำ เป็นต้น
        2. เครื่องกระเบื้อง และเครื่องเคลือบ ทั้งแบบจีน และยุโรป เครื่องเคลือบลายน้ำทองเป็นตราจปร. และพระบรมฉายาลักษณ์ของ รัชกาลที่ 5
        3. ตะเกียงน้ำมันก๊าดแบบต่างๆ
        4.พระพุทธรูปประจำวันปางต่างๆ
        5.คัมภีร์ใบลาน และกล่องใส่ใบลาน
        6.หุ่นขี้ผึ้งจำลองรูปพระรัตนธัชมุนี (ม่วง)
        7.ภาพถ่ายสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของพระรัตนธัชมุนี คือ บ้านเกิด วัดแห่งแรกที่บวชเป็นสามเณร (วัดแจ้ง) วัดที่บวชเป็นพระภิกษุ (วัดมเหยงคณ์) วัดท่าโพธิ์ที่มาเป็นเจ้าอาวาสและอยู่จนกระทั่งมรณภาพ โรงทึมหรือศาลาไว้ศพหลังจากท่านมรณภาพ
        8. พัดยศของ พระรัตนธัชมุนี (ยศพระวินัยธร และพระครูปลัด)
 
วัตถุส่วนใหญ่จัดแสดงไว้ในตู้ไม้กรุกระจก หรือตู้กระจกที่แน่นหนาพอสมควร แต่ปัญหาอยู่ที่การจัดการหลังจากที่จัดแสดงและเปิดให้เข้าชมแล้ว เพราะตัวอาคารได้รับการขึ้นทะเบียนและเป็นกรรมสิทธิ์ของกรมศิลปากรแล้ว เมื่อมีการจัดแสดงวัตถุในอาคารแห่งนี้โดยกฎหมายแล้วก็ถือว่ายังเป็นกรรมสิทธิ์ของกรมศิลปากร และทางวัดเองก็รู้สึกว่าอยู่นอกเหนือความรับผิดชอบ เพราะไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ตามปกติ (คือไม่สามารถใช้เป็นกุฏิได้ดังเดิม) อีกทั้งยังไม่มีกำลังคนพอที่จะดูแลทำความสะอาดได้อย่างสม่ำเสมอนัก ส่วนทางกรมศิลปากรเองก็มองว่าทางกรมฯ ได้บูรณะและจัดทำพิพิธภัณฑ์แล้ว แต่ไม่มีกำลังคนมาเฝ้าดูแลได้ตลอดเวลา อีกทั้งอาคารอยู่ในบริเวณวัดจึงต้องการให้ทางวัดจัดการดูแลด้วยตนเอง โดยมอบกุญแจไว้ให้ทางวัดอีกชุดหนึ่ง โดยสรุปแล้วคือมีปัญหาเรื่องการจัดการหาคนนำชมและดูแลพิพิธภัณฑ์ (ทั้งทำความสะอาดและดูแลด้านความปลอดภัยขณะให้เข้าชม) และเมื่อเหตุการณ์น้ำท่วม เมื่อปี พ.ศ. 2554 (ต้นปี) กำลังคนในวัดไม่เพียงพอทำให้ขณะเคลื่อนย้ายที่ต้องยกทั้งตู้เพื่อหนีน้ำ จึงทำให้วัตถุในตู้ที่เป็นเครื่องกระเบื้องล้มแตกไปบางชิ้น
 
การเดินทาง
การเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวจากกรุงเทพสู่จังหวัดนครศรีธรรมราช เข้าสู่ถนนราชดำเนินซึ่งเป็นถนนสายหลักผ่านกลางเมืองนครศรีธรรมราช มุ่งหน้าไปทางทิศเหนือ (หรือทางที่ไปค่ายทหาร) วิ่งผ่านสี่แยกท่าวังไปจนกระทั่งเห็นสะพานข้ามคลองชื่อสะพานราเมศวร์ ก่อนขึ้นสะพาน (คอสะพาน) จะมีทางแยกด้านขวามือ เลี้ยวขวาก่อนขึ้นสะพาน ตรงไปจนพบสามแยกเลี้ยวซ้ายจะพบกำแพงวัดทางขวามือเลาะกำแพงจนพบประตูวัดเลี้ยวขวาเข้าวัด อนุสรณ์สถานพระรัตนธัชมุนีอยู่ด้านหลังโบสถ์
 
พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ / เขียน
สำรวจข้อมูลภาคสนาม วันที่ 5 พฤษภาคม 2556
 
อ้างอิง
สัมภาษณ์พระโพธิธรรมธาดา เจ้าอาวาสวัดท่าโพธิ์วรวิหาร
ประหยัด เกษม, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ (บรรณาธิการ). พิพิธภัณฑ์เมืองนครศรีธรรมราช. นครศรีธรรมราช:โรงพิมพ์อักษรการพิมพ์,2552.
เว็บไซต์ http://tiny.cc/b5mxzw (กระทรวงวัฒนธรรม)

 
 
ชื่อผู้แต่ง:
-