พิพิธภัณฑ์ชุมชนไทดำ บ้านดอนรวบ


พิพิธภัณฑ์ชุมชนไทดำ ตั้งอยู่ในบริเวณวัดดอนรวบ อาคารพิพิธภัณฑ์จำลองมาจากบ้านของชาวไทดำ ภายในนำเสนอเรื่องราวของบรรพบุรุษของชาวไทดำ บ้านดอนรวบ ที่อพยพย้ายถิ่นมาจากกรุงเวียงจันทน์ สปป.ลาว ในช่วงสงคราม เมื่อเข้ามาในประเทศไทยก็พากันตั้งถิ่นฐานที่กรุงเทพฯ และที่อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี จนประชาชนที่อ.เขาย้อยหนาแน่น ขาดที่ดินในการทำนา ก็ได้ขยับขยายอพยพย้ายมาตั้งถิ่นฐานที่จังหวัดชุมพร ณ บ้านดอนรวบ ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2456 พิพิธภัณฑ์นำเสนอเรื่องราวสภาพความเป็นอยู่ ลักษณะที่อยู่อาศัย เครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน เครื่องแต่งกาย ขนบธรรมเนียมประเพณี ตลอดจนพิธีกรรมและความเชื่อของชาวไทดำ

ที่อยู่:
วัดดอนรวบ เลขที่ 21 หมู่ที่ 8 บ้านดอนรวบ ต.บางหมาก อ.เมือง จ.ชุมพร
โทรศัพท์:
063 262 6965 ติดต่อคุณอำนาจ แสงทอง
วันและเวลาทำการ:
เปิดวันเวลาราชการ
ค่าเข้าชม:
ไม่เสียค่าเข้าชม
เว็บไซต์:
ปีที่ก่อตั้ง:
2552
ของเด่น:
บ้านไทดำจำลอง ประเพณีการสืบสานวัฒนธรรมไท การแต่งกายไทดำดั้งเดิม
จัดการโดย:
เนื้อหา:
ไม่มีข้อมูล

พิพิธภัณฑ์ชุมชนไทดำ บ้านดอนรวบ...

โดย: ศมส.

วันที่: 02 พฤศจิกายน 2564

ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

พิพิธภัณฑ์ชุมชนไทดำ บ้านดอนรวบ

“เราเริ่มรื้อฟื้นประเพณีไทยทรงดำ 20 กว่าปี แต่ก่อนตัวอาคารยังไม่มี แต่เริ่มเห็นว่าในชุมชน มีพี่น้องไทดำอยู่เยอะ ต่อไปสิ่งที่เราคงเหลือให้ลูกหลาน ต้องมีแหล่งเรียนรู้สร้างขึ้น โดยมีหลวงพ่อหลา พระครูอาทรประชารักษ์ เป็นแกนนำให้ ให้วัดเป็นศูนย์กลาง” 

อำนาจ แสงทอง หรือ “หมอนุ้ย” เจ้าหน้าที่สาธารณสุขประจำตำบลกล่าวถึงการฟื้นฟูวัฒนธรรมไทยทรงดำเมื่อกว่าสองทศวรรษ โดยอาศัยการแสวงหาความรู้ แม้จะไม่มีการบันทึกอย่างเป็นลายลักษณ์ แต่สิ่งที่บอกเล่ากันในเวลานั้นเจ้าอาวาสวัดดอนรวบเป็นกำลังสำคัญในการนำชุมชนมีส่วนร่วมในการพัฒนา และต้องการสร้างแหล่งเรียนรู้ที่จะเป็นประโยชน์กับลูกหลาน ในกลุ่มผู้อาวุโสเห็นว่าลูกหลานควรหันมาสนใจวิถีเก่า ๆ ไม่สนใจขนบธรรมเนียม อย่างน้อยเยาวชนควรรู้จักความรู้ในชุมชน จุดนี้ทำให้ผมและแกนนำเริ่มแสวงหาประวัติและความสำคัญของวัฒนธรรม  

“รุ่นที่หนึ่งจากเพชรบุรีมา มีการเล่าว่ามาหลายกลุ่มด้วยกัน ลักษณะการเดินทางมาไม่เหมือนกัน เช่น ตระกูลของตาผมเกิดที่ชุมพร แต่ตระกูลของน้าชายเกิดที่เพชรบุรี แล้วมารถไฟปลายรัชกาลที่ 5 มาลงที่ประจวบฯ จากนั้นเดินทางมาปากน้ำชุมพร” 

จากนั้นเราได้ตกลงร่วมกันในการสร้างพิพิธภัณฑ์ไทดำของชุมชน โดยอาศัยอาสาสมัครชาวบ้าน เริ่มตั้งแต่การเกี่ยวหญ้าคาทุกวันพระเพื่อนำมาทำหลังคา และวัสดุต่าง ๆ ได้รับบริจาค เรียกได้ว่าชาวบ้านมาช่วยกันเอง เพื่อ “ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ ให้ลูกหลานได้ศึกษาในจุดนี้ เพราะองค์ความรู้เกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ไทดำในชุมชนนั้นมีเยอะ เรารวบรวมไว้” แม้จะไม่มีเงินแต่แรงงานจากสมาชิกชุมชนนั้นเป็นกำลังสำคัญที่ทำให้พิพิธภัณฑ์เกิดขึ้นได้ “บางคนไม่มีเงินบริจาคแต่ใช้แรงงาน เกี่ยวหญ้าคา นำมาเย็บเป็นตับ คนวัย 70 80 แม้ 90 ปี มาร่วมแรงกัน” หมอนุ้ยกล่าวให้เห็นภาพความสำเร็จในการทำงานร่วมกันตั้งแต่ เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2552 จนในที่สุด ชุมชนบ้านดอนรวบสามารถเปิดพิพิธภัณฑ์อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2553  

หมอนุ้ยบรรยายให้เห็นภาพของพิพิธภัณฑ์ดั้งเดิมที่เมื่อก่อนด้านบนเรือนนำเสนอวิถีชีวิตชาวบ้าน มุมหนึ่งนำเสนอเครื่องมือเครื่องใช้ทางการเกษตร เช่น ไถ คราด อีกมุมหนึ่งแสดงเครื่องดักและจับสัตว์ นอกจากนี้ยังมีมุมที่ให้เห็นวัฒนธรรมการทอผ้า ที่นอน และมุมของผีเรือนหรือที่เรียกว่า กะล้อห่อง ในภาษาไทดำ นอกจากนี้ มีสิ่งของเครื่องจักสานปานเผื่อนที่มีลักษณะคล้ายโตกของภาคเหนือ แต่ใช้สำหรับการประกอบพิธีกรรม ในระยะนั้นมีหน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ มาศึกษาเรียนรู้ เพราะประธานสภาวัฒนธรรมตำบลบางหมากใกล้ชิดกับชุมชน มีการประสานงานใช้สถานที่ในโรงเรียนเพื่อบรรยายและฉายภาพวิถีวัฒนธรรม บางกลุ่มเดินทางมาดูงานยามค่ำคืน จัดอาหารต้อนรับและรำแคนร่วมกัน 

ต่อมาระยะหลัง สภาพของพิพิธภัณฑ์ทรุดโทรม เพราะวัสดุที่ใช้ทำหลังคาอย่างหญ้าคามีอายุการใช้งานที่จำกัด จึงไม่สามารถรับคณะดูงาน เมื่อปีที่แล้ว (พ.ศ.2560) ได้รับงบประมาณสนับสนุน จึงเปลี่ยนหลังคาเป็นเมธัลชีท เพื่อความทนทาน แต่ด้วยการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้เอง จึงทำให้ข้าวของที่เคยจะแสดงที่เคยมีไม่ได้รับการดูแล และไม่ปรากฏบนเรือนอีกต่อไป  

สภาพของเรือนไทดำในวันที่สำรวจนั้นคงรูปแบบสำคัญด้วยหลังคาทรงกระดองเต่า ซึ่งเป็นวัสดุสมัยใหม่ดังที่หมอนุ้ยอธิบาย มีพื้นที่หน้าเรือนและภายในที่ไม่มีการกั้นห้องผีบรรพบุรุษ ไม่มีบันไดห้องกว่านท้ายเรือน นอกจากนี้ หมอนุ้ยยังกล่าวถึงปัญหาอีกประการหนึ่ง นั่นคือทางวัดอนุญาตให้พระบางรูปใช้บริเวณใต้ถุนเรือนสำหรับการจำวัด จึงทำให้มีข้าวของส่วนบุคคลวางไว้มากมาย และมีวัสดุอุปกรณ์ที่เคยใช้ในงานแห่ขบวนหลงเหลือให้เห็นเป็นหลักฐานการประกอบกิจกรรมของชุมชน กล่าวได้ว่า ณ เวลานี้ พิพิธภัณฑ์ชุมชนไทดำบ้านดอนรวบไม่ได้ทำหน้าที่เป็นศูนย์เรียนรู้อีกตั้งแต่มีการซ่อมแซมหลังคา 

การไปมาหาสู่ระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ไทดำที่เคยมีโอกาสเดินทางไปเอาแรงถึงเพชรบุรี ดังที่เคยเกิดขึ้นในช่วง พ.ศ. 2552-2553 ก็ลดน้อยถอยลงไปด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ดี “เราคิดกันไว้ว่า กลุ่มไทดำภาคใต้น่าจะรวมตัวกันเหมือนกับที่ไทดำในภาคกลางรวมตัวกันเป็นมูลนิธิ” หมอนุ้ยกล่าวถึงภาพความคิดและความตั้งใจให้การฟื้นฟูวัฒนธรรมไทดำกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง” 

ทุกวันนี้ แม้จะมีการจัดงานสืบสานวัฒนธรรมไทดำในวันที่ 27 เมษายน ทุกปี แต่ภาพของงานแตกต่างจากภาพที่เคยเกิดขึ้นจากการรวมตัวของคนในชุมชนในช่วงต้นทศวรรษ 2550 เวลานี้ นักการเมืองท้องถิ่นเข้ามามีส่วนในการจัดงาน เน้นเพียงความบันเทิงมากกว่าการนำเสนอประเพณีและภูมิปัญญาของชุมชน จากเดิมนั้น “ชาวบ้านมาร่วมกันเตรียมงานสองถึงสามสัปดาห์ล่วงหน้า มาเตรียมลูกมะกอนสำหรับการละเล่นอิ๋นก๊อน มาเตียมอาหารอย่างแกงหน่อส้มที่เป็นอาหารสำคัญในการจัดงานสำคัญ” ภาพเหล่านี้ไม่เกิดขึ้นในระยะหลังนี้ หมอนุ้ยแสดงความคิดเห็นด้วยน้ำเสียงตัดพ้อการจัดงานสืบสานวัฒนธรรมไทดำในระยะหลัง 

ภาพในอดีต “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” ไม่มีให้เห็นอีกต่อไป พื้นที่หลายแห่งเปลี่ยนเป็นพื้นที่สวนปาล์มและมะพร้าว ตั้งแต่ชุมพรประสบกับพายุเกย์เมื่อ พ.ศ. 2532 เวลานี้วัยรุ่นภายในชุมชนเดินทางออกทำงานนอกพื้นที่มากขึ้น อย่างไรก็ดี หมอนุ้ยคงหวังใจให้โรงเรียนเข้ามาทำหน้าที่ขับเคลื่อนการฟื้นฟูวัฒนธรรมไทดำ “ปัจจุบัน ผอ.ยืนยง ดีสมุทร ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดดอนรวบ ท่านเป็นคนในชุมชนและเป็นลูกหลานของคนไทดำ น่าจะเป็นกำลังสำคัญในการฟื้นฟูงานวัฒนธรรมของชุมชนอีกครั้งหนึ่ง” อำนาจ แสงทอง กล่าวทิ้งทายถึงความเป็นไปได้ที่กระบวนการถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นจะเกิดขึ้นอีกครั้ง และพิพิธภัณฑ์แห่งนี้จะกลับมามีชีวิตอีกครั้งหนึ่ง

 

ชื่อผู้แต่ง:
ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ