พิพิธภัณฑ์ก่อตั้งโดยอาจารย์กฤษฎา บุษบรรณ อาจารย์สอนวิชาท้องถิ่นของเรา โรงเรียนสวนศรีวิทยา อ.หลังสวน จ.ชุมพร เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับเด็กนักเรียนและคนทั่วไปที่สนใจวิถีวัฒนธรรมของคนหลังสวนอาคารพิพิธภัณฑ์ ในวาระโรงเรียนมีอายุครบ 100 ปี อาคารพิพิธภัณฑ์เดิมเป็นเรือนจำเก่าจังหวัดหลังสวน เป็นเรือนนอนของนักโทษชาย เมื่อโรงเรียนสวนศรีวิทยา เข้ามาใช้พื้นที่เพื่อก่อตั้งโรงเรียนในเวลาต่อมา อาคารหลังนี้จึงถูกดัดแปลงให้เป็นห้องเรียนและห้องสมุดของโรงเรียนในเวลาต่อมา โดยชั้นล่างจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์ เรื่องสำคัญที่จัดแสดงคือประเพณีสำคัญของชาวหลังสวนคือการแข่งเรือยาวที่ชื่อว่า “ขึ้นโขนชิงธง” โมเดลเรือ ไม้พาย เรือพื้นบ้านที่ใช้ในแม่น้ำหลังสวน และข้าวของเครื่องใช้พื้นบ้านอื่นๆ ของชาวหลังสวนที่ส่วนใหญ่เป็นวัฒนธรรมการเกษตรและประมง
ชื่อผู้แต่ง: ทนงศักดิ์ ศุภการ | ปีที่พิมพ์: 5/5/2546
ที่มา: ข่าวสด
แหล่งค้นคว้า: ศมส.
โดย: ศมส.
วันที่: 13 มีนาคม 2555
ชื่อผู้แต่ง: ทวีลาภ การะเกด | ปีที่พิมพ์: 3/21/2545
ที่มา: มติชนรายวัน
แหล่งค้นคว้า: ศมส.
โดย: ศมส.
วันที่: 13 มีนาคม 2555
ชื่อผู้แต่ง: ทวีลาภ การะเกด | ปีที่พิมพ์: ปีที่24ฉบับที่ 9 ก.ค. 2546
ที่มา: ศิลปวัฒนธรรม
แหล่งค้นคว้า: ศมส.
โดย: ศมส.
วันที่: 13 มีนาคม 2555
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยทีมงานและสมาชิก
"ขึ้นโขนชิงธง" ที่พิพิธภัณฑ์ภูมิปัญญาชาวบ้าน วัฒนธรรมลุ่มน้ำหลังสวน
“ผมดื้อทำ ด้านทำ ต่อสู้มากว่า 20 ปี ทำงานชิ้นนี้จนคนอื่นยอมรับ” ความในใจของอาจารย์กฤษฎา บุษบรรณ อาจารย์สอนวิชาท้องถิ่นของเรา โรงเรียนสวนศรีวิทยา อ.หลังสวน จ.ชุมพร ที่มีต่อการทุ่มเทและยืนหยัดในการทำพิพิธภัณฑ์ภูมิปัญญาชาวบ้าน วัฒนธรรมลุ่มน้ำหลังสวน ให้เป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับเด็กนักเรียนและคนทั่วไปที่สนใจวิถีวัฒนธรรมของคนหลังสวนพิพิธภัณฑ์ภูมิปัญญาชาวบ้าน วัฒนธรรมลุ่มน้ำหลังสวน โรงเรียนสวนศรีวิทยา เกิดขึ้นจากแรงบันดาลใจเมื่อกว่า 20 ปีที่แล้ว อาจารย์กฤษฎามีโอกาสเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทวิโรฒ จ.พิษณุโลก และได้ไปทัศนศึกษาพิพิธภัณฑ์ต่างๆ เกิดความคิดว่าทำไมหลังสวนบ้านเราไม่มีพิพิธภัณฑ์เหมือนเขา ทั้งที่มีวัฒนธรรมและภาษาพูดที่เป็นเอกลักษณ์ เมื่อเรียนจบและกลับมาสอนหนังสือ ขณะนั้นโรงเรียนสวนศรีวิทยากำลังจะมีอายุครบ 100 ปีพอดี นำไปสู่การตั้งคำถามของอาจารย์กฤษฎาที่ถามตัวเองและลูกศิษย์ ว่า “โรงเรียนเราอายุร้อยกว่าปี เรามีอะไรให้เขาดู และเราจะสร้างประโยชน์อะไรกับสังคมไว้ได้บ้าง”?
จากนั้นอาจารย์จึงคิดให้นักเรียนนำข้าวของเครื่องใช้พื้นบ้านมาบริจาคให้โรงเรียน เพื่อทำพิพิธภัณฑ์ รุ่งขึ้นของชิ้นแรกที่ได้จากลูกศิษย์คือ กระบอกบีบขนมจีน ทำจากทองเหลือง ซึ่งเป็นของเก่าที่มีค่ามีราคา จุดประกายความคิดของอาจารย์ว่า เมื่อเจ้าของเขาไว้ใจมอบของมีค่าเอาไว้ให้แล้ว จึงควรต้องสานต่อการทำพิพิธภัณฑ์ให้สำเร็จ นำไปสู่การสะสมข้าวของเรื่อยมา ของทั้งหมดไม่ได้ซื้อหา แต่มาจากการเสาะหา ขอรับบริจาค ทั้งจากชาวบ้าน ญาติพี่น้อง รวมถึงเพื่อนฝูง
อาคารพิพิธภัณฑ์ เดิมเป็นเรือนจำเก่าจังหวัดหลังสวน เป็นเรือนนอนของนักโทษชาย เมื่อโรงเรียนสวนศรีวิทยา เข้ามาใช้พื้นที่เพื่อก่อตั้งโรงเรียนในเวลาต่อมา อาคารไม้หลัง 2 ชั้นหลังนี้จึงถูกดัดแปลงให้เป็นห้องเรียนและห้องสมุดของโรงเรียนในเวลาต่อมา เรียกว่า “อาคารอินทนิล” แม้อาจารย์กฤษฎาจะเริ่มงานพิพิธภัณฑ์มาตั้งแต่ปี 2538 แต่ยังติดขัดเรื่องสถานที่จัดแสดง เพราะผู้บริหารในยุคนั้นไม่สนับสนุนเท่าที่ควร จนเมื่อปี 2540 อาคารอินทนิลถูกน้ำท่วมได้รับความเสียหาย และถูกทิ้งร้าง อาจารย์กฤษฎาจึงขออนุญาตปรับพื้นที่ชั้นล่างทำเป็นพิพิธภัณฑ์ ด้วยอาศัยแรงงานและทุนทรัพย์ส่วนตัว โดยมีนักการภารโรง และนักเรียน ช่วยเหลือด้วยความเต็มใจ พร้อมเบื้องหลังการสนับสนุนจากภรรยาคืออาจารย์อรณี
แม้ในช่วงแรกไม่ได้รับการสนับสนุนจากผู้บริหารของโรงเรียน แต่พิพิธภัณฑ์ค่อยๆ พัฒนาเรื่อยมา มากบ้างน้อยบ้างตามแต่กำลัง จนเมื่อไม่กี่ปีมานี้ มีการปรับปรุงการจัดแสดงอีกครั้ง โดยอาจารย์ได้ประชุมร่วมกับผู้รู้ในท้องถิ่น เพื่อต้องการสร้างจุดเด่นให้กับพิพิธภัณฑ์และสะท้อนวัฒนธรรมและตัวตนคนหลังสวน ได้มติร่วมกันว่า พิพิธภัณฑ์ควรจะเล่าเรื่องประเพณี “ขึ้นโขนชิงธง” มรดกวัฒนธรรมสำคัญแห่งลุ่มน้ำหลังสวน
ขึ้นโขนชิงธง มรดกวัฒนธรรมลุ่มน้ำหลังสวน
งานขึ้นโขนชิงธง จัดขึ้นทุกปี ช่วงแรม 1 ค่ำ เดือน 11 หรือราวเดือนตุลาคม ถือเป็นงานใหญ่ประจำจังหวัด และโรงเรียนสวนศรีวิทยา เป็นโรงเรียนแรกในจังหวัดที่ส่งทีมแข่งเรือเข้าร่วมงานมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2517 ก่อนเทศกาลจะเริ่ม1-2เดือน ช่วงเวลาหลังเลิกเรียน จะมีการฝึกฝีพายนักเรียนเพื่อเข้าแข่งขัน
เรื่องสำคัญที่จัดแสดงของพิพิธภัณฑ์หนีไม่พ้น “ขึ้นโขนชิงธง” ผู้ชมถูกเรียกน้ำย่อย ด้วยการชมวีดิทัศน์การทำเรือยาว ที่ต้องไปล้มไม้ขนาดใหญ่ในป่า แล้วชักลากออกมาขุดแต่ง โดยช่างต่อเรือผู้ชำนาญแห่งลุ่มน้ำหลังสวนที่เหลือเพียงไม่กี่คน ต่อด้วยวิดีทัศน์การแข่งเรือที่ชาวหลังสวนภาคภูมิใจคือประเพณี “ขึ้นโขนชิงธง” ซึ่งสันนิษฐานว่ามีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 ว่ากันว่าในยุคนั้นเศรษฐกิจสยามรุ่งเรือง มีการสร้างวัดวาอารามมากมาย รวมถึงเมืองหลังสวนซึ่งเป็นเมืองท่าค้าขายมาแต่โบราณ มีวัดตั้งอยู่ริมน้ำหลายวัด และนิยมใช้เรือในการคมนาคม นำไปสู่การเกิดประเพณีแข่งเรือยาวขึ้น เมื่อรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสเมืองหลังสวน มีบันทึกว่ากล่าวถึงเรือหลังสวนว่า เป็นเรือยาวที่เป็นโขนแบบบ้านนอก
โมเดลเรือยาว 3 แบบ คือ เรือยาวภาคกลาง เรือยาวจังหวัดน่าน และเรือยาวหลังสวน เป็นการเริ่มต้นที่ทำให้ผู้ชมเข้าใจลักษณะที่แตกต่างกันของเรือยาวในแต่ละภูมิภาค จากนั้นผู้ชมจะได้สัมผัสกับเรือแบบต่างๆ ของหลังสวน ได้แก่ เรือต่อ เรือโกลนอายุร้อยกว่าปีที่ได้มาจากวัดปากน้ำละแม เรือไม้โตนด เรือต้นแบบ 8 ฝีพายรุ่นแรกของหลังสวน ส่วนเรือ 32 ฝีพายจำนวน 2 ลำ ซึ่งเป็นเรือแข่งของทีมโรงเรียนสวนศรี จัดแสดงอยู่ด้านนอกอาคาร ขณะที่เรือยาวภาคอื่นจะมีฝีพายจำนวน 50 40 หรือ 30 ฝีพาย แต่หลังสวนมี 32 ฝีพาย เนื่องมาจากความเชื่อว่าคนเราต้องครบ 32
นอกจากนี้ยังจัดแสดง ไม้พาย อุปกรณ์ต่อเรือของช่างพื้นบ้านแบบครบชุด อาทิ เลื่อยหนากสำหรับตัดซุง เลื่อยเปิดปากเรือ สว่านทบสำหรับเจาะไม้ กบมือ ปึ้งปัด สำหรับถากวงโค้งตัวเรือ ขวานปลี ขวานอันสุดท้ายในชีวิตของช่างวัน ช่างต่อเรือฝีมือดีของหลังสวน ระแมะหรือที่ชาวหลังสวนเรียกแมะ หนังปลากระเบนที่ทำหน้าที่เสมือนกระดาษทราย ไม้ฉากแบบเก่าที่ทำจากไม้เนื้อแข็งโดยสำเนามาตรวัดจากฟุตหลวง การจัดแสดงในส่วนนี้เป็นความตั้งใจของอาจารย์กฤษฎาที่ต้องการให้เด็กนักเรียนและผู้ชมเห็นถึงภูมิปัญญาชาวบ้านในการขุดเรือ ต่อเรือ ของคนหลังสวน
ดาวเด่นของพิพิธภัณฑ์ คือการเล่าเรื่องการขึ้นโขนชิงธง อยู่ในมุมจัดแสดงด้านในสุด บอกเล่าผ่านแผ่นนิทรรศการและข้าวของต่างๆ ได้แก่ โขนหรือส่วนของหัวเรือ จำนวน 2 โขน ที่ตัดมาจากตัวเรือจริงที่ไม่ได้ใช้งานแล้ว ทำจากไม้ตะเคียนทองประดับด้วยผ้าแพร หน้าร่า และบายศรี ในงานประเพณีขึ้นโขนชิงธง โขนเรือจะได้รับการประดับประดาตามขนบ คือ การผูกผ้าที่หัวเรือ เพื่อสร้างขวัญกำลังใจ การประดับด้วย “หน้าร่า” ซึ่งเป็นผืนผ้าขนาดยาว ที่ห้อยลงมาจากโขนเรือ บนผ้าจะประดับด้วยกระจก เพื่อเวลากระจกกระทบกับผิวน้ำ จะเกิดแสงแวววาวที่สวยงาม นอกจากนี้ยังมีบายศรี ที่ผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านผู้บรมคาถาติดไว้ตรงโขนเรือด้วย การผูกผ้าสีที่โขนเรือ เมื่อเวลาจะแข่งจะมีการแกะผ้าออกแล้วผูกใหม่โดยนายหัวเรือ เพื่อให้เข้าจังหวะการปืนและป้องกันการลื่นได้อีกทาง ส่วนบายศรีมุมมองหนึ่งคือเรื่องความเชื่อ แต่หากจะมองเป็นภูมิปัญญาจะเห็นว่าการนำบายศรีไปวางไว้ตรงโขนเรือจะช่วยกันการเสียดสีผิวหนังบริเวณหน้าท้องของนายหัวเรือ เวลาขึ้นโหนเพื่อชิงธง เพราะนายหัวเรือเมื่อขึ้นโขนสุดตัวจะเจ็บหน้าท้อง
ส่วนธงที่ชิง มีรูปแบบเฉพาะตัว เป็นการตัดสินที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานความยุติธรรม โดยไม่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีการวิเคราะห์ภาพถ่ายเข้ามาช่วย ใครที่มาดูแม้ไม่รู้กติกาก็สามารถบอกได้ว่าผู้ที่ชนะคือผู้ที่ได้ธง โดยธงทำจากผ้าสีแดงผูกติดกับปลายหวายทั้งสองด้าน โดยหวายต้องเป็นหวายเล็กหรือที่เขาเรียกกันว่าหวายชุมพร หวายจะถูกสอดไว้ในกระบอกไม้ไผ่ โผล่ปลายธงทั้งสองด้าน ติดตั้งไว้บนแพผู้ตัดสิน หากนายหัวเรือฝ่ายใดชิงธงได้ก่อน ผู้นั้นเป็นฝ่ายชนะ
เพื่อให้ผู้ชมเข้าใจประเพณีขึ้นโขนชิงธง พิพิธภัณฑ์ได้จำลองสนามแข่งเรือ โดยเมื่อทั้งสองฝ่ายหมุนวงล้อด้านข้าง เรือจำลองทั้งสองลำที่อยู่บนโต๊ะจะแล่นแข่งกัน โดยอาจารย์กฤษฎา ตั้งใจจะใช้สนามจำลองนี้ฝึกนักเรียนในการพากย์การแข่งเรือ เพราะตัวอาจารย์เองก็สวมหมวกอีกใบโดยเป็นนักพากย์การแข่งเรือยาวฝีมือฉมังแห่งจังหวัดชุมพร อาจารย์หวังถ่ายทอดวิชาการพากย์การแข่งเรือแก่เด็กๆ เพื่อนอกจากเด็กจะได้รับความสนุก ยังเป็นการปลูกฝังความรักความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมและประเพณีท้องถิ่น เมื่อเวลาไปดูการแข่งขันเรือยาวจริงๆ อย่างน้อยสามารถอธิบายคนอื่นเขาได้
จากนาข้าวสู่สวนผลไม้
ในอดีตหลังสวนเป็นพื้นที่ทำนา ปัจจุบันชาวบ้านส่วนใหญ่หันมาทำสวนผลไม้ สวนปาล์มน้ำมัน สวนยางพารา เพราะได้ผลตอบแทนที่ดีกว่า การทำนาจึงแทบจะไม่เห็นกันอีกแล้วที่หลังสวน ข้าวของที่เกี่ยวพันกับวิถีการเกษตรในอดีต จึงเป็นส่วนจัดแสดงอีกมุม ที่พิพิธภัณฑ์ต้องการนำเสนอวิถีความเป็นอยู่ของคนหลังสวนในอดีต และสะท้อนภูมิปัญญาหรือเทคโนโลยีแบบพื้นบ้านจากการประดิษฐ์ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ หากเป็นของชิ้นเล็กจะจัดวางในตู้ ซึ่งตู้กระจกหลายตู้ได้รับบริจาคมาจากห้องเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ กลายเป็นตู้จัดแสดงชั้นดี
“มุมภูมิปัญญาชาวบ้าน” นำเสนอนิทรรศการเล็กๆ เรื่องการทำโกระ ภาชนะใส่ข้าวเปลือกหรือข้าวของต่างๆ ที่สานจากเตย นอกจากนี้มีเครื่องมือเครื่องใช้ในท้องถิ่นที่น่าสนใจ โดยเฉพาะชื่อเรียกเป็นภาษาถิ่นที่คนภาคอื่นๆ อาจไม่คุ้นเคย อาทิ “กรี้” อุปกรณ์สำหรับตักหอยในแม่น้ำหลังสวน ซึ่งมีสองชนิดคือหอยกะทิกับหอยตาก เครื่องมือดักจับสัตว์น้ำ เช่น “ชุด” ทำจากหวายสำหรับดักปลาช่อน วางไว้ในร่องน้ำไหล “เปาหน้าหวาย” สำหรับดักปลาตะเพียนโดยใช้สะตอดองเป็นเหยื่อล่อ จู้ดักปลาไหล นางสำหรับช้อนกุ้งปลา เครื่องจับสัตว์ เช่น เร้ว ด้วง กรงต่อนกคุ่ม กรอมสำหรับดักนกคุ่ม ขาบไล่นกป่าในนาข้าว หริงดักไก่ป่า เครื่องมือทำนา อาทิ ไถ คราด ครกฝัด(เครื่องสีฝัด) ครกกระเดื่อง ครกสี กระด้ง โม่ หลุมพุกตีข้าว เครื่องครัว เช่น กระบอกขนมจีน ไม้หนีบกล้วย พรกลอด(ทำลอดช่อง)
นอกจากนี้มีเครื่องใช้ทั่วไป เช่น พร้าโอ ม้าฟานหมาก มีดเด้ง หมาตักน้ำ เหล็กไฟตบ นางซัดเป็นอุปกรณ์ทำจากหวาย สำหรับคนทำแร่ดีบุก ซึ่งเหมืองแร่ดีบุกในหลังสวนจะอยู่ที่ตำบลนาขา แต่ก่อนแร่ดีบุกชุกชุมมาก เวลาฝนตกหนักๆ น้ำจะก็ไหลเซาะเอาดินหินลงไปไหลไปตามน้ำ จึงเปิดโอกาสให้ผู้คนหลายคนขุดร่องแล้วให้น้ำไหลพาแร่มาเอามารวมกอง หากมีก้อนหินติดมาด้วย เขาจะใช้นางซัดตักลงไปในร่องน้ำให้ติดก้อนหินแล้วจากนั้นก็เหวี่ยงขึ้นไปทิ้งข้างบนตลิ่ง ไม่ลงมาเกะกะในร่องน้ำอีก
นอกจากนี้จะจัดแสดงเศษภาชนะเครื่องปั้นดินเผา ที่พบในแม่น้ำหลังสวน เนื่องจากในอดีตแม่น้ำหลังสวนเป็นเส้นทางการค้าข้ามไปสู่อันดามันได้ คัมภีร์ใบลาน สมุดไทย ตำราหมอดู ตำรายาที่ได้มาจากหมอยาพื้นบ้าน แต่พิพิธภัณฑ์มีปัญหาการอนุรักษ์และการเก็บรักษา อย่างไรก็ดีความรู้ที่เกี่ยวกับข้าวของต่างๆ ที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ได้ถูกเขียนเป็นรายงานคำบรรยาย ชื่อสิ่งของ ลักษณะการใช้งาน ที่แต่งเป็นกลอน พร้อมภาพประกอบ ชื่อว่า “108 ภูมิปัญญา” โดยอาจารย์กฤษฎา บุษบรรณ
พิพิธภัณฑ์ภูมิปัญญาชาวบ้าน วัฒนธรรมลุ่มน้ำหลังสวน มิได้เป็นเพียงสถานที่จัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ ที่ไร้ชีวิตชีวา หากแต่เป็นพื้นที่ถ่ายทอดมรดกวัฒนธรรมท้องถิ่นหลังสวนแก่เยาวชนรุ่นหลัง ผ่านคำบอกเล่า ผ่านการปฏิบัติการจริง อันเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะนำไปสู่การอนุรักษ์และสืบสาน มรดกวัฒนธรรมโดยเจ้าของวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน
ปณิตา สระวาสี ผู้เขียน
ข้อมูลจาก:การสำรวจภาคสนาม วันที่ 18 พฤศจิกายน 2556
พิพิธภัณฑ์ภูมิปัญญาชาวบ้าน โรงเรียนสวนศรีวิทยา
จังหวัดชุมพรได้ชื่อว่าเป็น "ประตูสู่ภาคใต้" แต่คงไม่ได้หมายถึง "ประตู" ให้ผู้คนผ่านไปผ่านมาโดยไม่แวะลงสัมผัสเหมือนในอดีตต่อไปแล้ว แต่จังหวัดชุมพรถือเป็นจังหวัดที่ยังมีทรัพยากรธรรมชาติที่เต็มเปี่ยมกว่าหลายๆจังหวัดในภาคใต้ ที่กำลังถูกความเจริญรุกล้ำและย่ำยีจนแทบไม่หลงเหลือร่องรอยของวัฒนธรรมท้องถิ่นให้ชาวจังหวัดนั้นๆได้ภาคภูมิใจ
ถึงแม้จังหวัดชุมพรจะเป็นเพียงจังหวัดเล็กๆที่อยู่ตอนบนสุดของภาคใต้ แต่จังหวัดชุมพรก็มีแหล่งท่องเที่ยวให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสกันทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยวทางทะเล ทางบก ปีนเขา เข้าถ้ำ เล่นน้ำตก ล่องแพ รวมทั้งการท่องเที่ยวเพื่อสัมผัสกับวัฒนธรรม ตลอดจนท้องถิ่นของชาวชุมพรด้วย
"พิพิธภัณฑ์ภูมิปัญญาชาวบ้าน" ซึ่งตั้งอยู่ชั้นล่างอาคารอินทนิล โรงเรียนสวนศรีวิทยา อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร ถือเป็นอีกแหล่งหนึ่งที่ผู้สนใจสามารถแวะเข้าไปชมเพื่อศึกษา ถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวชุมพรนับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันได้อย่างดี
นายกฤษฎา บุษบรรณ อาจารย์ประจำหมวดสังคมศึกษาของโรงเรียนสวนศรีวิทยา ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ภูมิปัญญาชาวบ้านดังกล่าว เปิดเผยถึงวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ว่า ตนเห็นว่าอำเภอหลังสวนเป็นชุมชนเก่า เป็นเมืองในอดีต มีตำแหน่งเจ้าเมืองเป็นพระยา แต่หลังสวนยังขาดพิพิธภัณฑ์ที่ใช้ในการรวบรวมหลักฐานทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี ตลอดจนวิถีชีวิตของชาวหลังสวนที่เก่าแก่มีอายุกว่า 100 ปี จึงน่าจะเป็นศูนย์กลางในด้านการศึกษาภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีความเหมาะสมมากกว่าที่อื่น
ความคิดในเรื่องการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ภูมิปัญญาชาวบ้านได้เริ่มขึ้นในสมัยที่นายกฤษฎา ย้ายมาเป็นอาจารย์ประจำหมวดสังคมของโรงเรียนสวนศรีวิทยา เมื่อพ.ศ.2538 แต่ในครั้งนั้นไม่ประสบผลสำเร็จเนื่องจากไม่ได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายบริหารของโรงเรียน จนกระทั่งในปี พ.ศ.2542 นายกฤษฎา ได้ปรึกษากับนายบุญรัตน์ โปขันเงิน นายกสมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนสวนศรีวิทยา ในการขอใช้สถานที่ใต้อาคารอินทนิลของโรงเรียนที่ถูกปล่อยให้รกร้างมาเป็นเวลานาน เพื่อจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ภูมิปัญญาชาวบ้าน และได้รับอนุญาตจากคณะผู้บริหารโรงเรียนให้ใช้สถานที่ แต่ทางคณะผู้บริหารบอกว่า ยินดีให้ใช้สถานที่ แต่ทางโรงเรียนไม่มีงบประมาณสนับสนุน
แต่ด้วยความพยายามของนายกฤษฎา ที่ร่วมกับนักการภารโรงประจำโรงเรียนสวนศรีวิทยาอีก 2 คน คือนายสานิต-นางจินตนา อยู่มั่น ทั้งสามคนจึงช่วยกันปรับปรุงพื้นที่ใต้อาคารอินทนิล ด้วยการหาเศษไม้มาตกแต่งและทำชั้นสำหรับตั้งวัตถุในการจัดแสดง จนกระทั่งเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2542 พิพิธภัณฑ์ภูมิปัญญาชาวบ้านเริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นในสมัยที่ นายสุดเจียม ธนะไชย เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนสวนศรีวิทยา
หลังจากนั้นในเดือนพฤษภาคม 2543 ได้มีการขยายห้องที่ใช้จัดตั้งพิพิธภัณฑ์ภูมิปัญญาชาวบ้าน โดยนายกฤษฎาได้ของบประมาณจำนวน 270,000 บาท แต่ได้รับอนุมัติเพียง 37,000 บาทเท่านั้น หลังจากนั้น อำเภอหลังสวนประสบปัญหาน้ำท่วมทำให้พื้นห้องจัดแสดงพิพิธภัณฑ์ภูมิปัญญาชาวบ้านได้รับความเสียหาย ทางองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) นาขา จึงเข้ามาสนับสนุนในเรื่องดินถมเพื่อปรับปรุงพื้นห้องและได้รับความอนุเคราะห์เรื่องทรายและแรงงานจาก นายพงษ์เทพ พุทธรัตน์ และ นายสมชัย ทองดี สองนักธุรกิจของอำเภอหลังสวน โดยมีนายกฤษฎา ร่วมกับนักการภารโรงและนักเรียนของโรงเรียนสวนศรีวิทยา ในการช่วยกันปรับปรุงด้วย
ภายในพิพิธภัณฑ์ภูมิปัญญาชาวบ้านแห่งนี้ ได้มีการรวบรวมอุปกรณ์ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเครื่องไม้เครื่องมือที่ทำจากวัสดุตามธรรมชาติ ซึ่งหาได้ยากในปัจจุบันมาจัดแสดงไม่ต่ำกว่า 400 ชิ้น โดยมีการจัดแบ่งพื้นที่ในการจัดแสดงออกเป็น 7 ส่วน ด้วยกันคือ
1.อุปกรณ์ที่ใช้ในการทำนาและผลิตข้าว ประกอบด้วย ไถ คราด ครกฝัด (ใช้ทำความสะอาดเมล็ดข้าวเปลือกก่อนเก็บเข้ายุ้งฉางต่อไป) ครกกระเดื่องตำข้าว ครกสีข้าว สากตำข้าว หลุมพุกมัน เคียม กรูด เชิง กระด้งฝัดข้าว และเชอ
2.อุปกรณ์ในการจับสัตว์น้ำน้ำจืด ประกอบด้วย แห ไซ สุ่ม ตุ้ม ล้น ไซหนู เปา จู้ กรี้ ตะกร้า นาง ส้อน และสามง่าม
3.เครื่องมือจับสัตว์ ไล่สัตว์ ประกอบด้วย คอกช้างจำลอง กรงต่อนกคุ่ม (นกขุ้ม) หาว แร้ว ด้วง กรอม ขาบ ปืนแก๊ป หริง ขลุ่ย และนู
4.เครื่องมือช่างไม้ ประกอบด้วย เลื่อยฮก เลื่อยหนาก เลื่อยสาย เลื่อนลันดา สิ่ว รางกบ ระดับน้ำ สว่าน ทบ ปิ้ง และไม้ฉาก
5.เครื่องมือทำขนมไทย ประกอบด้วย โม่หิน กระทะทอง เบ้าขนมครก พรกลอด พรกลา กระบอกบิด แม่พิมพ์ขนม ไม้หนีบกล้วยทับ
6.เครื่องมือทั่วไป ประกอบด้วย เรือเพรียว เรือโกลน เรือต่อ เรือไม้โตนด(เรือไม้โหนด) เรือยาว ไม้พาย ฆ้อง หน้าร่า กลอง เการะ โละโคะ (ทำจากไม้เนื้อโค้งโดยการขุดเจาะ ทะลวงเอาเนื้อไม้ข้างในออกให้หมด ใช้ประโยชน์ในการตีให้สัญญาณ ในสมัยโบราณบ้านของกำนัน ผู้ใหญ่บ้านทุกหลังจะต้องมีโละโคะไว้ตีเพื่อเรียกประชุมลูกบ้านหรือตีให้สัญญาณเตือนภัย) ระฆัง หมอนวด (ทำจากไม้-ใช้นวดร่างกายด้วยตนเอง) ครก ขนำเฝ้าควาย ถังไม้ไผ่ เลียง (ใช้ร่อนแร่ดีบุกในน้ำ ให้เศษหินเศษดินไหลไปตามน้ำ ส่วนแร่ดีบุกที่มีน้ำหนักมากกว่าจะตกลงไปอยู่ในท้องเลียง) นางซัด (ใช้ตักก้อนหินที่ไหลมาตามน้ำเพื่อให้แร่ดีบุกไหลลงมาตามร่องน้ำได้สะดวก) โอ่ง ไห กระออม หมา หลง กระบวย อวน หมวก งอบ ตีนไต้ หาบประเภทต่างๆ เครื่องอัดผ้าโบราณ พะโอง ลูกเลง มีดชนิดต่างๆ เช่นกริช มีดตอก มีดเด้ง พร้าโอ ตะเกียงประเภทต่างๆ บันไดไม้ไผ่ กระบอกตาล เหล็กโชม สมุดข่อย เหล็กขูด(กะลาขูดมะพร้าว) ม้าฝานยา ม้าฝานหมาก เชี่ยนหมาก เตารีดใส่ถ่านหุงข้าว รางบดยา กระดานชนวน ดินสอหิน ถ้วยชามเหรียญต่างๆ เงินตรา เหล็กไฟ ตบ(ใช้ในการจุดไฟในสมัยโบราณที่ยังไม่มีไม้ขีดไฟ) และขวานหินขัด
7.ของเล่น ส่วนใหญ่ทำมาจากไม้ต่างๆประกอบด้วย ม้าไม้ ลูกลม ควายมือ เดินพรก ว่าว สะบ้า หมากรุก หมากขุม และตะกร้อหวาย
นายกฤษฎากล่าวว่า ขณะนี้ได้จัดทำคำบรรยายว่าเครื่องมือแต่ละชิ้นใช้ในกิจกรรมใดบ้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว และโครงการต่อไปคือการเสาะหาอุปกรณ์ในการจัดแสดงเพิ่มเติม
เรียบเรียงจาก: ทวีลาภ การะเกด "พิพิธภัณฑ์ภูมิปัญญาชาวบ้าน โรงเรียนสวนศรีวิทยา ความภูมิใจของชาวหลังสวน จ.ชุมพร" มติชนรายวัน 21-03-2545 หน้า 21,23
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสื่อออนไลน์
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยบล็อก
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสารานุกรมไทย
วิถีชีวิตท้องถิ่นและภูมิปัญญา เรือยาว การแข่งเรือ ประเพณีขึ้นโขนชิงธง อุปกรณ์การทำเรือ โรงเรียนสวนศรีวิทยา หลังสวน
พิพิธภัณฑ์พลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์
จ. ชุมพร
พิพิธภัณฑ์อนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี
จ. ชุมพร
พิพิธภัณฑ์วัดชุมพรรังสรรค์
จ. ชุมพร