พิพิธภัณฑ์ทหารสรรพาวุธ กรมสรรพาวุธทหารบก


พิพิธภัณฑ์ทหารสรรพาวุธ ตั้งอยู่ภายในกรมสรรพาวุธทหารบก จัดแสดงอาวุธรูปแบบต่าง ๆ แบ่งตามยุคสมัย และแบ่งเป็นกลุ่ม เช่น กลุ่มเครื่องยิงลูกระเบิดแบบต่าง ๆ ที่ขึ้นอยู่กับขนาดของปากลำกล้อง กลุ่มเครื่องใช้และเครื่องจักรของกรมสรรพาวุธทหารบกในอดีต ซึ่งในอดีตทางสรรพาวุธมีโรงหล่อ หลอม และรีด สามารถขึ้นรูปได้เอง กลุ่มอาวุธวิจัยพัฒนา เป็นผลงานของกรมสรรพาวุธทหารบกที่ผ่านการวิจัยแล้ว มีทั้งที่ได้ประจำการ และไม่ได้ประจำการ อาทิ ปืน กระสุน และระเบิด เป็นต้น

ที่อยู่:
กองวิทยาการ กรมสรรพาวุธทหารบก สะพานแดง เขตดุสิต กรุงเทพฯ 10300
โทรศัพท์:
0-2243-1061-8 ต่อ 94792
วันและเวลาทำการ:
กรุณาแจ้งล่วงหน้าก่อน
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
ปีที่ก่อตั้ง:
2532
จัดการโดย:

โดย: -

วันที่: 12 มีนาคม 2555

โดย: -

วันที่: 12 มีนาคม 2555

ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

รีวิวของพิพิธภัณฑ์ทหารสรรพาวุธ กรมสรรพาวุธทหารบก

พิพิธภัณฑ์ทหารสรรพาวุธ ตั้งอยู่ภายในกรมสรรพาวุธทหารบก บนถนนทหาร มีนายทหารหญิงสองท่านเป็นผู้นำชมภายในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ คือ ร.ท.หญิง สุนิศา ศรีแตงอ่อน ประจำแผนกวิชาการ กองวิทยาการและ ร.ต.หญิง ศุภาวรรณ เรียนพืชณ์ นายทหารพิพิธภัณฑ์ และประวัติศาสตร์ 

น่าเสียดายว่า ชั้นบนของอาคารพิพิธภัณฑ์อยู่ระหว่างปิดปรับปรุง จึงเหลือแต่ชั้นล่างในการจัดแสดง พิพิธภัณฑ์ ณ ที่ตั้งปัจจุบันนี้เปิดในปี พ.ศ. 2532 และจัดแสดงที่ชั้นบนของอาคาร ต่อมาได้ปรับปรุงอาคารชั้นล่าง เพราะอาวุธบางชิ้นมีขนาดใหญ่ และน้ำหนักมาก พื้นไม้อย่างชั้นบนอาจไม่แข็งแรงพอที่รับน้ำหนัก จึงย้ายอาวุธมาจัดแสดงบริเวณชั้นล่าง 

การจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์เป็นไปตามยุคสมัย ส่วนแรกเป็นสมัยอยุธยา ชุดแรกเป็นอาวุธฟันแทง การรบระยะประชิดตัว มีปืนใหญ่วิถีลาด ยิงตรง ทลายสิ่งกีดขวางและวิถีโค้ง ยิงข้ามกำแพง ข้ามสิ่งกีดขวาง ปืนคาบชุด ปืนคาบศิลา สันนิษฐานว่าเหมาะกับการรบบนหลังช้าง ระยะหวังผลอยู่ที่ 300 เมตร ยังมีปืนคาบศิลาจำลองที่ท่านมุ้ย (หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล)จำลองขึ้นเพื่อใช้สำหรับการถ่ายภาพยนตร์ของท่าน เมื่อถ่ายทำเสร็จท่านก็มอบไว้ให้พิพิธภัณฑ์เก็บรักษา

อาวุธในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น จัดแสดงอาวุธที่ใช้ และสร้างในสมัยรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 4 ได้แก่ กลุ่มปืนใหญ่เหล็ก ชื่อ “รักษาพระศาสนา” ปืนใหญ่สำริดที่หล่อขึ้นในเมืองไทย ชื่อ “ฝ่าปลอมพล” และ “ปล้นปลอมทัพ” ซึ่งชื่อทั้งหมดของปืนใหญ่ตั้งขึ้นโดยพระมหากษัตริย์ และปืนจำลองมาจากปืนใหญ่สำหรับยิงสลุตในงานพระราชพิธีต่างๆ และปืนแก๊ป ปืนใหญ่ลำกล้องทองเหลือง สมัยรัชกาลที่ 4 ที่นี่ได้จำลองให้เล็กสำหรับยิงสลุต มีชื่อว่า “มหาฤกษ์” “มหาปราบยุค” “มหาจักร” และ “มหาไชย” ส่วน อาวุธสมัยรัชกาลที่ 5 อาทิกลุ่มอาวุธที่ใช้ในการปราบฮ่อ ปืนใหญ่บรรจุกระสุนท้ายลำกล้อง ปืนกลแกทลิ่ง เป็นต้น นอกจากนี้ยังมี ปืนเล็กยาว ปืนกลเบา ปืนครกทองเหลือง ปืนคาบศิลาปากแตร

ถัดมาเป็นอาวุธสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 และหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นปืนใหญ่บรรจุกระสุนท้ายลำกล้อง และปืนกลแบบระบายความร้อนด้วยน้ำ ซึ่งต้องมีน้ำหล่อตลอดเวลา

ส่วน อาวุธสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้แก่ ปืนใหญ่สนาม ปืนใหญ่ทหารราบ ปืนกลแบบระบายความร้อนด้วยอากาศ และปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน ผู้นำชมบอกว่า ปืนกลในยุคสมัยนี้เป็นชิ้นเด่นของกรมสรรพาวุธเพราะทางสรรพาวุธสามารถผลิตได้เอง คือ ปืนกลเบา แบบ 66 

จากนั้นเป็นอาวุธสมัยสงครามเวียดนาม จัดแสดงให้เห็นถึงรูปแบบอาวุธของฝ่ายพันธมิตร และฝ่ายคอมมิวนิสต์ ส่วนใหญ่เป็นของญี่ปุ่น และจีนแดง ซึ่งยึดมาได้จากสงคราม

ถัดมาอีกกลุ่ม เป็นกลุ่มของเครื่องยิงลูกระเบิดแบบต่างๆ ขึ้นอยู่กับขนาดของปากลำกล้อง เช่น เครื่องยิงลูกระเบิด แบบ 70 มม. เครื่องยิงลูกระเบิด แบบ 84 มม. ไปจนถึง 90 มม. ซึ่งผู้เขียนสงสัยยิ่งว่าแตกต่างจากปืนใหญ่ในสมัยแรกๆ อย่างไร ผู้นำชมบอกว่า ปืนใหญ่ กับ เครื่องยิงลูกระเบิดต่างกันตรงที่ว่า ปืนใหญ่ชุดก่อนๆ จะยิงออกมาแล้วกระสุนจะไม่ระเบิด เพียงแค่เอาไว้ทลายสิ่งกีดขวาง ส่วนเครื่องยิงลูกระเบิดชุดนี้เมื่อยิงออกมาแล้วกระสุนจะระเบิดแตกออกตัวออกจากกัน

กลุ่มถัดไปเป็นกลุ่ม เครื่องใช้ และเครื่องจักรในอดีต ของกรมสรรพาวุธทหารบก เพราะเมื่อก่อนทางสรรพาวุธมีโรงหล่อ หลอม และรีด สามารถขึ้นรูปได้เอง จึงมีเครื่องใช้ต่างๆ เช่น ช้อนชุด ถาด กำปั่นทองคำแท่ง กำปั่นเงินสวัสดิการ กำปั่นเงินสโมสร หม้อกรองน้ำ เครื่องกลึงกระสุนต่างๆ ชิ้นส่วนเครื่องบรรจุดิน เครื่องเม้มปากปลอกกระสุน ทั้งหมดเป็นเครื่องมือที่ใช้ระบบสายพาน และปลดประจำการแล้ว ในปัจจุบันใช้ระบบมอเตอร์แทน หรือเมื่อเราเปลี่ยนรุ่นนำเข้าของปืน หรือเปลี่ยนประเทศที่นำเข้าตัวเครื่องจักรในการทำปลอกกระสุนชุดเดิมก็ใช้ไม่ได้อีกต่อไป

กลุ่มสุดท้ายเป็นกลุ่มอาวุธวิจัยพัฒนา เป็นผลงานของกรมสรรพาวุธทหารบกที่ผ่านการวิจัยแล้ว มีทั้งที่ได้ประจำการ และไม่ได้ประจำการ ทั้ง ปืน กระสุน และระเบิด 

ที่เห็นแล้วสะดุดตาคือ อุปกรณ์ปลูกเมล็ดพืชโดยการยิง เมื่อยิงกระสวยออกไปแล้วเมล็ดพืชก็จะแตกกระจาย เป็นการปลูกพืชที่แปลกตาไม่เคยเห็นมาก่อน ของโครงการวิจัยของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าหญิงจุฬาภรณ์

เวลาไม่กี่ชั่วโมงในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ เราได้รับความรู้มากมาย และสำหรับผู้ที่ชื่นชอบ หรือสนใจเรื่องอาวุธต่างๆ คงสามารถขลุกอยู่ในนี้ได้ทั้งวัน เพราะมีอาวุธมากมายให้ได้ศึกษา 

เรื่อง/ภาพ : ณัฐพัชร์ ทองคำ
สำรวจ : 27 กุมภาพันธ์ 2551

คลิกอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บไซต์ "เที่ยวกองทัพบก"

ชื่อผู้แต่ง:
-