พิพิธภัณฑ์วัดสุนทราวาส


วัดสุนทราวาส เป็นวัดเก่าแก่ของพัทลุง มีอุโบสถที่มีสถาปัตยกรรมในสมัยรัชกาลที่ 3 และภายในมีจิตรกรรมฝาผนังที่งดงาม พิพิธภัณฑ์เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนชั้นเดียว สร้างขึ้นในสมัยพระครูสุนทรานุกูล อดีตเจ้าอาวาสรูปที่ 22 เพื่อเก็บรวบรวมและจัดแสดงโบราณวัตถุ วัตถุอันเนื่องมาจากศาสนา และข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ซึ่งเป็นสมบัติของวัด รวมถึงข้าวของเครื่องใช้พื้นบ้านที่ชาวบ้านถวายและนำมาบริจาค ของชิ้นสำคญ อาทิ พระพุทธรูปประทับยืนปางห้ามสมุทรทรงเครื่อง ศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น พระพุทธรูปปูนปั้นและพระพุทธรูปจำหลักด้วยงาช้าง ศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ เตียงจำวัดของพระอุดมปิฏก(อดีตเจ้าอาวาส) ขันทองเหลืองต้มย้อมจีวร โต๊ะหมู่บูชาสมัยรัชกาลที่ 3 เครื่องปั้นดินเผา โอ่งเคลือบ เครื่องทองเหลือง ตะบันหมาก หนังสือบุด ตำรายา อย่างไรก็ดี ใน ปี พ.ศ. 2564 พิพิธภัณฑ์ค่อนข้างทรุดโทรมและขาดการบำรุงรักษา ปกติจะปิดเอาไว้ แต่ถ้าท่านใดสนใจเข้าชมพิพิธภัณฑ์หรือชมจิตกรรมฝาผนังในอุโบสถ สามารถติดต่อล่วงหน้ากับทางวัดหรือท่านเจ้าอาวาส ซึ่งท่านจะสามารถนำชมและให้ความรู้ได้เป็นอย่างดี

ที่อยู่:
ต.ปันแต อ.ควนขนุน จ.พัทลุง 93110
โทรศัพท์:
061 2497036 ติดต่อเจ้าอาวาส พระมหาเชยศักดิ์ สุนฺทรธมฺโม
วันและเวลาทำการ:
กรุณานัดหมายล่วงหน้า
ค่าเข้าชม:
ไม่เสียค่าเข้าชม
ของเด่น:
พระพุทธรูปประทับยืนปางห้ามสมุทรทรงเครื่อง,เตียงจำวัดของพระอุดมปิฏก,ขันทองเหลืองต้มย้อมจีวร, กริช, เครื่องมือเครื่องใช้พื้นบ้าน
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

พิพิธภัณฑ์วัดสุนทราวาส

วัดสุนทราวาสเป็นวัดเก่าของจังหวัดพัทลุง จากคำบอกเล่าสืบต่อกันมาว่า เดิมมีพระธุดงค์ 5 รูป เดินทางมาพัก เห็นว่าเป็นที่สงบเงียบ เป็นเนินดินร่มเย็นสบายเหมาะแก่การสร้างวัดเพราะไม่ใกล้ไม่ไกลจากหมู่บ้าน จึงได้สร้างที่พัก และมีภิกษุอาศัยต่อมามิได้ขาด สันนิษฐานว่าเป็นวัดที่สร้างขึ้นลำดับที่ 3 ของจังหวัดพัทลุง แต่เดิมชื่อว่า วัดชายนา หรือวัดปลายนา โดยตั้งชื่อตามสภาพที่ตั้ง  ซึ่งอยู่ปลายสุดของหย่อมบ้านติดกับท้องทุ่งนา ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นวัดหัวสุนทรา หรือวัดสุนทราตามนิทานพื้นบ้านเรื่อง พระรถเมรี หรือเรื่องนางสุนทรา ซึ่งนายเรื่องหรือพระเรื่องผู้แต่งเป็นคำกลอนภาษาถิ่นใต้ ดังความตอนต้น เรื่องว่า “ข้าไหว้พระธรรมในวรกายเรือง ขออย่ามีขุ่นเคืองแก่ตัวข้าศรัทธา” และในตอนสุดท้ายกล่าวอีกว่า “ในจิตคิดเคือง เพราะทรงผ้าเหลืองถือไตรสิกขา บอกว่าสุนทรา จบเพียงนี้เอย” ในเรื่องนางสุนทราที่ว่านี้ กล่าวถึงนางยักษ์ ชื่อนางสุนทรา ถูกพระรถเสนฆ่าตาย ชาวบ้านลากศพมาทิ้งไว้บริเวรสระน้ำลึกแห่งหนึ่งใกล้กับวัดดังความที่ว่า “ชาวบ้านทั้งหลายได้พากันมาลากศพนางสนทราลากคร่าพาไปได้สามชั่วงาย ทิ้งไว้ที่ วัดชายนา” ชาวบ้านจึงเรียกสระน้ำแห่งนั้นว่า “สระน้ำสุนทรา” และเรียกวัดว่า “วัดสุนทรา” ซึ่งการเปลี่ยนชื่อดังกล่าวมีขึ้นในสมัยพระอธิการคล้าย อินทรโชโต   และได้เปลี่ยนชื่ออีกครั้งเมื่อ พ.ศ. 2489 ว่า “วัดสุนทราวาส” ตามที่ทางราชการตั้งให้ 

วัดไม่ปรากฏหลักฐานแน่นอนว่าวัดสร้างในสมัยใด และข้อมูลยังขัดแย้งกัน ในสมุดข่อยวัดระบุว่าสร้างปี พ.ศ. 1983  ส่วนหนังสือทำเนียบวัดในจังหวัดพัทลุงของพระครูอริยสังวร(เอียด) อดีตเจ้าคณะจังหวัดพัทลุงระบุว่าวัดสร้างปี พ.ศ. 2285 ซึ่งตรงกับปลายสมัยอยุธยา  หลักฐานศิลาจารึกที่ปรากฎเกี่ยวกับการสร้างโบสถ์ระบุปีที่สร้าง พ.ศ. 2385 ในสมัยรัชกาลที่ 3  สมัยพระอุดมปิฎกบาลี(สอน พุทธสโร) เป็นเจ้าอาวาส การปฏิสังขรวัดเกิดครั้งใหญ่และได้ก่อสร้างพระอุโบสถใหม่เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน แทนหลังเดิมที่เป็นไม้ นอกจากจะได้รับการอุปถัมภ์จากพระยาพัทลุง (จุ้ย) แล้ว พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวยังได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์สมทบสร้างอุโบสถหลังนี้ด้วย  ลักษณะอุโบสถเป็นศิลปะแบบจีนคล้ายกับวัดพิเรนทร วัดมหรรณพาราม และอุโบสถวัดหงส์รัตนราม กรุงเทพมหานคร

กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อ พ.ศ.2478 และได้จัดสรรงบประมาณบูรณะอาคารอุโบสถและภาพจิตรกรรมฝาผนังเมื่อ พ.ศ.2532  ทั้งนี้จิตรกรรมฝาผนังของวัดถือว่ามีความงดงามและแฝงวิถีชีวิตท้องถิ่น  ตามประวัติกล่าวว่าจิตรกรรมฝาผนังที่นี่เขียนขึ้นเมื่อครั้งสร้างพระอุโบสถใหม่ในปี พ.ศ.2385  สำหรับฝาผนังบริเวณเหนือหน้าต่างประตูทั้ง 4 ด้านซึ่งภาพยังคงคมชัดและมีสีสันสดใสนั้น ด้านหลังพระประธานเขียนพุทธประวัติตอนพระพุทธเจ้าเสด็จลงจากดาวดึงส์ ด้านตรงข้ามพระประธานเหนือประตูทางเข้าเขียนตอนมารผจญ ส่วนด้านข้างเขียนภาพเทพชุมนุมสามแถว สำหรับผนังส่วนล่างที่อยู่ระหว่างประตูหน้าต่างซึ่งภาพลบเลือนมากนั้น ด้านหลังพระประธานเขียนภาพพระมาลัยโปรดสัตว์นรก  ส่วนผนังที่เหลืออีก 3 ด้านเขียนเรื่องทศชาติชาดกเรียงกันไปจนครบทั้ง 10 ชาติ

พิพิธภัณฑ์เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนชั้นเดียว สร้างขึ้นในสมัยพระครูสุนทรานุกูล อดีตเจ้าอาวาสรูปที่ 22 เพื่อเก็บรวบรวมและจัดแสดงโบราณวัตถุ วัตถุอันเนื่องมาจากศาสนา และข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ซึ่งเป็นสมบัติของวัด  รวมถึงข้าวของเครื่องใช้พื้นบ้านที่ชาวบ้านถวายและนำมาบริจาค ของชิ้นสำคญ อาทิ  พระพุทธรูปประทับยืนปางห้ามสมุทรทรงเครื่อง ศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น พระพุทธรูปปูนปั้นและพระพุทธรูปจำหลักด้วยงาช้าง ศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์  เตียงจำวัดของพระอุดมปิฏก(อดีตเจ้าอาวาส) ขันทองเหลืองต้มย้อมจีวร โต๊ะหมู่บูชาสมัยรัชกาลที่ 3   เครื่องปั้นดินเผา โอ่งเคลือบ เครื่องทองเหลือง ตะบันหมาก หนังสือบุด ตำรายา  

อย่างไรก็ดี ใน ปี พ.ศ. 2564 พิพิธภัณฑ์ค่อนข้างทรุดโทรมและขาดการบำรุงรักษา ปกติจะปิดเอาไว้ แต่ถ้าท่านใดสนใจเข้าชมพิพิธภัณฑ์หรือชมจิตกรรมฝาผนังในอุโบสถ สามารถติดต่อล่วงหน้ากับทางวัดหรือท่านเจ้าอาวาส ซึ่งท่านจะสามารถนำชมและให้ความรู้ได้เป็นอย่างดี

 

ข้อมูลจาก:

สุจารีย์ จรัสด้วง.การศึกษาจิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถวัดสุนทราวาส จังหวัดพัทลุง : กรณีศึกษาภาพพุทธประวัติตอนเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์.วิทยานิพนธ์สาขาวิชาจารึกภาษาตะวันออก มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2003.

สำนักวัฒนธรรมจังหวัดพัทลุง https://www.m-culture.go.th/phatthalung/ewt_news.php?nid=2214&filename=index

ชื่อผู้แต่ง:
ปณิตา สระวาสี
คำสำคัญ:
ไม่มีข้อมูล
คำสำคัญ: