พิพิธภัณฑ์นักศึกษาวิชาทหารก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2538 เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์การรบครั้งสำคัญของประเทศไทย มีการจัดแสดงนิทรรศการออกเป็น 3 ห้อง ดังนี้ ส่วนแรกกล่าวถึงประวัติศาสตร์ของไทยตั้งแต่การเริ่มก่อตั้งเป็นแว่นแคว้นต่าง ๆ ส่วนที่สองเป็นนิทรรศการบรรยายถึงการรบครั้งสำคัญ ๆ วีรกรรมการสู้รบของวีรชนไทยตั้งแต่สมัยสงครามยุทธหัตถีจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ และมีชุดของทหารไทยตั้งแต่ยุคโบราณและยุคสงครามเวียดนาม ส่วนที่สามจัดแสดงโมเดลค่ายฝึกนักศึกษาวิชาทหารเขาชนไก่ ด้านนอกมีการจัดแสดงรถถัง ปืนใหญ่ และอาวุธยุคสงครามโลก
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยทีมงานและสมาชิก
รีวิวของพิพิธภัณฑ์นักศึกษาวิชาทหาร
สำหรับชายไทยที่ไม่ต้องการเกณฑ์ทหารคงต้องผ่านการฝึกการเป็นนักศึกษาวิชาทหาร จากกรมการรักษาดินแดนกันทุกคน จุดประสงค์ส่วนหนึ่งก็เพื่อเป็นการฝึกกองกำลังสำรองสำหรับช่วยป้องกันประเทศชาติ แต่วัตถุประสงค์อีกด้านของการฝึกนักศึกษาวิชาทหารก็คือ การฝึกระเบียบ วินัย และสร้างจิตสำนึกในการรักชาติร่วมกันของเยาวชนพิพิธภัณฑ์นักศึกษาวิชาทหารจึงเป็นอีกส่วนหนึ่งที่จะกระตุ้นให้ทุกคนเกิดจิตสำนึก และฮึกเหิมในการช่วยป้องกันประเทศจากเหล่าอริราชศัตรู พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เปิดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 ตั้งอยู่ภายในอาคารศูนย์การฝึกกำลังสำรองชั้น 2 เป็นห้องโถงขนาดใหญ่ที่ภายในมีเรื่องราวประวัติศาสตร์ของการรบครั้งสำคัญที่เรียกว่าวิกฤตของชาติไทย และการมีส่วนร่วมในการรบของนักศึกษาวิชาทหาร
นิทรรศการจัดแสดงแบ่งห้องออกเป็น 3 ส่วน 3 ช่องทางเดิน ส่วนแรกกล่าวถึงประวัติศาสตร์ของไทย ตั้งแต่การเริ่มก่อตั้งเป็นแว่นแคว้นต่างๆ แต่ข้อมูลค่อนข้างเก่าเพราะยังมีแผนที่เส้นทางคนไทยอพยพลงมาจากเทือกเขาอัลไตอยู่ แต่สำหรับการสร้างแรงกระตุ้นความรักชาติให้เห็นว่ากว่าจะมาเป็นชาติไทยเราผ่านความยากลำบากอะไรมาบ้างก็ถือว่าส่วนนี้บอกเล่าเรื่องราวได้ดี
ส่วนต่อมาเป็นนิทรรศการบรรยายถึงการรบครั้งสำคัญๆ กล่าวถึงวีรกรรมการสู้รบของวีรชนไทยตั้งแต่สมัยสงครามยุทธหัตถี จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ที่ชาติไทยเป็นปึกแผ่น แต่ก็ยังมีวิกฤตในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่เราต้องเสียดินแดนบางส่วนไป เรื่อยมาจนสงครามโลกครั้งที่ 1- 2 สงครามเกาหลี สงครามเวียดนาม ซึ่งช่องทางเดินที่ 1 นี้มีชุดของทหารไทยตั้งแต่ยุคโบราณ ยุคสงครามเวียดนาม สงครามเกาหลีซึ่งเป็นชุดกันหนาว แต่ละชุดก็บอกเล่าเรื่องราวของการรบในแต่ละครั้ง
ด้านหลังห้องเป็นส่วนที่มีพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ก่อตั้งกองกิจการเสือป่า วัตถุประสงค์ในครั้งแรกก็เพื่อสำหรับใช้เป็นกองกำลังสำรองของชาติ มีภาพเครื่องแบบและการซ้อมรบเสือป่า ซึ่งต่อมากิจการเสือป่าก็พัฒนาจนกลายมาเป็นศูนย์การฝึกกำลังสำรอง กรมการรักษาดินแดน พระองค์จึงทรงเป็นพระบิดาของกรมการรักษาดินแดน
ส่วนโมเดลแผนที่ที่ตั้งอยู่ตรงกลางช่องทางเดินที่ 2 คือ โมเดลค่ายฝึกนักศึกษาวิชาทหาร เขาชนไก่ จ.กาญจนบุรี นักศึกษาวิชาทหารทุกคนทั่วประเทศ ตั้งแต่ชั้นปีที่ 2 - 5 ต้องมาฝึกที่นี่ ซึ่งจะใช้พื้นที่บริเวณนี้สำหรับการฝึกแค่ปีละ 2 เดือนสับเปลี่ยนนักศึกษาวิชาทหารจากทั่วประเทศ ส่วนต่อมาเป็นภาพยุวชนทหารที่มีวีรกรรมปกป้องชาติไทยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และต่อมาก็พัฒนาก่อตั้งเป็นการรักษาดินแดนเมื่อปีวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2491 ซึ่งถือเป็นวันสถาปนากรมการรักษาดินแดน ในปีพ.ศ. 2545 ได้เปลี่ยนเป็นศูนย์การฝึกกำลังสำรอง กรมการรักษาดินแดน
นอกจากภาพวีรกรรมครั้งต่างๆ แล้ว พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ยังมีอาวุธยุคสงครามโลก ระเบิดแบบต่างๆ ระเบิดรถถัง ปืนและกระสุนปืนแบบต่างๆ ให้นักศึกษาวิชาทหารและผู้ที่สนใจได้ดูอย่างใกล้ชิด จัดแสดงตำราของนักศึกษาวิชาทหารยุคเก่าที่ปัจจุบันได้พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ
ส่วนช่องทางเดินสุดท้ายเป็นเรื่องราวของหลักสูตรพิเศษต่างๆ เช่น หลักสูตรพยาบาลทหารบก หลักสูตรสตรีอาสารักษาดินแดน หลักสูตรการโดดร่มแบบพาราเซลล์ของนักศึกษาวิชาทหาร ซึ่งไม่ได้ใช้วิธีการกระโดดร่มลงมาจากเครื่องบิน แต่ใช้วิธีผูกเชือกติดกับร่มชูชีพซึ่งติดกับตัวนักโดดร่ม จากนั้นจึงใช้รถฮัมวี่ลากร่มขึ้นให้สูงอยู่ในระดับที่สามารถปล่อยลงมาได้ แล้วให้นักศึกษาวิชาทหารหัดบังคับร่มจนลงพื้น วิธีนี้ฟังดูแล้วเสี่ยงแต่ก่อนจะฝึกจริงนักศึกษาต้องฝึกจนชำนาญแล้วจึงจะสามารถไปปฏิบัติจริงได้ เมื่อฝึกเสร็จแล้วจะได้ตราโลหะรูปปีกนกมาติดเป็นเกียรติยศแก่ตัวเองว่าครั้งหนึ่งเคยผ่านการฝึกพาราเซลล์มาแล้ว การฝึกพาราเซลล์ทุกปีจะรับนักศึกษาวิชาทหารตั้งแต่ชั้นปีที่ 4 จากทั่วประเทศมาฝึกประมาณ 200 คนแล้วแต่ความสมัครใจ
ในส่วนของพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งจัดแสดงรถถังและปืนกล ที่เคยร่วมสงครามสำคัญครั้งต่างๆ สามารถเดินดูได้อย่างใกล้ชิด ในวันเด็กของทุกปีจะมีเด็กๆมาต่อคิวเล่นรถถังเหล่านี้ ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของเด็กๆ มาก
จุดประสงค์หลักของพิพิธภัณฑ์คือการให้ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์การรบครั้งสำคัญของประเทศไทย กว่าจะมาเป็นชาติต้องเสียเลือดเนื้อของบรรพชนไทยมามากมาย ดังนั้นคนไทยและนักศึกษาวิชาทหารทุกคนควรจะรู้จักการเสียสละ มีวินัย และสมานฉันท์ เพื่อให้ประเทศชาติของเรามั่นคงต่อไป อย่างไรก็ตามพิพิธภัณฑ์นักศึกษาวิชาทหารแห่งนี้มีโครงการจะปรับปรุงนิทรรศการให้ทันสมัยและครอบคลุมเนื้อหามากขึ้นในอนาคตด้วย
มัณฑนา ชอุ่มผล : เขียน
สิริลักษณ์ กัณฑศรี: ถ่ายภาพ
ข้อมูลจาก: การสำรวจภาคสนาม 20 สิงหาคม 2551
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสื่อออนไลน์
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยบล็อก
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสารานุกรมไทย
อาวุธ เครื่องแบบ การทหารและสงคราม ประวัติศาสตร์ไทย นักศึกษาวิชาทหาร เสือป่า ตำราเรียน
พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตสวนหลวง
จ. กรุงเทพมหานคร
บ้านหมอหวาน
จ. กรุงเทพมหานคร
พิพิธภัณฑ์รัชกาลที่ 6
จ. กรุงเทพมหานคร